สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 14-20 พ.ค. 2565

ก.แรงงาน ถกตัวแทนนายจ้าง พิจารณา กม.กองทุนประกันความเสี่ยงเกิดเหตุวิกฤต

20 พ.ค. 2565 ที่กระทรวงแรงงาน นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานประชุมร่วมกับคณะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และตัวแทนสภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ ประมาณ 20 คน หารือเรื่องการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง และพิจารณาแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชย และการงดภาษี โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตโรคโควิด-19 ที่มีการระบาดยาวนานกว่า 2 ปี จนทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง หรือเอสเอ็มอี (SME) เลิกกิจการไปเป็นจำนวนมาก

นายบุญชอบเปิดเผยภายหลังการหารือว่า สำหรับประเด็นการหารือในครั้งนี้ คือ การจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาแนวทาง และอาจจะต้องใช้ระยะเวลาช่วงหนึ่ง เนื่องจากมีความละเอียดอ่อน ต้องพิจาณาอย่างละเอียดและรอบคอบ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย

“อย่างไรก็ตาม ขอให้มั่นใจว่าการดำเนินการทุกอย่าง กระทรวงแรงงานได้คำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายมากที่สุด และเกิดผลกระทบต่อทุกภาคส่วนให้น้อยที่สุด” นายบุญชอบกล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/5/2565

ก.แรงงาน ร่วม กสทช. เพิ่มทักษะด้านอาชีพกลุ่มผู้ด้อยโอกาสสู่สังคมดิจิทัล แบบชี้เป้า 20,000 คน สร้างโอกาสทางรายได้ผ่านเทคโนโลยี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และภายใต้การกำกับดูแลของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด - 19 โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ทุกกระทรวงจัดทำโครงการเพื่อช่วยเหลือกลุ่มดังกล่าว กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดทำโครงการความร่วมมือการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาอาชีพสู่สังคมดิจิทัลสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ผู้มีรายได้น้อย และแรงงานนอกระบบ จำนวน 20,000 คน เพื่อให้ได้รับโอกาสในการสร้างรายได้ และสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ในท้ายที่สุด ตามนโยบาย "ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ กสทช.เป็นผู้จัดทำโครงการ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รับหน้าที่ในการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย และแรงงานนอกระบบ ให้สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรู้เท่าทัน และ ใช้ประโยชน์ในการสร้างอาชีพและรายได้ผ่านเทคโนโลยี เป็นการฝึกแบบมุ่งเป้า โดยกลุ่มเป้าหมายอยู่ในพื้นที่พิกัดที่มีผลสำรวจของ กสทช.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแบ่งพื้นที่เป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ เป้าหมาย พื้นที่ C เป็นประชาชนในพื้นที่ห่างไกลจากจุดที่มีการให้บริการสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไม่เกิน 15 กิโลเมตร พื้นที่ C+ เป็นกลุ่มของประชาชนที่ห่างไกลจากจุดที่ให้บริการสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มากกว่า 15 กิโลเมตร และพื้นที่ A และ B จะเป็นกลุ่มประชาชนในเขตเมือง หรือมีศักยภาพเชิงพาณิชย์ การแบ่งกลุ่มดังกล่าวเพื่อจัดฝึกอบรมที่เหมาะสมกับพื้นที่ ซึ่งมีจุดเน้นที่แตกต่างกัน ช่วยให้การฝึกทักษะดังกล่าว มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเริ่มโครงการในเดือนมิถุนายนนี้

นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นผู้จัดอบรมในหลักสูตรการสร้างโอกาส รายได้ผ่านเทคโนโลยี และการพัฒนาอาชีพสู่สังคมดิจิทัล ให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เนื้อหาการอบรมประกอบด้วย การสร้างโอกาสทางรายได้ผ่านเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีด้านการตลาดดิจิทัล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริการ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการติดตามข่าวสาร การใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างโอกาส และร้านค้าออนไลน์ เช่น การสมัครแอปพลิเคชัน การตั้งค่าร้านค้า การเพิ่ม การลงขายสินค้า การจัดการด้านขนส่ง จนถึงการจัดการคำสั่งซื้อ นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล และความปลอดภัยไซเบอร์ อีกด้วย

"โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือที่ช่วยสร้างความเสมอภาคแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และผู้มีรายได้น้อย สามารถได้รับบริการจากภาครัฐได้อย่างทั่วถึง ซึ่งนอกจากโครงการนี้แล้ว กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ยังมีโครงการ หลักสูตรต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งแรงงานทุกกลุ่มสามารถใช้บริการได้ โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.dsd.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1506 กด 4"

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 20/5/2565

4 มาตราการใหม่ ดึงแรงงานข้ามชาติอยู่ไทยต่อ ลดผลกระทบผู้ประกอบการ

19 ก.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 2/2565 โดยมีนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

นายสุชาติ กล่าวว่า ในวันนี้ที่ประชุม คบต. ได้เห็นชอบ 4 ข้อพิจารณา ดังนี้

1. การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยแบ่งแรงงานข้ามชาติที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เป็น 2 กลุ่ม

หนึ่ง กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ เพื่อทำงานได้อีก 2 ปี (ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2568)

สอง กลุ่มที่รับการตรวจลงตราหรือตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทย ภายหลังวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568

2. การบริหารจัดการคนต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้นายจ้างที่จ้างแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการต่อกรมการจัดหางาน ผ่านระบบออนไลน์ หลังดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้นจะทำงานและอยู่ได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 หากต้องการทำงานต่อไป ให้ยื่นขอต่อใบอนุญาตทำงานและดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนด ก่อนใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุ โดยนายทะเบียนจะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 เช่นเดียวกัน

3. การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (VISA) โดยกระทรวงมหาดไทยและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จะร่วมร่างกฎกระทรวงส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับลดค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (VISA) จาก 2,000 บาท เหลือ 500 บาท

4. การจัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้าง ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อใช้ในการตรวจสอบเอกสาร หรือหลักฐานต่าง ๆ และการออกใบอนุญาตทำงาน รองรับการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานตาม MOU ทางอากาศ (สัญชาติเมียนมา)

นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน กำชับกระทรวงแรงงาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ เพื่อลดผลกระทบให้ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติในกิจการ สอดรับนโยบายเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล

“ผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รับฟังปัญหาของผู้ประกอบการเรื่อยมา จนนำมาสู่การเสนอข้อพิจารณา ทั้ง 4 ประเด็น โดยทุกหน่วยงานที่ร่วมประชุมในวันนี้ จะกลับไปแก้ไขระเบียบ หรือกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันมติที่ประชุมสู่ครม.ต่อไป”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน และหน่วยงานผู้รับผิดชอบได้รับหมอบหมายจัดทำร่างประกาศกระทรวงแรงงาน ประกาศกระทรวงมหาดไทย และกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ เพื่อสามารถดำเนินการได้ทันทีเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ

“กระบวนการทั้งหมดจะต้องใช้เวลา ในระหว่างนี้ขอฝากถึงนายจ้าง สถานประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติ ให้ความสำคัญกับการใช้แรงงานถูกกฎหมาย เพราะหากตรวจพบการกระทำความผิดนายจ้างรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000-50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/5/2565

"ก.แรงงาน–สสส." เดินหน้าขับเคลื่อน "Happy Workplace" ปั้นกลุ่ม จป. เป็นผู้นำความปลอดภัย-ลดอุบัติเหตุ-ลดโรคในสถานประกอบการ

19 พ.ค.65 ที่โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา แอนด์ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “พัฒนา จป. เพื่อเป็นผู้นำการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ” รุ่นที่ 2 (ภาคปฏิบัติ) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและบทบาทหน้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานด้านสุขภาวะองค์กร เพื่อเป็นผู้นำการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานในพื้นที่ จ.ชลบุรี และระยอง เข้าร่วม 100 คน

นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน มีหน้าที่กำกับดูแลให้สถานประกอบการมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ถือเป็นบุคคลสำคัญในองค์กร ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจสู่ผู้ปฏิบัติงานในทุกระดับ เพื่อทำให้เกิดความปลอดภัย ไม่เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ และโรคจากการทำงาน กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงร่วมกับ สสส. ริเริ่มโครงการพัฒนาศักยภาพและบทบาทหน้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานด้านสุขภาวะองค์กร เพื่อเป็นผู้นำการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ (Happy Workplace) มุ่งพัฒนาเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานให้มีทักษะที่จำเป็นในการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล ขณะนี้ โครงการได้นำร่องในสถานประกอบการแล้ว 200 แห่ง พร้อมขยายผลไปสู่ 600 แห่งทั่วประเทศ ภายในเดือน ธ.ค. 2565

นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพและบทบาทหน้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานด้านสุขภาวะองค์กร เพื่อเป็นผู้นำการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ มุ่งพัฒนาเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานให้มีทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้นำการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร ที่มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดจากพฤติกรรมของลูกจ้างในสถานประกอบการ รวมทั้งให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อให้ลูกจ้างมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องและปลอดภัยในการทำงาน

นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งพัฒนาสุขภาวะ “คนทำงาน ในองค์กร” บุคคลสำคัญและเป็นกำลังหลักของครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย กลุ่มที่เป็นกลไกสำคัญในการขยายผล ถ่ายทอด และติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาวะในสถานประกอบการ ในการนี้ สสส. ได้ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน พัฒนาชุดความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แนวคิดสุขภาวะองค์รวมของวัยทำงาน อาทิ คู่มือขั้นตอนการดำเนินการโครงการสร้างเสริมสุขภาพในสถานประกอบกิจการ แนวคิดหลักการประเมินและจัดการความเสี่ยงแบบองค์รวม วิธีการจัดทำแผนการบริหารจัดการความเสี่ยง หลักการและกลวิธีการสร้างเสริมสุขภาพ ชุดความรู้สุขภาพ 10 Packages และมาตรการ COVID Free Setting ในสถานประกอบกิจการ รวมถึงคู่มือการส่งเสริมสุขภาวะในองค์กร ผู้สนใจข้อมูลติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.happy8workplace.com

นายนิติ วิวัฒน์วานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า จ.ชลบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ มีวัยทำงานในระบบประมาณ 1 ล้านคน รวมถึงมีความเหมาะสมสำหรับการค้าขายทางทะเล ส่งผลให้ จ.ชลบุรี ได้รับการยกระดับให้เป็นเมืองหลักทางด้านอุตสาหกรรม และการค้าขายของภาคตะวันออก มีท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือพาณิชย์สำคัญของไทย โครงการฯ ของกระทรวงแรงงาน และ สสส. ช่วยเข้ามาดูแลสุขภาพแรงงานในพื้นที่ครอบคลุมทุกด้าน ตามแนวทางการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร ทั้งมิติด้านความปลอดภัย ให้วัยแรงงานมีความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น อาชีวอนามัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงมิติด้านสุขภาพทางร่างกาย จิตใจ และสังคม เพื่อให้เกิดการดำเนินการเชิงป้องกันที่ครอบคลุม ทั้งด้านความปลอดภัยและสุขภาพอนามัย ให้วัยทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขในการทำงาน พร้อมที่จะทำงานให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่เพิ่มสูงขึ้น

ที่มา: สยามรัฐ, 19/5/2565

กรมการจัดหางานเตรียมทางเลือกให้นายจ้าง/สถานประกอบการ นำเข้าแรงงาน 3 สัญชาติถูกกฎหมาย ลดค่าใช้จ่าย ใช้ผล ATK ผลเป็นลบ วัคซีนครบ ไม่ต้องกักตัว

วันที่ 18 พ.ค. 2565 นายนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ผลักดันการปรับมาตรการการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานตาม MOU และการนำแรงงานข้ามชาติสัญชาติกัมพูชา และเมียนมา เข้ามาทำงานตาม ม. 64 ให้ผ่อนคลายขึ้น ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายลดลง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 เป็นต้นมา

นายไพโรจน์ ระบุว่า สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการจ้างแรงงาน 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา และลาว) เข้ามาทำงานในประเทศไทย ปัจจุบันไม่ได้มีความยุ่งยาก เหมือนเช่นช่วงก่อนผ่อนคลายมาตรการแล้ว โดยหากแรงงานข้ามชาติฉีดวัคซีนครบโดส และมีผลตรวจ ATK เป็นลบ หรือหากฉีดวัคซีนไม่ครบแต่มีผลตรวจ RT–PCR ใน 72 ชั่วโมง สามารถเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว

ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนไม่ครบ และไม่มีผลตรวจ RT–PCR ให้เข้าระบบกักตัวที่ลดเหลือ 5 วัน ซึ่งล่าสุดมีการยื่นดีมานต์ขออนุญาตจ้างคนต่างด้าวคนตามระบบ MOU แล้ว 214,013 คน โดยแบ่งเป็นนายจ้างที่มีความต้องการจ้างแรงงานสัญชาติเมียนมา 150,637 คน กัมพูชา 48,272 คน และลาว 15,104 คน ซึ่งแรงงานทั้ง 3 สัญชาติมีการทยอยเข้ามาทำงานตาม MOU แล้วอย่างต่อเนื่องร่วม 9 พันคน

นายไพโรจน์กล่าวด้วยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เข้าใจและให้ความสำคัญกับความต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติของนายจ้าง/สถานประกอบการเป็นอย่างดี

โดยมอบหมายนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน บริหารจัดการแรงงาน 3 สัญชาตินี้อย่างมีประสิทธิภาพ รัดกุม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง/สถานประกอบการ ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการลักลอบเข้าเมืองมาทำงานอย่างผิดกฎหมายของแรงงานประเทศเพื่อนบ้าน และป้องกันความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

อย่างไรก็ดี นายจ้าง/สถานประกอบการต้องร่วมมือและให้ความสำคัญกับการใช้แรงงานถูกกฎหมายเช่นกัน ขอย้ำว่ากระทรวงแรงงานมีหน้าที่ตรวจสอบ ปราบปรามจับกุมและดำเนินคดีแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย หากตรวจพบกระทำความผิด นายจ้างรับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จะมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000–100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวหนึ่งคน หากทำผิดซ้ำมีโทษถึงจำคุก และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานอีก 3 ปี ส่วนคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000–50,000 บาท และถูกส่งตัวกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และไม่สามารถขอรับใบอนุญาตทำงานได้จนกว่าจะพ้นโทษมาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี

“ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นการจ้างคนต่างด้าวทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน หรือแจ้งเบาะแสโดยตรงที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โทร. 02 354 1729” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/5/2565

ก.แรงงาน เตรียมศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน รองรับประกาศอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือ เพิ่มอีก 16 สาขา

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือสำหรับแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 16 สาขา ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอนั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลภายใต้การนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับการพัฒนายกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้มีมาตรฐาน ซึ่งมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดทำขึ้นโดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรม องค์กรวิชาชีพ สถาบันการศึกษา กำหนดแผนมาตรฐานของประเทศไทยเพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน และพัฒนาขีดความสามารถของประเทศอย่างยั่งยืน มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจะใช้วัดระดับฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และทัศนคติในการทำงานของผู้ประกอบอาชีพสาขาต่างๆ โดยผู้ผ่านการทดสอบจะได้รับหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานที่ผ่านเกณฑ์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน การใช้เครื่องมือเครื่องจักรอย่างถูกต้อง ผลงานสำเร็จในเวลาที่กำหนด และยังเป็นการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ เพื่อส่งเสริมให้ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบฯ ในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมเป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน นอกจากนี้นายจ้างสามารถประกอบพิจารณาเลื่อนตำแหน่งให้สูงขึ้นอีกด้วย

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแต่ละสาขานั้นเกิดจากปัจจัยหลายประการ อาทิ เป็นสาขาอาชีพที่ตลาดแรงงานต้องการ เป็นสาขาที่ต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรืออาจเกิดจากมีข้อพิพาทเรื่องอัตราค่าจ้าง รวมถึงเป็นสาขาที่กำลังแรงงานที่มีอยู่ในสาขาอาชีพนั้นควรจะพัฒนาทักษะฝีมืออยู่เสมอ และเพื่อเป็นการส่งเสริมให้กำลังแรงงานได้รับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานมากยิ่งขึ้น จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดเตรียมความพร้อมศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานที่จัดตั้งในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งมีเพียงพอต่อการให้บริการประชาชน ปัจจุบันอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ประกาศแล้วรวมทั้งสิ้น 112 สาขา มีผลบังคับใช้แล้ว 96 สาขา และประกาศเพิ่มเติมล่าสุดอีก 16 สาขา ซึ่งเป็นสาขาที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูง เช่น ช่างติดตั้งยิปซัม ช่างปูกระเบื้องผนังและพื้น ช่างสีอาคาร ช่างก่อและติดตั้งคอนกรีตมวลเบา และสาขาการดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น บางสาขาอาชีพเป็นสาขาที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะทาง เช่น ช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) ช่างฝีมือเครื่องประดับแนวอนุรักษ์ (เทคนิคโบราณ) เป็นต้น

ด้าน นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ได้ส่งเสริมให้หน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ทดสอบกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ โดยศูนย์ทดสอบเหล่านี้ มีความพร้อมทั้งเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ และเมื่อผ่านการทดสอบแล้วสามารถนำใบรับรองไปใช้ในการปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ทั้งนี้ต้องเป็นสาขาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มงานส่งเสริมการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 0-2245-4837 หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

ที่มา: เดลินิวส์, 18/5/2565

การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เด็กจบใหม่ในช่วงอายุ 15-24 ปี ว่างงานเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติเกือบแสนคน

โดยสำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การว่างงานของเด็กจบใหม่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง และยังถูกซ้ำเติมด้วยการระบาดของ COVID-19 โดยตัวเลขการว่างงานของเด็กจบใหม่หรือการว่างงานของกลุ่มเยาวชน (Youth unemployment) ในช่วงอายุ 15-24 ปี มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากภาวะปกติเกือบแสนคน

ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของตลาดแรงงานเด็กรุ่นใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่จะเป็นแรงงานมีฝีมือในระยะข้างหน้า บทความนี้จะกล่าวถึงสาเหตุเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานเด็กจบใหม่ ผลกระทบของ COVID-19 ที่ซ้ำเติมปัญหานี้ ตลอดจนแนวทางในการรับมือกับปัญหาการว่างงานของต่างประเทศที่ไทยสามารถนำมาปรับใช้เพิ่มเติมได้ในระยะต่อไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงานการย้ายถิ่นของประชากรปี 2020 พบว่า กลุ่มคนอายุ 15-24 ปี มีอัตราการโยกย้ายกลับภูมิภาคในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 มากที่สุด และคาดว่ายังไม่สามารถหางานทำได้จนถึงปัจจุบัน ทำให้ตลาดแรงงานภูมิภาคมีความเปราะบางมากขึ้น ขณะที่ภาคกลางปรับดีขึ้นบ้างเนื่องจากธุรกิจที่รองรับกลุ่มเด็กจบใหม่มีมากกว่าในภูมิภาคและธุรกิจเหล่านี้เริ่มกลับมาดำเนินการได้ปกติไวกว่าภูมิภาคจากลักษณะของธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับความต้องการจากต่างประเทศ ซึ่งมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง มากกว่าภูมิภาค

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 18/5/2565

กรมการจัดหางาน เปิดรับสมัครคัดเลือกผู้ฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กร IM Japan ปี 2565 สมัครตั้งแต่วันที่ 30 พ.ค.-3 มิ.ย. 2565

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน และองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น (International Manpower Development Organization, Japan : IM Japan) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจในการดำเนินการจัดส่งผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทยไปฝึกงานเทคนิคในสถานประกอบการของประเทศญี่ปุ่น โดยกำหนดให้กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการรับสมัครฯ การจัดฝึกอบรมก่อนเดินทาง และการส่งผู้ผ่านการฝึกอบรมจากประเทศไทยไปฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น

โดยผู้ที่สนใจสมัครคัดเลือกผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทยฯ ผ่านองค์กร IM Japan ปี 2565 ครั้งที่ 1 (เพศชาย) ในตำแหน่งผู้ฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิค ประเภทงานอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้าง สามารถสมัครด้วยตนเองผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ เว็บไซต์ toea.doe.go.th ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน 2565 โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือก เป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคฯ จะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 80,000 เยน หรือประมาณ 21,200 บาท ค่าที่พัก ค่าน้ำ-ค่าไฟ ฟรี และเดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 จะได้ค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด

ด้าน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับการฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กร IM Japan ปี 2565 เป็นตำแหน่งงานผู้ฝึกปฏิบัติงานทางเทคนิคประเภทอุตสาหกรรมการผลิตและก่อสร้าง อาทิ งานหล่อกลึงโลหะ งานปั๊มขึ้นรูปโลหะ งานเชื่อม งานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ งานบำรุงรักษาเครื่องจักร งานพ่นสี งานหลอมพลาสติก งานซ่อมบำรุงรักษารถยนต์ งานแปรรูปอาหาร เป็นต้น โดยมีระยะเวลาฝึกปฏิบัติงานฯ สูงสุด 3 ปี (36 เดือน) เมื่อฝึกครบตามกำหนด จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการฝึกงาน และเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพจำนวน 600,000 เยน หรือประมาณ 159,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2565) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพเมื่อเดินทางกลับประเทศไทยผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

1. เพศชายอายุ 20 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 30 ปีบริบูรณ์

2. จบการศึกษาระดับ มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไม่จำกัดสาขาวิชา

3. ความสูงไม่ต่ำกว่า 160 เซนติเมตร น้ำหนักได้สัดส่วนกับส่วนสูง สุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์

4. พ้นภาระการรับราชการทหารตามกฎหมายว่าด้วยการรับราชการทหาร

5. ไม่มีรอยสักหรือความผิดปกติทางร่างกาย ไม่มีความประพฤติเสียหาย

6.ไม่เคยเป็นผู้ไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคที่ประเทศญี่ปุ่นโดยใช้วีซ่า “Technical Intern” ไม่เคยทำงานหรือเข้าเมืองหรือพำนักอาศัยโดยผิดกฎหมายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ ไม่เคยเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกและถูกตัดสิทธิออกจากการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกปฏิบัติงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น

7. สายตาปกติ และไม่บอดสี ไม่เป็นโรคต้องห้ามเข้าประเทศญี่ปุ่น และสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการฝึกอบรมในประเทศไทยและระหว่างการฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นได้

“ผู้ที่ประสงค์จะสมัครคัดเลือกผู้ฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น สามารถสมัครสอบได้ที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th ลงทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนคนหางาน และตรวจสอบสถานะการสมัคร ในหัวข้อ ดูรายการสมัครไปทำงานโดยรัฐจัดส่ง หรือตรวจสอบที่ E-Mail ของตนเอง

ทั้งนี้ จะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ ศูนย์สอบและสถานที่สอบ ในวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/prd , www.doe.go.th/overseas และเพจ facebook : IMthailand

หากต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อที่ กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน โทร. 0 2245 9428 สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา: PPTV, 14/5/2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท