Skip to main content
sharethis

ประชาชน 8 หมู่บ้านรอบพื้นที่ป่าแก่งกระจานจัดงานระดมความคิดเห็น วอนรัฐฟังเสียงชุมชนร่วมหาทางออก ทั้งปัญหาที่ดินกับอุทยาน ปัญหาสถานะบุคคล หลายชุมชนรอบป่ายังไม่มีไฟฟ้าใช้ ผู้ใหญ่บ้านระบุ “มีการสร้างระบบโซลาเซลล์มูลค่า 37 ล้านโดยที่ชาวบ้านไม่ได้ขอ เมื่อพังชาวบ้านก็ซ่อมไม่เป็น แต่ที่อยากได้คือประปาภูเขา กลับไม่ได้”

 

20 พ.ค. 2565 ระหว่างวันที่ 19 – 20 พ.ค. ประชาชน 8 หมู่บ้านรอบพื้นที่ป่าแก่งกระจานจัดงานระดมความคิดเห็นขึ้นที่ริมแก่งรีสอร์ท อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยตัวแทนชาวบ้านรอบผืนป่าแก่งกระจานกว่า 50 คนได้ประชุม “ร้อยร่วมชุมชนผืนป่าแก่งกระจาน” เพื่อสะท้อนปัญหาของแต่ละพื้นที่ ทั้งปัญหาร่วมและปัญหาเฉพาะที่ เพื่อเป็นพลังในการนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในอนาคต โดยมีปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.), นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วุฒิ บุญเลิศ ปราชญ์ชาวปกาเกอะญอจากผืนป่าตะวันตก และประทีป มีคติธรรม ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (ไอยูซีเอ็น) ร่วมเป็นวิทยากร

ในช่วงท้ายของการประชุมชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ระบุว่า

ผืนป่าแก่งกระจานและชุมชนของพวกเราอยู่ร่วมกันมายาวนาน บรรพบุรุษของพวกเราได้พึ่งพาป่าผืนแห่งนี้ในการดำรงชีวิตและวิถีสืบต่อกันมา ขณะเดียวกันผืนป่าก็ได้รับการปกป้องดูแลจากชุมชน ทำให้ผืนป่าแก่งกระจานคงความอุดมสมบูรณ์มาถึงวันนี้ แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงเมื่อวิถีชีวิตพวกเราถูกละเลยและถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์กับการอนุรักษ์  โดยมีการจัดการป่าแบบรวมศูนย์ ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเข้ามาครอบครองผืนป่าซึ่งได้มีการก่อตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจานตั้งแต่ปี 2524 โดยไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิของชุมชนดั้งเดิมและชุมชนที่อยู่มายาวนาน ชาวบ้านทั้งในและรอบผืนป่าตกเป็นจำเลยของหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด

กว่า 40 ปีที่เกิดการเผชิญหน้าทั้งทางตรงและทางอ้อมระหว่างอุทยานฯ และชุมชน เนื่องจากภาคราชการไม่ได้เข้ามาฟังเสียงชาวบ้านอย่างแท้จริง มีโครงการต่างๆ เข้ามามากมายที่เพื่อพัฒนาชุมชนแต่กลับไม่คำนึงถึงวิถีชีวิตของคนอยู่กับป่า ทำให้สถานการณ์ยิ่งรุนแรงขึ้น โดยการอพยพชาวบ้านบางกลอยจากกลางป่าใหญ่ใจแผ่นดินเมื่อปี 2539 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่รัฐไม่ให้ความสนใจกับทุนชีวิต ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่และสะสมมาเป็นร้อยปี  ของความล้มเหลวในนโยบายรัฐที่อ้างการอนุรักษ์โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริง สุดท้ายชาวบ้านกลายเป็นเหยื่อของนโยบายความผิดพลาดและภาครัฐไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนถึงวันนี้ เช่นเดียวกับปัญหาที่ดินที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านรอบกลมป่าแก่งกระจานต้องเผชิญปัญหาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการไม่รับฟังเสียงและไม่ยอมรับสิทธิที่แท้จริงของคนอยู่กับป่า

ขณะที่ชาวบ้านจำนวนมาก รอบผืนป่าเป็นชาวกะเหรี่ยงยังคงประสบปัญหาสถานะบุคคลและการแก้ไขเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการของรัฐ สิทธิต่างๆ รวมถึงการพัฒนาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ชาวบ้านหลายพื้นที่ถูกกล่าวร้ายให้เป็นนักล่าสัตว์ป่า มีการประโคมข่าวและโยนความผิดให้ชาวบ้าน แต่กลับไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ถึงขบวนการค้าสัตว์ป่าและเข้าถึงรากลึกของปัญหา ขณะที่ชาวบ้านบางพื้นที่ต้องเผชิญหน้ากับช้างป่า โดยที่อุทยานฯ ไม่สามารถนำมาตรการที่ได้ผลมาใช้เพื่อลดความขัดแย้ง รวมถึงการเยียวยาได้รับผลกระทบ  ในยามใดที่ช้างป่าเสียชีวิตกลายเป็นเรื่องใหญ่มีการตีข่าวอย่างครึกโครม เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ในวันที่ชาวบ้านถูกช้างกระทืบตาย กลับเงียบหายราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น “ช้างตายเป็นข่าว แต่ช้างฆ่าคนตายไม่เป็นข่าว”

ปัจจุบันหลายชุมชนที่อยู่รอบป่ายังไม่มีไฟฟ้าใช้และบริการของรัฐเข้าไม่ถึงเนื่องจากข้อติดขัดระเบียบข้อกฎหมายของอุทยานฯ แม้ชาวบ้านพยายามเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาแต่ดูเหมือนไม่มีความคืบหน้าใดๆ

“เทือกเขาตะนาวศรีและป่าแก่งกระจานเป็นแหล่งต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงสรรพสิ่งในจังหวัดราชบุรี เพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ลำน้ำภาชี แม่ประโดน แม่ประจันต์ บางกลอย แม่น้ำเพชรจนถึงแม่น้ำปราณ เป็นที่อยู่ของชาวบ้านมานับร้อยนับพันปี แต่วันนี้ชาวบ้านรอบผืนป่ากลับกลายเป็นจำเลยของอุทยานฯและสังคม วันนี้ชาวบ้านใน 3 จังหวัดรอบผืนป่าแก่งกระจานได้ร่วมกันเรียงร้อย ถักทอกันเป็นเครือข่ายเพื่อปกป้องดูแลผืนป่า และร่วมกับคิดหาแนวทางการแก้ปัญหาของชุมชนเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างคนและธรรมชาติ หวังว่าผู้บริหารบ้านเมืองจะรับฟังเสียงของพวกเรา” แถลงการณ์ระบุ

ทั้งนี้ ชาวบ้านได้สะท้อนสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ทั้งในเรื่องที่ดินที่เกิดข้อพิพาทกับอุทยาน เรื่องปัญหาสถานะบุคคลที่ยังมีชาวบ้านอีกจำนวนมากประสบปัญหาจากการไม่มีบัตรประชาชน รวมถึงปัญหาเฉพาะพื้นที่ทั้งในเรื่องการเผชิญหน้ากับช้างป่าที่เข้ามากินพืชผลการเกษตร เรื่องไม่มีไฟฟ้าเนื่องจากติดขัดเพราะต้องผ่านพื้นที่อุทยานฯ ขณะที่ปัญหาของชาวบ้านบางกลอยก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากภาครัฐทำให้ชาวบ้านต้องอยู่อย่างยากลำบาก

นิรันดร์ พงษเทพ ผู้ใหญ่บ้านบางกลอย กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านถูกจัดเก็บภาษีที่ดินโดยคิดเป็นแปลงรวมและไม่ได้บอกล่วงหน้าหรือมีคำอธิบายที่ชัดเจน ตอนนี้คนในหมู่บ้านกำลังเถียงกับเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านค่อนข้างหัวเสียเพราะไม่รู้ว่าเสียไปแล้ว อนาคตที่ดินจะเป็นของชาวบ้านหรือไม่ ขณะเดียวกันชาวบางกลอยอยากได้ประปาภูเขาซึ่งต้องต่อท่อราว 20 กิโลเมตร จากแหล่งน้ำเพราะชุมชนขาดแคลนน้ำ แต่กลับไม่ได้รับอนุญาตโดยมีข้ออ้างว่าป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก จึงไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ขณะที่รัฐมนตรีที่ลงพื้นที่ก็แค่มารับฟังปัญหาจากเจ้าหน้าที่แต่ไม่ได้ฟังปัญหาจากชาวบางกลอย

“เจ้าหน้าที่บอกว่ามีงบประมาณเป็นร้อยล้านมาแก้ปัญหา ถามว่าอยู่ตรงไหนเงินร้อยล้าน ที่ผ่านมาแก้ปัญหาตรงจุดหรือไม่  จริงๆคุณต้องแก้ปัญหาหลัก ไม่ใช่หมกเม็ดไว้แล้วมามองว่าชาวบ้านมีแต่ปัญหา ก็เพราะคุณไม่แก้ไขปัญหา ทำให้ปัญหาหมักหมม พอผู้บริหารประเทศลงมาก็ไม่ได้ฟังชาวบ้าน ฟังจากเจ้าหน้าที่ซึ่งก็บอกว่าดีหมด ไปดูแค่ครึ่งเดียวแต่อีกครึ่งหนึ่งที่ชาวบ้านพร้อมบอก แต่ไม่ได้ฟัง อุทยานฯ เป็นคนอพยพชาวบ้านลงมา ทำไมไม่แก้ไขปัญหา ตรวจวัดที่ดิน ก็ทำแต่ที่เดิมๆ วัดไปวัดมา แทนที่จะวัดที่ใหม่ๆ บ้าง พอภาพออกมาบอกว่าแก้ไขปัญหาแล้ว ถ่ายภาพไปโชว์ หน่วยงานที่เข้ามาบอกว่าดูแล 2 หมู่บ้านนี้ดี พูดแต่ปากเพื่อให้ตัวเองดี แต่คนที่หาเช้ากินค่ำยังลำบาก” นิรันดร์ กล่าว

นิรันดร์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะที่มีการสร้างระบบโซลาเซลล์มูลค่า 37 ล้านโดยที่ชาวบ้านไม่ได้ขอ เมื่อพังชาวบ้านก็ซ่อมไม่เป็น แต่ที่อยากได้คือประปาภูเขา กลับไม่ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net