นิธิ เอียวศรีวงศ์: ไผ่ลู่ลม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมได้ยินข่าวการสัมมนาที่น่าสนใจไม่นานมานี้ เขาชุมนุมนักการทูตทั้งอดีตและปัจจุบัน และคงจะรวมคนที่เคยกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทยด้วย มาคุยกันในเรื่องมิติต่างๆ ของการทูตหรือทางเลือกของไทยในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

น่าสนใจแก่ผม เพราะอย่างน้อยมีใครสักกลุ่มหนึ่งที่คิดถึงเรื่องนี้แบบสำรวจตรวจสอบบ้าง เพราะนับตั้งแต่สิ้นสมัยท่านปรีดี พนมยงค์ การสำรวจตรวจสอบนโยบายที่เป็นไปได้และดีที่สุดแก่ประเทศก็เป็นอันยุติลง ปัจจัยสำคัญที่สุดในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของไทย กลับไม่ใช่สภาพที่เป็นจริงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและของไทยในช่วงขณะนั้นๆ แต่เป็นความมั่นคงภายในของไทยมากกว่า และความมั่นคงภายในตามความหมายแบบไทยก็คือความมั่นคงของผู้มีอำนาจ

ที่เลือกอยู่ข้าง “โลกเสรี” เต็มตัวในช่วงสงครามเย็น ก็เพราะเหตุนั้น ที่เลือกเอียงข้างจีนอย่างค่อนข้างกระเท่เร่ในสมัยนี้ ก็เพราะเหตุนั้นเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม มีข้อสรุปของนักการทูตบางคนที่ค้างคาใจผมมานานแล้ว นั่นคือนโยบายที่เรียกว่า “ไผ่ลู่ลม” นั้น ไม่ได้ช่วยให้ไทยรอดพ้นจากจักรวรรดินิยมตะวันตกในศตวรรษที่ 19 เท่านั้น แต่ยังสามารถประยุกต์ใช้ได้ถึงปัจจุบันอย่างได้ผลด้วย

ข้อสรุปนี้ไม่ใช่ของใหม่อะไร ผมได้ยินเขาพูดกันมานานแล้ว โดยเฉพาะใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนนโยบายต่างประเทศไทยที่มุ่งจะรักษาความมั่นคงของผู้มีอำนาจ เพราะฟังดูไม่หยาบคายเท่ากับการพูดความจริง

แต่ที่จริงแล้ว “ไผ่ลู่ลม” และก็ใช้กันในประเทศเล็กๆ ทั่วโลก เพราะไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ไม่ได้มีความชัดเจนอะไรพอจะเอาไปใช้กำหนดนโยบายได้ โดยเฉพาะเมื่อลมพัดมาจากสองทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งมักเกิดเสมอในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะมหาอำนาจย่อมจำเป็นต้องแข่งขันกันในการหาประโยชน์ ยิ่งในศตวรรษที่ 19 ไม่มีกติกาการแบ่งปันผลประโยชน์ในรัฐอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมเลย ใครได้อะไรไปก็จะปิดตาย มิให้ใครอื่นเข้ามาแข่งขันเลย

แม้มีกติกาเปิดการแข่งขันโดยเสรีในปัจจุบัน กติกานั้นก็ไม่เคยเปิดการแข่งขันที่เสรีและเท่าเทียมกันระหว่างมหาอำนาจจริง ก็เห็นๆ กันอยู่ในสงครามยูเครนไม่ใช่หรือครับ

คำตอบที่เอามาจากไผ่ที่ลู่ลมในธรรมชาติ คือลมทิศไหนแรงกว่า ก็ลู่ไปตามทิศทางนั้น แต่ในการกำหนดนโยบายจริง เรารู้ได้อย่างไรว่าลมข้างไหนแรงกว่า เพราะกำลังลมที่พัดมานั้นไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติล้วนๆ มันถูกกำหนดมาจากมหาอำนาจตั้งแต่ต้นแล้วว่า ผลประโยชน์ของมหาอำนาจในดินแดนหนึ่งๆ ควรพัดแรงแค่ไหน การตัดสินใจใช้กำลังลมเท่าไรไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่อยู่ที่ลอนดอนหรือปารีส

ดังนั้น แม้มหาอำนาจที่มีศักยภาพจะพัดลมได้แรง ก็ใช่ว่าเขาจะใช้กำลังทั้งหมดที่เขามีในกรณีที่ลมจากอีกทิศหนึ่งกระหน่ำโจมตีประเทศไทย เขาต้องประเมินเอาเป็นกรณีๆ ไปว่า ผลประโยชน์ของเขาจะเสียไปหรือไม่ เท่าไร คุ้มกับการปะทะกับลมอีกกระแสหนึ่งหรือไม่ และแค่ไหนจึงคุ้ม

กรณี ร.ศ.112 เป็นตัวอย่างที่ดีว่า การวางนโยบายต่างประเทศแบบ “ไผ่ลู่ลม” นั้น ทำให้เกิดความเสียหายหนักกว่าที่ควร

สยามรู้มานานก่อนวิกฤตการณ์ปากน้ำเจ้าพระยาว่า ฝรั่งเศสมุ่งจะยึดครองลุ่มน้ำโขงตอนกลาง จึงพยายามสถาปนาอำนาจอธิปไตยของตนเองให้ชัดเจนขึ้นในบริเวณดังกล่าว

กล่าวเฉพาะนโยบายต่างประเทศ นี่คือวาระที่สยามต้องประเมินว่าระหว่างลมอังกฤษกับลมฝรั่งเศสที่ปะทะสวนทางกัน สยามจะลู่ไปทางใด ในที่สุดก็เลือกจะลู่ไปตามอังกฤษ ด้วยเหตุของความคลุมเครือในท่าทีของลอนดอน หรือการประเมินที่ผิดพลาดของสยามเอง ที่ทำให้สยามไปเชื่อว่า อังกฤษจะแทรกแซงปกป้องสยามในกรณีที่ฝรั่งเศสคุกคามด้วยกำลังทหาร

สถานการณ์ชายแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศสจึงเลวร้ายลงตามลำดับ วีรกรรมของพระยอดเมืองขวางเกิดขึ้นในช่วงนี้ ในที่สุดฝรั่งเศสก็ส่งเรือรบจะเข้าจอดเทียบท่าหน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ (ละเมิดสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส) สยามตัดสินใจใช้กำลังต่อต้านที่ป้อมพระจุล กรณีพิพาทจึงเริ่มเปลี่ยนจากการทูตไปสู่การใช้กำลัง แม้ยังไม่มีการประกาศสงครามแก่กันก็ตาม

ฝรั่งเศสก็ส่งกองกำลังทางเรือเพื่อประกาศปิดอ่าวสยาม

ตลอดวิกฤตการณ์นี้ หลักฐานฝ่ายอังกฤษชี้ให้เห็นว่า ไทยได้ส่งโทรเลขขอคำแนะจากลอนดอนตลอดเวลา ซึ่งอาจเป็นการส่งสัญญาณว่า อังกฤษควรทำอะไรที่อาจยับยั้งการใช้กำลังของฝรั่งเศส เพื่อให้หันเข้าสู่โต๊ะเจรจาที่สยามมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ลอนดอนก็ไม่ได้ให้คำแนะนำอะไร ซ้ำไม่แม้แต่ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อข้อพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศสด้วย คำแนะนำท้ายสุดจากลอนดอนคือให้สยามยอมตามคำเรียกร้องของฝรั่งเศส ทั้งการสละอธิปไตยเหนือดินแดน, จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม และลงโทษข้าราชการซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลสยามอย่างกล้าหาญ ฯลฯ

แล้วจะเหลืออะไรล่ะครับ ก็ต้องยอมจำนนหมดทุกอย่าง เพราะเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า การประเมินแรงลมและการลู่ลมผิดทิศผิดทางไปหมด

ถ้าดูจากเอกสารฝ่ายไทยเอง ก็จะเห็นร่องรอยของความขัดแย้งเชิงนโยบาย เช่น เมื่อเรือรบฝรั่งเศสได้ฝ่าการต่อต้านที่ป้อมพระจุล จนมาจอดเทียบหน้าสถานทูตฝรั่งเศสแล้ว ก็ยังมีอีกฝ่ายหนึ่งที่เตรียมจะยกระดับข้อพิพาทด้วยกำลังขึ้นไปอีก ดังเช่นในหนังสือ ประวัติกาล ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้กล่าวถึงการเตรียมกำลังพร้อมรบที่จะเข้าโจมตีฝรั่งเศสที่บริเวณวัดปทุมวนาราม พร้อมทั้งมีเจ้านาย (ไม่ได้บอกว่าใคร) เสด็จไปเยี่ยมให้กำลังใจ

บุคคลที่ตัดสินใจโดยลำพังในการเปลี่ยนความขัดแย้งด้วยกำลังให้กลับมาเป็นความขัดแย้งด้านการทูตเพียงอย่างเดียว คือสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯ เสนาบดีต่างประเทศในขณะนั้น โดยการเสด็จขึ้นเรือรบฝรั่งเศสเพื่อแสดงความยินดีที่สามารถนำเรือเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ได้โดยไม่ต้องใช้นำร่อง และไม่พูดถึงการปะทะกับฝ่ายสยามที่ป้อมพระจุลเลย

ฝรั่งที่ทำงานราชการสยามในขณะนั้นคนหนึ่งบันทึกว่า เสนาบดีต่างประเทศถูกกริ้วอย่างหนัก จนเกือบถูกปลดกลางอากาศไปเลย

นักประวัติศาสตร์ไทยท่านหนึ่งชี้ให้เห็นว่า สยามยอมทำสัญญาลับกับอังกฤษ ยกผลประโยชน์หลายอย่างบนคาบสมุทรมลายูตอนบนให้แก่อังกฤษ ก็เพราะนโยบายไผ่ลู่ลมนี่แหละ สัญญาลับนี้กลายเป็นปัญหาแก่ไทยอย่างมาก เพราะหากล่วงรู้ถึงมหาอำนาจอื่น เขาย่อมมีสิทธิ์เรียกร้องสิทธิทำนองเดียวกันในส่วนอื่นของประเทศ ตามความตกลง “ชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง” ซึ่งมีอยู่ในสนธิสัญญาสัมพันธไมตรีระหว่างสยามกับเขาทุกประเทศ

ผมคิดว่า สถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างสุดกู่ในปัจจุบัน ทำให้การประเมินแรงลมยิ่งยากขึ้นไปใหญ่ เพราะเป้าหมายของประเทศมันขยายกว้างขึ้นกว่าการรักษาอำนาจอธิปไตยไว้ให้เป็นของราชบัลลังก์เพียงอย่างเดียว ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของปัจจุบันและอนาคตก็สำคัญ การยอมรับของนานาชาติก็สำคัญ (สำคัญอย่างไรจะพูดถึงข้างหน้า) ความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนบ้านซึ่งไม่ใช่อาณานิคมของมหาอำนาจอีกแล้วก็สำคัญ ฯลฯ

ไม่มีใครตัดสินได้ง่ายๆ หรอกครับว่า เราควรลู่ตามลมจีนหรือลมสหรัฐ ที่เราควรคิดมากกว่าก็คือ จะอยู่ท่ามกลางกระแสลมที่พัดสวนทางกันนี้อย่างไร ให้ได้ประโยชน์ที่สุดหรืออย่างน้อยก็เสียประโยชน์น้อยที่สุด โดยคิดถึง “ประโยชน์” ให้รอบด้านจริง ทั้งระยะใกล้และระยะไกล และที่สำคัญประโยชน์ต้องไม่ใช่ความมั่นคงของผู้มีอำนาจ

โลกที่เปลี่ยนไปแล้วนี้ทำให้เกิดสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญแก่ประเทศเล็กๆ อย่างยิ่ง นั่นคือ “ระเบียบโลก” อันใหม่ ซึ่งยอมรับรัฐที่เสมอเท่าเทียมกันทั้งโลก ไม่จำกัดเฉพาะรัฐตะวันตกดังในสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย ระเบียบโลกอันใหม่นี้ไม่ได้ถูกตราขึ้นเฉยๆ ในองค์กรโลกเท่านั้น แต่ได้พัฒนากลไกหลากหลายชนิดขึ้นรองรับด้วย ไม่เฉพาะแต่องค์การสหประชาชาติและองค์กรในสังกัดทั้งหลายเท่านั้น แต่รวมถึงศาลโลก, ศาลอาญาระหว่างประเทศ, สื่อมวลชนระดับโลก, สนธิสัญญาระหว่างกันของประเทศเล็กๆ หรือประเทศเล็กกับมหาอำนาจ, เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ ฯลฯ

การยอมรับของนานาชาติ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ เมื่อถูกมหาอำนาจรุกรานหรือคุกคาม หลายประเทศในโลกก็เอาช่วยเป็นอย่างน้อย ดังนั้น จงจำไว้ว่า ทุกครั้งที่กองทัพทำรัฐประหาร กองทัพกำลังบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐในด้านนี้ลง

การเอารัดเอาเปรียบประเทศเล็ก ถึงยังทำได้ แต่มีราคาซึ่งต้องจ่าย มากบ้าง น้อยบ้าง และต้องจ่ายมากกว่าเมื่อมหาอำนาจยึดประเทศใดประเทศหนึ่งไปเป็นอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลายเท่าตัวนัก ดังกรณียูเครน ในที่สุดรัสเซียอาจได้สิ่งที่ต้องการจากยูเครน แต่ราคาที่รัสเซียต้องจ่ายแพงกว่าเมื่อพระเจ้าซาร์เที่ยวยึดดินแดนรอบข้างอย่างเทียบกันไม่ได้ ปูตินก็คงขยายอำนาจต่อไป แต่ผมอยากเดาว่า คงไม่เลือกวิธีทำสงครามแล้ว นอกจากมั่นใจว่าจะไม่มีราคาแพงเช่นนี้อีก

สรุปก็คือ ประเทศเล็กๆ ทุกประเทศมีช่องว่างให้ดิ้นได้หลายกระบวนท่า เมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันอย่างไม่เป็นธรรมจากมหาอำนาจ จะรอดหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่งนะครับ เพียงแต่เรื่องไม่ได้แคบลงเหลือแต่ทางเลือกสองอย่างว่าจะยอมจำนนหรือไม่ยอมเท่านั้น ฟินแลนด์นั้นเคยรบจนกองทัพโซเวียตเสียหายยับเยิน แต่ในที่สุดฟินแลนด์กลับยอมโอนอ่อนให้แก่โซเวียตบางด้าน เพื่อจะได้โอกาสพัฒนาประเทศต่อไปจนมั่งคั่งกว่าโซเวียต (และรัสเซียในปัจจุบัน) หลายเท่าตัว และอาจจะกลายเป็นสมาชิกนาโตอยู่ในตอนนี้

(การหลั่งเลือดหยาดสุดท้ายเพื่อรักษาดินแดนไว้ทุกตารางนิ้วในโลกปัจจุบัน เป็นเพียงคำปลุกระดมมวลชนที่ค่อนข้างเขลา – เขลาคือ ignorant แปลว่าไม่รู้เหนือรู้ใต้เอาเสียเลย)

ทั้งนี้ ผมคิดว่ารวมถึงความหมายของคำว่า “อำนาจอธิปไตย” ของรัฐด้วย ในโลกปัจจุบันอธิปไตยของรัฐมันอ่อนตัวลงมาก ไม่แข็งทื่อตามตำราอย่างสมัยก่อน ทุกรัฐต่างยอมรับอำนาจสูงสุดบางด้านที่อยู่นอกรัฐของตนเอง เช่น องค์กรภูมิภาคเช่นสหภาพยุโรปก็ถืออำนาจอธิปไตยเหนือรัฐสมาชิกส่วนหนึ่ง

ดังนั้น สภาพของโลกปัจจุบัน นอกจากเปิดโอกาสให้ประเทศเล็กๆ มีพื้นที่สำหรับขยับขยายถ่ายเทได้มากขึ้นแล้ว ก็ยังเปิดพื้นที่ให้แก่การยักย้ายถ่ายเทหาประโยชน์ของมหาอำนาจหรือประเทศใหญ่ด้วย อย่างที่พูดกันถึงจักรวรรดินิยมใหม่ หรือลัทธิล่าอาณานิคมใหม่นั่นแหละครับ

เกิดหนทางต่อรองกับลมหลายทิศหลายทางได้หลายแบบ ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาลู่ตามลมอย่างเดียวเสียแล้ว

ผมจึงเห็นว่าที่เรียกกันว่านโยบาย “ไผ่ลู่ลม” นั้น เป็นวิธีอธิบายนโยบายต่างประเทศที่ตื้นเขินเอามากๆ ที่จริงเอาไปใช้อธิบายอดีตก็ไม่ได้ ยังไม่พูดถึงว่าไม่มีหนทางจะปฏิบัติได้ และไม่จำเป็นต้องปฏิบัติในปัจจุบัน

ออกจะแน่ใจได้ด้วยซ้ำว่า สภาพเช่นนี้จะดำรงต่อไปในอนาคตอีกนานพอสมควร

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_543930

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท