นักวิชาการมองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สะท้อนเสียงไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ชี้ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. สะท้อนเสียงประชาชนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและปฏิเสธทัศนะปรปักษ์ประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น ข้อเสนอ 8 ข้อ เพื่อการปฏิรูปและศึกษาบทเรียนรัฐประหาร 22 พ.ค. ครบรอบ 8 ปี 

22 พ.ค. 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การครบรอบ 8 ปีของการรัฐประหารครั้งล่าสุดพร้อมการเลือกตั้งผู้ว่า กทม และ สมาชิก กทม ในรอบ 9 ปีในวันนี้ของไทยสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “รัฐประหาร” ไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ใดๆและไม่ได้ทำให้สถานการณ์ต่างๆพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว 

การยึดมั่นในหลักการปกครองโดยกฎหมาย การดำเนินการตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและใช้กลไกรัฐสภาแก้ปัญหาวิกฤติต่างหาก คือ ทางออกที่แท้จริงของประเทศ นำมาสู่ความมีเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ การเลือกตั้ง นายกเทศมนตรีเมืองพัทยา วันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่ชัดเจนกว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2562 ซึ่งมีการบิดเบือนผลการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560 ที่กำหนดอำนาจให้วุฒิสมาชิกจากการแต่งตั้งโดย คสช มีสิทธิในการเลือกนายกรัฐมนตรี แม้นหลังการเลือกตั้งแล้วในปี พ.ศ. 2562 ดูประหนึ่งว่า ได้เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแล้ว แต่เป็นเปลือกนอกส่วนเนื้อแท้ยังเป็นระบอบอำนาจนิยมอยู่เพราะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ผลการเลือกตั้งจึงถูกบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านระบบกลไก ระบบเลือกตั้งและความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่สมดุลและบิดเบี้ยว ผลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม และ สมาชิกสภา กทม สะท้อนเสียงประชาชนไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและปฏิเสธทัศนะปรปักษ์ประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น และเป็นการให้บทเรียนต่อผู้ที่เคยมีบทบาทเคลื่อนไหวสร้างเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเมื่อปี พ.ศ. 2557 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าผลการเลือกตั้งผู้ว่า กทม ในวันนี้ตอกย้ำว่า เครือข่ายของกลุ่มแนวคิดอนุรักษ์นิยมขวาจัด กลุ่มปรปักษ์ประชาธิปไตยอ่อนแอลง และ ไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ขณะที่แนวความคิดก้าวหน้า เสรีนิยม และ การยึดถือหลักการประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นอย่างชัดเจน การรัฐประหาร 22 พ.ค. เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ทำให้พวกเราชาวไทยเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “รัฐประหาร” ไม่ใช่เครื่องมือที่ดีในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมือง การใช้กลไกรัฐสภาและการยึดถือครรลองของประชาธิปไตยต่างหาก คือ เครื่องมือในการจัดการปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ดีกว่ามาก แม้นกระนั้นก็ตาม ยังไม่มีหลักประกันใดๆในอนาคตว่าจะไม่เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในสังคมไทย อาจเกิดการสร้างเงื่อนไขสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต เราจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความมีเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบการเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศด้วยการพัฒนาสถาบันต่างๆภายใต้ระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ทำให้เสียงของประชาชนดังขึ้นและผู้มีอำนาจต้องตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์จะนำสู่ความเจริญก้าวหน้าพัฒนาสู่ความรุ่งเรือง ลดความเหลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเสมอภาค ลดผูกขาดเพิ่มการแข่งขันและแบ่งปัน ความสมบูรณ์พูนสุขและสันติธรรมย่อมบังเกิดขึ้นในสังคมไทย 

วิกฤตการณ์ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อสูง ผลกระทบจากสงครามยูเครนและวิกฤติเศรษฐกิจโควิด 19 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบอบรวมศูนย์อำนาจแบบ คสช ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ตลอดระยะเวลา 8 ปี ประชาชนได้ตระหนักรู้ถึงความจริงของเครือข่ายฝ่ายปรปักษ์ประชาธิปไตยที่ได้ร่วมกันสร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดการรัฐประหาร สิ่งต่างๆได้ถูกเปิดเผยและได้มีการพิสูจน์ถึง วาทกรรม “ปราบโกง” ก็ดี วาทกรรม “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ก็ดี วาทกรรม “สร้างความปรองดอง ลดความขัดแย้ง” ก็ดี วาทกรรม “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็ดี วาทกรรม “ไม่สืบทอดอำนาจ” ก็ดี วาทกรรม “เอาคนดีคนเก่งมาบริหารประเทศ” ก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นจริง การทุจริตคอร์รัปชันก็ไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้ง ขณะที่ รัฐบาลจากการเลือกตั้งถูกตรวจสอบได้มากกว่าง่ายกว่า 

สิ่งที่เราเห็นในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา คือ ความถดถอยลงของระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ระบบนิติรัฐรวมทั้งจริยธรรมของผู้ปกครอง โดยในทางการเมืองนั้น ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังไปไม่ต่ำกว่า 43 ปี โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้ในช่วงบทเฉพาะกาลเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2560

ในทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศก่อนรัฐประหารและหลังรัฐประหาร ก่อนการรัฐประหารสองปี คือ ปี พ.ศ. 2555 อัตราการเติบโตจีดีพีอยู่ที่ 6.5% และ ปี พ.ศ. 2556 อยู่ที่ 2.9% หลังรัฐประหาร ในปี พ.ศ. 2563 จีดีพีติดลบ -6.2% และในปีนี้เอง เศรษฐกิจก็น่าจะขยายตัวได้ไม่ถึง 3.5% แม้นในไตรมาสสามปีนี้เศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นจาการเปิดประเทศก็ตาม แต่ก็ยังถือว่า ขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ผลกระทบจากการรัฐประหารปี พ.ศ. 2557 ได้สร้างความเสียหายและการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนไม่ต่ำกว่าสองล้านล้านบาท เมื่อผนวกเข้ากับการไม่สามารถเจรจาทำข้อตกลงการค้าได้ ระบอบอำนาจนิยมรวมศูนย์อำนาจทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจไปมาก มีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากทั้งที่ประชาชนมีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ หากไม่มีวิกฤตการณ์ทางการเมืองและตามมาด้วยการรัฐประหารสองครั้งในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีคุณภาพสูง ประเทศไทยของเรา ณ พ.ศ. นี้ ก็อาจสามารถก้าวข้ามพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลางและเริ่มต้นเข้าสู่ประเทศรายได้สูง กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประชาชนก็จะมีระบบรัฐสวัสดิการอย่างถ้วนหน้าไปแล้วก็ได้ 

แม้น “ระบอบ คสช” จะผลักดันให้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากโดยเฉพาะระบบคมนาคมขนส่ง ผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจในบางมิติ แต่ภาพรวมแล้ว ไม่ได้ทำให้โครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่มีการผูกขาดสูง เหลื่อมล้ำสูง ศักยภาพการแข่งขันและการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ภายใต้ผลกระทบการแพร่ระบาดของ Covid-19 ผลกระทบสงครามยูเครน ยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพสูงรุนแรงที่สุด ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมย่ำแย่ลงกว่าเดิม หนี้ครัวเรือนเทียบกับจีดีพีสูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บสถิติมา สูงกว่า 90% 

รัฐบาลประยุทธ์สองที่สืบทอดอำนาจมาจาก รัฐบาล คสช จึงก่อเกิดขึ้นจากเสียงของประชาชนบางส่วนบวกกับเสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่ตัวเองแต่งตั้งขึ้น ระบอบ คสช จึงมีลักษณะคล้ายกับระบอบกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยของอินโดนีเซียในยุคซูฮาร์โต เวลานี้ อินโดนีเซียได้รับการยอมรับจากนานาชาติในการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างก้าวกระโดดหลังสิ้นสุดการปกครองโดยรัฐบาลทหารของนายพลซูฮาร์โต ผู้นำกองทัพเป็นทหารอาชีพ พากองทัพกลับสู่กรมกองปฏิบัติงานตามภารกิจหลัก และไม่มีรัฐประหารมามากกว่า 30 ปีแล้ว การปฏิรูปการเมืองในยุคประธานาธิบดี นายพลซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน นายทหารประชาธิปไตยทำให้ระบอบประชาธิปไตยมั่นคงมากยิ่งขึ้นเป็นผลบวกอย่างมากต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปัจจุบันและอนาคต สังคมไทยจึงควรศึกษาบทเรียนความสำเร็จจากอินโดนีเซีย 

ระบอบ คสช กึ่งประชาธิปไตยในปัจจุบันมีความโปร่งใสและประสิทธิภาพต่ำกว่า ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบยุครัฐบาลเปรม และ รัฐบาลอานันท์หลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2534 รัฐบาลสุรยุทธ์หลังรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 
รศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า มีการออกแบบรัฐธรรมนูญปิดประตูไม่ให้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามชนะการเลือกตั้ง มีการใช้ศาลและองค์กรอิสระในการปฏิบัติการต่อคู่แข่งขันทางการเมืองอย่างไม่เป็นธรรมของระบอบ คสช เหมือนกับเผด็จการทหารเผด็จการพม่าดำเนินการต่อ “อองซาน ซูจี” และ “พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย” การกระทำดังกล่าวจะนำมาสู่ความพังทะลายต่อความน่าเชื่อถือของระบบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ เมื่อสถาบันหลักถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองและฝ่ายที่เห็นต่างทำให้ประเทศเสี่ยงต่อสภาวะอนาธิปไตยและรัฐล้มเหลวในอนาคตได้ 
แม้นสังคมไทยเป็นสังคมแห่งการประนีประนอม แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็รักความเป็นธรรม การได้เห็นความอยุติธรรมเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าย่อมเป็นสิ่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปใหญ่ในระบบยุติธรรมได้ในอนาคต 

แม้น “ระบอบ คสช” ช่วงหลังรัฐประหารใหม่ๆสามารถสร้างความสงบได้เพียงชั่วคราว สิ่งที่เข้ามาแทนที่ ความขัดแย้งระหว่าง “เสื้อเหลือง” กับ “เสื้อแดง” คือ ความขัดแย้งและวิกฤติทางการเมืองที่ใหญ่กว่าเดิม ซับซ้อนกว่าเดิมและหยั่งรากลึกยิ่งกว่าเดิม รวมทั้ง ได้ทำให้ความขัดแย้งต่างรุ่นรุนแรงมากยิ่งขึ้นด้วยการยัดข้อหาและจับ เยาวชนคนหนุ่มสาว ติดคุก ทำลายอนาคตคนรุ่นใหม่ของสังคมไทย 
หากไม่มีการรัฐประหารในวันที่ 22 พ.ค. พ.ศ. 2557 และ รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่มีปัญหาความชอบธรรมต้องหมดอำนาจลงจากผลการเลือกตั้ง ระบบและสถาบันประชาธิปไตยจะพัฒนาต่อไปได้ ระบอบประชาธิปไตยจะเข้มแข็งขึ้นเช่นเดียวกับในอินโดนีเซียที่ครั้งหนึ่งเคยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารมาอย่างยาวนาน เรามีความเสี่ยงสูงมากที่มีชะตากรรมเช่นเดียวกับประเทศเมียนมาร์หรือพม่าหากผู้มีอำนาจตัดสินใจยึดอำนาจอีกครั้งในอนาคต 
การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา บางประเทศประสบความสำเร็จ บางประเทศไม่ราบรื่น บางประเทศล้มเหลว สถานการณ์ในปัจจุบันจะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อและจุดเปลี่ยนแปลงของอนาคตของประเทศไทย ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนยึดมั่นในกลไกรัฐสภาและแนวทางสันติวิธี ยอมรับความเห็นอันแตกต่างหลากหลาย เปิดโอกาสให้เสรีภาพและเจตจำนงอันแท้จริงของประชาชนได้ผลักดันให้เกิดการปฏิรูป ความเป็นธรรม ประชาธิปไตยและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า 
ตนจึงมีข้อเสนอ ข้อเรียกร้องเนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปีของการรัฐประหาร 22 พ.ค. ดังนี้

1. ขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานโดยรัฐสภาเพื่อรวบรวมผลการศึกษาบทเรียนจากการรัฐประหารสองครั้งล่าสุดและแนวทางในการปฏิรูปเพื่อให้ประเทศไทยสามารถสถาปนาระบบเศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอันเป็นรากฐานสำคัญของสังคม รวมทั้งแก้ไขปัญหาวิกฤติต่างๆด้วยกลไกรัฐสภาและเป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยและยึดมั่นในหลักนิติรัฐ 

2. ขอให้รัฐสภามีการตั้ง คณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เดินหน้ากระจายอำนาจสร้างรากฐานประชาธิปไตยให้เข้มแข็งในระดับท้องถิ่น ผลการเลือกตั้ง กทม ครั้งนี้ควรเป็นฐานสำคัญของการรณรงค์ให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศในระยะต่อไป โดยควรเริ่มจัดให้มีการเลือกตั้งในจังหวัดใหญ่ๆที่มีความพร้อมก่อน เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดขอนแก่น จังหวัดภูเก็ต จังหวัดระยอง เป็นต้น 

3. ขอเรียกร้องให้สังคมไทยร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เป็นการแก้ไขระบบเลือกตั้ง เป็นเรื่องผลประโยชน์ของพรรคการเมือง ย่อมมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันในการแข่งขันทางการเมือง พรรคใหญ่ได้ประโยชน์มากกว่าพรรคขนาดเล็กและพรรคขนาดกลาง ระบบเลือกตั้งประเทศไทยก็ใช้มาหลายระบบแล้ว สำคัญ คือ ต้องมีมาตรฐานที่ดี สะท้อนเสียงประชาชนได้ดีที่สุดและทำให้พรรคการเมืองมีความมั่นคงเข้มแข็งพัฒนาไปสู่ความเป็นสถาบัน การแก้ระบบเลือกตั้งอันบิดเบือนไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน บัตรเลือกตั้งใบเดียวก็ดี การนับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนแบบผสมก็ดี บัตรเขย่งก็ดี ทำให้ประชาธิปไตยและเสียงและการนับคะแนนบิดเบี้ยว เราก็เห็นกันอยู่เรื่องการนับคะแนนบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองมั่วมาก ไม่ยึดหลักอะไรทั้งหมด แม้นหลักการทางคณิตศาสตร์ ทั้งการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งการดำเนินการ เป้าหมาย คือ สืบทอดอำนาจให้ได้เท่านั้นเอง และ สกัดกั้นไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้เป็นรัฐบาล ระบบและหลักการอะไรต่างๆของประเทศจะพังไม่สนใจ เป็นการฉุดสังคมถอยหลังหลายสิบปี รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็มีที่มาจากการรัฐประหาร มีเนื้อหาหลายส่วนที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตย และ หลักนิติรัฐนิติธรรม อย่างแจ้งชัด จำเป็นต้องแก้ไขทั้งฉบับโดย สสร ที่มาจากประชาชน ยุติการสืบทอดอำนาจของระบอบ คสช และ กลับคืนสู่ประชาธิปไตย ที่ รัฐบาลมาจากเสียงของประชาชน

4. ความเป็นเอกภาพและร่วมแรงร่วมใจของคนในชาติ เราจึงฝ่าวิกฤตการณ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤติทางการเมือง วิกฤติจากผลกระทบของโรคระบาด Covid-19 

5. ความกล้าหาญและเสียสละของประชาชน ความมีเอกภาพและสามัคคีของประชาชนจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ การเสียสละของผู้นำและกลุ่มผู้นำสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ 

6. ต้องลดเงื่อนไขหรือสภาวะเพื่อที่นำไปสู่ความขัดแย้งอันต้นทางของสงครามกลางเมือง และ ยึดในแนวทางสันติ ต้องไม่ให้เกิดความรุนแรงใดๆ หรือ มีผู้สูญเสียชีวิต เพราะหากเกิดสถานการณ์เช่นนั้นแล้วจะทำให้สถานการณ์มีความยุ่งยากลุกลามไปสู่ความรุนแรงเพิ่มขึ้นติดตามมา 

7. รัฐประหารสองครั้ง (2549, 2557) การฉีกรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ และ ยกเลิกการร่างรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ วิกฤตการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนทุกฝ่ายเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในรอบ 16 ปี จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก หากมีการก่อรัฐประหารขึ้นอีก การรัฐประหารในอนาคตจะนำไปสู่เส้นทางหายนะของประเทศ และจะสร้างความแตกแยกมากยิ่งกว่า รัฐประหารสองครั้งก่อนหน้านี้ ผู้นำทหาร ผู้นำตุลาการ ผู้นำภาคธุรกิจ ผู้นำแรงงาน ต้องสนับสนุนประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุข ต้องไม่สนับสนุนระบอบเผด็จการหรือระบอบสืบทอดอำนาจ หากผู้นำกองทัพ ผู้นำศาล ผู้นำภาคธุรกิจ ผู้นำแรงงาน ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่มีทางมั่นคงได้ และ ประเทศไทย คนไทย จะมีชะตากรรม ไม่ต่างจากประเทศเมียนมาร์ และ คนพม่า คนรัสเซีย คนซีเรีย คนซูดาน คนเกาหลีเหนือ ในเวลานี้ ฉะนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมกัน ป้องปราม ไม่ให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่ภาวะดังกล่าว 

8. ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการวางรากฐานประชาธิปไตยให้มั่นคง ปฏิรูปรัฐธรรมนูญและทำให้กระบวนการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญจะต้องประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประกันความปลอดภัยในชีวิตและการเข้าถึงระบบสาธารณสุข ยารักษาโรคและวัคซีน ความยุติธรรม ประโยชน์ส่วนรวมและศีลธรรมจักบังเกิดขึ้นในสังคมไทยเมื่อประชาชนมีเสรีภาพอย่างแท้จริงโดยปราศจากความกลัวจากการคุกคามโดยอำนาจรัฐและการกลั่นแกล้งจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้าย ว่าความสามัคคีและความมีเอกภาพภายใต้รัฐบาลที่ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธาจะก่อให้เกิดความร่วมมืออย่างแข็งขันและมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้จะเป็นรากฐานในการทำให้ “สังคมไทย” ฝ่าวิกฤติผลกระทบจากสงครามยูเครน เงินเฟ้อค่าครองชีพสูง วิกฤติ Covid-19 และ วิกฤติแห่งความยากลำบากทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ไปได้ 
    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท