Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ 'ขอเรียกร้องให้ สตช. ตรวจสอบและดำเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อตำรวจ สภ.สามพราน ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการจับกุมเยาวชน และขอให้วุฒิสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายโดยด่วน'

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ออกแถลงการณ์ 'ขอเรียกร้องให้ สตช. ตรวจสอบและดำเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อตำรวจ สภ.สามพราน ปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการจับกุมเยาวชน และขอให้วุฒิสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายโดยด่วน' โดยมีรายละเอียดดังนี้

วันที่ 21 พ.ค. 2565 สื่อโซเชียลมีเดีย “สื่อเถื่อน ข่าว” ได้เผยแพร่คลิปจากกล้องวงจรปิดปรากฎภาพเยาวชนชาย 3 คน ขับรถจักรยานยนต์มาพบรถสายตรวจ สภ.สามพราน  จ.นครปฐม  แต่ตำรวจในคลิปกลับสั่งให้ทั้ง 3 คน ถอดเสื้อและนอนราบกับพื้น รวมทั้งใช้เท้าเตะ กระทืบ เหยียบศีรษะและใช้เข็มขัดตีเยาวชนอย่างรุนแรง ทั้งๆที่เยาวชนที่ถูกควบคุมตัวไม่ได้มีท่าทีต่อสู้หรือขัดขืน 

สื่อซึ่งเผยแพร่คลิปดังกล่าวชี้แจงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อคืนวันที่ 30 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา บริเวณหน้าหมู่บ้านพฤกษาวิลล์ 44 ถนนนบรมราชชนนี ต.บางเตย อ.สามพราน จ.นครปฐม เมื่อเยาวชนทั้ง 3 ที่นั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ขับสวนทางมาขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถูกคู่อริไล่ทำร้ายมา  ภาพปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้ยกมือขึ้นและให้นั่งลงถอดเสื้อ มีการตรวจค้นเจออาวุธปืนพกสั้น หลังจากนั้นตำรวจก็ใช้เท้าเหยียบหัวและตามลำตัวจับใส่กุญแจมือบังคับให้นอนลงกับพื้นและเตะ กระทืบ เหยียบไปที่หัว ใช้เข็มขัดฟาด หลังจากนั้นตำรวจได้ขอกำลังสนันสนุนจากฝ่ายสืบสวนนำตัวขึ้นรถไปสอบสวนเพิ่มเติมที่ สภ.สามพราน พร้อมกับแจ้งข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองและพกพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาเมื่อวันที่ 20 พค. 2565 มีเพียงคำสั่งของตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจยศร้อยตำรวจเอกและสิบตำรวจตรีรวมสองคนให้ไปปฏิบัติราชการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม แทนการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิม และในวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 หลังจากมีข่าวเผยแพร่ต่อสาธารณะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติแถลงข่าวขอโทษสังคม 

เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยเฉพาะการใช้กำลังในการจับกุมควบคุมตัวและการปฏิบัติต่อผู้ถูกจับกุมควบคุมตัวในช่วงแรกด้วยการทำร้ายร่างกาย จิตใจ และปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมย่ำยีศักดิ์ศรี ไม่แจ้งข้อหา ไม่แจ้งสิทธิ ไม่ให้เข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ตามที่รับรองไว้ตามกฎหมาย รัฐธรรมนูญและสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมาก ที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เคารพสิทธิมนุษยชน และมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมในทางลบเป็นอย่างยิ่ง เป็นการตอกย้ำความเชื่อและมุมมองของสังคมว่าการกระทำเช่นนี้ยังคงฝังรากลึกในองค์กรตำรวจและเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างไร้การควบคุมกำกับดูแลตลอดมา 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน โดยเฉพาะในกรณีของการกระทำทรมานและการบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เห็นว่าไม่มีบุคคลใดสมควรถูกทำร้าย ละเมิดสิทธิในร่างกาย  กระทำการทรมานโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะสถานการณ์ใด ๆ  และหากไม่มีการเผยแพร่คลิปกล้องวงจรปิดโดยสื่อโซเชียลมีเดีย เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้มักจะไม่ได้รับโทษอย่างเหมาะสมและลอยนวลพ้นผิด และอาจจะไปก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนอื่น ๆ ต่อไปอีก   

ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ....... ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ให้การรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์ ยังคงค้างการพิจารณาอยู่ที่วุฒิสภามากว่า 3 เดือนแล้ว ซึ่งเป็นที่น่ากังวลเนื่องจากวุฒิสภามีสมาชิกเกือบทั้งหมดประกอบด้วยอดีตข้าราชการระดับสูงในสายความมั่นคงและได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร  ปัจจุบัน วุฒิสภาฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยมีพลตำรวจเอกชัชวาลย์ สุขสมจิตร์เป็นประธานฯ อาจมีการตัดทอนบทบัญญัติสำคัญ ๆ ที่ได้รับการรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎรและทำให้ร่างกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องปรามการกระทำดังเช่นเหตุการณ์นี้มีความล่าช้าจนอาจไม่สามารถบังคับใช้อย่างเป็นผลในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายได้ และเหตุการณ์ดังกรณีที่เกิดขึ้นในท้องที่ สภ. สามพรานข้างต้นจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกโดยไม่มีการแก้ไขโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่อย่างใด 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเจ้าหน้าที่ที่กระทำการดังกล่าวให้เกิดความโปร่งใสรวมถึงดำเนินการเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับประชาชนผู้เสียหาย โดยลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดอย่างถึงที่สุด ทั้งในทางวินัยและทางอาญา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต
2. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม ทั้งจากการบาดเจ็บทั้งทางกายและทางใจ การสูญเสียรายได้และทรัพย์สินเสียหาย 
3. ขอให้วุฒิสภาเร่งรัดผ่านพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ........ โดยไม่ชักช้าและตัดทอนหลักการสำคัญ ๆ ของร่างกฎหมายดังกล่าวที่ได้รับการรับรองไว้โดยสภาผู้แทนราษฎรแล้ว
4. ขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบกรณีนี้ด้วย

แถลงการณ์ ณ วันที่ 21 พ.ค. 2565
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net