Skip to main content
sharethis

นักวิชาการชี้รัฐธรรมนูญคนจนไม่เหมือนรัฐธรรมนูญของผู้มีอำนาจ ย้ำ รธน.60 สร้างผลกระทบผู้คนทุกภูมิภาค ริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้แสดงความเห็นทางการเมือง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคที่สังคมไม่เป็นประชาธิปไตย ยกข้อเสนอ 'รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกับปัญหาชายแดนภาคใต้' ขณะที่ตัวแทนพรรคการเมืองสะท้อนประเทศที่เป็นเผด็จการซ้ำซากไม่มีทางที่ประชาชนจะร่ำรวย

วิกฤติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเกือบ 20 ปี ความรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมจากอำนาจรัฐรวมศูนย์ที่กดทับคนชายแดนซึ่งมีความหลากหลายทางอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์มายาวนาน ถือเป็นสาเหตุสำคัญของมติเอกฉันท์จากประชาชนชายแดนใต้ที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และจากการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องขององค์กรคนจน องค์กรประชาชน องค์กรด้านประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ได้ร่วมกันเสนอยกร่างรัฐธรรมนูญคนจนที่มีหัวข้อสำคัญกว่า 10 หัวข้อ ได้แก่ สิทธิเกษตรกร สิทธิแรงงาน สิทธิชุมชนและการพัฒนา สิทธิด้านที่อยู่อาศัย สิทธิด้านการศึกษา สิทธิสำหรับชายแดนใต้ การมีส่วนร่วมของเกษตรกรในนโยบายการค้าเสรี สิทธิในที่ดิน สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกลไกเพื่อการปกป้องสิทธิ เพื่อให้เกิดสิทธิอันหลากหลาย สนองต่อความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ไม่เป็นรัฐธรรมนูญของผู้มีอำนาจหรือนายทุนขุนศึกเพียงฝ่ายเดียว 

21 พ.ค. ที่ผ่านมาเครือข่ายรัฐธรรมนูญคนจนจึงได้จัดเวทีสัญจร “พรรคการเมืองฟังเสียงคนจน” ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “สันติภาพชายแดนใต้” เพื่อรับฟังเสียงของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ว่าแท้จริงแล้วประชาชนชาวมลายูมุสลิม ชาวพุทธในพื้นที่ ต้องการสิทธิในรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับบริบทปัญหาของตนอย่างไร 

ในเวทีนี้ ได้มีการเชิญประชาชนในพื้นที่ นักเคลื่อนไหว นักศึกษา เพื่อเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนต้องการ และเชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมรับฟังและพิจารณานโยบายจากการนำเสนอของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ประกอบด้วย วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ  อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ฝ่ายกฎหมาย), ศักดิ์ณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา คณะทำงานบริหารพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้  พรรคไทยสร้างไทย, มนตรี ดอเลาะ พรรคประชาธิปัตย์ และ อาหมัดบูราฮัน ติพอง พรรคเพื่อไทย

รัฐธรรมนูญคนจนไม่เหมือนรัฐธรรมนูญของผู้มีอำนาจ

สามชาย ศรีสันต์ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ 60 ที่ได้สร้างผลกระทบผู้คนทุกภูมิภาคและเกิดการริดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคที่สังคมไม่เป็นประชาธิปไตย เราเลยต้องมีรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนเพื่อเรียกสิทธิเสรีภาพของประชาชนคืนมา  ซึ่งการจัดเวทีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยพื้นฐานที่ว่า ประชาชนต้องการรัฐธรรมนูญแบบไหน รัฐธรรมนูญคนจนไม่เหมือนรัฐธรรมนูญของผู้มีอำนาจ ตรงที่มาจากปัญหาในชีวิตประจำวันของทุกคน 

ในการจัดเวทีครั้งนี้ได้มีการนำเสนอเนื้อหาและสิทธิในรัฐธรรมนูญ 5 หัวข้อ ประกอบด้วย 1.ทรัพยากรธรรมชาติ 2.เศรษฐกิจ การทำมาหากิน ความยากจน 3.วัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา 4. การเมือง การกระจายอำนาจ และกระบวนการสันติภาพ และ 5 กฎหมาย ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน

การนำเสนอที่สำคัญได้แก่ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ ได้นำเสนอถึงประเด็นปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งประมงพื้นบ้าน ที่ดินอุทยานทับที่ เอกสารสิทธิ การขอสัมปทานเหมืองแร่ โรงไฟฟ้าชีวมวล รวมไปถึงนาร้างและการบริหารจัดการน้ำ สาเหตุหลักคือกฎหมายที่ออกมาจากรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นกฎหมายที่ลดทอนอำนาจของคนในพื้นที่ และโครงการการพัฒนาขนาดใหญ่เป็นโครงการที่ไม่สอดคล้องต่อคนในพื้นที่ ทำให้ปัญหาเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมายาวนาน โดยคนในพื้นที่ได้เสนอให้ปรับแก้กฎหมายที่ลดทอนสิทธิของชุมชน ในเรื่องของการบริหารจัดการป่า ที่ดิน ภูเขา น้ำและทะเล ให้ภาคประชาสังคมที่มีการศึกษาร่วมกับหน่วยงานวิชาการเป็นสาระหลักในการปรับแก้กฎหมาย ให้รัฐยับยั้งโครงการขนาดใหญ่ที่ยังไม่ได้มีการประเมิน EHIA หรือรายการประเมินสิ่งแวดล้อม ทั้งให้มีการประเมิน EHIA อย่างโปร่งใสและเป็นธรรมในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคใต้ทั้งหมด 

ประเด็น วัฒนธรรม การศึกษา ศาสนา ที่มีการพูดคุยถึงโรงเรียนตาดีกาและโรงเรียนสอนศาสนาเอกชนในพื้นที่ ซึ่งถูกเพ่งเล็งจากรัฐเป็นพิเศษว่าเป็นโรงเรียนที่บ่มเพาะกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ทำให้คนหนุ่มสาวที่สอนในโรงเรียนตาดีกาถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามคุกคามถึงบ้าน รวมถึงกรณีที่เยาวชนชายเปอร์มูดอในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่รมตัวกันแต่งกายด้วยชุดมลายูเพื่อแสดงพลังและปฏิญาณตนในวันฮารีรายอที่ตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี นับหมื่นคนที่สร้างกระแสการรับรู้อย่างกว้างขวาง ก็ทำให้กลุ่มผู้จัดงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ถูกจับตาและถูกคุกคามถึงบ้าน มีการเรียกแกนนำไปรายงานตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงการแสดงอัตลักษณ์ความเป็นมลายู แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นภัยความมั่นคง 

ในเวทีนี้ยังคงมีการเรียกร้องการกระจายอำนาจให้เกิดเขตการปกครองพิเศษท้องถิ่นที่คนมลายูพุทธและมุสลิมสามารถเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นของตัวเองได้ เพื่อเกิดการกระจายอำนาจ กระจายเงิน กระจายทรัพยากร และเพื่อการปกครองที่เคารพความเป็นคนเท่ากันของคนในพื้นที่ เคารพความหลากหลายของคนในภูมิภาคนั้น ๆ 

รวมถึงประเด็นสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นประเด็นน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ในครั้งนี้คนในพื้นที่ได้สะท้อนถึงการสร้างสันติภาพว่า “หลายคนให้ความหวังว่าการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอย่างคุณประยทธ์ไปเจรจากับกลุ่มติดอาวุธอย่าง BRN นั่นคือความหวังและอีกไม่นานเราน่าจะได้เห็นสันติภาพ อีกไม่นานเราจะได้เห็นสันติสุข แต่ การเจรจาสันติภาพมันไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมดของกระบวนการสันติภาพ กระบวนการสันติภาพไม่ได้หมายถึงการเจรจาเพียงอย่างเดียว กระบวนการสันภาพหรือการสร้างสันติภาพที่มั่นคงอาจจะเป็นการเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้ก้าวหน้า เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้พร้อมที่จะยอมรับความหลากหลายของผู้คน และมาสู้กันทางการเมืองด้วยสันติวิธี แบบนี้มันจะทำให้สันติภาพที่นี่มันเกิดขึ้นได้จริง และมันยั่งยืนกว่า” 

ประเทศที่เป็นเผด็จการซ้ำซากไม่มีทางที่ประชาชนจะร่ำรวย

ด้านตัวแทนพรรคการเมืองอย่าง วันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้กล่าวถึงประเด็นทรัพยากรว่าประชาชนคนยากจนไม่ได้จนเพราะขี้เกียจ ไม่ได้จนเพราะขาดทรัพยกร แต่ที่ดินทำกินของคนในประเทศนี้ถูกยึดครองโดยนายทุนกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งได้ตอกย้ำว่า “ประเทศที่เป็นเผด็จการซ้ำซากไม่มีทางที่ประชาชนจะร่ำรวยได้ ผู้นำที่ดี ผู้นำที่เก่ง ก็ย่อมจะทำให้ประชาชนหายจน คุณอยากให้ประเทศเราหายจน คุณต้องเปลี่ยนผู้นำ” 

“ผมไม่เชื่อหรอกครับว่าสันติภาพจะเกิดจากมือที่เป็นเผด็จการ แต่ทำก็ดีแล้ว อยากสนับสนุนให้ทำ แต่ความเชื่อของผมในใจ ผมไม่มี มือเผด็จการไม่มีทางที่จะให้สันติภาพเกิดขึ้นได้” วันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา กล่าวถึงประเด็นสันติภาพ

อาหมัดบูราฮัน ติพอง ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญปี 60 ว่า เป็นปัญหาต้นเหตุทำให้ประชาชนยากจน ลำบาก จนถึงวันนี้ เพราะว่ามันเป็นผลไม้พิษจากการรัฐประหาร

นอกจากนี้ตัวแทนพรรคเพื่อไทยยังได้กล่าวถึงประเด็นการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนใต้ไว้อย่างน่าสนใจว่า  “ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ในอดีต พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ อินโดฯ มาเลย์ และบรูไนมาเรียนที่บ้านเราคำว่าปอเนาะ ที่อินโดนีเซียเขาใช้คำว่า Border School  เพื่อยกเป็นโรงเรียนนานาชาติ เรามีหลายภาษาในโรงเรียนปอเนาะอยู่ แค่ส่งเสริมและสร้างมาตรฐานให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่” 

ทั้งนี้ มูฮัมหมัดบูราฮันยังกล่าวถึงเรื่องอัตลักษณ์มลายูกับอัตลักษณ์อิสลามว่า อัตลักษณ์มลายูเราไม่มีศาสนา ใครใส่ชุดมลายูก็ได้ เหมือนภูเก็ตมีวัฒนธรรมบาบายาหยาที่แต่งตัวมลายู แต่ว่าเป็นคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม บางคนเอาไปนำเสนอว่าอัตลักษณ์อิสลามเข้ามาแล้วซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิดและสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น

รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกับปัญหาชายแดนภาคใต้

ชลิตา บัณฑุวงศ์

ชลิตา บัณฑุวงศ์ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้เสนอบทสังเคราะห์รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกับปัญหาชายแดนภาคใต้มีเนื้อหาสำคัญดังนี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้มีจุดเริ่มต้นจากการผนวกรัฐไทยสมัยใหม่ในขณะที่ผู้คนมีความหลากหลายทางอัตลักษณ์และชาติพันธุ์ที่ต่างไปจากความเป็นไทยอย่างมาก รัฐไทยมีความแยบยลที่จะกลืนกลายแม้จะพยายามส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่า “สังคมพหุวัฒนธรรม” เพื่ออ้างความสงบ สันติ แต่ในด้านความมั่นคงกลับไม่ต่างไปจากเดิมที่เน้นการปฏิบัติการทางทหาร แม้ว่ารัฐไทยจะมีพัฒนาการในการจัดการพื้นที่ให้ดูดีขึ้นแต่ชาวบ้านยังคงประสบกับปัญหาคุณภาพชีวิต ความยากจนและผลการศึกษารั้งท้ายของประเทศ รวมถึงความไม่มั่นคงในชีวิตสะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐไทยในการบริหารปกครอง แต่ในอีกด้านปัญหากลับถูกใช้เป็นข้ออ้างความชอบธรรมที่จะเข้ามาจัดการพื้นที่และผู้คนที่นี่ให้มากขึ้นและซับซ้อนขึ้น กลายเป็นวัฎจักรที่ไม่มีวันจบสิ้น

การจะแก้ปัญหาชายแดนใต้จำต้องมีรัฐธรรมนูญที่ดี ในขณะนี้มีมุมมองรัฐธรรมนูญ 60 ที่ยึดโยงผู้คนในพื้นที่สองแนวทาง แนวทางแรก มองว่าแม้รัฐธรรมนูญปี 60 จะมีปัญหา แต่ก็ยังมีส่วนที่ดีหรือมีการเปิดช่องที่สามารถเอามาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ แนวทางที่สอง เน้นถึงปัญหาความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญปี 60  ที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เนื่องจากมีที่มาจากระบอบรัฐประหาร มีกระบวนการลงประชามติที่คุกคามผู้เห็นต่าง และมีเนื้อหาที่ลดทอนอำนาจของประชาชน จึงจำเป็นต้องร่างรัฐธรรมใหม่ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง

และข้อควรคำนึงต่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ชายแดนใต้ มีสิ่งที่ควรคำนึงอยู่ 2 ประการ ประการแรก ความหลากหลายของผุ้คน ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องรวบรวมความเห็นจากกลุ่มคนที่หลากหลายและได้น้ำหนักที่เท่ากัน ประการที่สอง ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในบริบทชายแดนใต้ จะต้องให้พื้นที่ที่เปิดกว้างและเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ผู้คนสามารถพูดถึงวามใฝ่ฝันและความปรารถนาของตนได้โดยไม่มีข้อห้าม เช่น การปฏิรูปสถาบัน การเสอนรูปแบบรัฐ ส่วนการที่จะยอมรับหรือไม่ยอมรับข้อเสนอนั้นๆ ก็ขอให้ตัดสินกันด้วยกระบวนการประชาธิปไตยผ่านทางการโหวตหรือการลงประชามติ และผ่านทางกระบวนการทางรัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net