Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เรื่องราวความเชื่อของพระบิดาตามที่เป็นข่าว มองได้หลายมิติ ในมติของ “เสรีภาพ” มีคำถามสำคัญว่า เสรีภาพทางศาสนาหรือเสรีภาพแห่งศรัทธานั้นมี “ขอบเขต” แค่ไหน ถ้าถือว่าความเชื่อแบบพระบิดาและผู้ติดตามคือ “กลุ่มคนที่มีความเชื่อ” หรือ “ชุมชนความเชื่อ” แบบหนึ่งที่สมาชิกลุ่มหรือชุมชนความเชื่อนั้นเข้าร่วมโดยสมัครใจและไม่ถูกหลอกลวง ก็ย่อมเป็นเสรีภาพที่ควรถูกเคารพ

แต่ปัญหาคือ หลักการที่ว่า “ไม่ถูกหลอกลวง” หมายความว่าอย่างไร เพราะใน “พื้นที่ของศรัทธา”  ความเชื่อหรือศาสนานั้น มักจะเป็น “พื้นที่คลุมเครือ” เช่น ความเชื่อที่ว่าการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การปฏิบัติพิธีกรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิบัติภาวนาแบบนั้นแบบนี้แล้วจะเห็นนรก สวรรค์ ได้บุญกุศลดลบันดาลโชคลาภ ทำมาค้าขึ้น มีอำนาจวาสนา ตายไปได้ขึ้นสวรรค์ และบรรลุนิพพาน ฯลฯ เหล่านี้ไม่สามารถตรวจสอบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ว่าจริงหรือลวง เมื่อพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นการหลอกลวงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพของผู้ที่ถูกสอนให้เชื่อเช่นนั้น ก็ย่อมจะถือว่าเป็นเสรีภาพทางศาสนาหรือความเชื่อที่ควรถูกเคารพ แม้การเลือกใช้ชีวิตตามความเชื่อบางอย่างอาจดูงมงายหรือโง่เขลาในสายตาคนอื่น หรือสังคมก็ตาม

เฉพาะกรณีความเชื่อแบบพระบิดา มีคำถามว่า ถ้ามีการสอน (ถ้าจริงตามข่าว) ให้ผู้ติดตามเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนจิตบริสุทธิ์แล้วกินฉี่ ขี้ไคล อึ จะไม่ได้กลิ่นเหม็นและยังรักษาโรคต่างๆ รวมทั้งโควิดได้ด้วย การตรวจสอบว่าหลอกลวงหรือไม่ในกรณีนี้ ย่อมไม่ใช่การตรวจสอบว่าการปฏิบัติตามความเชื่อนี้ทำให้จิตบริสุทธิ์จากกิเลส พ้นทุกข์ได้จริงหรือไม่ แต่คือการตรวจสอบในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า สิ่งสกปรกพวกนั้นรักษาโรคต่างๆ ตามที่ถูกสอนให้เชื่อจริงหรือไม่ และการกินสิ่งพวกนั้นเป็นอันตรายต่อร่างกายของบรรดาผู้ถูกสอนให้เชื่อหรือไม่ เช่น ติดเชื้อโรค แพร่เชื้อโรคติดต่อไปยังผู้อื่นหรือไม่ อย่างไร เป็นต้น

หากเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือแพร่เชื้อโรค ก็มีเหตุผลที่รัฐควรเข้าไปดำเนินการบางอย่าง แต่ไม่ใช่วิธีการปราบปรามไล่ล่า ควรใช้วิธีพูดคุยด้วยเหตุผล และให้ความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขมากกว่า ส่วนความเชื่อที่เป็นแนวปฏิบัติแบบศาสนาที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่น ก็ย่อมมีเสรีภาพที่จะปฏิบัติตามความเชื่อเช่นนั้นได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึง “เสรีภาพ” นักปรัชญาเสรีนิยมไม่ได้เสนอแนวคิดเสรีภาพขึ้นมาโดดๆ หากเสนออย่างเชื่อมโยงกับคุณค่าอื่นๆ ด้วย เช่น ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประโยชน์สุขของส่วนรวม คววามก้าวหน้าของมนุษยชาติ ความยุติธรรมทางสังคม สิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น 

ดังนั้น กรณีความเชื่อแบบสำนักพระบิดา เราไม่ควรมองแค่ประเด็นเสรีภาพทางความเชื่อเพียวๆ จากประสบการณ์ของผมเองในฐานะคนชนบทอีสานที่เห็นกลุ่มชาวบ้านมีความเชื่อทำนองนี้มานาน ผมรังเกียจการดูถูกว่าชาวบ้านโง่งมงาย แต่ก็ “ไม่อิน” กับการปกป้องเสรีภาพทางความเชื่ออย่างปราศจากการพิจารณาความซับซ้อนของปัญหา 

เช่น เป็นไปได้ไหมว่าการที่ชาวบ้านเลือกที่จะเชื่อตามพระบิดา ไม่ใช่เพราะพวกเขากำลังยืนยัน “การใช้เสรีภาพของตนเอง” แต่เป็นเพราะพวกเขา “ไม่มีเสรีภาพที่จะเลือกวิถีชีวิตที่ดีกว่า” ตัวอย่างเช่น ในเนื้อหาของข่าว มีผู้หญิงคนหนึ่งอายุกว่า 30 ปี เล่าว่าตอนเป็นเด็กอายุเพียง 5 ขวบ เธอมาหาพระบิดากับพ่อที่ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง แต่แล้วพ่อก็เสียชีวิตลง เธอไม่มีที่ไป จึงติดตามพระบิดามาจนทุกวันนี้และจะขอติดตามต่อไป แน่นอนว่าผู้ที่เชื่อพระบิดาไม่ใช่ทุกจะมีชะตากรรมแบบเด็กหญิง 5 ขวบคนนี้ แต่ส่วนมากก็น่าจะมีชีวิตที่ลำบากยากจน หรืออาจจะเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา การบริการสาธารณสุขของรัฐ หรือมีเงื่อนไขความจำเป็นอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขาต้องเลือกวิถีชีวิตในแบบที่คนทั่วไปอาจมองไม่เห็นความเป็นคนหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา

ดังนั้น เมื่อพิจารณาในแง่ “เสรีภาพ” ที่สัมพันธ์กับคุณค่าอื่นๆ ทำให้เราต้องตั้งคำถามต่อรัฐว่า ทำไมรัฐละทิ้งคนเหล่านั้น ไม่ดูแลพวกเขาในเรื่องสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจและการศึกษาที่ดีพอ เพื่อที่พวกเขาจะสามารถใช้เสรีภาพเลือกวิถีชีวิตที่ดีกว่า และมีศักดิ์ศรีความเป็นคนมากกว่า 

เพราะในโลกของความเป็นจริง การมีชีวิตย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นคน ไม่ใช่เพียงแค่เรามีเสรีภาพจะเชื่ออะไรก็ได้เท่านั้น แต่เราจำเป็นต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจ อาชีพการงาน รายได้ การศึกษา สุขภาพ อำนาจต่อรองในเรื่องต่างๆ ที่อย่างน้อยที่สุดตัวเราเองต้องไม่ตกอยู่ใน “สถานะผู้ถูกกดขี่” หรือสิ้นหวังกับการมีชีวิตตามความฝันของตนเองมากจนเกินไป หรือมีชีวิตที่ไร้อำนาจต่อรองแบบที่ใครๆ จะยกขบวนสื่อมารุมล้อมถ่ายภาพ และนำสภาพชีวิตของเราไปเผยแพร่ประจานราวกับเราเป็น “ตัวประหลาด” ในโลกใบนี้ จนถูกหัวเราะเย้ยหยัน และถูกพิพากษาด้วยความชิงชังรังเกียจจากผู้คนในโลกโซเชียล ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นก็ไม่เคยรู้จักตัวตน และวิถีชีวิตของเราจริงๆ เลย 

อีกอย่าง ยิ่งเรายืนยัน “เสรีภาพทางศาสนา” (freedom of religion) หรือเสรีภาพทางความเชื่อ เราไม่ควรลืมว่าประวัติศาสตร์การเกิดเสรีภาพทางศาสนาแบบสมัยใหม่ คือประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อที่จะมีเสรีภาพจากอำนาจครอบงำของความเชื่อทางศาสนา อำนาจศาสนจักร และระบบกษัตริย์ที่ปกครองด้วยอำนาจเทวสิทธิ์ อำนาจโดยธรรม เทพสมมติและอื่นๆ 

ในแง่หนึ่งเสรีภาพทางศาสนา คือเสรีภาพที่ปัจเจกบุคคลจะเลือกนับถือศาสนาใดๆ ก็ได้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง คือการมีเสรีภาพที่จะเลือกเปลี่ยนศาสนา และเลือกที่จะไม่นับถือศาสนา หรือไม่มีศาสนาก็ได้ ไม่ว่าจะมองในแง่ไหน เสรีภาพทางศาสนาก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมความเจริญของศาสนาใดๆ แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อให้มีอิสรภาพจาก “อำนาจครอบงำทางศาสนา” มากกว่า ไม่ว่าอำนาจครอบงำนั้นจะประกอบสร้างขึ้นในรูปคำสอนศาสนา ศาสนจักร นักบวช รัฐ และเอกชนก็ตาม 

ดังนั้น ในสังคมสมัยใหม่ที่ให้หลักประกันเสรีภาพทางศาสนา รัฐจึงไม่อุปถัมภ์หรือส่งเสริมศาสนาใดๆ แต่รัฐต้อง “เป็นกลางทางศาสนา” โดยปล่อยให้พลเมืองเลือกนับถือหรือไม่นับถือศาสนาจากอิสรภาพในการตัดสินใจของตนเอง โรงเรียนของรัฐจึงไม่บังคับเรียนเพื่อปลูกฝังความเชื่อและศีลธรรมแบบศาสนาใดๆ แต่เน้นการสอนให้พลเมืองมีความคิดอิสระ เป็นตัวของตัวเอง มีเหตุมีผล มีความเคารพและอดกลั้นต่อความคิดความเชื่อที่แตกต่างหลากหลายทางศาสนา และความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา รวมทั้งความแตกต่างและหลากหลายทางวัฒนธรรม

ในบ้านเรามีนักบวชบางคนที่สนับสนุนแนวคิดโลกวิสัยและไม่สนับสนุน แต่พวกเขา “คิดตรงกัน” โดยบังเอิญว่า ถ้าไทยเป็นรัฐโลกวิสัยนักบวชต้องเป็น ส.ส., รมต. นากยกฯ เป็นต้นได้ พวกเขาอ้างว่านี่คือการยืนยันสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของนักบวชเท่าเทียมกับฆราวาส ราวกับว่าพวกเขาให้ความสำคัญสูงสุดกับประเด็น “สิทธิเท่าเทียม” เสียเหลือเกิน ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่เคยตั้งคำถามเลยว่า ระบบศาสนจักรพุทธราชาชาตินิยมที่พวกเขาสังกัดอยู่ทุกวันนี้ เป็นระบบที่ขัดหลักสิทธิเท่าเทียม เสรีภาพทางศาสนา และเสรีภาพทางการเมืองอย่างไรบ้าง

บางทีพระบิดาอาจดูสกปรกข้างนอก แต่ข้างในเราไม่รู้ ส่วนนักบวชนั้นพยายามแสดงภาพลักษณ์ที่ “สะอาดสูงส่งกว่า” ทั้งข้างนอกและข้างใน แต่สังเกตไหมว่า “เรื่องเล่าหลัก” (grant narrative) เกี่ยวกับความสะอาดสูงส่งของบรรดานักบวชก็คล้ายๆ กับสื่อดังช่องหนึ่งเล่าว่าเขาต้องเข้านอนตี 1 ตื่นตี 5 เพื่อหาประเด็นข่าวมานำเสนอในรายการโหน แต่มีคนแย้งว่า ไม่มีใครบังคับให้คุณทำงานหนักอ่ะ ที่คุณทำก็เพราะ “เงินในบัญชีของคุณเพิ่มขึ้นๆ” ใช่หรือไม่

เรื่องเล่าหลักของนักบวชที่ปลูกฝังศรัทธาของผู้คนนั้น ยิ่งกว่า “ทฤษฎีทวงบุญคุณ” ทำนองนั้นเสียอีก นั่นคือ เรื่องเล่าทำนองว่าพระเกจิรูปนั้นรูปนี้ท่านมี “เมตตา” มาก ทุกวันท่านต้องรับแขกที่มาหานับไม่ถ้วน เพื่อให้คนเหล่านั้นได้อิ่มบุญ แต่ความจริงที่ไม่พูดก็คือ หลังจากแขกกลับไป พระเกจิและลูกศิษย์นั่งนับเงินทำบุญในซองกองพะเนินเพื่อส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ธนาคารที่มารับเงินฝากใน “บัญชีส่วนตัว” ของนักบวชถึงวัด เมื่อเกิดข่าวฉานครั้งหนึ่ง สังคมจึงตะลึงว่าทำไมนักบวชถึงมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวเป็นร้อยๆ ล้านขนาดนั้น หรือนี่คือผลของการอุทิศตนเพื่อพระศาสนา 

แน่นอนว่า ในแง่หนึ่งนักบวชก็อาศัย “เสรีภาพทางศาสนา” ในการสร้างตลาดศรัทธาดูดทรัพย์สร้างความร่ำรวยได้อย่างไม่มี “ขอบเขต” ที่แน่ชัด ในแง่นี้เสรีภาพทางศาสนาจึงเปิดช่องทางให้กับการประกอบสร้างอำนาจครอบงำทางศาสนาได้อย่างซับซ้อน 

ดังนั้น เราจึงไม่ควรลืมว่า เนื้อแท้ของเสรีภาพทางศาสนา คือเสรีภาพแห่งมโนธรรมและอิสรภาพทางศีลธรรมของปัจเจกบุคคลแต่ละคนที่ต้องเป็นอิสระจากอำนาจครอบงำทางศาสนา การยืนยันเสรีภาพทางศาสนา จึงหมายถึงการยืนยันเสรีภาพในการวิจารณ์ถอดรื้ออำนาจครอบงำทางศาสนาในมิติต่างๆ ด้วย ไม่ว่าอำนาจครอบงำนั้นจะประกอบสร้างโดยเจ้าลัทธิความเชื่อ นักบวช ศาสนจักร รัฐ หรือกลุ่มธุรกิจตลาดศรัทธาเอกชนก็ตาม  

 

ที่มาภาพ: https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2387702

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net