Skip to main content
sharethis

ขบวนประชาชนร่วมกันเดินขบวนจากหน้าเรือนจำคลองเปรมถึงศาลอาญา รัชดาฯ เรียกร้องสิทธิประกันตัวนักโทษการเมืองทั้ง 11 คน อดีตคนเดือนตุลาฯ วอนขอให้ศาลรักษานิติรัฐนิติธรรมและนึกถึงวันที่นักศึกษาเคยออกมาเดินขบวนปกป้องศาลจากการถูกแทรกแซงในอดีต

25 พ.ค.2565 14.45 น. กลุ่มประชาชนและนักกิจกรรมอย่างพลเมืองโต้กลับ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) และศิลปะปลดแอก รวมตัวกันเพื่อร่วมกันเดินขบวน “เดินหยุดขัง” จากเรือนจำคลองเปรมถึงศาลอาญา ถนนรัชดา รวมเป็นระยะทางกว่า 6 กิโลเมตรเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ 11 คน

โดยทั้ง 11คนที่ยังถูกขังโดยไม่ได้รับสิทะประกันตัวได้แก่ เวหา แสนชนชนะศึก, คทาธร, คงเพชร, ปฏิมา, พรพจน์ แจ้งกระจ่าง, ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, โสภณ สุรฤทธิ์ดำรง หรือเก็ท, ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ, เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง, เอกชัย หงส์กังวน และสมบัติ ทองย้อย

การเดินขบวนทางกลุ่มได้ใช้เส้นทางถนนงามวงศ์วานเลี้ยวขวาเข้าถนนพหลโยธินที่แยกเกษตรและเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพหลโยธิน โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่งจึงถึงหน้าศาลอาญา รัชดาฯ

เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์

เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยปี 2518 และสมาชิก OctDEM หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมบอกว่าตัวเขาเองอยากสื่อสารถึงศาลโดยย้อนไปเล่าถึงสมัยปี 2515 ที่นักศึกษาเคยออกมาร่วมกันเดินขบวนประท้วงต่อสู้เพื่อให้สถาบันตุลาการได้มีความอิสระเหมือนกับที่เยาวชนรุ่นนี้ออกมาแสดงออกกันจนต้องติดคุกอยู่ตอนนี้ ในตอนนั้นคณะปฏิวัติออกประกาศฉบับที่ 299 เปลี่ยนประธานคณะตุลาการจากประธานศาลฎีกาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นหนึ่งในคณะยึดอำนาจของพล.ต.ถนอม กิตติขจร เข้ามาคุมการโยกย้ายแต่งตั้งผู้พิพากษา

เกรียงกมลบอกว่าการแทรกแซงสถาบันตุลาการของคณะเผด็จการนี้เป็นเรื่องที่นักศึกษาในเวลานั้นไม่ยอมแล้วจึงออกมาเดินขบวน พวกเขาเดินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วในช่วงค่ำของวันที่นัดกันเดินขบวน นักศึกษาที่รวมตัวกันอยู่ที่สนามหลวงเคลื่อนขบวนไปหน้าอาคารศาลฎีกาที่อยู่ตรงกันข้ามกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประตูศาลก็เปิดออกซึ่งในเวลานั้นประธานศาลฎีกาคือทองคำ จารุเหติ

“เป็นการสู้ของนักศึกษาเพื่อให้พวกศาลมีอิสระในการพิพากษาอรรถคดีทั้งปวง ผมอยากเล่าให้ท่านผู้พิพากษาได้ฟังเอาไว้ และผมขอวิงวอนด้วยความเคารพ สถาบันศาลเป็นสถาบันที่สำคัญมากมีความหมายต่อสังคมมากต่อทุกสังคม ผมขอวิงวอนเลยว่าขอให้ท่านอยู่ในหลักดีๆ รักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม ท่านเรียนมาผมคิดว่าท่านเข้าใจเรื่องพวกนี้ดี ใจแข็งๆ เข้มแข็งไว้ครับ รักษาอนาคตของบ้านเมืองไว้ และเป็นเกียรติยศของวงการตุลาการไทยด้วย” เกรียงกมลกล่าวทิ้งท้าย

ภาณุ ตรัยเวช นักเขียนและอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขามาเดินเพื่อสิทธิในการประกันตัวที่เป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน ถ้าทุกคนยังไม่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดก็ควรจะได้ออกมาข้างนอกเพื่อรวบรวมหลักฐานสู้คดีเป้นเรื่องปกติของอารยประเทศ เพราะถ้าไปดูคดีอื่นๆ ที่การกระทำความผิดร้ายแรงกว่านี้เช่นทำคนตายก็ยังได้ประกันตัวหมด แล้วคดีของกลุ่มน้องๆ เขาที่เบากว่าเยอะก็ควรได้รับสิทธินั้นเช่นเดียวกัน

ภาณุขอฝากถึงศาลว่าให้ทำไปด้วยความยุติธรรมแล้วก็เคารพในหน้าที่ของตัวเองแล้วก็อยากให้มีความเมตตาด้วย

ภัควดี วีระภาสพงษ์

ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลอิสระเดินทางมาร่วมกิจกรรมจากเชียงใหม่โดยร่วมสวมชุดนักโทษเดินในวันนี้ ให้สัมภาษณ์ว่าวันนี้ก็มีคนมาร่วมเยอะหลากหลายทั้งอาจารย์ ชาวบ้าน นักต่อสู้ เหมือนเป็นฉันทามติ และตั้งคำถามถึงศาลว่าการขอให้ศาลทำตามกฎมหายเป็นการขอที่มากเกินไปหรือเปล่า อยากให้ศาลทำตามตำราที่เรียนมาไม่ได้ขออะไรมากกว่านั้นเลย

ทั้งนี้ภัควดีก็หวังว่าการทำกิจกรรมจะมีผลต่อการตัดสินใจของศาลบ้าง ถ้ามีใครบอกว่าการทำแบบนี้เป็นการกดดันศาล ก็ต้องถามว่า 30กว่าวันที่ผ่านมาก็รอให้ศาลมีหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ขึ้นมาเองที่ปล่อยให้เยาวชนอายุ 20 ต้องตัดสินความเป็นตายของตัวเองหลังกรงขังโดยที่ยังไม่มีความผิด

“เราให้เวลาศาลตั้ง 30 กว่าวันแล้ว ถ้ามาวันนี้มันก็เป็นที่สุดของความอดทนของทุกฝ่ายแล้วที่คิดว่าเราก็ต้องออกมาบอกด้วยอยากจะให้ศาลหยุดละเมิดสิทธิประกันตัวซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมือง”

ทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามความเห็นเกี่ยวกับที่สังคมข้างนอกแสดงความเห็นว่าอยากให้ทานตะวันเลิกอดอาหาร ภัควดีบอกว่าประเด็นของเรื่องนี้ปัญหาอยู่ที่ศาลขังพวกเขาไว้ทำไมโดยทั้งที่พวกเขายังไม่ถูกตัดสินว่าผิดเพราะฉะนั้น การที่จะบอกกับคนที่อยู่ในเรือนจำก็ไม่มีประโยชน์เพราะว่าเขาอยู่ข้างใน แต่ศาลต้องให้ประกันตัวพวกเขาออกมาต้องไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

“(การอดอาหารประท้วง) มันเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเขา การที่เขาแสดงออกว่ามันมีปัญหาจนกระทั่งจำเป็นต้องทรมานตัวเองแสดงว่าสังคมนี้มันต้องมีปัญหาจริงๆ ทุกครั้งที่มีการอดอาหารประท้วงในประวัติศาสตร์มันไม่เคยมีการอดอาหารประท้วงในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันจะต้องมีความอยุติธรรมถึงขีดสุดคนถึงจะออกมาอดอาหารประท้วง” ภัควดีอธิบายความสำคัญของการอดอาหารประท้วงและบอกว่าจะแก้ปัญหานี้ก็ต้องกลับไปแก้ที่ต้นเหตุไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะยังวนอยู่ที่เดิม

ผู้ร่วมเดินขบวนอีกรายบอกว่ายังมีความหวังอยู่ก็ออกมาขับเคลื่อนให้เขาได้เห็นว่ายังมีอยู่ เราต้องสู้เพื่อให้คนที่อยู่ในเรือนจำอย่างทานตะวันได้ออกมาก่อน สู้น้อยสู้มากขอให้ออกมาเพราะตอนนี้วัดไม่ได้แต่ก็ขอเอาเท่าที่เราทำได้ คำบางคำอย่างเหนื่อยมั้ยที่มันบั่นทอนก็อย่าไปพูด ถามว่าสู้มั้ยก็จะสู้จนถึงที่สุดแม้ไม่รู้ว่าจะไปสุดที่ตรงไหน สู้กับรัฐบาลชุดนี้มันยาก ถ้ารัฐบาลดีๆ มันไม่ยากอย่างนี้ และที่เราออกมาได้แบบนี้ก็ต้องถือว่าเราชนะทุกครั้งเพียงแต่ว่ามันยังไม่ถึงเส้นชัยเท่านั้น และเธอยังขอร้องว่าอย่าด้อยค่าเด็กที่ออกมาพวกเขาก็มีวิธีการสู้ของพวกเขา

จากนั้นขบวนได้เดินถึงหน้าศาลอาญา รัชดาฯ ขบวนจึงได้หยุดขบวนและทำกิจกรรมยืนหยุดขังต่อเป็นเวลา 1.12 ชั่วโมง โดยที่หน้าศาลยังคงมีพวกร่วมกิจกรรมหนาแน่นถึงหลักร้อย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net