Skip to main content
sharethis

ในวงสัมมนาจัดโดยวุฒิสภา (ส.ว.) ก่อนสภาจะพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ตัวแทนด้านสิทธิฯ สื่อ กฎหมาย และนักวิชาการ ยังมองต่างในแง่ความสำคัญ นิยามคำว่า ‘สื่อมวลชน’ และความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดให้ผ่าน ด้านอนุ กมธ. ส.ว. ทำนายด้วยโหราศาสตร์ หากไม่เร่งรัด อาจผ่านไม่ทัน

19 พ.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา มีการจัดสัมมนา “สื่อมวลชนไทยกับกฎหมายส่งเสริมจริยธรรม” เป็นสัมมนารับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ที่จะต้องเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในอนาคต โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านทางเพจเฟซบุ๊ควุฒิสภา โดยมีไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักวิชาการด้านกฎหมายและเทคโนโลยี วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จักร์กฤษ เพิ่มพูล กรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) มานะ ตรีลยาภิวัฒน์ อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ Manager Online เป็นวิทยากรผู้ร่วมให้ความเห็น

การสัมมนาดำเนินรายการโดยรัศมิมาลย์ เกี่ยวศรีกุล อนุกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  และสุระ เกนทะนะศิล อนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพด้านการสื่อสารมวลชนและสื่อสาธารณะ

หลายคำถามต่อ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ : คุ้มครองหรือจำกัดเสรีภาพ? สภาสื่อจะเป็นอิสระได้?

ก่อนการพูดคุยในวงสัมมนาจะเริ่มขึ้น นิพนธ์ นาคสมภพ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจกับร่างฯ มากขึ้น จะสามารถจำแนกสื่อแท้ออกจากสื่อเทียมได้หรือไม่ อะไรคือนิยามของสื่อ อะไรคือนิยามของมวลชน และจะกำหนดจริยธรรมของสื่อมวลชนและโครงสร้างขององค์กรวิชาชีพอย่างไร ซึ่งตนอยากได้ความเห็นร่วม และได้ยกตัวอย่างการทำงานของสื่อไทยที่เห็นว่าเป็นปัญหา

“สื่อบางคนมีการปฏิบัติผิดไปจากจริยธรรมสื่อเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอข่าว ติดตามคดีของเด็ก สตรี กลุ่มเปราะบาง หรือบุคคลทั่วไป มีการล่วงละเมิดสิทธิของผู้เสียชีวิต นำเสนอภาพและถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม บางครั้งนำเสนอข่าวให้ผู้ร้ายกลายเป็นพระเอก นำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานในทางลบในสังคมไทย บางครั้งล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จและบิดเบือนความจริง ทั้งไสยศาสตร์และเรื่องหลอกลวงต่างๆ เพื่อเป็นกลไกในการสร้างความน่าเชื่อถือ บางกรณีเจาะจงกลุ่มที่มีนัยแอบแฝงเพื่อหาประโยชน์ โดยการชักจูงให้หลงเชื่อ ปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม จนเกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายทั้งด้านสุขภาพของร่างกาย จิตใจ ตลอดจนทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามเร่งรัดพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ… ให้มีผลบังคับใช้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของสภา และพอ พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมา สื่อมวลชนจะได้ดูแลกันเอง” นิพนธ์กล่าว

สมาคมสื่อฯ ยังเสียงแตก ย้ำ ควรใช้เวลาทำความเข้าใจก่อนพิจารณากฎหมาย

วสันต์ ตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชนจาก กสม. กล่าวว่าสมัยที่ตนเป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้มีส่วนผลักดัน พ.ร.บ. ฉบับนี้ หากถามว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก็ฟันธงว่าเห็นด้วย เพราะแนวคิดการสนับสนุนวิชาชีและจริยธรรมสื่อนั้นมีความพยายามทำกันมาตั้งแต่ก่อนสภาปฏิรูปจะหยิบเรื่องนี้เป็นประเด็นเสียอีก แต่สภาฯ หยิบมาเพราะมองว่าการกำกับดูแลกันเองของสื่อนั้นสำคัญ แต่ในทางปฏิบัติอาจจะมีปัญหา มีอุปสรรคในเรื่องสภาพบังคับ สถานะขององค์กรวิชาชีพที่คนทำงานก็เป็นลูกจ้างขององค์กรสื่อ ปัญหาเรื่องงบประมาณ หรือปัญหาการล่วงละเมิดผู้บริโภคทั่วไป การมีกฎหมายออกมาเพื่อส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพจะทำให้ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ขึ้น เดิมทีองค์กรวิชาชีพทำกันเอง เสริมการกำกับกันเองแข็งขึ้น มีเพื่อประกันเสรีภาพการทำงานของสื่อและมาตรฐานวิชาชีพ

มานะ ตัวแทนฝ่ายนักวิชาการกล่าวว่าทุกวันนี้คนตั้งคำถามกับจริยธรรมสื่อจนเป็นที่รับรู้อยู่แล้ว จริยธรรมเป็นขั้นที่สูงกว่ากฎหมาย บางเรื่องอาจไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจหมิ่นเหม่ หรือทำให้รู้สึกว่าไม่ถูกต้องในเชิงจริยธรรม อะไรที่มากกว่ากฎหมาย คิดว่าต้องทำความเข้าใจ คนทำงานสื่อต้องเข้าใจและตระหนักเองว่าอะไรทำไม่ได้ กรณีหลวงปู่แสง คำถามที่ตามมาคือ คนทำงานสื่อตระหนักก่อนเกิดเหตุหรือไม่ ก็คือไม่ แต่ที่ตระหนักเพราะสังคมไม่ยอมรับ สื่อมวลชนจึงหันกลับมามามองตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่จะขยับจริยธรรมสื่อ ไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องการสั่ง แต่เป็นการรู้เท่าทันจากคนทำงานและผู้บริโภค หนังสือพิมพ์ 30-40 ปีก่อนยังเห็นภาพอุจาดตาในข่าวอาชญากรรมหน้าหนึ่ง เมื่อคนอ่านรู้สึกไม่เห็นด้วยมากเข้าก็มีการเบลอภาพ และการเบลอภาพผู้ต้องสงสัยในคดีต่างๆ ในทีวีที่เกิดขึ้นหลังจากผู้บริโภคตื่นรู้ว่าการเปิดหน้าเป็นสิ่งที่ล้ำเส้น

มานะมองว่า กฎหมายการส่งเสริมและสนับสนุนสื่อที่จะออกมาควรเกิดขึ้นบนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันของสื่อมวลชนและสังคม ตัวกฎหมายจะต้องพิจารณากันให้ดี ถ้ากฎหมายถูกผลักดันออกมาโดยที่คนทำงานสื่อไม่รู้ ไม่ตระหนัก และไม่รู้สึกว่าจำเป็น ก็คิดว่าความขัดแย้งจะเกิดขึ้นจากการตั้งคำถาม จากความไม่ไว้วางใจว่ารัฐจะเข้ามาควบคุมเสรีภาพสื่ออีกหรือไม่ เดิมทีได้ยินว่าวันนี้นายกสมาคมนักข่าวฯ จะมาร่วมสัมมนาด้วย แต่ก็ไม่สามารถเข้าร่วม เพราะว่าสมาชิกในสมาคมฯ ยังไม่เห็นพ้องต้องกันในทางความเห็น นอกจากนั้นยังต้องสร้างความเข้าใจกับผู้บริโภคด้วยว่าการนำเสนอข่าวแบบใดที่ควรทำและไม่ควรทำ เพื่อไม่ให้ปัญหาวนกลับมาที่จุดเดิม ที่สื่อมีหลักจริยธรรมแต่ไม่ใช้

“ผมเห็นด้วยว่า ถ้ากฎหมายที่จะออกมา เพื่อที่จะสนับสนุนและส่งเสริมจริยธรรมสื่อ แต่ถ้ากฎหมายออกมาเพื่อกำกับ และดูแลจริยธรรมสื่อ ผมคิดว่าตรงนี้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรงนี้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น กสทช. เอง หรือหน่วยงานตามกฎหมายอื่นๆ หรือแม้กระทั่งในองค์กรสื่อกันเองเขาก็มีการกำกับดูแลกันเองอยู่แล้ว”

“ตัวของการส่งเสริมและสนับสนุนจริยธรรมสื่อนั้นควรมาจากการทำความเข้าใจสื่อ ภาคประชาชน จากภาคส่วนอื่นๆ ให้กว้างขวางและหลากหลายมากกว่านี้ ถ้าออกมาอย่างเร่งด่วน รวบรัด ความขัดแย้งใหม่ๆ จะเกิดขึ้น” มานะกล่าว 

ไพบูลย์กล่าวว่า ส่วนตัวมีความเห็นว่ากฎหมายและจริยธรรมไม่แยกจากกัน กฎหมายฉบับนี้ ดูรวมๆ เหมือนจะทำให้จริยธรรมมีสภาพบังคับในทางกฎหมาย มีองค์กรหนึ่งมาบอกว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ โดยหลักเกณฑ์จึงควรเป็นการกำกับดูแลร่วมกัน (co-regulation) เพราะจริยธรรมบางอย่างไม่ถึงขั้นที่ผิดกฎหมาย แต่ก็ไปด้วยกัน 

ไพบูลย์ยกตัวอย่างกรณีกฎหมายต่างๆ ที่ศาลเคยยกเว้นให้กับการทำงานของสื่อ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ว่าด้วยการหมิ่นประมาท พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ และ พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  และ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำลังจะบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. นี้ ก็มีการยกเว้นไม่บังคับใช้กับสื่อ สะท้อนว่างานสื่อมวลชนมีความสำคัญมาก แต่แนวพิจารณาของศาลเวลาแยกแยะว่าใครเป็นสื่อหรือไม่ใช่สื่อ จะดูว่ามีประมวลจริยธรรมหรือไม่ มีการจดทะเบียนหรือไม่ และมีกองบรรณาธิการหรือไม่ แต่กับ ร่างฯ ส่งเสริมจริยธรรมสื่อฯ ที่มีนิยามคำว่าสื่อกว้างและไม่เชื่อมโยงกับแนวทางการนิยามหรือให้ความหมายตามกฎหมายหรือแนวคำพิพากษาอื่น สิ่งที่ต้องระวังก็คือ จะแยกแยะสื่อออกจากอินฟลูเอนเซอร์ที่มีคนติดตามมากอย่างไร

จักร์กฤษกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้พัฒนามาจากกฎหมายก่อนหน้าที่สื่อเคยต่อต้าน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้น้ำหนักในการควบคุมบังคับ ให้มีการจดทะเบียนสื่อ ให้มีตัวแทนรัฐอยู่ในสภาสื่อมวลชน แต่ร่างฯ ฉบับปัจจุบัน เป็นจุดที่ไม่มีเนื้อหาว่าจะบังคับอะไร มีแต่ส่งเสริมให้องค์กรวิชาชีพมีความเข้มแข็งมากขึ้น ให้สื่อที่กระจัดกระจายได้รวมกลุ่มกัน ให้มีมาตรฐานวิชาชีพ ให้มีกระบวนการที่จะรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน 

ภูมิทัศน์สื่อปัจจุบันมีความหลากหลายมากขึ้น แต่ไม่ควรที่จะไปชี้ใครว่าเป็นสื่อแท้หรือสื่อเทียมเพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ควรเอาเรื่องนี้ไว้ในใจ แล้วคิดว่าจะมีเกณฑ์ว่าอะไรเป็นสื่อแท้หรือสื่อเทียมโดยที่ไม่ต้องพูดออกมา หากดูตามกฎหมายฉบับนี้ จะพูดถึงองค์กรวิชาชีพในสองลักษณะ หนึ่ง องค์กรที่จดแจ้งตามกฎหมาย และที่ไม่จดแจ้งตามกฎหมาย แต่มีแนวทางการปฏิบัติตามกรอบจริยธรรมวิชาชีพ ในส่วนจริยธรรม เป็นเรื่องจิตสำนึกตระหนักรู้ในความรับผิดชอบของตัวเอง ดังนั้นหลักการในการกำกับจริยธรรมคือการใช้มาตรการทางสังคม ทั้งนี้ แม้เห็นว่ากฎหมายนี้ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการนำมาใช้ แต่ก็มองว่ากฎหมายฉบับนี้จะทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทำงานได้ง่ายขึ้น

นักวิชาการ นักกฎหมาย สื่อ กังวลนิยาม 'สื่อมวลชน' กว้าง ครอบจักรวาล

วสันต์กล่าวว่า ความพยายามนิยามคำว่าสื่อมวลชนในร่าง  พยายามทำให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนไป เปิดช่องเอาไว้เผื่อการเปลี่ยนแปลงไปอีกในอนาคต แต่ไม่นับรวมการออกความเห็นเป็นการส่วนตัว ซึ่งก็พยายามชี้ว่า สื่อมีหลายรูปแบบที่จะสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป เปิดช่องเอาไว้เผื่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว คำว่าสื่อจึงอาจหมายถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้าถามว่าอินฟลูเอนเซอร์ที่มีทีม มีฝ่ายหาโฆษณา มีรายได้เข้ามาประจำ เป็นสื่อหรือไม่ ตรงนี้คิดว่าเป็นเรื่องที่มีความพยายาให้ครอบคลุมถึง ความหมายของสื่อ อาจไม่ได้มองในเชิงการยกเว้นความรับผิด แต่มองในแง่การรับผิดชอบต่อสังคม คือการที่จะต้องมีจริยธรรม คิดว่าต้องทำให้ช่องว่างของเงื่อนไขระหว่างสื่อหลักกับอินฟลูเอนเซอร์ลดลง เพื่อความเป็นธรรมในการแข่งขัน และเพื่อความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคสื่อด้วย

ส่วนหนึ่งของมาตรา 3 ว่าด้วยนิยามของสื่อมวลชน

“สื่อมวลชน” หมายความว่า สื่อหรือช่องทางที่นำข่าวสสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ปะรชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการจัดทำสื่อหรือช่องทางดังกล่าวที่ดำเนินการเพื่อใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของตนโดยมิได้มุ่งแสวงหากำไร

“สื่อดิจิทัล” หมายความว่า สื่อมวลชนที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเผยแพร่สู่ประชาชน

“จริยธรรมสื่อมวลชน” หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติทางวิชาชีพสื่อมวลชนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

“ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นปกติธุระในการรวบรวม รายงาน วิเคราะห์ สร้างสรรค์วิธีการนำเสนอ หรือกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อมวลชน

มานะกล่าวว่า ร่างฯ นี้ นิยามคำว่าสื่อกว้างถึงขั้นที่ทุกคนในประเทศไทยเป็นสื่อกันหมด เพราะไม่ได้นิยามกำหนดแค่สื่อ แต่รวมไปถึงช่องทาง (channel) ถามว่าไม่แสวงหากำไร จะวัดอย่างไร ลงเนื้อหาในแพลตฟอร์มแล้วได้เงินนับหรือไม่ หรือได้ผลตอบแทนอย่างอื่นจากการรีวิว จะนับหรือไม่ ถ้านิยามกว้างจนครอบคลุมให้กว้าง คำถามต่อมาคือ เจตนารมย์ที่จะสนับสนุน ส่งเสริม จะส่งเสริมใครกันแน่ และในกรณีที่มีคนที่ไม่ได้ทำงานในรูปแบบกองบรรณาธิการแบบเดิม จะนับหรือไม่ รีวิวเวอร์ ยูทูบเบอร์ นับหรือไม่ ถ้าเขียนแบบนี้ก็นับรวมหมด ดังนั้นนิยามจะต้องเขียนให้ชัดเจน อาจจะต้องเขียนแยกให้ชัดเจนว่าผู้ผลิตเนื้อหา (user-generated content) หรือไม่

วริษฐ์ ตัวแทนสื่อจากเว็บไซต์เดอะเมเนเจอร์ กล่าวว่า เมื่อได้อ่านร่างแล้วก็เป็นกังวลอยู่หลายจุด รวมถึงการนิยามเรื่องสื่อแท้-สื่อเทียม เพราะมองว่าสื่อเทียมเป็นการเลือกปฏิบัติไปหน่อย เพราะสื่อจริงๆ กับสื่อที่ถูกเรียกว่าสื่อเทียม หรือที่เป็นสื่อประชาชน อาจจะมีจำนวนมากกว่าสื่อจริงๆ ก็ได้ในปัจจุบัน จึงต้องตีความเรื่องผู้ประกอบวิชาชีพสื่อให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเกิดแรงต้าน เกิดข้อสงสัยว่าจะเน้นการกำกับดูแลมากกว่าส่งเสริมหรือไม่ และสื่อเปลี่ยนไปเร็วมาก กฎหมายออกมาไม่ทันสื่อและเทคโนโลยี หากกฎหมาย หลักเกณฑ์ที่จะออกมายังไม่สามารถครอบคลุมไปยังคนที่สร้างรายได้ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนบนพื้นที่แพลตฟอร์มในระดับโลกได้ก็จะเกิดปัญหาได้ เพราะบางครั้งแนวนโยบายของแพลตฟอร์มระดับโลกก็สร้างผลกระทบกับการนำเสนอข่าวและเผยแพร่เนื้อหาด้วยเช่นกัน

วริษฐ์กล่าวด้วยว่า ปัญหาของอุตสาหกรรมสื่อไทยในปัจจุบันคือบทบาทของเทคโนโลยี (technology disruption) ที่ทำให้รูปแบบการทำงานของสื่อเปลี่ยนไป องค์กรสื่อส่วนมากตอนนี้มีแต่ลดคนลง กลายเป็นว่าบุคลากรในแวดวงข่าวสารหดตัว สวนทางกับความต้องการคนเข้ามาตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมามีการพูดถึงรูปแบบการทำธุรกิจสื่อแบบใหม่ หลุดจากรูปแบบเดิมที่พึ่งพาเรตติ้ง พึ่งพาโฆษณา ซึ่งเป็นรายได้ทางอ้อม ในต่างประเทศ ช่วงห้าปีที่ผ่านมาเริ่มมีการทำระบบให้คนติดตาม (subscription) กลายเป็นว่าผู้ชี้อนาคตของสื่อคือผู้ชม ผู้อ่าน หากสำนักข่าวมีกรณีฉาวโฉ่มาก คนก็เลิกอ่าน เลิกติดตาม ปัญหาจึงอยู่ที่สื่อสามารถสร้างความน่าชื่อถือให้กับผู้ชมได้หรือไม่ ดังนั้น รัฐควรอำนวยให้เกิดการทำสื่อเพื่ออนาคต การทำข่าวต้นทุนสูงไม่เหมาะกับแนวทางการหารายได้ของสื่อใหม่ รัฐต้องหาทางทำให้เกิดการหารายได้ที่ง่ายขึ้น และให้การทำข่าวบนฐานจริยธรรมดำเนินไปบนรูปแบบนั้นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น มาตรฐานของบุคลากรก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อเงินเดือนเพิ่มขึ้นได้ ก็จะมีคนแย่งกันเข้ามาสมัคร

กล้องสื่อมวลชนที่หน้าอาคารรัฐสภา (แฟ้มภาพ)

ด้านไพบูลย์มองว่า ต้องดูวัตถุประสงค์ของร่างฯ หากมีวัตถุประสงค์ร่างเพื่อส่งเสริม หมายความว่ารัฐบอกว่า ถ้าทำดีจะมีแรงจูงใจให้ทำ แต่ถ้าทำไม่ดีจะมีการคว่ำบาตรทางสังคม สื่อในความหมาย ต้องถามผู้ร่างว่า ในการนิยามคำว่าสื่อ จะพูดถึงสื่อตามกฎหมาย หรือสื่อตามความเป็นจริง ถ้าสื่อตามความเป็นจริงก็ได้แก่ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ คลับเฮาส์ อินสตาแกรม ยูทูป ทั้งหมดนี้ได้ค่าโฆษณาจากไทยปีละ 7 พันล้านบาท แต่สื่อไทยที่ทำตามกฎหมาย รวมกันน่าจะได้ไม่ถึง ถ้านิยามกว้างแล้วครอบรวมไปถึงแพลตฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ค ก็ไปบังคับใช้กับเขาไม่ได้ เพราะหลักเกณฑ์การกำกับของเราก็ไปขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพในกฎหมายท้องถิ่นของสหรัฐฯ ส่วนตัวอยากให้เขียนเพื่อสร้างคนดี แล้วให้คนดีได้ประโยชน์ เช่น กรณีออสเตรเลียที่นำจริยธรรมสื่อมาใส่ในกฎหมาย โดยมุ่งคัดกรองเนื้อหาที่มาจากนอกประเทศที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก เช่น หากมีลิงค์มาจากเมืองนอก ผู้ให้บริการในออสเตรเลียจะตัดการบริการ ซึ่งก็ใช้งานได้ดีมาก ควรจะเป็นแบบนั้นหรือไม่ คือส่งเสริมคนดี ส่งเสริมมืออาชีพ แล้วให้เด็กได้ดูเนื้อหาที่ดี 

จักร์กฤษกล่าวว่า เจตนารมย์กฎหมายนี้ชัดเจนว่ามุ่งหมายส่งเสริมสื่อมวลชน หลักการที่ควรเป็นก็คือ หน่วยงานไหนที่มีกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน และมีประมวลจริยธรรม หรือแนวปฏิบัติ ก็ถือว่าเป็นสื่อมวลชน 

ชวนจับตามองปมอ่อนไหว ทำตามจริยธรรม ‘โดยไม่ขัดหน้าที่ปวงชนชาวไทย ศีลธรรมอันดี’

ในส่วนของเนื้อหาขั้นต่ำของจริยธรรมสื่อมวลชนตามมาตรา 30 จักร์กฤษอยากให้เนื้อหาในมาตรา 30 มีการพูดถึงเรื่องความเป็นอิสระของวิชาชีพ และคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลและข้อมูลส่วนบุคคล การคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่แสดงออกถึงความรุนแรง การกระทำผิดกฎหมายและศีลธรรม อบายมุข และภาษาที่ไม่เหมาะสม ไปจนถึงการปฏิบัติต่อเหยื่อ ผู้เคราะห์ร้ายและผู้อยู่ในภาวะเศร้าโศก

มาตรา 30 มาตรฐานทางจริยธรรมสื่อมวลชนที่สภากำหนดตามมาตรา 29 อย่างน้อยต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับจริยธรรม ในเรื่อง ดังต่อไปนี้

  1. การเสนอข่าวและแสดงความคิดเห็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ
  2. การเสนอข้อเท็จจริงด้วยความถูกต้อง ครบถ้วนรอบด้าน และเป็นธรรม
  3. การให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลซึ่งได้รับผลกระทบจากการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็น
  4. การเคารพสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของผู้เกี่ยวข้องในข่าวหรือในการแสดงความคิดเห็น
  5. ความซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพสื่อมวลชนและการขัดกันแห่งผลประโยชน์
  6. การปกป้องและปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม
  7. มาตรการที่จะดำเนินการในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือองค์กรสื่อมวลชนเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นโดยฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามจริยธรรมสื่อมวลชน

ต่อคำถามเรื่องมาตรา 5 เรื่องข้อยกเว้นในการปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อ วสันต์ตอบว่า เท่าที่เห็นในตัวร่างและเจตนารมย์ น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ทั้งส่งเสริมเสรีภาพสื่อ มาตรฐานจริยธรรมและคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เท่าที่เห็นตอนนี้คิดว่าไม่น่าห่วงกังวล คงต้องช่วยกันติดตามและดูเนื้อหาต่างๆ ระหวา่งกระบวนการ เช่น องค์ประกอบกรรมการ ที่มากรรมการ หรือบทลงโทษ

มาตรา 5 ว่าด้วยการคุ้มครองเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน

ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชน แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยต้องเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น 

ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งใด ที่จะมีผลให้เป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อมวลชนโดยมิให้ถือว่าเป็นการขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่การใช้สิทธิดังกล่าวต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดอยู่ด้วย

ด้านวรินทร์ เทียมจรัส อนุกรรมาธิการวุฒิสภา ที่เข้าร่วมการสัมมนาด้วย อธิบายว่า ในส่วนของวรรคที่หนึ่งของมาตรา 5 ที่มีระบุว่าต้องไม่ละเมิดศีลธรรมอันดีและหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ก็เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ วรรคสองของมาตรา 5 จะต้องตีความเคร่งครัด เพราะเป็นการเขียนในแง่ความมั่นคงของรัฐ เช่น การยกเว้นการบังคับใช้ในยามสงคราม เช่น โฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) เพราะไม่เช่นนั้นจะไม่มีใครทำตาม โดยอ้างว่าผิดจริยธรรมสื่อ

อนึ่ง ในช่วงท้ายของการสัมมนา วรินทร์มีความเห็นว่าควรเร่งผ่านกฎหมายฉบับนี้ เพราะตนมีความรู้ในด้านโหราศาสตร์ ไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสได้ผ่านกฎหมายนี้หรือไม่ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net