งานวิจัยชี้ คนกรุงต้องการ ผู้ว่าฯ กทม. มาจากการเลือกตั้ง-ไม่เอารัฐประหาร คสช. 2557

“โฟกัสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต” โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เปิดงานวิจัยและสำรวจ เผย  คนกรุงเทพฯ ต้องการ ผู้ว่าฯ กทม. มาจากการเลือกตั้ง สอดคล้องกับ คนกรุงเทพฯ ไม่เอารัฐประหาร คสช. 2557 ขณะที่ป้ายหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. สะท้อนภาพการรังเกียจพรรคการเมือง ป้ายหาเสียง ส.ก. สะท้อนตัวตนผู้สมัครเรือนหาย

20 พ.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่าง 19-20 พ.ค.65 เฟซบุ๊กแฟนเพจ “โฟกัสเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต” โดย ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยแพร่ข้อมูลบางส่วนของงานวิจัยของนักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต และการสำรวจป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ และ ส.ก. กรุงเทพฯ

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

คำถาม ท่านคิดว่าผู้ว่าฯ กทม. ควรมาจากการแต่งตั้งหรือมาจากเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน

ผู้ว่าฯ กทม. แต่งตั้ง 5 คน 0.4%

ผู้ว่าฯ กทม. เลือกตั้ง 1,188 คน 99%

ไม่มีความเห็น 7 คน 0.6%

สรุป

1. นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลรัฐประหาร คสช. ได้ปลดผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนด้วยอำนาจตามมาตรา 44 เมื่อ 18 ตุลาคม 2559 และแต่งตั้งบุคคลอื่นขึ้นมาเป็นผู้บริหารกรุงเทพฯแทน ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับความประสงค์ของประชาชนที่ต้องการผู้ว่าฯ กทม. มาจากเลือกตั้งที่สูงมากถึง 99%

2. ความปรารถนาให้มีผู้ว่าฯ กทม. จากเลือกตั้งโดยประชาชนที่สูงมาก สอดคล้องกับการที่คนกรุงเทพฯ ไม่เอารัฐประหาร คสช. 2557 ที่สูงมากถึง 93.0%

3. ทั้งชายหญิงเพศทางเลือก ทุกช่วงอายุ ทุกกลุ่มรายได้ ทุกกลุ่มการศึกษา ทุกอาชีพแม้แต่ข้าราชการพนักงานของรัฐ ไม่เอารัฐประหาร คสช. และต้องการผู้ว่าฯ กทม. มาจากการเลือกตั้ง

4. เท่ากับประชาชนคนกรุงเทพฯ ได้คัดค้านที่มาของผู้ว่า กทม. ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 มาตรา 252 ที่จะให้ผู้ว่าฯ กทม. นั้น “จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้” ไม่ใช่จากเลือกตั้งโดยประชาชนเท่านั้น

สำหรับข้อมูลงานวิจัยของ ภาณุพัฒน์ เหลือพร้อม, พิมพ์ณัฐชยา โรจนโยทิน, ฐรดา สิรปวเรศ นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ที่ได้วิจัยเรื่อง “ทัศนคติของประชาชนต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565” เจาะลึกเขตดอนเมือง เขตพระนคร และเขตจอมทอง ตามลำดับ ซึ่งเก็บแบบสอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งอายุ 18 ปีขึ้นไป เขตละ 400 คน รวม 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 16 เม.ย. - 8 พ.ค. 2565

ผมขอนำเสนอสรุปบางด้าน ดังนี้

ด้านเพศ ชาย 554 คน 46.2% หญิง 618 คน 51.5% เพศทางเลือก 28 คน 2.3%

ด้านอายุ Gen Z (อายุ 18-25 ปี) 300 คน 25.0% Gen Y (อายุ 26-42 ปี) 572 คน 47.6% Gen X (อายุ 43-57 ปี) 247 คน 20.6% Gen Baby Boomer ขึ้นไป (อายุ 58 ปีขึ้นไป) 81 คน 6.8%

ด้านรายได้ต่อเดือน รายได้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 10,000 มี 86 คน 7.1% รายได้ 10,001-20,000 มี 498 คน 41.5% รายได้ 20,001-30,000 มี 404 คน 33.7% รายได้ 30,001-40,000 มี 130 คน 13% รายได้ตั้งแต่ 40,001 ขึ้นไป มี 56 คน 4.7%

ด้านการศึกษา ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า 10 คน 0.8% มัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า 179 คน 14.9% อนุปริญญาหรือเทียบเท่า 412 คน 34.3% ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 506 คน 42.2% สูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า 93 คน 7.8%

ด้านอาชีพ นักเรียนนักศึกษา 154 คน 12.8% พนักงานเอกชน 416 คน 34.7% รับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน 171 คน 14.2% เจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ 131 คน 10.9% ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/รัฐวิสาหกิจ 199 คน 16.6% พ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน 93 คน 7.8% อื่นๆ 36 คน 3.0%

คำถาม ท่านเห็นด้วยกับการรัฐประหารของ คสช. พ.ศ.2557 หรือไม่ (1,200 คน)

เห็นด้วย 32 คน 2.7%

ไม่เห็นด้วย 1,116 คน 93.0%

ไม่มีความเห็น 52 คน 4.3%

ป้ายหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. สะท้อนภาพการรังเกียจพรรคการเมือง ป้ายหาเสียง ส.ก. สะท้อนตัวตนผู้สมัครเรือนหาย

ส่วนการสำรวจป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ และ ส.ก. กรุงเทพฯ ด้วยการขับรถสำรวจเป็นระยะทางราว 100 กิโลเมตร เมื่อวันอาทิตย์ 15 พ.ค. 2565 เริ่มต้นจากถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง ถนนรามอินทรา เขตบางเขน เขตสายไหม เขตคันนายาว เขตมีนบุรี ถนนสุวินทวงศ์ ถนนคุ้มเกล้า เขตลาดกระบัง ถนนอ่อนนุช เขตประเวศ เขตสวนหลวง เขตวัฒนา ถนนสุขุมวิท เขตคลองเตย เขตปทุมวัน ถนนพญาไท เขตพญาไท ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต เขตพระนคร ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี ถนนบรมราชชนนี เขตบางกอกน้อย เขตตลิ่งชัน รวม 19 เขต จาก 50 เขตกรุงเทพฯ

สรุปการศึกษาเชิงสำรวจได้ว่า

1.ป้ายหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. โดยทั่วไปพบป้ายของ หมายเลข 1 นายวิโรจน์ (ก้าวไกล) หมายเลข 3 นายสกลธี (อิสระ) หมายเลข 4 นายสุชัชวีร์ (ประชาธิปัตย์) หมายเลข 6 พล.ต.อ.อัศวิน (อิสระ) หมายเลข 8 นายชัชชาติ (อิสระ) หมายเลข 11 น.ต.ศิธา (ไทยสร้างไทย) ผู้สมัครที่เหลือมีป้ายหาเสียงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่พบป้าย

2. ป้ายหาเสียงของ พล.ต.อ.อัศวิน ดูมีความถี่ในการพบเห็นมากที่สุด รองลงมาเป็นป้ายหาเสียงของนายสุชัชวีร์ และป้ายหาเสียงของ น.ต.ศิธา ซึ่งมักมีภาพของคุณหญิงสุดารัตน์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทยอยู่เบื้องหลัง และเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียวที่มีภาพหัวหน้าพรรค ส่วนป้ายหาเสียงที่มีรูปนายวิโรจน์มักเห็นอยู่ในแผ่นเดียวกันกับผู้สมัคร ส.ก. ที่มีขนาดเล็กกว่าป้ายปกติราวครึ่ง มากกว่าจะเป็นป้ายเดี่ยว ป้ายหาเสียงของนายชัชชาติเป็นป้ายแบบแคบยาว รวมทั้งขนาดเล็ก

3. จากข้อกำหนดทางกฎหมายที่แก้ไขในสมัยรัฐบาล คสช. ซึ่งมุ่งแยกการเมืองระดับชาติออกจากการเมืองท้องถิ่น แม้จะให้ผู้สมัครสนามท้องถิ่นจะยังสมัครสังกัดพรรคการเมืองได้ แต่การห้ามนักการเมืองที่กำลังเป็น ส.ส. หรือนักการเมืองท้องถิ่น ไม่ให้ลงช่วยหาเสียง ทำให้ป้ายผู้สมัครพรรคต่างๆ ไม่สามารถมีรูปหัวหน้าพรรคได้ เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล กระบวนการนี้กล่าวได้ว่า เป็นการไม่ส่งเสริมระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็งและไม่เป็นการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่เชื่อมโยงระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ ซึ่งความจริงแล้วไม่อาจแยกออกจากกันได้ ดังนั้น จึงเห็นควรต้องยกเลิกกฎเกณฑ์ข้อห้ามดังกล่าว

4. ป้ายหาเสียง ส.ก. ซึ่งมีผู้สมัครในแต่ละเขตราว 7-10 คน ส่วนใหญ่เป็นป้ายแบบเดี่ยว แต่ถ้าสมัครมีพรรคหรือทีม ก็จะมีภาพผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ร่วมอยู่ในภาพด้วย ส่วนไทยสร้างไทย ยังมีป้ายภาพผู้สมัคร ส.ก. ร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์เพิ่มอีกด้วย

5. ป้ายหาเสียง ส.ก. ทั้งแบบมีพรรคมีทีมหรืออิสระ มักมีวงเล็บชื่อเล่น แต่เราไม่ได้รับข้อมูลภูมิหลังผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็น อายุ การศึกษา อาชีพหรือความเชี่ยวชาญ และการประสบความสำเร็จของผู้สมัคร ซึ่งป้ายลักษณะดังกล่าวสืบทอดมาจากป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ที่เน้นภาพการเลือกพรรคการเมือง แม้ว่าในความจริง ตัวบุคคลผู้สมัครยังมีความสำคัญมาก ดังนั้น ป้ายหาเสียงแบบนี้ ทำลายความสำคัญของตัวผู้สมัคร ควรใช้พื้นที่ในป้ายที่มีที่ว่างจำนวนมาก ให้ข้อมูลผู้สมัครแก่ประชาชน จะทำให้ความมีคุณค่าและตัวตนของผู้สมัครรับเลือกตั้งมีความสำคัญมากขึ้นในการเมืองการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและ ส.ส.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท