ขบวนต้าน ‘พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่ม’ ยันอยู่ที่เดิม หลัง ตร.เจรจาขอให้หลบขบวนเสด็จ 27-29 พ.ค.นี้ 

ตำรวจเจรจาขบวนการต่อต้าน พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน หลบขบวนเสด็จฯ ของ ร.10 และพระราชินี ระหว่าง 27-29 พ.ค.นี้ ด้านผู้ชุมนุมยืนยันปักหลักหน้ายูเอ็นที่เดิม ไม่เขยื้อน

 

26 พ.ค. 2565 แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กสาธารณะ 'iLaw' รายงานวันนี้ (26 พ.ค.) เมื่อเวลา 14.26 น. การชุมนุมของขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนเข้าสู่วันที่ 3 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2565 ปักหลักตั้งหมู่บ้านที่เกาะกลางถนนคู่ขนานด้านหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ที่ถนนราชดำเนินนอก โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องยุติการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร (พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่ม) 

ตั้งแต่การชุมนุมวันที่ 1 หรือเมื่อ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจยกระดับการปฏิบัติได้แจ้งต่อตัวแทนผู้ชุมนุมว่า วันที่ 27-29 พ.ค. 2565 จะมีขบวนเสด็จพระราชดำเนินไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งจะผ่านพื้นที่ชุมนุมบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น แต่ยังไม่ได้มีคำร้องขอที่ชัดเจนนัก ต่อมา 25 พ.ค. 2565 เวลา 17.35 น. พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี รองผู้บังคับการสืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลและ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณากร รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เข้าเจรจากับตัวแทนระบุว่า มีความกังวลเรื่อง #ขบวนเสด็จ อยากให้ย้ายที่ชุมนุมไปก่อนสักสามวันแล้วค่อยกลับมาปักหลักที่เดิม ในการพูดคุยยังอ้างว่า กลัวกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองจะคุมกันไม่ได้ หากผู้ชุมนุมมีความต้องการอะไรจะยอมให้ทุกอย่าง จะดูแลเป็นอย่างดี ไม่ไล่และสามารถอยู่ได้ยาว แต่จะไม่สามารถตัดสินใจเรื่องการออกมติคณะรัฐมนตรีให้ เนื่องจากไม่ได้อยู่อำนาจของตำรวจ

ตัวแทนยืนยันว่าไม่ย้ายสถานที่การชุมนุม แต่จะดูแลความเรียบร้อยให้เป็นอย่างดี ตำรวจจึงเสนอว่า ถ้ามีการปิดผ้า มีรั้วที่ตำรวจควบคุมฝูงชนยืนเรียงแถวประกบจะรับได้หรือไม่ ตัวแทนกล่าวว่าขอปรึกษากันก่อน และจะให้คำตอบ

เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 เวลา 07.28 น. ตำรวจสืบสวน สน.นางเลิ้ง มาคุยกับตัวแทนอีกครั้งเรื่องขบวนเสด็จ และเวลา 09.07 น. พ.ต.อ.นิวัฒน์ พึ่งอุทัยศรี และ พ.ต.อ.วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณากร เข้าเจรจาเรื่องขบวนเสด็จ ตัวแทนยืนยันว่าไม่ย้ายไปไหน ส่วนตำรวจจะจัดการอย่างไร เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของตำรวจ 

iLaw รายงานต่อว่า เวลา 13.30 น. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมคณะตัวแทนกรรมการสิทธิมนุษยชน ตัวแทนกรมควบคุมโรค ตัวแทนสำนักงานเขต และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะเดินทางไปขอเจรจาคืนพื้นที่กับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเข้าพูดคุย

เวลา 14.37 ตำรวจเข้าเจรจากับผู้ชุมนุม ตำรวจแจ้งว่ามาสังเกตการเพื่อจะจัดระเบียบ เนื่องจากเป็นการชุมนุมแบบข้างคืน ขณะที่ผู้ร่วมกิจกรรมกล่าวว่าต้องการให้ตำรวจเป้นตัวกลางเจรจาระหวาางผู้ชุมนุมและรัฐบาล ระหว่างการเจรจา นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี เข้ามาเป็นคนเข้ามาพูดคุยกับตำรวจ ตำรวจอ้างว่ามาตรวจเยี่ยมเยียนผู้ชุมนุม

เฟซบุ๊กเพจ ‘No NPO Bill’ โพสต์ข้อความว่า เมื่อ 14.40 น. เจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุมเจรจาเกี่ยวกับเหตุผลด้านการจราจร จนท.กล่าวว่ากลุ่มผู้ชุมนุมกีดขวางการจราจร ทำให้กระทบกับเส้นทางหลักที่การจราจรมีหลายทิศทาง และผู้ชุมนุมอาจจะเกิดอุบัติเหตุจนได้รับอันตรายหรืออาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยจากผู้ไม่หวังดีได้

ตำรวจมาขอเจรจากับผู้ชุมนุมที่หน้ายูเอ็น เมื่อเวลาประมาณ 14.30 น. (ภาพจาก FB: No NPO Bill)

ส่วนผู้ชุมนุมเจรจาว่าขอปักหลักชุมนุมต่อจนกว่าข้อเสนอจะได้รับการตอบรับ และรับเรื่องดูแลความปลอดภัยรวมถึงการตรวจวัดอุณหภูมิเพื่อป้องกันสถานการณ์ COVID-19

เวลา 14.50 น. การเจรจาสำเร็จ เจ้าหน้าที่ขอเดินตรวจเยี่ยมผู้ชุมนุมก่อนจะออกจากพื้นที่

เวลา 15.07 น. นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน แจ้งหลังเหตุการเจรจาว่า ศาลตัดสินพรุ่งนี้ (27 พ.ค.) เจรจาจบแล้ว และจะทำกิจกรรมต่อ ขอให้ตำรวจถอนออกไป ไม่มีสิทธิถ่ายภาพในที่ชุมนุม ย้ำประชาชนไม่ใช่สวนสัตว์ เดินไปเดินมาหาสิแตกหยัง

เมื่อเวลา 16.55 น. เฟซบุ๊กเพจ 'No NPO Bill' รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาเจรจากับผู้จัดกิจกรรมอีกครั้ง เพื่อนัดแนะการวางกำลังอารักขาความปลอดภัยขบวนเสด็จวันพรุ่งนี้ (27 พ.ค.) ขณะที่ประชาชนยืนยันจะขอใช้สิทธิปักหลักชุมนุมที่เดิม การเจรจาจบลงโดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงใดๆ

ช่วงเช้าวันเดียวกัน (26 พ.ค.) ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอเพิกถอนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 ข้อ 3 และฉบับที่ 37 ข้อ 2 และประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 14 เรื่องห้ามชุมนุม พร้อมเรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพการชุมนุม การเดินทางการแสดงความคิดเห็น อันเป็นผลจากการออกข้อกำหนด ประกาศห้ามชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการปิดกั้นขัดขวางการชุมนุม รวมถึงขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในลักษณะกีดขวางการชุมนุมของโจทก์ทุกรูปแบบ และให้ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของประชาชน

ย้อนไปตั้งแต่มีการชุมนุมของราษฎรในปี 2563 ขบวนเสด็จเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการพยายามจำกัดการชุมนุมหรือการแสดงออกของประชาชน อย่างเช่น วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ตำรวจได้อ้างเรื่องขบวนเสด็จเพื่อไม่ให้ผู้ชุมุนมเดินขบวน แต่เมื่อประชาชนเดินขบวน กลับมีการวางเส้นทางขบวนเสด็จให้เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม และมีการตั้งข้อหาดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 110 หรือ  ใน มี.ค. 2565 ตำรวจเคยขอให้ผู้ชุมนุมม็อบชาวนา ที่ปักหลักบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ย้ายออกไปเนื่องจากมีขบวนเสด็จแล้ว ผู้ชุมนุมยอมย้ายออกไป ก่อนจะขอให้ย้ายอีกครั้งในการชุมนุมคัดค้าน พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มฯ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีกรณีที่ยังจัดการชุมนุมได้แม้จะมีขบวนเสด็จ อาทิ ในประชาชน พ.ย. 2563 ตำรวจพยายามอ้างเรื่องขบวนเสด็จกับผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่สุดท้ายขบวนเสด็จก็ผ่านไปอย่างสงบเรียบร้อย ขณะที่ผู้ชุมนุมเพียงยืนชูสามนิ้วเคารพธงชาติ โดยมีตำรวจควบคุมฝูงชนยืนเป็นแนวกั้น ดังนั้น การชุมนุมและขบวนเสด็จสามารถดำเนินร่วมกันได้ ตราบเท่าที่ตำรวจมีปฏิบัติการอำนวยความสะดวกให้กับทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ เพราะแม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะมีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้ตั้งต้นเป็นภัยต่อประมุขของรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท