กลุ่ม We’re all voters ตอบ 'ปิยบุตร' 5 ประเด็น รณรงค์เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง

กลุ่ม We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง ตอบ 'ปิยบุตร' 5 ประเด็น พร้อมระบุ ไม่ได้เห็นต่างกัน ปรารถนาให้ต่างจังหวัดมีความเจริญ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ล้วนเหมือนกันทั้งสิ้น ด้าน 'เลขาธิการคณะก้าวหน้า' ย้ำข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่น ล่าชื่อประชาชนเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ของคณะ ไม่ได้ยุบกำนันผู้ใหญ่บ้าน

23 พ.ค.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา กลุ่ม We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง โพสต์ตอบคำถาม ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ที่ทวีตผ่าน @Piyabutr_FWP ว่า "เลือกผู้ว่าฯ" เป็นการรณรงค์ที่เข้าใจง่าย ติดหู แต่เชื่อเถอะครับ ต่อให้มีการเลือกผู้ว่า 77 จังหวัดปัญหาก็ไม่จบ ตรงกันข้ามจะนำมาซึ่งปัญหาใหม่อีก ได้แก่ จะเอาอย่างไรกับ อบจ.? ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นภูมิภาคหรือท้องถิ่น? ที่เลือกกันมา ก็ไม่มีอำนาจ ไม่อิสระ ไม่มีงบอีก"

กลุ่ม We’re all votersฯ ระบุว่า รวบรวมคำถามเหล่านั้นมาไว้ตรงนี้ และขอตอบรวมทั้งสานต่อบทสนทนาดังนี้

1. ปิยบุตร : จะเอาอย่างไรกับ อบจ.? ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นภูมิภาคหรือท้องถิ่น? ที่เลือกกันมา ก็ไม่มีอำนาจ ไม่อิสระ ไม่มีงบอีก

ตอบ: การรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เป็นเหมือนที่ ปิยบุตร ว่าไว้ คือ เข้าใจง่าย ติดหูเร็ว ดังนั้น เราจึงเลือกใช้แคมเปญนี้เป็นตัวนำ เพื่อรวมพลังจากประชาชนให้ได้มากที่สุด เพราะกระแสต้องการเลือกผู้ว่าฯ เกิดขึ้นจริงในหลายๆ จังหวัด

หากไม่มีแคมเปญนี้เกิดขึ้นเลย เราก็จะมีผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งเหมือนเดิม และอยากเรียน ปิยบุตร ว่า การรณรงค์เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพื่อให้เกิดความกระเพื่อมในสังคม เพื่อนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 14 ปลดล็อกท้องถิ่น เช่นที่คณะก้าวหน้าได้เสนอไว้

แต่เราอยากให้กระบวนการดังกล่าว เกิดขึ้นจากการระดมความคิดของหลายๆ ฝ่ายตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย เพื่อให้เกิดฉันทามติที่ทุกฝ่ายยอมรับได้

เรามิได้เสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าฯ แล้วหยุดเพียงเท่านี้

ต่อคำถามของ ปิยบุตร จากที่เราศึกษามา ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง ควรสังกัดท้องถิ่น และเกิดการปฏิรูปขอบเขตอำนาจ รวมถึงงบประมาณเสียใหม่

2. ปิยบุตร :  ผมเห็นว่า ผู้ที่เห็นด้วยกับการเลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ แท้จริงแล้ว เขาอยากยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคต่างหาก เพราะ ดู กทม. เป็นแบบ ซึ่ง ผู้ว่าฯ กทม. คือ ส่วนท้องถิ่น และกทม. เป็นพื้นที่ที่ไม่มีราชการภูมิภาค มีแต่ส่วนกลาง (กระทรวง กรม) และท้องถิ่น (กทม)

ตอบ: เราเห็นด้วยกับปิยบุตรในข้อเสนอให้ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค แต่ข้อเสนอดังกล่าว ควรตามมาด้วยรูปแบบการปกครองที่ฝ่ายเคยสังกัดส่วนภูมิภาคยอมรับได้ เพื่อมิให้เกิดกระแสต่อต้านจนท้ายสุดต้องล้มพับความฝันนี้ไป
.
ส่วนรูปแบบการปกครองจะออกมาเช่นไรนั้น ต้องย้อนกลับไปที่คำตอบข้อที่ 1 คืออยากให้หลายฝั่งฝ่ายระดมความคิดกัน

3. ปิยบุตร : ผมอยากชวนคิดว่า แทนที่จะรณรงค์ให้ 'เลือกผู้ว่าฯ' ทั่วประเทศ เราต้องรณรงค์ให้ 'เลิกผู้ว่าฯ' ต่างหาก เลิกราชการส่วนภูมิภาค เหลือแค่ส่วนกลางและท้องถิ่น

คล้ายกับ UK และญี่ปุ่น ส่วนกรุงเทพฯ ก็ต้องปรับโครงสร้างใหม่ให้เป็นมหานคร มีนายกเมืองกรุงเทพฯ และแบ่งซอยเขต เลือกนายกฯเขต

ตอบ: เราเห็นด้วยกับ ปิยบุตร แต่ลำพังรณรงค์ให้มีผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้ง ฝั่งอนุรักษนิยม หรือฝั่งที่อาจสูญเสียบางสิ่งที่เคยมี ก็เกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง เรียกเราว่าเป็น 'กบฏ' บ้าง คิด 'แบ่งแยกดินเเดน' บ้าง

ดังนั้น เราจึงอยากให้การรณรงค์เป็นแบบค่อยๆ ไป โดยมีการส่งมอบข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งจากนักวิชาการ รวมถึงตัวอย่างในต่างประเทศ ว่าการกระจายอำนาจ มิใช่กบฏ หรือคิดแบ่งแยกดินแดน

4. ปิยบุตร : ในพื้นที่เขตจังหวัด ต้องทำให้ นายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของคนทั้งจังหวัดอยู่แล้ว ขึ้นเป็นหมายเลข 1 ของจังหวัดให้ได้ มิใช่ มีผู้ว่าฯ จากส่วนกลางส่งมาคอย 'ขี่คอ' อยู่ แก้ไขเรื่องนี้ จึงมิใช่ 'เลือกผู้ว่า' แต่ต้อง 'เลิกผู้ว่าฯ' ครับ

ตอบ: คำตอบข้อนี้ตอบไปด้านบนแล้วครับ

5. ปิยบุตร : ปัญาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในไทยไม่ใช่เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เรามีการเลือกตั้งท้องถิ่นอยู่แล้วทั้งระดับ อบจ. เทศบาล อบต. แต่ปัญหาอยู่ที่ อปท.ไม่มีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่อย่างเบ็ดเสร็จและอิสระ ไม่มีงบเพียงพอ และส่วนกลางและภูมิภาค 'ขี่คอ' ท้องถิ่น

ตอบ: ข้อนี้ก็คล้ายคลึงกับที่ตอบไปแล้ว การแก้รัฐธรรมนูญ หมวด 14 เช่นที่คณะก้าวหน้าเสนอ เราเห็นด้วย ถ้ามีการกระจายอำนาจจริง ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้งจริง

ใช่หรือไม่ว่า อบจ.ก็อาจพิจารณาให้รวมอยู่กับส่วนของผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น นำอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ เดิมที่เป็นส่วนภูมิภาคเข้ากับ อบจ.

สุดท้าย อยากเรียน ปิยบุตรว่า เราไม่ได้เห็นต่างกันเลย ความฝัน ความหวัง และอุดมคติ ที่ปรารถนาให้ต่างจังหวัดมีความเจริญ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ล้วนเหมือนกันทั้งสิ้น

เพียงเราอยากให้การรณรงค์นั้น ดำเนินไปอย่างรอบคอบ

#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ

ขอพลังจากประชาชนทุกคน ร่วมส่งเสียงถึงทุกพรรคการเมือง และผู้ลงรับสมัครรับเลือกตั้งในสมัยหน้าทุกคน

ว่าเราต้องการกฎหมายที่เปลี่ยนให้ทุกจังหวัดสามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้เอง และเราต้องการคุณภาพชีวิตที่เรากำหนดเอง ผ่านการลงชื่อในแคมเปญ Change.org/WeAllVoters

‘ปิยบุตร’ ย้ำข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่น ไม่ได้ยุบกำนันผู้ใหญ่บ้าน

ขณะที่เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ปิยบุตร รณรงค์แคมเปญขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น ที่พื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ตอนหนึ่งได้ระบุว่า ข้อเสนอแคมเปญขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น ที่รณรงค์ล่าชื่อประชาชนเพื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ข้อเสนอไม่ได้มีการยุบเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้านโดยทันที เพียงแต่เสนอจัดการอำนาจของท้องถิ่น

“ส.ส. พรรคการเมืองพรรคหนึ่งปราศรัยหาเสียงว่าพรรคเขาจะไม่ยุบเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้าน ข้อเสนอของแคมเปญปลดล็อกท้องถิ่นของพวกเราก็ไม่ได้เสนอยุบเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้านโดยทันทีเหมือนกัน” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร กล่าวว่า รัฐไทยมีโครงสร้างที่สลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนเรามีทั้งส่วนกลางคือกระทรวง ทบวง กรม มีส่วนภูมิภาค คือ จังหวัด อำเภอ มีส่วนท้องถิ่น คือ อบจ. เทศบาล อบต.ฯลฯ และเรายังมีอีกส่วนหนึ่งคือ ส่วนท้องที่ คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล โดยส่วนท้องที่ หรือ กำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นลูกผสมกึ่งภูมิภาค กึ่งท้องถิ่น โดยกึ่งภูมิภาคคือกำนันผู้ใหญ่บ้านมีผู้กำกับดูแลคือนายอำเภอเป็นส่วนภูมิภาค ส่วนกึ่งท้องถิ่นคือผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน สภาวะลูกผสมของการปกครองท้องที่ เกิดจากพัฒนาการของโครงสร้างรัฐไทย 

“ตอนเป็นรัฐรวมศูนย์ เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ผู้ปกครองจะส่งคนของตัวเองไปปกครองในพื้นที่ต่างๆ แต่ด้วยจังหวัดต่างๆ มีพื้นที่กว้างขวาง ผู้ว่าคนเดียวดูไม่ไหว ก็มีการซอยระดับย่อยลงไปให้ไปดูระดับพื้นที่คือหมู่บ้าน ระดับตำบล แต่เมื่ออยู่ใกล้ประชาชน พื้นที่เล็ก เลยจำเป็นต้องให้มีการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ ก็มีการให้มีการเลือกตั้งจากประชาชน แล้วก็มีพัฒนาการเรื่อยมา มีช่วงเวลาหนึ่งให้มีการเลือกทุก 5 ปี แต่หลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 รัฐบาลยุคนั้นก็ไปแก้กฎหมายให้เป็นจนเกษียณอายุราชการ คือเป็นจนอายุ 60 ปี ซึ่งพอแก้กฎหมายแบบนี้ก็มีข้อท้าทายเกิดขึ้นในพื้นที่ กลายเป็นว่าบางพื้นที่ก็ไม่มีแรงจูงใจในการทำงานบำบัดทุกข์บำรุงสุขชาวบ้าน เพราะบางทีได้รับเลือกตั้งแต่อายุไม่มาก ได้เป็นแล้วพออยู่จนเกษียณ ก็อาจจะได้อยู่ถึง 20-30 ปี ไม่มีแรงจูงใจทำงาน หรือหากมีคนใหม่ๆ ที่ฝีมือดีก็เป็นไม่ได้เพราะติดคนเก่า ต้องรอจนเขาอายุ 60 ปีก่อน” ปิยบุตร กล่าว

เลขาธิการคณะก้าวหน้า ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า นอกจากนี้รัฐยังมีการไปแก้กฎหมาย พ.ร.บ.เทศบาล ด้วย ส่งผลให้มีการตีความให้บางพื้นที่ที่เป็นเทศบาลนคร เทศบาลเมือง ตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านหมดไป เลยทำให้ตอนนี้บางพื้นที่ไม่มีกำนันผู้ใหญ่บ้านแล้วด้วย หรือบางจังหวะก็มีการเปลี่ยนกฎหมายเรื่องวาระการอยู่ในตำแหน่งกำนันผู้ใหญ่บ้านกลับไปกลับมา ทั้งหมดนี้จึงต้องการอธิบายให้เห็นว่าเรื่องนี้มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด มีพลวัตไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ 

ปิยบุตร ระบุด้วยว่า เมื่อกระจายอำนาจอย่างแท้จริงสำเร็จ ท้องถิ่นมีงบประมาณ มีอำนาจ มีทรัพยากร เป็นผู้จัดทำบริการสาธารณะในระดับพื้นที่ทุกเรื่อง ยกเว้นแค่ไม่กี่เรื่องอย่างเรื่องเงินตรา การมีกองทัพ การต่างประเทศ และจัดการอำนาจที่ซ้ำซ้อนและถูกขี่คอจากส่วนภูมิภาคและส่วนกลางให้เป็นการกำกับดูแลอย่างแท้จริง ไม่ใช่มาลักไก่บังคับบัญชา เมื่อนั้นก็อาจต้องมาคุยกันว่าเราจะจัดวางสถานะและบทบาทของกำนันผู้ใหญ่บ้านอย่างไร จะมีพัฒนาการพลวัตอย่างไร แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันของทุกฝ่าย และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดถัดไปที่จะทำ โดยข้อเสนอปลดล็อกท้องถิ่นไม่ได้มีข้อเสนอเรื่องจะยุบหรือจะเลิกกำนันผู้ใหญ่บ้านในทันที แม้ว่าหากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน ประกาศใช้แล้วก็ตาม

“ผมเข้าใจดีว่าทุกวันนี้กำนันผู้ใหญ่บ้าน เงินเดือนไม่ได้เยอะ อยากดูแลลูกบ้านก็ไม่มีงบ ต้องรอจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หลายๆ ครั้งก็อาจไม่ได้อยากทำตามความต้องการจากข้างบนที่สั่งมา ที่อาจจะไม่ได้ยึดถือผลประโยชน์ของประชาชน พวกเขาอยากได้อะไรก็สั่งแต่อยู่หลังฉากไม่ออกหน้า เมื่อกำนันผู้ใหญ่บ้านอยู่ใกล้ประชาชนลูกบ้าน ก็อยากทำประโยชน์เห็นอกเห็นใจประชาชนมากกว่า แต่ก็ติดข้อจำกัด เมื่อเป็นเช่นนั้นหากกระจายอำนาจโดยสมบูรณ์แล้ว เพื่อให้พี่น้องกำนันผู้ใหญ่ได้รับเกียรติยศ ศักดิ์ศรีได้ดูแลพี่น้องประชาชน บำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนได้อย่างแท้จริง ก็มีนักวิชาการที่เสนอโมเดลว่า หรือว่าจะให้กำนันผู้ใหญ่บ้านไปสังกัดเป็นพนักงานท้องถิ่นมีเงินเดือนประจำ มีเงินเดือนที่สมน้ำสมเนื้อ หรือบางพื้นที่อาจลงแข่งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น หรือมิเช่นนั้นอาจเข้าไปทำหน้าที่ในสภาพลเมือง ที่เป็นสภาของประชาชนที่ทางแคมเปญปลดล็อกท้องถิ่นได้เสนอให้มีสภานี้ก็ได้” ปิยบุตร ระบุทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท