ประชาชนเดินขบวนไปทำเนียบ ร้อง ครม.ถอนร่าง 'พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่ม'

ประมวลกิจกรรมประชาชนเดินขบวนไปทำเนียบ เรียกร้อง ครม.ถอน ‘พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่ม’ ล่าสุด ‘อนุชา นาคาศัย’ เป็นตัวแทนเจรจากับประชาชน ระบุแจ้งทาง ครม.แล้ว กำลังดำเนินตามขั้นตอน

24 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (24 พ.ค.) ที่หน้าสำนักงานสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ถนนราชดำเนินนอก เวลา 8.20 น. ประชาชนตั้งแถวเตรียมเดินขบวนไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้มีการถอดถอน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน หลังเริ่มปักหลักประท้วงมาตั้งแต่เมื่อวานนี้ (23 พ.ค.)

ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม Mobdata รายงานว่า เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ แกนนำไม่เอาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ประกาศว่าเมื่อตั้งขบวนเสร็จเราะเดินไปประจันหน้ากับตำรวจที่หน้าสะพานมัฆวานรังสรรค์

ประชาชนตั้งขบวนก่อนเดินไปทำเนียบ เมื่อเวลา 8.33 น.

เวลา 08.36 น. ขบวนประชาชนเริ่มเดินประชิดแนวราชดำเนินนอก

เวลา 8.42 น. ประชาชนโปรยกระดาษปรากฏข้อความเช่น “ทวงคืนเสรีภาพการรวมกลุ่ม” หน้ารวดหีบเพลงที่เจ้าหน้าที่ตั้งแนวอยู่

เวลา 08.41 ขณะโปรยกระดาษ ถวิลประกาศให้ผู้ชุมนุมลงจากรถกระบะและให้สื่อออกจากบริเวณแนวตำรวจ

เวลาไล่เลี่ยกัน ที่แยกพาณิชยการ ตำรวจปิดการจราจรตั้งแต่แยกนางเลิ้งถึงแยกพาณิชยการฝั่งอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ให้รถยนต์วิ่งสวนทางกันทางฝั่งโรงเรียนราชวินิต มัธยม แทน ขณะนี้ตำรวจกำลังวางแนวลวดหนามหีบเพลงแต่ยังเปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้เส้นทางเดินเข้าไปได้อยู่

เวลา 08.48 น. เลิศศักดิ์ ประกาศให้ขบวนประชาชนเดินเลี้ยวขวาเข้าถนนเลียบคลองผดุงกรุงเกษม

ขณะเดียวกัน ตำรวจมีการปิดการจราจรถนนพิษณุโลกจากแยกนางเลิ้งเข้าแยกพาณิชยการทั้งหมด
 
เวลา 8.59 น. หัวขบวนประชาชนเดินทางถึงแยกเทวกรรม มุ่งหน้าไปยังแยกนางเลิ้ง

เวลา 9.03 น. รถฉีดน้ำจอดที่บริเวณทางขึ้นสะพานชมัยมรุเชฐ ตำรวจนำรถกระบะเคลื่อนที่เร็วมาขวางบนสะพานชมัยมรุเชฐด้วย

เวลา 09.06 น. หัวขบวนประชาชนมาถึงแยกนางเลิ้ง เลี้ยวเข้าถนนพิษณุโลก ประชิดแนวแผงกั้นหน้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

ขณะที่ประชาชนเข้ามาตัดรั้วเหล็ก ตำรวจจึงเข้ามาแจ้งว่าการตัดรั้วมีความผิดทางกฎหมาย

เวลา 09.19 น. กลุ่มประชาชนประชิดแนวกั้นหน้าอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ชาติชาย แกดำ แกนนำการชุมนุม ประกาศให้ทีมเจรจาเข้าพูดคุยกับทางตำรวจก่อน 

ตำรวจกับตัวแทนผู้ชุมชนเจรจากันในเรื่องการจัดการการชุมนุม โดยตำรวจเสนอว่าให้จอดรถเครื่องเสียงให้ห่างจากทำเนียบรัฐบาล เพราะคณะรัฐมนตรีกำลังมีการประชุม โดยผู้ชุมนุมยืนยันว่าจะปักหลักใกล้ทำเนียบรัฐบาล 

ทั้งนี้ ทางตำรวจเสนอด้วยว่าจะให้ทางรัฐมนตรีออกมารับหนังสือ

เวลา 09.32 น. เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ประกาศให้เวลาตำรวจ 5 นาที ในการเอารั้วเหล็กออก แต่ตำรวจประกาศว่า ไม่ให้ประชาชนทำลายรั้วเหล็ก หรือทรัพย์สินราชการ ไม่งั้นถือว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

ทั้งนี้ ทีม Mobdata สังเกตเห็นด้วยว่า มีรถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือจีโน ประจำการอยู่หลังแนวตำรวจหน้าทำเนียบรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. มีการพกอุปกรณ์คุมฝูงชน เช่น ปืนยิงกระสุนยาง ลักษณะคล้ายปืนลูกซองยาว ขณะที่ตำรวจในชุดสีกากีมีการพกอาวุธคล้ายปืนสั้น 

ตำรวจ คฝ.พร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน ตั้งแถวบนสะพานชมัยมรุเชฐ (ภาพจาก Zee AI)

ภาพตำรวจ คฝ. พร้อมอุปกรณ์คุมฝูงชน (ภาพโดย Mobdata)
 

เวลา 9.41 น. เจ้าหน้าที่ประกาศว่า หากประชาชนทำลายแนวกั้น เจ้าหน้าที่จะเข้าจับกุมและจะใช้ คฝ.ในการควบคุมประชาชน ไม่มีเหตุผลให้ผู้ชุมนุมดันแนวกั้นสุดท้ายเข้ามา เนื่องจากจะมีคนออกมารับหนังสืออยู่แล้ว

เวลา 9.44 น. เจ้าหน้าที่ประกาศอีกครั้งว่าให้แกนนำควบคุมประชาชน เนื่องจากมีคนขว้างปาสิ่งของเข้าไปในแนวตำรวจ ขณะที่ชาติชาย แกดำ ประกาศว่า ไม่ให้ประชาชนปาสิ่งของ เกรงจะเป็นข้ออ้างให้ตำรวจใช้จับกุมประชาชน 

เฟซบุ๊กเพจ “No NPO Bill” โพสต์ข้อความว่า เวลา 9.56 น. เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ใช้เครื่องเสียงประกาศให้ผู้ชุมนุมตั้งแถวหน้ารั้วของตำรวจและ สื่อสารกับตำรวจ โดยเรียกร้องให้เอาแนวรั้วออกแล้วเปิดให้ประชาชนสามารถขึ้นไปชุมนุมบนสะพาฃนชมัยมรุเชฐได้เพื่อรอตัวแทนรัฐบาลมารับหนังสือ และเพื่อทำการเจรจาบนสะพานให้บรรยากาศเป็นไปด้วยดี โดยตำรวจต้องเอาแนวรั้วลวดหนามและแนวกั้นออก เพราะเป็นการกีดกันดูถูกประชาชนมากเกินไป ถ้าหากตำรวจเอาแนวรั้วออกผู้ชุมนุมสัญญาว่าจะนั่งอยู่บนสะพาน และไม่บุกเข้าไปในรั้วทำเนียบรัฐบาล

เวลา 10.14 น. ประชาชนนำลวดหนามหีบเพลงออก 

เวลา 10.18 น. ตำรวจประกาศว่ามีคนบางกลุ่มไม่ฟังแกนนำพยายามรื้อรั้วลวดหนาม ขอให้แกนนำควบคุมประชาชนด้วย ตำรวจกล่าวต่อว่า หากมีการฝ่าแนวกั้นสุดท้าย จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย และใช้อาวุธพิเศษ สุดท้าย เหตุการณ์ดำเนินต่อไปโดยมีตัวแทนประชาชนเข้าไปเจรจากับตำรวจ และไม่เกิดเหตุกระทบกระทั่งแต่อย่างใด

ยังไม่รับปาก ขอประชุม ครม.ก่อน

เฟซบุ๊กกลุ่มสาธารณะ ‘No NPO Bill’ โพสต์ข้อความเมื่อเวลา 10.49 น. ระบุว่า เมื่อเวลา 10.30 น. อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางมาพบประชาชนที่ประชิดแนวรั้วเหล็กเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ฝั่งอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

อนุชา นาคาศัย มาเจรจากับตัวแทนผู้ชุมนุมต้าน พ.ร.บ.การร่วมกลุ่ม

อนุชา ระบุว่าจะคุยกับผู้ชุมนุมด้วยแนวสันติวิธี และรับปากว่าจะพูดคุยกันกับตัวแทนขบวนการประชาชนคัดค้านกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่ม

สุภาพร มาลัยลอย กล่าวที่มาของการมาชุมนุมครั้งนี้ มีความกังวลว่ากฎหมายนี้จะทำให้เกิดปัยหากับการรวมกลุ่ม เสรีภาพทางการชุมนุม ข้อเรียกร้องคือ อยากให้รัฐมนตรี รีบพิจารณาให้ถอนมติ ครม. เกี่ยวกับ พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่ม และรับปากว่าจะไม่นำมตินี้เข้า ครม. อีก  และขบวนจะรออยู่ที่นี่ เพื่อจะทราบผลหลังประชุมเสร็จ 

หนึ่งในแกนนำการชุมนุม ระบุว่า เจตนาในตอนแรกว่าจะพูดคุยเรื่องถอนร่างในวันนี้ได้ไหม และในวันนี้จะสามารถถอนมติ เพื่อประโยชน์ของประชาชนได้หรือไม่

อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในฐานะเป็นรัฐมนตรีที่จะทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายมา รับเรื่องจากประชาชนในความขัดแย้งของกฎหมายการรวมกลุ่ม ที่มีผลต่อการกลุ่มและดำเนินกิจกรรม ทุกคนอาจจะมีความเห็นเหมือนกัน แต่ความคิดเห็นอาจจะไม่ตรงกันร้อยเปอร์เซ็น อยากขอร้องด้วยใจจริงว่า สิ่งนี้ยังไม่เคยมีการพูดคุยกันอย่างชัดเจน การที่ให้ ครม. ประชุมในวันนี้เวลานี้นั้น หากท่านคิดว่าเวลานี้ตอนนี้จะมาพูดคุยแล้วเหมาะสมแล้วหรือไม่ ผมไม่รู่ว่าจะกล่าวอะไรในฐานะคนไทยด้วยกัน จะให้ผมตอบอย่างไร หรือผมขอเวลาอีก 1 เดือน

สุภาพร มาลัยลอย กล่าวอีกว่า วันนี้ไม่ใช่วันแรกที่เราได้บอกกล่าวท่าน เราได้เคยประชุมที่ พม. และเคยเรียกร้องครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 24 มี.ค. เป็นเวลากว่า 2 เดือนที่ได้ประกาศว่า หากยังไม่มีการดำเนินการเราจะมาที่ทำเนียบ

รัฐมนตรีกล่าวตอบต่อตัวแทนขบวนว่า การคุยการเจรจาเป็นแนวทางประชาธิปไตย ผมอยากเห็นการพูดคุยเกิดขึ้นระหว่างเรา แต่ยังรับมติกับพี่น้องไม่ได้ ยังต้องประชุมกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อ

เวลา 10.55 น. รัฐมนตรี และประชาชน เจรจาเสร็จสิ้นแล้ว เลิศศักดิ์ ประกาศว่าให้ประชาชนพักผ่อนก่อน เดี๋ยวจะหาสถานที่ให้นั่งรอคำตอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ผู้ชุมนุมกดดันให้ รมต.แจงความคืบหน้า

ทีมสังเกตการณ์การชุมนุม 'Mobdata' รายงานว่า เวลา 13.06 น. เลิศศักดิ์ ประกาศว่าต้องการให้อนุชา นาคาศัย ออกมาแจ้งความคืบหน้าเรื่องคัดค้านนี้จะเข้าสู่วาระการประชุม ครม.หรือไม่ 

ประชาชนถือป้าย "หยุด มรดก คสช. หยุด พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม" ภาพโดย Chana_La

เวลา 13.15 น. สมบูรณ์ คำแหง เจรจากับตำรวจขอให้ออกมาชี้แจงข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมถอนมติคณะรัฐมนตรีทุกมติเกี่ยวกับเรื่องนี้ และประกาศถอนร่าง พ.ร.บ.อย่างเป็นทางการ ตัวแทนกล่าวว่าเมื่อเช้านี้ตำรวจมีการใช้โล่กระแทกผู้ชุมนุมเมื่อเช้า

เวลา 13.17 น. ตำรวจออกมาตั้งแถวบนสะพานชมัยมรุเชฐอีกครั้ง โดยมีตำรวจในชุดสีกากีอยู่ข้างหน้า และในชุดควบคุมฝูงชนมีกรมท่าอยู่ด้านหลัง 

เวลา 13.25 น. ทีมงานจัดพื้นที่สำหรับสื่อมวลชนให้อยู่ทางฝั่งซ้ายของสะพานชมัยมรุเชฐ และผู้ชุมนุมยืนอยู่ห่างจากแนวแผงเหล็กประมาณ 2 เมตร ขณะที่ตำรวจยืนตั้งแถวอยู่หลังแผงเหล็ก ห่างจากแนวแผงเหล็กประมาณ 10 เมตร

เวลา 13.32 น. มีตัวแทนออกมาแจ้งว่า อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบแล้ว กำลังดำเนินการขั้นตอน สมบูรณ์ คำแหง ถามความหมายของคำว่าขั้นตอน และเรียกร้องให้รัฐมนตรีออกมาชี้แจง

จากนั้นทางอนุชา นาคาศัย รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมตรี พร้อมด้วยนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงผลการประชุม ครม.ต่อตัวแทนขบวนฯ ประกอบด้วยนายสมบูรณ์ คำแหง ธนพร วิจันทร์ และ น.ส.สุภากรณ์ มาลัยลอย ฯ โดยทั้งหมดนั่งล้อมวงพูดคุยกันบนพื้นถนน ทั้งนี้นายอนุชา กล่าวว่า ได้รับเรื่องไปชี้แจงต่อ ครม.ว่า พี่น้องประชาชนเรียกร้องมาตามนี้ และ ครม.รับทราบตามที่ได้เรียกร้องและได้พูดคุยกัน ในบทสรุปที่ว่าขั้นตอนของกฎหมายยังไม่ถึงเวลาที่จะคลอดออกมาบังคับใช้ ยังอยู่ในกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชน ซึ่งต้องเป็นองค์รวมส่วนรวมและยังไม่รู้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบของประชาชนหรือไม่

ขณะที่ตัวแทนขบวนฯ กล่าวว่า เรารู้ว่ากระบวนการรับฟังความเห็นของกระทวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 30 เม.ย. ถ้าครม.ได้อ่านหนังสือที่ยื่นผ่านอนุชาไปในช่วงเช้าและก่อนหน้านี้ที่พม. หรือที่เครือข่ายได้ยื่นมาแล้วหลายครั้ง มันจึงไม่ชอบธรรมที่จะให้คำตอบเช่นนี้ เพราะ พม.ไม่อำนาจตัดสินใจ แค่ตจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเราได้แถลงไปแล้ว ว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นไม่ชอบธรรม และไม่ต้องมาชี้แจงเรื่องพม. เราต้องการคำตอบว่า ครม.ได้หารือวาระนี้หรือไม่และมีมติอย่างไร จะยกเลิกร่างกฎหมายที่ควบคุมการรวมกลุ่มทั้งหมดหรือไม่ และรัฐบาลกล้ามีเอกสารรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ว่าจะไม่เดินหน้าต่อในเรื่องนี้

ด้านอนุชา กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สิ่งที่พวกเราเรียกร้องว่าจะยกเลิกกฎหมายหรือไม่นั้น ยังไม่มีการเอากฎหมายนี้มาเดินหน้าแน่นอน สิ่งนี้ยังเป็นกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมาย ตนก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรในฐานะประชาชนคนไทยเหมือนพวกเรา ดังนั้นขอให้ตั้งกลุ่มมาพูดคุยและหาข้อยุติร่วมกัน ต้องดำเนินการตามกระบวนการ สิ่งที่ตนบอกคือถ้าประชาชนไม่เอากฎหมายฉบับนี้ไม่มีทางผ่าน เป็นความจริงใจที่ตนมานั่งตรงนี้ ยืนยันว่าตนได้ให้ข้อสังเกตกับครม.ไปแล้ว ว่าประชาชนไม่ต้องการกฎหมายฉบับนี้ และคิดว่า พม.คงทราบดี ในเมื่อพี่น้องประชาชนไม่ต้องการกฎหมายฉบับนี้เขาก็ต้องต้องนำไปทบทวน ก่อนที่นายอนุชาและคณะจะกลับออกไป

ด้าน 'ไหม' ธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมสิทธิแรงงาน กล่าวว่า เราสามารถรอได้ เอาเวลาที่รัฐมนตรีสะดวกจะออกมาแจ้งเลย และขอความร่วมมือเรื่องแผงเหล็ก เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งบอกว่าเรื่องนี้เดี๋ยวค่อยว่ากัน สรุปแล้วคือให้ตัวแทนไปแจ้งรัฐมนตรีก่อน 

ธนพร เจรจากับเจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งเรื่องแผงเหล็ก แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไว้ก่อน ยังไม่ใช่ประเด็น และไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของเขา ทำนองว่าจะต้องพูดคุยกับทางนครบาล ผู้ชุมนุมบอกว่าตำรวจอยู่กันเยอะแบบนี้ ใครจะเข้าไปได้ เวลา 13.37 น. ตัวแทนกลับเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล

ต่อมาเวลา 14.10 ทางเครือข่ายฯ ได้แถลงโต้กลับผลการประชุม ครม.ที่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ โดยนายสมบูรณ์ คำแหง กล่าวว่า ไม่มีความชัดเจนจากสิ่งที่เราเรียกร้องคือ ครม. นำเอาเรื่องไปหารือ แต่ยังเลื่อนลอย ต้องติดตามกันต่อไป และสร้างเงื่อนไขให้ผู้ชุมนุมอยู่ต่อ คนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่เฉพาะที่นี่ แต่อยู่ทั่วประเทศ หากกฎหมายฉบับนี้ผ่าน การรวมกลุ่มทางสังคม การปกป้องบ้านเกิดจะไม่ไม่สามารถทำได้ ขอให้พี่น้องทุกคนร่วมกันสื่อสารไปให้ทั่วประเทศ มันจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ที่นำไปสู่การต่อต้านเผด็จการของพวกเรา

สุภาภรณ์ มาลัยลอย กล่าวว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีให้ร่างกฎหมายขึ้นมา โดยเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ครม. ได้เห็นชอบร่างกฎหมาย จึงเป็นร่างที่นายกรัฐมนตรีริเริ่ม สำนักงานการกฤษฎีกายกร่าง ประชาชนยืนยันไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่รัฐบาลกลับเดินหน้า และในวันที่ 29 มิ.ย.2564 ครม.มีมติเห็นชอบ และเอากฎหมายฟอกเงินมาเพิ่มน้ำหนักในกฎหมายฉบับนี้ ต่อมาวันที่ 4 ม.ค. 2565 มีมติครม. ย้ำหลักการเรื่องนี้อีกครั้ง จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมเราต้องมายืนที่จุดนี้ อีกทั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา เราได้มีการไปชุมนุมที่ พม. ว่าการรับฟังความเห็นไม่ชอบ ดังนั้น ครม.ต้องยกเลิกกฎหมายนี้เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เราต้องคำนึงว่าการรวมกลุ่มของประชาชนเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนมีสิทธิในการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องหรือเห็นต่างกับรัฐบาลและมีสิทธิในการตรวจสอบรัฐบาล มิใช่มีรัฐบาลมีรัฐบาลที่คอยออกกฎหมายมาควบคุมและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ธนพร วิจันทร์ กล่าวว่า การที่ ครม.ยังไม่มีความชัดเจน เป็นการสร้างเงื่อนไขให้เราไม่ได้กลับบ้าน ท้าทายว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจประชาชน เป็นการท้าทายที่พวกเราจะไม่ยอมหยุดกับกฎหมายฉบับนี้ และจะปักหลักเดินหน้าชุมนุมยืดเยื้อต่อไป

ต่อมาผู้ชุมนุมได้ร่วมกันปล่อยป้ายผ้าติดลูกโป่งขาวดำที่เขียนคำว่า “หยุดมรดกคสช. หยุดพรบ.ควบคุมการรวมกลุ่ม “ ให้ลอยไปให้ถึงทำเนียบรัฐบาล พร้อมทั้งวางดอกไม้จันทน์บนหน้าป้ายประกาศจับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่นายกที่เร่งออกกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่ม และทำการเผาดอกไม้จันทน์ ก่อนที่จะแยกย้ายกันเดินกลับไปยังตึกอาคารสหประชาชาติเพื่อปักหลักชุมนุมยืดเยื้อเพื่อผลักดันร่ให้ครมยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเรื่องให้มีกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรหรือที่ขบวนนเรียกว่ากฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท