ใบตองแห้ง: อีก 2 ปีรัฐประหาร?

30 ปี พฤษภา 35, 12 ปี พฤษภา 53, 8 ปีรัฐประหาร 22 พฤษภา 57 เวียนมาครบในสัปดาห์เดียวกัน แต่แปรผัน 22 พ.ค.เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

เราเห็นนัยสำคัญอะไรบ้างของการเปลี่ยนแปลง ที่อีกไม่กี่วันก็จะครบ 90 ปี “ปฏิวัติสยาม” พอดี

คนชั้นกลางชาวกรุง “ม็อบมือถือ” รู้สึกอย่างไร 30 ปีผ่านไปไวเหมือนโกหก ยังจำได้ไหมถึงการชุมนุมประท้วง“เสียสัตย์เพื่อชาติ” การต่อสู้ ความรุนแรง ความสูญเสีย ซึ่งลงเอยด้วยความปลาบปลื้มปีติ เมื่อในหลวง ร.9 เรียกสุจินดา-จำลอง เข้าเฝ้าฯ สุจินดาลาออก ประชาชนไชโยโห่ร้องเสมือนประชาธิปไตยได้ชัยชนะ ทหารกลับเข้ากรมกอง ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองอีก 14 ปี

แต่ก็แค่ 14 ปีเท่านั้น 16 ปีให้หลังประเทศแตกร้าว รัฐประหาร 2 ครั้ง ยุบพรรค 4 ครั้ง ม็อบต่างสี 4 ระลอก เหลือง แดง นกหวีด กระทั่งม็อบสามนิ้ว ซึ่งเด็กบางคนตอนรัฐประหาร 49 ยังไม่เกิด หรือเรียนอนุบาลอยู่เลย

หลังพฤษภา 53 ที่ความรุนแรงปะทุถึงขีดสุด สั่งใช้กระสุนจริงสลายม็อบ 99 ศพ ซึ่งจนบัดนี้ยังไม่ได้รับความยุติธรรม 12 ปีผ่านไป แม้ไม่มีนองเลือดใหญ่อีก แต่ก็อยู่ใต้รัฐประหารและยุติธรรมอำมหิต บีบกดสิทธิเสรีภาพ

“พฤษภาประชาธรรม” ในด้านประชาธิปไตย อายุสั้นแค่ 14 ปีเท่านั้น “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ซึ่งเป็นผลพวง ก็ได้ใช้แค่ 9 ปี ขณะที่เจตนารมณ์พฤษภา ต้านรัฐประหารสืบทอดอำนาจ กวาดต้อนนักการเมือง “พรรคมาร” มารองมือรองตีนรับใช้ ก็พังพินาศไปตั้งแต่ 3 ปีก่อน

อย่างไรก็ตาม “พฤษภาประชาธรรม” มีอีกด้านแฝงเร้นในจุดยืนคนชั้นกลาง คือด้านยกย่องศรัทธาอำนาจศีลธรรมที่ไม่มาจากเลือกตั้ง รังเกียจนักการเมืองคนจนคนชนบทเลือกมา โดยมองว่าล่อซื้อล่อใจด้วยผลประโยชน์ไปจนประชานิยม

ดังนั้น ขณะที่พฤษภา 35 เป็นจุดพีกของระบอบประชาธิปไตยใต้อำนาจนำ ก็เป็นจุดกำเนิด “สลิ่ม” ที่เรียกหา ม.7 ไล่ทักษิณ กระทั่งออกบัตรเชิญรัฐประหารในปี 49 ด้วยเช่นกัน

ในแง่นี้ ต้องยอมรับว่างาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม “หยุดวัฏจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน”แม้ถูกแอนตี้จากนักเคลื่อนไหวนักวิชาการประชาธิปไตย ก็เห็นท่าที “กลับใจ” ของหลายๆ คน แม้ยังไม่ตระหนักถึงแก่น

พูดก็พูดเถอะ อดีตแกนนำปี 35 นักวิชาการ นักสิทธิ หรือนักการเมืองอย่างอภิสิทธิ์ อานันท์ มีบทบาทอย่างไรเมื่อปี 49 (บางคนรวมปี 53) เป็นที่รู้กัน แต่เนื้อหาท่าทีในเวทีธรรมศาสตร์ ราชดำเนิน ดูจะก้าวหน้าขึ้นมาฉับพลันเช่น มาร์คเรียกร้องให้ตัดอำนาจ ส.ว. ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ท่าทีเช่นนี้เห็นมาช่วงหนึ่งแล้วในหมู่คนชั้นกลางที่เคยเกลียดทักษิณ หรือแม้แต่ยังไม่ชอบอยู่ แต่เป็นเพราะความพังทลายของอำนาจศีลธรรม เป็นเพราะระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ทำลาย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” แบบอดีต ให้กลายเป็นระบอบอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งจะนำไปสู่ทางตันของสังคมการเมืองไทย ผู้กุมอำนาจกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อยู่ร่วมกันไม่ได้

ถามจริง มองไปในอนาคต ใครเห็นทางออกประเทศ ทางออกประชาธิปไตย หรือทางออกของความสามัคคีที่อยู่บนฐานของความเท่าเทียม ไม่ใช่บังคับให้ศิโรราบ ยอมจำนน ต่ออำนาจที่ใช้ตามอำเภอใจ

ไม่เห็นเลย เห็นแต่การใช้อำนาจแข็งกร้าว จับกุมคุมขัง “ปราบพยศ” ให้ยอมรับว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนในยุคปัจจุบัน ในรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกกดต่ำกว่าอดีต ในยุค 35, 40 หรือแม้แต่ 50 ถ้าอยากดำรงชีวิตทำมาหากินในประเทศไทย ไม่อยากย้ายประเทศไปหนาวตาย ต้องยอมจำนน

เช่นเดียวกัน ผู้มีอำนาจต้องการให้รัฐบาลจากเลือกตั้ง รัฐสภา พรรคการเมือง ยอมรับว่ามีอำนาจต่ำต้อยกว่าอดีต ยอมรับอำนาจอภิสิทธิ์ ทหาร รัฐราชการ กระบวนการยุติธรรม ชนะเลือกตั้งก็อย่าคิดเปลี่ยนโครงสร้าง ก้มหน้าก้มตาคิดโครงการเพื่อปากท้องชาวบ้าน อะไรทำนองนั้น

แต่ในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ยังทำอย่างนั้นได้จริงหรือ

ผู้มีอำนาจต้องการ “ดัดสันดานประชาธิปไตย” ทั้งประชาชน และพรรคการเมือง ให้ยอมรับระบอบการปกครองที่กดทับลงกว่าเดิม มีอำนาจน้อยกว่าเดิม มีสิทธิเสรีภาพน้อยกว่าเดิม โดยใช้เวลา “ดัดสันดาน” 10 ปี แบ่งเป็นสองเฟส เฟสแรก 5 ปี ควบคุมโดยรัฐประหาร เฟสสอง 5 ปี ควบคุมโดยผู้นำแข็งกร้าว ที่มี 250 ส.ว.หนุนหลัง

เฟสสองเหลือเวลานับถอยหลังอีก 2 ปีเท่านั้น โดยมีหลายทางแยก แต่ละแยกก็ทางตัน ประยุทธ์อยู่ต่อ? ใครบ้างยอมรับ เปลี่ยนประยุทธ์? งั้นเอาใคร เอาพวกสายกลางแบบสมคิด หรือจะเอาสายกุ๊ยแบบหัวหน้าพรรคบางคน หรือถ้าเพื่อไทยแลนด์สไลด์ แม้ทักษิณพร่ำพูดจนสามกีบไม่พอใจ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ระบอบอำนาจลงตัว เป็นที่ยอมรับ

ระบอบอำนาจนี้อาจไม่สามารถอยู่ได้ ถ้าหมดผู้นำแข็งกร้าว แบบประยุทธ์ งั้นทำไง? จะยากอะไร เมื่อกุมอำนาจไว้หมด ก็ทำรัฐประหารสิ ครบ 10 ปี หมด 250 ส.ว. ยังไม่สามารถดัดสันดานประชาธิปไตย คนรุ่นใหม่ๆๆ ยังเรียกร้องเสรีภาพเท่าเทียม ก็อาจรัฐประหารอีกที

ยังไม่ได้บอกว่าเกิดแหงๆ แต่นี่คือโจทย์ที่เหลือกรอบเวลา 2 ปี อาจแตกหักอีกที โดยอำนาจที่ไม่แยแสใคร

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_7059135

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท