นันทิดา รักวงษ์: การต่อสู้ชิงอัตลักษณ์ไทยระหว่างกลุ่มราชาชาตินิยมกับสาธารณรัฐ

รายงานสัมภาษณ์ ‘นันทิดา รักวงษ์’ ที่ปรึกษาทนายอัมสเตอร์ดัม และเจ้าของวิทยานิพนธ์เกียรตินิยมอันดับ 1 จากโกลด์สมิธส์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เรื่อง “การต่อสู้ชิงอัตลักษณ์ไทยระหว่างกลุ่มราชาชาตินิยมกับสาธารณรัฐ” ที่อธิบายการประกอบสร้างวาทกรรมของอุดมการณ์ 2 ฝ่ายในบริบทการเมืองไทย พร้อมเปรียบเทียบการต่อสู้ทางความคิดระหว่าง ‘ระบอบกษัตริย์’ กับ ‘ระบอบสาธารณรัฐ’ ในอังกฤษและไทยที่มีจุดตัดอยู่ที่ ‘เสรีภาพในการพูด’

นันทิดา รักวงษ์

เมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ‘นันทิดา รักวงษ์’ ที่ปรึกษาด้านประเทศไทยของโรเบิร์ต อัมสเดอร์ดัม อดีตทนายความของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ผลักดันให้มีการฟ้องร้องคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ให้เข้าสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ผู้เป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ @ThaiPolitica ได้โพสต์ข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ว่าผลงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเธอ เรื่อง “การต่อสู้ชิงอัตลักษณ์ไทยระหว่างกลุ่มราชาชาตินิยมกับสาธารณรัฐ” (The battle over Thainess: investigating royalist nationalism and republican discourses) ได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากโกลด์สมิธส์ มหาวิทยาลัยลอนดอน (Goldsmiths, University of London) และเธอกำลังเดินหน้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกเพื่อต่อยอดการศึกษาเกี่ยวกับขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและแนวคิด ‘สาธารณรัฐนิยม’ ในไทย

ที่มาของการเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์

นันทิดาบอกว่าเหตุผลในการเลือกทำวิทยานิพนธ์หัวนี้ เริ่มจากการที่เธอเป็น ‘คนเสื้อแดง’ และอยู่ร่วมขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมาตั้งแต่ปี 2552 นันทิดาระบุว่าการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงนั้นมีความหลากหลาย มีแต่ละกลุ่มมารวมกัน หลายคนอาจมองเห็นภาพใหญ่ว่าการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นกลุ่มหลัก แต่ในความเป็นจริงนั้นมีกลุ่มอื่นๆ ที่สนับสนุนประชาธิปไตยเข้าร่วมด้วย เช่น กลุ่มแดงสยาม กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ เป็นต้น นอกจากความหลากหลายของกลุ่มแนวร่วมคนเสื้อแดงแล้ว นันทิดาบอกว่าอีกหนึ่งสิ่งที่เธอสังเกตเห็นคือองค์ประกอบทางความคิดของกลุ่มคนเสื้อแดงบางส่วนที่แสดงออกว่าไม่นิยมระบอบกษัตริย์ แม้จะไม่มีการพูดออกมาอย่างชัดเจน แต่วิธีการคิดหรือการแสดงออกเชิงสัญญะก็สะท้อนได้ว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของทุกคนที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในครั้งนั้น

นันทิดาเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงช่วงนั้นว่า ‘ปรากฏการณ์ตาสว่างที่ค่อนข้างแพร่หลาย’ และยิ่งแพร่หลายมากขึ้นเมื่อเกิดเหตุสังหารหมู่คนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ในปี 2553 ต่อมาในปี 2557 หลังการทำรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดการกวาดล้างนักกิจกรรม โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง ทำให้หลายคนต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ซึ่งเธอสังเกตว่ากลุ่มผู้ลี้ภัยนั้นล้วนแต่เป็นกลุ่มคนที่แสดงออกค่อนข้างชัดเจนว่ามีแนวคิดสาธารณรัฐนิยม อีกทั้งเมื่อผ่านไประยะหนึ่ง ผู้ลี้ภัยบางคนเริ่มถูกคุกคาม ลักพาตัว และสุดท้าย บางคนต้องจบชีวิตลงเพราะถูกบังคับสูญหาย

“สิ่งที่ทำให้เราอยากทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้เพราะว่ามันมีการลักพาตัว มีการสังหารคนที่มีการจับกุมคนที่มีอุดมการณ์ความเชื่อในเรื่องสาธารณรัฐ ทำไมเราถึงอยากทำตรงนี้ เราอยากที่จะยืนยันว่า โอเค ประเทศไทยมันก็มีกลุ่มคนที่เชื่อในอุดมการณ์ราชาชาตินิยม แต่มันก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เชื่อในระบอบสาธารณรัฐ แล้วเราอยากจะบอกว่าความเชื่อเรื่องอุดมการณ์ราชาชาตินิยมในประเทศไทยมันไม่ใช่สิ่งที่เป็นธรรมชาติหรือเป็นสามัญสำนึก (common sense) แต่มันเป็นสิ่งที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาผ่านทางโครงสร้างทางสังคมและทางการเมือง และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้อยากทำวิทยานิพันธ์เรื่องนี้” นันทิดา กล่าว

ทำไมต้องเป็นวาทกรรมของ ‘จอมพลสฤษดิ์’

นันทิดาระบุว่าจากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ พบว่าอุดมการณ์ราชาชาตินิยมถูกคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่หลังการอภิวัฒน์สยาม 2475 โดยคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิไตย ในช่วงนั้น อุดมการณ์ราชาชาตินิยมก็ถูกลดความสำคัญลงเรื่อยมา จนกระทั่งยุคสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่หลังจากทำรัฐประหารใน พ.ศ.2500 ได้มีการฟื้นฟูอำนาจของสถาบันกษัตริย์ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ทำให้นันทิดาเลือกใช้สุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ในช่วง พ.ศ.2502-2504 ที่พูดเกี่ยวกับกษัตริย์มาพิจารณา เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าอุดมการณ์ราชาชาตินิยมในปัจจุบันของไทยนั้นถูกสร้างขึ้นใหม่ในช่วงเวลาเพียง 60 ปีให้หลัง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูอุดมการณ์ดังกล่าวเกิดจากจากความต้องการปราบปรามแนวคิดคอมมิวนิสต์และผู้คิดเห็นต่างในยุคจอมพลสฤษดิ์ ที่ค่อยๆ ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น จากการกำหนดนิยาม ‘ความเป็นไทย’ และ ‘ศัตรูของชาติ’ ที่ค่อนข้างไร้ทิศทางในช่วงแรก ก่อนจะค่อยๆ ผูกโยงเข้ากับสถาบันกษัตริย์อย่างเป็นรูปเป็นร่างในท้ายที่สุด

“ที่เราเลือกคำปราศรัยในช่วงนั้น เพราะต้องการทำความเข้าใจว่ามุมมองเรื่องอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่มันเป็นอยู่ทุกวันนี้ มันเริ่มมีการก่อตั้งขึ้นอย่างไร แล้วก็แสดงให้เห็นว่าในช่วงนั้น อุดมการณ์ราชาชาตินิยมแบบที่มีอยู่ในทุกวันนี้มันก็ไม่ได้มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ (coherence) เพราะถ้ามองเข้าไปในสุนทรพจน์ (ของจอมพลสฤษดิ์) ก็จะมีความไม่ค่อยเป็นรูปเป็นร่าง มันก็ทำให้เห็นชัดมากขึ้นว่าตรงนี้มันมีกระบวนการผลิตสร้างใหม่ (reinvention) คิดขึ้นมาใหม่หรือฟื้นฟูขึ้นมา ก็เลยเลือกคำปราศรัยของจอมพลสฤษดิ์ในช่วงเวลาดังกล่าว” นันทิดา กล่าว

ราชาชาตินิยมยุค ‘พล.อ.เปรม’ และกลุ่มสาธารณรัฐนิยม

นันทิดา กล่าวว่านอกจากวาทกรรมเรื่องอุดมการณ์ราชาชาตินิยมในยุคจอมพลสฤษดิ์แล้ว เธออยากศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวาทกรรมลักษณะเดียวกันในยุคสมัยของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เพราะเป็นช่วงเวลาที่สถาบันกษัตริย์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 9 มีความมั่นคงและมีอำนาจนำทางสังคมที่สูงมาก

“จริงๆ แล้วอยากศึกษา พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ช่วงนั้นน่าสนใจ ซึ่งน่าจะเป็นสโคปที่ใหญ่มาก มันน่าจะยกไปเป็นปริญญาเอกได้เลย เพราะว่าปริญญาโทที่อังกฤษมีข้อจำกัด เช่น เขียนได้แค่ 15,000 คำ” นันทิดา กล่าว

นอกจากการศึกษาวาทกรรมอุมดรการณ์ราชาชาตินิยมของอดีตผู้นำแล้ว นันทิดาบอกว่าหากเธอขยายขอบเขตวิทยานิพนธ์เพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้ เธออยากสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคคลผู้มีแนวคิดสาธารณรัฐนิยม ทั้งกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นคนรุ่นใหม่ และคนทั่วๆ ไปที่มีแนวคิดแบบเดียวกัน

“จริงๆ แล้ว เพราะว่าข้อมูลมันมีแค่ 5 คน (กลุ่มตัวอย่างในวิทยานิพนธ์) ทำให้เราอยากศึกษาต่อปริญญาเอก เพราะฉะนั้น ปริญญาเอกก็จะเป็นหัวข้อที่เจาะลงไปเกี่ยวกับคนที่ไม่เอาระบอบกษัตริย์และนิยมสาธารณรัฐ ถามว่าถ้าอยากจะสัมภาษณ์เพิ่ม เป็นคนกลุ่มไหน เราอยากสัมภาษณ์คนรุ่นใหม่ ส่วนตัวเราอาจจะคลุกคลีกับนักกิจกรรมที่เป็นคนเสื้อแดงค่อนข้างเยอะ ก็อาจจะได้พูดคุยในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ก็ช่วยทำให้เข้าใจเขาในระดับหนึ่ง แต่ว่าอาจจะไม่ได้ลึก แต่ว่าคนรุ่นใหม่เป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่ง เราอยากจะเข้าใจว่าปรากฏการณ์ตาสว่างครั้งนี้ ทำไมเขาถึงมีความกล้าหาญที่จะออกมาพูดชื่อสถาบันกษัตริย์โดยตรง ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นในการเมืองตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา” นันทิดา กล่าว

“อีกประเด็นหนึ่งคืออยากสัมภาษณ์คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักกิจกรรม เป็นคนธรรมดา คืออยากจะเข้าใจกระบวนการคิดว่าทำไมเขาถึงค่อยๆ ประเมินความเชื่อของตนเองขึ้นมาใหม่ ถ้าเป็นคนในขบวนการประชาธิปไตย เราอาจจะพอเข้าใจบ้าง เพราะว่าเขาก็มีการทำกิจกรรม รวมกลุ่ม พูดคุยแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันบ้าง แต่ว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย เขามีกระบวนการในการประเมินความเชื่อนี้อย่างไร” นันทิดา กล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่าเพื่อนหรือคนรู้จักหลายคนเคยพูดคุยกับเธอว่าพวกเขารู้สึกเฉยๆ กับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่หากเลือกได้ หลายคนมองว่าการเป็นสาธารณรัฐก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย

อย่างไรก็ตาม นันทิดาบอกว่ากลุ่มเป้าหมายในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเธอที่กำลังศึกษาต่อนั้น กำหนดขอบเขตไว้ที่กลุ่มคนเสื้อแดง เพราะอาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำว่าหากเพิ่มกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่เป็นคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วๆ ไปเข้าไปในการศึกษาด้วยจะทำให้การเก็บข้อมูลสำหรับวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกใช้เวลานานกว่าสิบปี ส่วนการสัมภาษณ์กลุ่มคนที่เชื่อมั่นในแนวคิดราชาชาตินิยมนั้น เธอบอกว่าก็อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน แต่คงไม่ใช่การกำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทำวิทยานิพนธ์

“ถามว่าอยากสัมภาษณ์กลุ่มคนนิยมระบอบกษัตริย์เพิ่มไหม จริงๆ เราก็อยากคุยกับเขาตลอด อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับวิทยานิพนธ์แต่อยากคุย จริงๆ แล้วกลุ่มคนนิยมระบอบกษัตริย์จะมีกลุ่มหนึ่งที่เขาต้องการให้อำนาจกษัตริย์ลดลง เขายังต้องการให้ประเทศไทยมีสถาบันกษัตริย์อยู่ แต่อยากให้ประเทศไทยเป็นแบบญี่ปุ่น เป็นแบบอังกฤษ และก็มีอีกกลุ่มคือผู้คลั่งระบอบกษัตริย์ ซึ่งเขารู้สึกว่ามันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องมีอำนาจเด็ดขาดเบ็ดเสร็จ ซึ่งสองกลุ่มนี้เราก็มองว่ามันแตกต่างกัน เราก็อยากร่วมพูดคุยกับเขา แต่ว่าตามกฎหมายของประเทศไทยก็ยากอยู่ ที่เราจะมีพื้นที่ปลอดภัยให้พูดคุยกัน” นันทิดา กล่าว

สาธารณัฐนิยมในไทยขาดรูปธรรม เพราะไร้เสรีภาพในการพูด

ข้อสรุปวิทยานิพนธ์เรื่อง “การต่อสู้ชิงอัตลักษณ์ไทยระหว่างกลุ่มราชาชาตินิยมกับสาธารณรัฐ” ของนันทิดาระบุว่าวาทกรรมของฝ่ายสาธารณรัฐนิยมขาดความต่อเนื่อง รวมถึงยังไม่มีภาพและแนวทางที่ชัดเจนของการก่อตั้งสาธารณรัฐไทย ต่างจากวาทกรรมฝ่ายอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่การสร้างการเรื่องราวอย่างประติดปะต่อ สอดคล้อง และยึดโยงกับประวัติศาสตร์

ในส่วนนี้ นันทิดาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่ากว่าที่อุดมการณ์ราชาชาตินิยมในไทยจะมั่นคงในยุคปัจจุบัน ต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการประกอบสร้างและผลิตวาทกรรมเพื่อหล่อหลอมความคิดความเชื่อของคน อีกทั้งข้อได้เปรียบด้านกฎหมายยังทำให้อุดมการณ์นี้ลงหลักปักฐานได้ค่อนข้างลึกในสังคมไทย ในทางกลับกัน กลุ่มสาธารณรัฐนิยมอธิบายได้ว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเพราะอะไร และบอกได้ว่าประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐมีดีอย่างไร แต่ยังขาดแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่ทำให้คนเห็นว่าการปกครองระบอบสาธารณรัฐสามารถเป็นจริงได้และเกิดขึ้นได้อย่างสันติ ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้กลุ่มสาธารณรัฐนิยมในไทยเดินหน้าทางความคิดต่อไปได้ยาก เพราะข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนมีเสรีภาพในการพูด

“ปัญหาของกลุ่มสาธารณรัฐไทย เขานิยามตัวเองในแง่ที่ว่า ‘เขาไม่นิยมระบอบกษัตริย์’ แต่เขายังไม่ได้มีวิสัยทัศน์หรือสิ่งจำเป็นที่ต้องนำเสนอ สมมติว่าเราต้องการสาธารณรัฐ เราต้องการสาธารณรัฐแบบไหน ใครควรจะเป็นผู้นำ มีระบบเศรษฐกิจแบบไหน มันไม่ได้มีข้อเสนอแนะอะไรเหล่านี้เลย” นันทิดา กล่าว พร้อมระบุว่านอกจากมิติด้านการเมือง เช่น รูปแบบรัฐ รูปแบบรัฐสภาและการเลือกตั้งแล้ว กลุ่มสาธารณรัฐนิยมต้องฉายภาพมิติด้านสังคมและพลเมืองให้ประชาชนคนอื่นๆ เห็นว่าการใช้ชีวิตของผู้คนภายใต้ระบอบสาธารณรัฐทั้งในแง่ของการศึกษา เศรษฐกิจ ศาสนา และอื่นๆ จะเป็นไปในทิศทางใด

“ถ้า[กลุ่มสาธารณรัฐนิยม]ต้องการการสนับสนุนจากสาธารณชน ก็ต้องมีข้อเสนอว่าสาธารณรัฐจะเป็นแบบไหน อันนี้คือสิ่งที่กลุ่มสาธารณรัฐนิยมไม่มี” นันทิดา กล่าว พร้อมเสริมว่าการไร้ซึ่งข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเช่นนี้อาจเป็นเหตุให้แม้กระทั่งกลุ่มคนที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มองว่าสุดท้ายแล้วการปกครองของไทยต้องเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบอังกฤษหรือญี่ปุ่น ในขณะที่โลกยุคปัจจุบัน ประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มต้องการการปกครองระบอบสาธารณรัฐมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศในเครือจักรภพอังกฤษหลายแห่งที่ประกาศตนเป็นสาธารณัฐ และบางส่วนก็เริ่มแสดงความจำนงว่าต้องการเปลี่ยนเป็นสาธารณัฐในอนาคต

“ทีนี้ ความยากคือจะพูดคุยกันอย่างไรในเมื่อมันไม่มีพื้นที่ปลอดภัย มันยังมีกฎหมาย ม.112 มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือกฎหมายอะไรก็ตามแต่ที่ทำให้คนรู้สึกกลัว กลัวแม้กระทั่งที่จะคิด ไม่กล้าออกมาพูด กลัวที่จะคิดในเรื่องที่เป็นรูปธรรม จึงไม่เกิดการพูดคุยในลักษณะที่เป็นเหตุเป็นผล ไม่มีการยอมรับว่าจะไม่เห็นด้วย (agree to disagree) มันยังไม่มีในส่วนนั้น เอาง่ายๆ เลย การจะสร้างให้คนเชื่อว่าสาธารณรัฐไทยมันเป็นไปได้หรือต้องการการสนับสนุนเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีการนำเสนอ มีข้อเสนอแนะ มีองค์กรที่ทำแคมเปญอย่างจริงจังในการให้ข้อมูลคน เพราะตอนนี้คนก็รู้สึกว่าไม่มีทางเลือก ก็เหมือนแคมเปญของ UK ของออสเตรเลีย เขาก็จะมีเว็บไซต์มีการจัดสัมมนา ตอบคำถามคนที่อาจจะไม่เห็นด้วยหรือมีข้อสงสัย”

อุปสรรคในการทำวิทยานิพนธ์และการถูกคุกคาม

“เราคาดหวังไว้แล้วว่าจะต้องโดนอยู่แล้ว เพราะว่าการที่เราทำอะไรที่มันท้าทายสามัญสำนึกของคน มันก็เป็นตรรกะที่ว่าเราจะต้องโดนอย่างนี้” นันทิดา กล่าวสั้นๆ ถึงผลตอบรับในแง่ลบจากการทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ที่มาในรูปแบบการข่มขู่ คุกคาม และการใช้คำพูดให้ร้ายต่อตัวเธอ รวมถึงผลงานของเธอ

“เรารู้สึกว่าอุปสรรคหลักๆ (ในการทำวิทยานิพนธ์) คือการเก็บข้อมูลมากกว่าเรากลับเมืองไทยไม่ได้ แต่โชคดีที่มีห้องสมุดออนไลน์ เราสามารถหาคำปราศรัยได้” นันทิดา กล่าว

นันทิดาบอกว่าตอนแรก เธอจะใช้สื่อที่มีภาพ-เสียงของจอมพลสฤษดิ์ เพราะอยากรู้ว่าจอมพลสฤษดิ์พูดถึงสถาบันกษัตริย์และพูดถึงกลุ่มคนที่ไม่นิยมระบอบกษัตริย์ไว้ว่าอย่างไร แต่เมื่อให้เพื่อนที่ไทยไปสืบค้นข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติกลับพบว่าไม่มีการเก็บหลักฐานที่เป็นสื่อมัลติมีเดียเอาไว้ จึงเปลี่ยนมาใช้เอกสารคำกล่าวสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์แทน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างฝ่ายนิยมสาธารณรัฐที่เธอสัมภาษณ์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลศึกษาในวิทยานิพนธ์นั้น นันทิดาบอกว่าเธอกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่กลุ่มคนเสื้อแดง และเธอเองก็เป็นผู้ที่อยู่ในขบวนการการเคลื่อนไหวมาโดยตลอด ดังนั้น การเข้าถึงกลุ่มบุคคลเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องยากนัก

“ส่วนเรื่องการที่เราโดนด่า โดนข่มขู่โดน ตราบใดที่มันอยู่แค่ตัวเรา ไม่ใช่เพื่อนเราหรือครอบครัวเรา เราโอเค จริงๆ มันก็ไม่โอเค แต่ว่าจะทำยังไงล่ะ (หัวเราะ) คนที่เข้ามาอ่านเขาตัดสินเองว่าสิ่งที่เขาด่าเรามันฟังขึ้นหรือเปล่า ซึ่งมันก็เป็นการโจมตีส่วนใหญ่เป็นเรื่องส่วนตัว เราก็ไม่สนใจ (หัวเราะ)” นันทิดา กล่าว

ผลตอบรับวิทยานิพนธ์จากคนต่างชาติ

นันทิดาระบุว่านอกเหนือจากการทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ เธอมีโอกาสได้ไปบรรยายเกี่ยวกับปัญหาการเมืองไทยให้กับเพื่อนนักศึกษาและงานสัมมนาอื่นๆ ในต่างประเทศตามโอกาส เธอบอกว่าผลตอบรับจากผู้ฟัง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการบรรยายเนื้อหาในวิทยานิพนธ์นั้นค่อนข้างดี เพราะชาวต่างชาติไม่คิดว่าประเทศไทยมีปัญหาด้านการเมืองมากขนาดนี้ และช่วยตอบข้อสงสัยของคนต่างชาติได้ว่าทำไมเมื่อไปเมืองไทย จึงเห็นคนไทยแสดงออกต่อสถาบันกษัตริย์ในรูปแบบเดียว หรือหลายครั้งก็เลี่ยงที่จะพูดถึงสถาบันกษัตริย์ไปเลย

“ก็ถือว่ามีการตอบรับดีเพราะว่าหนึ่ง คือเขาไม่ได้คิดว่าประเทศไทยมีปัญหาในระดับขนาดนั้น เพราะว่าเวลาเขาไปเมืองไทย เขารู้สึกว่าคนไทยกลัวที่จะพูดถึงเรื่องสถาบันกษัตริย์ แล้วเขาก็ไม่รู้ว่าทำไม เราก็พูดคุยให้เขาฟังว่ามันมีที่มาจากตรงนี้ๆ นะ แล้วประเทศไทยมีปัญหาที่ท้าทายมากๆ แบบเฉพาะหน้า นั่นคือการที่เรามีกฎหมาย ม.112 และกฎหมายหลายฉบับที่ปิดปากไม่ให้คนพูดหรือท้าทายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์” นันทิดา กล่าว

“การที่ทำวิทยานิพนธ์ในครั้งนี้คือการพยายามที่เราจะบอกว่าไม่ใช่ทุกคนในประเทศไทยที่รู้สึกแบบนั้น แต่ว่าเขาพูดไม่ได้ ผลตอบรับ (จากวิทยานิพนธ์) ค่อนข้างดี ถือว่าช่วยเป็นการประชาสัมพันธ์ปัญหาของประเทศไทย เพราะถ้าจะมาทำเรื่องนี้ในประเทศไทยก็คงลำบาก” นันทิดา กล่าว พร้อมระบุเพิ่มเติมว่าสำหรับเธอ การทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทชิ้นนี้ถือเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ด้านการเมืองการปกครองไทยในวงวิชาการระดับนานาชาติ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆ ที่นักวิชาการต่างชาติไม่ค่อยมีใครสนใจศึกษามากนัก แม้จะมีการศึกษาในมิติต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย แต่ยังถือว่ามีข้อมูลน้อยมาก ทั้งยังบอกอีกว่ากลุ่มรีพับลิกยูเค (Republic UK) ที่ทำการรณรงค์เรื่องสาธารณรัฐในสหราชอาณาจักรก็สนใจข้อมูลเหล่านี้ของไทยด้วยเช่นกัน

เสรีภาพทางวิชาการและสถาบันกษัตริย์ในอังกฤษ

แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่าการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษสามารถทำได้ทั้งแง่การชื่นชมและการวิพากษ์วิจารณ์ แต่เมื่อถามถึงการศึกษาในวงวิชาการเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษถือว่ามีขอบเขตอะไรหรือไม่ นันทิดาตอบอย่างรวดเร็วว่า “ในอังกฤษทำได้หมดเลยค่ะ” พร้อมยกตัวอย่างงานเขียนล่าสุดเรื่อง ‘Running the Family Firm: How the monarchy manages its image and our money’ ของ Laura Clancy ที่เขียนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อังกฤษในแง่ที่สถาบันฯ มีลักษณะเป็นชนชั้นนำทุนนิยม (capitalist elite) ที่สามารถควบคุมความมั่งคั่งของประเทศ หรือสามารถควบคุมทางวัฒนธรรม

“ไม่มีใครมานั่งบอกว่าอันนี้พูดไม่ได้นะ อันนั้นทำไม่ได้นะ แม้กระทั่งเพื่อนเราที่เป็นคนอังกฤษ ก็มีคนที่ชอบสถาบันกษัตริย์ เขาก็คิดว่าควีน (สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2) ดีอย่างนั้น ดีอย่างนี้ มันก็เป็นไปได้เช่นกัน เราก็พูดคุยกัน ไม่ได้มีปัญหาอะไร ถามว่ามีคนคลั่งเจ้า (Hyper-royalist) ไหม ก็มี แต่ว่าเป็นคนกลุ่มน้อยมากจนไม่มีใครใส่ใจอย่างจริงจัง แม้กระทั่งสื่ออย่างบีบีซีที่คนอังกฤษมองว่าอวยเจ้า เขาก็ยังต้องเชิญคนจากกลุ่ม Republic UK ไปให้สัมภาษณ์ ถือว่าเปิดกว้างมาก แม้กระทั่งนักการเมืองทุกพรรคก็มีคนที่สนับสนุนกลุ่ม Republic UK รวมถึงคนดังในสังคม ดารา นักคิด นักเขียน ก็เปิดเผยได้ ไม่มีปัญหาเหมือนที่ประเทศไทยเลย”

นันทิดาเล่าต่อไปว่าทุกครั้งที่เธอหรือคนอื่นๆ บอกว่าการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์อังกฤษสามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และไม่มีการจับกุมผู้วิพากษ์วิจารณ์ เมื่อพูดเช่นนี้ มักจะมีคนฝ่ายอนุรักษ์นิยมในไทยสวนกลับว่า ‘ไม่จริง’ อยู่เสมอ ล่าสุด นันทิดาบอกว่าเธอเริ่มเห็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมในไทยยกตัวอย่างกรณีการขู่ฆ่าเจ้าชายแฮร์รีมาโต้กลับและเทียบเคียงกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ซึ่งเธอบอกว่าตามกฎหมายอังกฤษ หากประชาชนทั่วไปถูกขู่ฆ่าก็สามารถแจ้งตำรวจและขอรับการคุ้มครองความปลอดภัยจากทางการได้ไม่ต่างกัน

นันทิดายกตัวอย่างกรณีของตนเองที่ถูกขู่ฆ่าเมื่อ 11 ปีก่อนจากการทำงานเป็นล่ามให้โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความชาวอังกฤษผู้รับผิดชอบคดีสังหารหมู่คนเสื้อแดง นันทิดาบอกว่าเมื่อมีการขู่ฆ่า เธอจึงไปแจ้งความ และคนร้ายซึ่งถือสัญชาติอังกฤษก็ถูกตำรวจจับทันทีที่เดินทางเข้ามาในประเทศ

“ฉะนั้นกรณีของคนที่ข่มขู่เจ้าชายแฮร์รี ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์เจ้าชายแฮร์รี แต่มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการที่คุณไปขู่ฆ่าเขา มันคนละประเด็น” นันทิดา กล่าว

“จริงๆ เรื่องวิทยานิพนธ์ก็มีมาขู่ฆ่าเหมือนกัน แต่เขายังไม่ได้บินมาอังกฤษเลยยังไม่โดนจับกุม เพราะเรารู้สึกว่าจะด่าอะไรเรา มันก็ไม่ค่อยดีแหละ แต่การขู่ฆ่าเรา มันเกินขอบเขต เราก็ต้องแจ้งความไปที่ตำรวจอังกฤษอยู่แล้ว เขาจะได้มีบันทึก ตำรวจก็คุ้มครองความปลอดภัย มันเกินขอบเขต การที่เราไม่เห็นด้วยมันไม่ควรไปถึงขั้นที่ว่าจะขู่ฆ่าเรา” นันทิดา กล่าว

‘สาธารณรัฐจำแลงแบบอังกฤษ’ VS ‘เสมือนสมบูรณาญาสิทธิ์แบบไทยๆ’

ประชาไทสอบถามความเห็นของนันทิดา จากกรณีที่ ศ.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอมุมมองการต่อสู้ช่วงชิงภายในของ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบไทยๆ’ ว่าเป็นการต่อรองระหว่างแนวคิด ‘สาธารณรัฐจำแลง’ และ ‘เสมือนสัมบูรณาญาสิทธิ์’ ที่ระบบการปกครองอาจไม่ได้เปลี่ยนไปแบบสุดทางจนถึงขั้นยกเลิกสถาบันกษัตริย์และสถาปนาสาธารณรัฐ ซึ่ง ศ.เกษียร ให้ความเห็นว่าการต่อรองภายในดังกล่าวมีแนวโน้มจะเอียงไปทาง ‘เสมือนสมบูรณาญาสิทธิ์’ มากกว่าเพราะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นันทิดาบอกว่าตนมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันสำหรับกรณีประเทศไทย แต่ในกรณีของสหราชอาณาจักรที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างของ ‘สาธารณรัฐจำแลง’ และถูกระบุว่าสถาบันกษัตริย์ไม่มีอำนาจทางการเมืองนั้น เธอต้องการขยายความให้ชัดเจนว่าจริงๆ แล้วสถาบันกษัตริย์อังกฤษมีอำนาจทางกฎหมายมากกว่าที่คิด ซึ่งคนอังกฤษหลายคนก็ไม่ได้ตระหนักรู้ในส่วนนี้

“ทุกคนจะมองว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่ได้มีอำนาจ แต่จริงๆ แล้วสถาบันกษัตริย์อังกฤษมีอำนาจมากกว่าที่เราคิด เช่น ควีนมีอำนาจในการตรวจสอบกฎหมายก่อนที่จะผ่านรัฐสภา แล้วควีนก็ใช้อำนาจนั้นในการระงับกฎหมายเป็นพันกว่าฉบับ อันนี้อยู่ในคอลัมน์ของเดอะการ์เดียน” นันทิดา กล่าว

นันทิดากล่าวต่อไปว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่ได้มีเพียงอำนาจทางการเมืองหรือกฎหมายเท่านั้น แต่ยังมีอำนาจในเชิงวัฒนธรรม เช่น แนวคิดเรื่องชนชั้นทางสังคมที่คนอังกฤษรวมถึงคนในสังคมที่มีระบอบกษัตริย์มองว่าเป็นเรื่องปกติที่คนเราจะเกิดมาไม่เท่ากัน ซึ่งในความเห็นส่วนตัวของนันทิดามองว่าความคิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ สถาบันกษัตริย์อังกฤษยังเชื่อมโยงกับยุคล่าอาณานิคม ซึ่งในประเด็นการล่าอาณานิคมนั้น นันทิดาบอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในระบบการศึกษาของอังกฤษ ทำให้คนอังกฤษหลายคนไม่รู้และไม่ตระหนักว่าสถาบันกษัตริย์ของอังกฤษมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน การค้าทาส และการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

“สถาบันกษัตริย์อังกฤษมันไม่ใช่แค่อยู่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ มันมีอำนาจ แต่ว่าคนอังกฤษบางคนเขาก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ” นันทิดา กล่าว

“คนอังกฤษยังไม่สามารถยอมรับได้ว่าในอดีต (ยุคล่าอาณานิคม) ตัวเองก็ไปทำกับเขาไว้เยอะ แม้กระทั่งเราไปคุยกับคนอังกฤษที่หัวก้าวหน้า เขาก็ยังบอกว่าอาณานิคมมันก็ดีนะ เขาก็ไปสร้างถนน สร้างรถไฟอะไรอย่างนี้ เรารู้สึกว่าคนอังกฤษเขาไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมคนถึงไม่พอใจเรื่องอาณานิคม อย่างล่าสุดที่เจ้าชายวิลเลียมและเคท มิดเดิลตัน ไปเยือนประเทศแถบแคริบเบียนก็มีปัญหา มีการเรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์อังกฤษหรือสังคมอังกฤษยอมรับว่าในอดีตตัวเองเกี่ยวข้องกับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติหรือการค้าทาส” นันทิดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม นันทิดาบอกว่าแม้สถาบันกษัตริย์อังกฤษจะมีอำนาจมากกว่าที่คนทั่วไปคิด แต่ความเป็นไปได้ที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษจะมีอำนาจมากขึ้นจนสามารถพลิกจาก ‘สาธารณรัฐจำแลง’ ไปสู่ ‘เสมือนสมบูรณาญาสิทธิ์’ นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะอำนาจสถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่ได้ครอบคลุมไปถึงกองทัพ ไม่มีการรัฐประหาร และเปลี่ยนแปลงกฎหมายเพื่อสร้างความชอบทำให้กับผู้ก่อการรัฐประหาร นันทิดามองว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษเป็นเพียงสถาบันทางการเมืองอย่างหนึ่งที่ไม่ได้พัฒนาตนเองขึ้นมาเป็น ‘ระบอบย่อย’ และซ้อนอยู่ในระบอบการปกครองใหญ่ของประเทศ ทั้งยังบอกอีกว่าหากสถาบันกษัตริย์อังกฤษคิดจะขยายอำนาจของตนออกไปจริงๆ ประชาชนชาวอังกฤษคงไม่ยอมง่ายๆ

กระแส ‘สาธารณรัฐ’ เริ่มตื่นตัวในอังกฤษและเครือจักรภพ

“แล้วบางทีเราก็ตั้งคำถามนะว่าคนอังกฤษชอบสถาบันกษัตริย์หรือชอบแค่ควีน”

เมื่อพูดถึงความนิยมในสถาบันกษัตริย์อังกฤษ นันทิดาตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะต้องแบ่งความคิดเห็นออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ ความนิยมชมชอบในตัวบุคคลที่อยู่ในสถาบันฯ และความนิยมชอบในตัวสถาบันฯ ซึ่งจากข่าวและผลสำรวจต่างๆ ที่ออกมา เฉพาะในสหราชอาณาจักรก็เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ซึ่งจะต้องขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ถัดไปนั้นได้รับความนิยมน้อยกว่าพระมารดาของพระองค์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระองค์มักมีความเห็นในเรื่องกฎหมายและการเมือง ต่างจากพระมารดาของพระองค์ที่ทรงไม่แสดงออกใดๆ ทางการเมือง นอกจากนี้ ระยะเวลาการครองราชย์ที่ยาวนานและภาพลักษณ์ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ยังทำให้คนอังกฤษรู้สึกว่าพระองค์ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศเกิดวิกฤต เช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

“อย่าลืมว่าควีนอายุ 90 กว่า หลายคนเกิดมาเขาก็เห็นแค่ควีน แต่ว่าเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เป็นอีกแบบ คนอังกฤษไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เท่ากับควีน กลายเป็นว่าหลังจากควีนสวรรคตแล้วสถาบันกษัตริย์อังกฤษจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่แค่ในอังกฤษ แต่ประเทศเครือจักรภพหลายแห่งก็จ่อแล้วว่าจะออก จะเป็นสาธารณรัฐแล้ว” นันทิดา กล่าว

นันทิดามองว่าสถาบันกษัตริย์คงอยู่ได้ด้วยภาพลักษณ์ของบุคคลมากกว่าตัวสถาบัน เพราะคนนิยมในเรื่องราวที่เป็นดั่งเทพนิยาย แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบสถาบันกษัตริย์เพราะตัวสถาบันมากกว่าตัวบุคคล แต่นันทิดามองว่าคนที่ชื่นชอบในลักษณะนี้มีเป็นส่วนน้อย ยกตัวอย่างในอังกฤษที่คนนิยมกษัตริย์บางกลุ่มต้องการให้เจ้าชายวิลเลียมก้าวขึ้นมาเป็นกษัตริย์แทนเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ก็แสดงให้เห็นว่าภาพลักษณ์ของตัวบุคคลมีผลไม่ใช่น้อยต่อตัวสถาบัน

ในเรื่องนี้ นันทิดาบอกว่าเธอเคยพูดคุยกับตัวแทนกลุ่ม Republic UK ซึ่งทางตัวแทนกลุ่มบอกว่า ‘เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์เป็นของขวัญของแคมเปญ’ เพราะทางกลุ่มมองว่าการขึ้นครองราชย์ของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์จะช่วยให้การทำงานรณรงค์ให้ความรู้เรื่องระบอบสาธารณรัฐในสหราชอาณาจักรมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ นันทิดาบอกว่าเธอมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเกรแฮม สมิท ประธานกลุ่ม Republic UK เรื่องการทำงานรณรงค์ของทางกลุ่ม ซึ่งในกลุ่ม Republic UK เน้นทำงานเชิงความคิด เสนอวิธีการการก่อตั้งและสาธารณรัฐอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนอังกฤษและคนในสหราชอาณาจักร ทำให้พวกเขามองเห็นภาพว่าสหราชอาณาจักรในรูปแบบที่ไม่มีสถาบันกษัตริย์นั้นจะดำเนินต่อไปอย่างไร รวมถึงทำงานเชิงข้อมูลเพื่อทำให้คนเห็นว่าที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์อังกฤษมีอำนาจมาก และใช้อำนาจเหล่านั้นในหลายรูปแบบ ทั้งการระงับกฎหมายหลายพันฉบับของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 การล็อบบี้นักการเมืองให้ออกกฎหมายของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ หรือแม้กระทั่งความไม่ชอบมาพากลของการดำเนินคดีเจ้าชายแอนดรูว์ กรณีล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์เมื่อ 21 ปีก่อน

กระแสสาธารณรัฐนิยมในไทยและการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่

แม้ว่าการพูดถึงสาธารณรัฐไทยหรือสหพันธรัฐไทยหรือการปกครองรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะเป็นเรื่องยากและถึงขั้นส่งตัวผู้ที่แสดงออกในลักษณะดังกล่าวเข้าคุกเข้าตารางได้ แต่เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา แฮชแท็ก #RepublicofThailand เคยติดเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ จนเป็นกระแสถึงขั้นสื่อต่างชาตินำไปรายงาน ในเรื่องนี้ นันทิดามองว่าเป็นทิศทางที่ดีที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเรื่องรูปแบบการปกครองที่หลากหลาย และแสดงออกได้อย่างชัดเจนมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต แต่เธอยอมรับว่าจากการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2563-2565 รวมถึงกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ยังไม่สามารถวัดผลได้ว่าแนวคิดสาธารณรัฐนิยมในประเทศไทยมีความหยั่งรากลึกเพียงใดและมีมากพอที่จะจัดตั้งเป็นองค์กรเพื่อรณรงค์เคลื่อนไหวหรือไม่ นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่นันทิดาบอกว่าต้องพึงระลึกไว้เสมอในการทำกิจกรรมรณรงค์ทางความคิด นั่นคือ ทุกอย่างต้องใช้เวลา และบางอย่างอาจใช้เวลานานเป็นชั่วอายุคน

อีกหนึ่งสิ่งที่นันทิดามองว่าเป็นอุปสรรคที่ปิดกั้นการพูดถึงเรื่องสาธารณรัฐในไทย คือ กฎหมายหลายฉบับ โดยเฉพาะ ม.112 โดยนันทิดาระบุว่าการเปิดโอกาสให้พูดถึงเรื่องสาธารณรัฐไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงชั่วข้ามคืน แต่เป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คนที่มีแนวคิดทางการเมืองที่หลากหลายได้มีโอกาสมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เมื่อพอจะมีทางออกแล้วก็ปูทางไปสู่การทำประชามติ ซึ่งการเปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการพูดคุยในลักษณะนี้ถือเป็นเส้นทางแห่งสันติวิธีที่แท้จริง

“อาจจะต้องพูดถึงเรื่อง ม.112 และกฎหมายอื่นๆ ที่ปิดปากประชาชนก่อน เพราะว่าเราไม่สามารถที่จะทำประชามติได้ถ้ายังมีกฎหมายตรงนี้ มันจะไม่เกิดการดีเบตที่โปร่งใส เราต้องสร้างพื้นที่ที่ปราศจากความกลัว” นันทิดา กล่าว

“เราไม่ต้องการให้ดีเบตตรงนี้มันไปอยู่แค่นักวิชาการ เราต้องการให้ทุกคนสามารถพูดได้ ประชาชนทั่วไป หมอ แม่ค้า คนขับแท็กซี่ คนขับตุ๊กตุ๊ก ทุกคนพูดได้ เพราะนี่คือประเทศไทย มันเป็นของทุกคน ทุกคนก็มีสิทธิที่จะพูดได้ ประเทศไทยเป็นของทุกคน” นันทิดา กล่าว

“เราไม่จำเป็นที่จะต้องนองเลือด มันมีคนบางคนที่เขามองว่าการเปลี่ยนแปลงในที่สุดมันจะต้องการนองเลือด แต่เราก็อยากจะถามว่าแล้วทุกวันนี้ แม้กระทั่งทุกวันนี้เราจะยังไม่มีการพูดสาธารณรัฐไทยอย่างจริงจัง มันก็มีความรุนแรงไม่ใช่หรือ อย่างล่าสุด ประเทศที่เปลี่ยนไปเป็นสาธารณรัฐอย่างบาร์เบโดส เขาก็ไม่ได้เปลี่ยนด้วยความรุนแรงหรืออย่างประเทศอื่นๆ เขาก็เรียกร้องให้ทำประชามติ เราไม่ต้องไปดูฝรั่งเศสหรือสหรัฐอเมริกาที่มันนานมาก เรามาดูที่เกิดขึ้นล่าสุดดีกว่า”

นันทิดา กล่าวทิ้งท้ายว่าการต่อสู้เชิงอุดมการณ์มีหลายวิธี การไปชุมนุมเป็นหนึ่งในวิธีเหล่านั้น แต่มันไม่ใช่วิธีเดียวที่สามารถแสดงออกได้ การต่อสู้เชิงอุดมการณ์จะเกิดผลได้ต้องมีการถ่ายทอดอุดมการณ์จากแนวคิดไปสู่การปฏิบัติจริง เพื่อทำให้คนเห็นว่าแนวคิดเหล่านั้นจะเป็นจริงได้อย่างไร จึงจะสามารถโน้มน้าวให้คนเห็นด้วยกับอุดมการณ์นั้นๆ

เช่นเดียวกับข้อสรุปในวิทยานิพนธ์ของเธอเรื่อง “การต่อสู้ชิงอัตลักษณ์ไทยระหว่างกลุ่มราชาชาตินิยมกับสาธารณรัฐ” ที่ชี้ให้เห็นว่ากว่าที่อุดมการณ์ราชาชาตินิยมจะหยั่งรากลึกในสังคมไทยเฉกเช่นทุกวันนี้ ก็ต้องใช้เวลาประกอบสร้างและผลิตซ้ำองค์ประกอบต่างๆ เพื่อให้คนเชื่อว่าอำนาจของชนชั้นนำเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ดังนั้น การที่จะสู้กลับเชิงอุดมการณ์จึงต้องย้อนกลับมามองว่า ‘ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประชาชน’ ที่อาจจะร่วงหล่นหายไประหว่างทางนั้นคืออะไร เพื่อนำกลับมาประกอบสร้างใหม่ให้ผู้คนได้เห็นทางเลือกของความเปลี่ยนแปลง

อ่านวิทยานิพนธ์ฉบับเต็ม คลิกที่นี่ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท