Skip to main content
sharethis

พบเอกสารในโซเชียลฯ เนื้อความระบุเป็นของ ตำรวจภูธรภาค 5 ให้ตำรวจภูธรเชียงใหม่และตำรวจภูธรลำพูนปลูกหัวไซเท้าและข้าวโพดอ่อน อย่างละ 100 กิโลกรัม เพื่อเตรียมวัตถุดิบในการทำ “ผักดองวังสระปทุม” แต่เบื้องต้นสอบถามไปยัง ตำรวจภูธรภาค 5 ยังไม่ได้รับคำตอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหนังสือ

 

23 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ลี้ภัยทางการเมือง โพสต์เฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul” เผยแพร่เอกสารที่ถูกระบุว่าเป็น “วิทยุในราชการตำรวจภูธรภาค 5” เลขที่ 0020.152/3022 ลงวันที่ 20 พ.ค. 2565 ซึ่งมีการประทับตรา “ด่วนที่สุด” และ “ชั้นความลับ” กำกับไว้ เรื่องให้ปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อเตรียมวัตถุดิบในการทำ “ผักดองวังสระปทุม” ระบุให้ ตำรวจภูธรเชียงใหม่และตำรวจภูธรลำพูน ดำเนินการปลูกผัก เพื่อเตรียมวัตถุดิบในการทำผักดองวังสระปทุม ดังนี้

  • ตำรวจภูธรเชียงใหม่ ปลูกหัวไซเท้าและข้าวโพดอ่อน อย่างละ 100 กิโลกรัม
  • ตำรวจภูธรลำพูน ปลูกหัวไซเท้าและข้าวโพดอ่อน อย่างละ 100 กิโลกรัม

โดยให้เริ่มปลูกตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2565 เพื่อให้มีผลผลิตในเดือนกันยายน 2565 และระบุให้ตำรวจภูธรรายงานผลการดำเนินการทุกขั้นตอนและความคืบหน้าพร้อมภาพถ่าย ลงชื่อ พล.ต.ท. ปิยะ ต๊ะวิชัย ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (ผบช.ภ.5)

 

ภาพจาก เฟซบุ๊ก “Somsak Jeamteerasakul”

 

วันนี้ (23 พ.ค. 2565) เวลา 11.44 น. ผู้สื่อข่าวประชาไทได้โทรศัพท์ไปยังตำรวจภูธรภาค 5 ในการกำกับของพล.ต.ท. ปิยะ ต๊ะวิชัย เพื่อสอบถามว่าเอกสารฉบับดังกล่าวที่มีการแชร์กันอยู่ในโซเชียลมีเดียเป็นเอกสารที่ออกโดยตำรวจภูธรภาค 5 หรือไม่ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับสายไม่ทราบข้อเท็จจริงและได้มีการโอนสายไปยังหน้าห้องของพล.ต.ท. ปิยะ ต๊ะวิชัย ซึ่งในเวลาประมาณ 11. 50 น. ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้าห้องของพล.ต.ท. ปิยะ ต๊ะวิชัย ได้สอบถามผู้สื่อข่าวประชาไทถึงเลขที่หนังสือ วันที่ และรายละเอียดในหนังสือฉบับดังกล่าว พร้อมระบุว่าจะทำการตรวจสอบและจะเป็นฝ่ายติดต่อกลับมา ภายหลังในเวลา 15.47 น. ผู้สื่อข่าวประชาไทไม่ได้การติดต่อกลับมาจึงได้โทรศัพท์กลับไปยังตำรวจภูธรภาค 5 อีกครั้ง แต่ไม่มีผู้รับสาย และในเวลา 16.25 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรับสาร พร้อมแจ้งว่าหน้าห้องของพล.ต.ท. ปิยะ ต๊ะวิชัย ได้เดินทางกลับไปแล้ว

ภาพจากเฟซบุ๊กเพจ “PHUFA”

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า เฟซบุ๊กเพจ “PHUFA” หรือร้านภูฟ้าในกองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้มีการแนะนำสินค้า “ผักดองวังสระปทุม” สูตรพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผลิตจากผักปลอดสารพิษโดยพืชผักที่ปลูกในวังสระปทุม และพระตำหนักสวนปทุม โดยมีส่วนผสมของ แครอท, พริกชี้ฟ้า, แตงไทยอ่อน, เซเลอรี่, แตงกวา, ดอกกะหล่ำ, ผักชีลาว, ข้าวโพดอ่อน, หอมแดง, โรสแมรี่, เม็ดผักชี และหัวผักกาดขาว โดยสินค้ามีจำหน่ายจำนวนจำกัด เฉพาะที่บูธร้านภูฟ้า และหน้ามูลนิธิเทียนฟ้าเท่านั้น

ภาพจาก กรมแพทย์ทหารบก

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 2564 กรมแพทย์ทหารบก ได้มีการเผยแพร่บทความ “หัวไชเท้า" จากแปลงโครงการทหารพันธุ์ดี รพ.อานันทมหิดล  สู่ "โหลผักดอง" วังสระปทุม” ระบุว่า หัวไชเท้าผลผลิตจาก"โครงการทหารพันธุ์ดี" ของ โรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี ซึ่งกองร้อยรถยนต์พยาบาลทำหน้าที่ดูแลได้ถูกคัดเลือกและจัดส่งไปแปรรูปเป็นวัตถุดิบสำคัญในการปรุง "ผักดองวังสระปทุม" สูตรพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จำหน่ายราคาขวดละ 150 บาท

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ 'ผักดองวังสระปทุม' เพิ่มเติมนั้น เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่ากรมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการทหารพันธุ์ดี ณ โรงพยาบาลอานันทมหิดล กรมแพทย์ทหารบก อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของกองทัพบก ดำเนินการสนองพระราชดำริโครงการทหารพันธุ์ดี ตั้งแต่ปี 2562 โดยพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์บริเวณใกล้กับหน่วยกองร้อยรถยนต์พยาบาล จำนวนสองแปลง เนื้อที่ 2 ไร่ และ 6 ไร่ ปลูกปอเทืองสลับกับการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อปรับปรุงดินและจัดทำแปลงปลูกพืชผักที่ได้รับพระราชทานเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้กำลังพลได้เรียนรู้ฝึกฝนทำการเกษตรอย่างถูกวิธี ปัจจุบัน ได้ปลูกพริกไทยพันธุ์ซีลอน ที่ทนต่อโรครากเน่า ให้ผลผลิตมากเมล็ดใหญ่ จำนวน 250 เสา 500 ต้น บนพื้นที่ 3 งาน คาดว่าจะได้ผลผลิตรุ่นแรกในช่วงปลายปีนี้ นำไปสนับสนุนการผลิตผักดองวังสระปทุมเพื่อสภากาชาดไทย และ ปี 63 ได้ปลูกหัวผักกาดขาว หรือหัวไชเท้า สนับสนุนการผลิตผักดองวังสระปทุมเพื่อสภากาชาดไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net