Skip to main content
sharethis

สปสช.ปรับวิธีจ่ายเงินชดเชยค่าบริการสำหรับหน่วยบริการในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี(พญาไท-ราชวิถี-ศรีอยุธยา -พระรามหก) เพื่อรองรับการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรของโรงพยาบาล เช่นระบบบริการผ่าตัดโรงพยาบาลหนึ่งแล้วส่งตัวไปพักฟื้นในโรงพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้พักฟื้น เป็นโครงการนำร่องถ้าได้ผลดีก็จะขยายไปใช้กับโรงพยาบาลพื้นที่อื่นๆ

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์

23 พ.ค.2565 ทีมสื่อของ สปสช. รายงานว่า นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การดำเนินการและการจัดสรรเงินเพื่อสนับสนุนการจัดระบบบริการสาธารณสุขในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี

นพ.การุณย์ กล่าวว่า ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นการรวมพลังของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในย่าน ถ.พญาไท ถ.ราชวิถี ถ.ศรีอยุธยา และ ถ.พระรามหก ซึ่งมีสถาบันการแพทย์ทั้งของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และภาคเอกชนอยู่ในนั้น มีความพร้อมทั้งอาคารสถานที่ บุคลากร ความสามารถในเชิงนวัตกรรม อีกทั้งมีการตั้งคณะอนุกรรมการด้านการบริหารจัดการแบ่งปันทรัพยากรด้านสุขภาพ เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการ การเชื่อมโยงฐานข้อมูลและแบ่งปันการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพของหน่วยงานในย่านนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะช่วยให้ทรัพยกร อุปกรณ์ และบุคลากรทางการแพทย์ถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงทำให้ประชาชนหรือผู้รับบริการเกิดความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการโอนย้ายโรงพยาบาลในกรณีที่โรงพยาบาลของผู้ป่วยมีผู้เข้ารับบริการเต็ม

นพ.การุณย์ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2565 หน่วยบริการในย่านโยธีได้จัดระบบการดูแลและส่งต่อ เริ่มจากการผ่าตัด จะมีโรงพยาบาลที่ผ่าตัด เช่น โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เป็นผู้ทำการผ่าตัดแต่ไม่มีเตียงว่างให้ผู้ป่วยนอน ก็จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่อัตราการใช้เตียงไม่หนาแน่น เช่น โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เพื่อดูแลหลังผ่าตัดไปจนกระทั่งจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ซึ่งประโยชน์ที่ได้คือได้ใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ โรงพยาบาลให้บริการได้มากขึ้น ประชาชนก็จะได้เข้าถึงบริการมากขึ้น โดยเบื้องต้นจะเริ่มจากโรคง่ายๆ อย่างการผ่าตัดไส้ติ่งและมีเป้าหมายขยับไปยังโรคยากๆ เช่น มะเร็ง เส้นเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การจัดระบบบริการและการส่งต่อลักษณะนี้ จำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ ซึ่งบอร์ด สปสช. ได้อนุมัติหลักเกณฑ์การจ่ายแล้ว โดยจากเดิมที่จ่ายด้วยระบบกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือ DRG เปลี่ยนเป็นจ่ายให้โรงพยาบาลที่ทำการผ่าตัดแบบ Fee Schedule ตามการวินิจฉัยและการผ่าตัด ขณะที่โรงพยาบาลที่รับดูแลหลังผ่าตัดจะจ่ายด้วยระบบ DRG ทั้งนี้ งบประมาณที่ สปสช. ใช้เพื่อจ่ายชดเชยค่าบริการให้แก่หน่วยบริการในย่านโยธีจะไม่เพิ่มมากขึ้น เป็นเพียงการเปลี่ยนวิธีการจ่ายเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net