Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขุดรากอย่าเด็ดใบ: ก้าวไปให้ถึงรากเหง้าของปัญหา

พอถึง “วันพ่อ” หรือ “วันแม่” ทีไร โรงเรียนหรือสถานศึกษาก็จะจัดกิจกรรมเนื่องในวันดังกล่าวเป็นประจำทุกปีไป โดยกิจกรรมหนึ่งที่เห็นเป็นประจำคือการเชิญพ่อหรือแม่ให้ไปนั่งให้เด็กกราบไหว้ ซึ่งภาพที่ปรากฏออกมาตามสื่อต่างๆ ก็ชวนให้ผมน้ำตาคลอทุกทีไป ไม่ใช่เพราะตาของผมมันไปเห็นภาพที่มีลูกนั่งกราบไหว้พ่อหรือแม่แล้วรู้สึกซาบซึ้งหรอกนะ ทว่าเป็นภาพของเด็กที่ไม่มีพ่อหรือแม่ไปนั่งให้กราบไหว้ต่างหาก เหตุผลที่ผมน้ำตาคลอก็ไม่ใช่ว่าผมไม่มีพ่อหรือแม่อย่างที่เรียกว่าเป็น “คนหัวอกเดียวกัน” หรอก หากแต่เป็นอารมณ์ของความสงสารเด็กเหล่านั้นระคนไปกับความรู้สึกเวทนาที่มีต่อรัฐ-สังคมที่ส่งเสริมให้เกิดหรือมีวัฒนธรรมแบบนี้

กระนั้นก็ตาม ผมไม่ได้หมายความว่าการกราบพ่อไหว้แม่หรือการระลึกถึงผู้ที่ให้กำเนิดเรานั้นเป็นของไม่ดี เพียงแต่ผมต้องการจะเสนอว่าเราไม่ควรเอาการระลึกถึงพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดให้กลายมาเป็นเครื่องมือทำลายหรือบั่นทอนความรู้สึกของคนอื่นซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่มีพ่อแม่โดยที่เราไม่รู้ตัว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราไม่ควรให้ความสำคัญหรือยกให้วันดังกล่าวเป็นเรื่องของพื้นที่สาธารณะ (public sphere) แต่ควรให้เป็นเรื่องของพื้นที่ส่วนบุคคล (private sphere) ดังนั้น ข้อเสนอเบื้องต้นของผม ณ จุดนี้ก็คือ รัฐควรยกเลิกการกำหนดให้มี “วันพ่อ” และ “วันแม่”

ทั้งนี้ “วันพ่อ” หรือ “วันแม่” ในบทความนี้ไม่ได้หมายถึงวันสำคัญของ “บุคคลสำคัญ” ของรัฐนั้นๆ ซึ่งบางรัฐมักกำหนดให้เป็นวันเดียวกัน เช่น ในกรณีของประเทศไทยที่กำหนดให้วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 เป็นวันพ่อ และวันพระราชสมภพของพระราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 เป็นวันแม่ แต่กำลังหมายความถึง “วันพ่อ” และ “วันแม่” โดยทั่วไปที่มีปรากฏอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น เมื่อเวลาพูดถึงวันพ่อและวันแม่ในบทความนี้ จึงขอให้เข้าใจว่าไม่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญของ “บุคคลสำคัญ” ของรัฐนั้นๆ กล่าวในแง่นี้ ผมจึงไม่ได้เสนอให้ยกเลิกวันสำคัญของ “บุคคลสำคัญ” ของรัฐนั้นๆ ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงผมจะมีความเห็นเสนอให้ยกเลิกวันสำคัญของ “บุคคลสำคัญ” ของรัฐนั้นๆ อยู่ด้วยก็ตาม แต่ก็อยู่นอกเหนือขอบเขตของบทความนี้ที่จะกล่าวถึง

เมื่อเสนอเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าไม่เคยมีผู้เสนอให้ยกเลิก “วันพ่อ” และ “วันแม่” เลย ในทางกลับกันมีอยู่เป็นจำนวนมากที่เสนอให้ยกเลิก โดยข้อเสนอส่วนมากก็จะเสนอให้สถานศึกษาเลิกจัดกิจกรรมวันพ่อและวันแม่ในสถานศึกษา ที่ไปไกลหน่อยก็เสนอให้รัฐบาลยกเลิกวันพ่อและวันเเม่ไปเลย อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้ไปไม่ไกลมากพอที่จะไปถึงปัญหาที่แท้จริง ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้เกิด/ให้ความสำคัญกับวันพ่อและวันแม่ เพราะถึงแม้ว่าจะมีการยกเลิกให้มีวันพ่อและวันแม่ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งมีลักษณะที่เกิดขึ้นมาด้วยสาเหตุคล้ายๆ หรือเป็นสาเหตุเดียวกันกับการมีวันพ่อและวันแม่ก็จะยังคงดำรงแฝงฝังอยู่ตามวัฒนธรรมอื่นๆ อยู่ดี

ดังนั้น การก้าวไปให้ถึงปมปัญหาที่แท้จริงจึงน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนหรือจุดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนมากกว่า ซึ่งการไปไม่ถึงปมปัญหาที่แท้จริงของข้อเสนอดังกล่าวเป็นเพราะขาดการคำนึงถึงเรื่อง “ยุคสมัย” (epoch) หรือ “วิถีการผลิต” อย่าง “วิถีการผลิตแบบทุนนิยม” (capitalism mode of production) ซึ่งเป็นวิถีการผลิตของยุคสมัยปัจจุบัน กล่าวในแง่นี้ ผมต้องการจะสร้างข้อเสนอหลักของบทความนี้ว่า การเกิดขึ้นมาของ/การให้ความสำคัญกับวันพ่อและวันแม่ในยุคสมัยปัจจุบันนี้ (ขอย้ำว่าบทความนี้หมายถึงเฉพาะ “วันพ่อ” และ “วันแม่” ในยุคสมัยปัจจุบันเท่านั้น) เป็นผลผลิตจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของทุนนิยม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการเกิดขึ้นของ “วันพ่อ” และ “วันแม่” นั้น เป็นประเด็นในเชิงเศรษฐกิจการเมือง (political economy) ฉะนั้น การที่รัฐ-สังคมให้คุณค่ากับ “วันพ่อ” และ “วันแม่” นั้น อุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังรัฐ-สังคมดังกล่าวแท้ที่จริงแล้วคืออุดมการณ์ของระบบทุนนิยมนั่นเอง ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้ การที่เราจะรู้ว่าทำไมในปัจจุบันนี้จึงมีการให้ความสำคัญกับวันพ่อและวันแม่จนทำให้รัฐกำหนดให้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของสังคม จึงควรพิจารณาผ่านแนวคิดแบบ “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์” (historical materialism)

         

“ตำนาน” ที่ดูเหมือนเป็นคนละเรื่อง (เดียวกัน)

ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ตำนานเรื่องเล่าของการระลึกถึงพ่อและแม่จนนำมาสู่การเกิดหรือการให้ความสำคัญกับวันพ่อและวันแม่นั้นมีมายาวนานนับหลายพันปี ดังจะเห็นว่า ตำนานการเกิดขึ้นของวันพ่อนั้น ตามประวัติศาสตร์ที่มีการจดบันทึกไว้ เกิดขึ้นเมื่อราวประมาณ 4,000 ปีที่แล้ว ดังมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยอาณาจักรบาบิโลน มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งได้แกะสลักข้อความลงในการ์ดดินเหนียวให้พ่อของตน โดยอวยพรให้มีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนนาน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเด็กหนุ่มคนนั้นทำแบบนั้นไปเพราะเหตุผลกลใด แต่หลังจากนั้นธรรมเนียมการยกย่องพ่อในวันพิเศษก็ได้เริ่มต้นและแผ่ขยายไปทั่วโลก ส่วนตำนานของการกำเนิดวันแม่ก็มีประวัติความเป็นมายาวนานเช่นกัน ซึ่งเราสามารถนับถอยหลังไปถึงยุคกรีกโบราณที่ชาวกรีกได้เฉลิมฉลองวันแม่ โดยเรียกวันดังกล่าวว่า “The Mother of the Gods” และนับจากนั้นก็เริ่มมีการให้ความสำคัญกับวันแม่ในหลายพื้นที่ทั่วโลกตามมา

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้การเกิดขึ้นของวันพ่อและวันแม่ของแต่ละประเทศจะมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ทว่าวันพ่อและวันแม่ที่เราคุ้นเคยกันในยุคสมัยปัจจุบันนี้ ต่างก็มีแนวคิดหลักที่คล้ายคลึงกันอย่างหนึ่งคือ มันอยู่ภายใต้การนึกถึง/สำนึกถึงความเป็นพ่อหรือแม่แบบครอบครัวปัจเจกหรือครอบครัวเดี่ยวที่ปราศจาก “สังคม” ซึ่งหมายความว่า พ่อและแม่ก็จะนึกถึง/มีสำนึกของความเป็นพ่อและความเป็นแม่ที่มีต่อลูกในสายโลหิตของตน ส่วนลูกก็นึกถึง/มีสำนึกถึงความเป็นพ่อและแม่ผู้ให้กำเนิดตน โดยการนึกถึง/สำนึกถึงความเป็นพ่อและแม่ดังกล่าวทำงานผ่านวาทกรรมหลักสำคัญคือเพื่อสร้างหรือปลูกฝัง “ความกตัญญูกตเวที” ต่อพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด ดังกล่าวมานี้หากมองอย่างผิวเผินก็อาจจะเกิดคำถามได้ว่ามันก็ดีแล้วมิใช่หรือ รวมถึงคำถามที่ว่าแล้วมันเกี่ยวข้องกับวิถีการผลิตแบบทุนนิยมอย่างไร

 

ไอ้นี่ไงที่ทำให้เด็กนั่งเศร้าหน้าเก้าอี้ว่าง: ต้นตอปัญหาที่แท้จริง

ผมขอเริ่มต้นอภิปรายดังนี้ว่าการนึกถึง/สำนึกของความเป็นพ่อเป็นแม่ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก่อนที่จะกลายมามีลักษณะของการนึกถึง/สำนึกถึงความเป็นพ่อและความเป็นแม่อันเป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้เกิด “วันพ่อ” และ “วันแม่” แบบที่เราเข้าใจและคุ้นเคยกันในปัจจุบันนี้นั้น มันมีลักษณะของการพัฒนาคลี่คลายขยายตัวของประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน

ในหนังสือของ ฟรีดริช เองเกลส์ (Friedrich Engels)[1] ที่ชื่อว่า “The Origin of Family, Private Property and the State” เองเกลส์ได้อภิปรายเกี่ยวกับการพัฒนาคลี่คลายขยายตัวของประวัติศาสตร์การจัดระเบียบครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจว่า ในสังคมแบบบุพกาล ซึ่งเป็นสังคมที่ไม่มีความซับซ้อนในวิถีของการใช้ชีวิต ความสัมพันธ์ทางด้านต่างๆ ในสังคมจึงไม่ซับซ้อนตามไปด้วย กล่าวคือ ระบบครอบครัวถูกจัดระเบียบอย่างไม่สลับซับซ้อน การร่วมเพศเป็นไปในลักษณะแบบ “สมสู่ร่วมกันอย่างสำส่อน”[2] ทั้งชายและหญิงต่างก็มีอิสระในการเลือกสมสู่กันอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้าและไม่ผูกมัด ส่งผลให้การนับญาติผ่านทางสายโลหิตแบบที่เป็นอย่างปัจจุบันไม่ปรากฏให้เห็น ลูกชายหญิงในสังคมที่เกิดขึ้นมาก็จะถือว่าเป็นลูกของผู้ใหญ่ทั้งสังคม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ลูกชายหญิงที่เกิดขึ้นมาในสังคมนั้นก็จะถูกเลี้ยงดูโดยสังคมทั้งสังคมนั่นเอง โดยมีผู้ใหญ่ชายทำหน้าที่เป็นพ่อและมีผู้ใหญ่หญิงทำหน้าที่เป็นแม่ให้กับพวกเขาทั้งหมดในสังคม ซึ่งเรียกการจัดระบบสังคมแบบนี้ว่า “ระบบการนับญาติแบบสังคญาติ” (system of consanguinity) เหตุที่ทำให้เกิดลักษณะของสังคมเช่นนี้เป็นเพราะขาดความชัดเจนในเรื่องการถือครองกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิต และการหาเลี้ยงชีพมีลักษณะที่กระทำร่วมกันเป็นสังคม ด้วยเหตุนี้เองที่การเลี้ยงดูผู้คน (ในกรณีของบทความนี้คือ เด็ก) จึงถูกเลี้ยงดูโดยสังคม ฉะนั้น การคำนึง/สำนึกถึงความเป็นพ่อแม่แบบครอบครัวเดี่ยวจึงไม่มีปรากฏให้เห็น

เมื่อพลังทางการผลิต (productive force) พัฒนามากขึ้น ระบบครอบครัวอันเป็นลักษณะหนึ่งที่สะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิต (social relation of production) ก็มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย หรืออีกนัยหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวก็มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน อันเนื่องมาจากระบบการผลิตมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผลิต “สินค้า/มูลค่าส่วนเกิน” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การสะสมทุนมีเพิ่มมากขึ้น โดยระบบดังกล่าวได้ส่งผลให้ระบบการนับญาติผ่านสายโลหิตมีความชัดเจนมากขึ้นไปด้วยโดยเฉพาะผ่านสายทาง “พ่อ” เพื่อให้การสืบต่อกรรมสิทธิ์ที่เกิดจากการสะสมทุนตกมาอยู่เฉพาะคนในครอบครัว/ชาติกุลของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ในกรรมสิทธิ์ของปัจจัยการผลิตมีลักษณะที่เป็นแบบส่วนบุคคล/เอกชนมากขึ้น และด้วยเหตุนี้นี่เองที่ในที่สุดก็ทำให้ระบบครอบครัวเดี่ยว (nuctear family) เริ่มปรากฎขึ้นมาและในที่สุดก็พัฒนาคลี่คลายจนกลายมาเป็นระบบครอบครัวเดี่ยวรูปแบบผัวเดียวเมียเดียว (monogamian family) อย่างที่เราเข้าใจและยึดถือกันในยุคสมัยปัจจุบัน ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าการคำนึง/สำนึกถึงความเป็นพ่อและแม่ก็มีเพิ่มมากขึ้นหรือมีความชัดเจนขึ้นตามมาด้วยนั่นเอง

เมื่อการพัฒนาคลี่คลายขยายตัวของประวัติศาสตร์ดำเนินมาถึงระบบการนับญาติแบบครอบครัวเดี่ยวภายใต้การสมสู่แบบผัวเดียวเมียเดียว ลูกที่เกิดขึ้นมาก็ย่อมเป็นส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญของระบบครอบครัวเดี่ยวนั้น นั่นหมายความว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของพ่อแม่ที่เกิดจากกระบวนการสะสมทุนก็จะตกทอดเป็น “มรดก” ไปสู่ลูกเป็นอันดับแรก (ตัวอย่างรูปธรรมขอให้พิจารณากฎหมายในยุคสมัยปัจจุบันที่ว่าด้วย “สิทธิ์ในการสืบมรดก” ประกอบ) นี่เองคือเหตุผลที่ผมเสนอว่า “วันพ่อ” และ “วันแม่” เกี่ยวข้องกับระบบทุนนิยม ซึ่งในแง่ดังกล่าวก็สอดคล้องกับที่เองเกลส์เคยกล่าวไว้ว่าระบบครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียวที่เราเข้าใจว่ามีมานานแล้วนั้น แท้ที่จริงก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กับระบบทุนนิยมนี่เอง โดยที่วันพ่อและวันแม่ที่เรารู้จักกันในยุคสมัยปัจจุบัน มันได้เข้ามาส่งเสริมค้ำจุนผลิตซ้ำในเชิงอุดมการณ์ผ่านวาทกรรมสำคัญคือ “ความกตัญญู” เพื่อการดำรงอยู่ของระบบแบบครอบครัวเดี่ยว ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นตัวหนุนเสริมสำคัญของการดำรงอยู่ของ “ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” (private property) อันเป็นหัวใจหลักสำคัญต่อระบอบของการสะสมทุน (accumulation regime) แบบทุนนิยม ดังที่คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) และเองเกลส์[3] เขียนไว้ใน “The Communist Manifesto” อย่างแหลมคมว่า ระบบครอบครัวเดี่ยวแบบกระฎุมพีที่มีพ่อ แม่ ลูกนั้นคือรูปแบบของสถาบันทางสังคมที่สะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมที่เอื้อต่อการสะสมทุนและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม

กล่าวโดยสรุปแล้ว ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลที่ทำให้เกิดระบบครอบครัวเดี่ยวแบบผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของระบบทุนนิยมนี่เองที่เป็นต้นตอของการเกิด “วันพ่อ” และ “วันแม่” ในแบบที่เรารับรู้กันในยุคสมัยปัจจุบัน เพราะวันดังกล่าวมันมีอุดมการณ์ที่อยู่ข้างหลังคือการสำนึกในความเป็นพ่อและแม่หรือการมีพ่อและแม่แบบปัจเจกบุคคลครอบครัวเดี่ยวที่ปราศจาก “สังคม” ดังคำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นามว่ามาร์กาเรต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) เจ้าแม่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเธอกล่าวว่า “สังคมไม่มีอยู่จริง มีแต่ผู้ชายและผู้หญิงเป็นรายบุคคล และมีเพียงครอบครัวเท่านั้น” (There is no such thing as society. There are individual men and women, and there are families) ซึ่งมันไปด้วยกันได้ดีกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เน้น “ความเป็นปัจเจก” ทั้งแบบบุคคลและครอบครัว

 

ยกเลิกมันเดี๋ยวนี้นะ!

จากที่กล่าวมาทั้งหมดอาจจะเข้าใจผิดว่าผมเสนอให้กลับไปสู่สังคมแบบ “สมสู่ร่วมกันอย่างสำส่อน” ต่อประเด็นนี้ ขอให้เข้าใจว่าการจัดระเบียบครอบครัวที่ปรากฏในยุคสมัยต่างๆ นั้น เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงไปของวิถีการผลิต ซึ่งมีต้นเหตุมาจากพัฒนาการที่ก้าวหน้าของพลังทางการผลิต ดังนั้น เมื่อระบบครอบครัวเดี่ยวพัฒนามาตามยุคสมัย มันก็จะพัฒนาไปตามยุคสมัยเช่นกัน นั่นหมายความว่า ผมไม่ได้เสนอให้เรากลับไปสู่สังคมที่มีลักษณะการร่วมเพศแบบสำส่อน เพียงแต่ผมต้องการเสนอให้ยกเลิกระบบกรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตที่มันทำให้เกิด “วันพ่อ” และ “วันแม่” ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้น มันก็จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของวิถีการผลิตนั้นๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อระบบกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมทั้งหมดเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก้าวหน้ามากขึ้น ระเบียบของครอบครัวซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันทางสังคมที่สะท้อนความสัมพันธ์ทางสังคมก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ก้าวหน้าตามไปด้วยเช่นกัน นี่เองคือเหตุผลที่ทำไมผมจึงเสนอในตอนต้นของบทความว่าให้มองปรากฎการณ์วันพ่อและวันแม่ผ่านแนวคิดแบบวัตถุนิยมประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดอาจจะชวนให้เข้าใจว่าผมเสนอให้เราเลิกคำนึงถึง/สำนึกถึง ตลอดไปจนถึงเลิกเลี้ยงดูพ่อแม่ในฐานะผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูเรามา แต่นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะในความเป็นจริงผมต้องการจะเสนอว่าเราควรยกเลิก “ระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” เพราะในที่สุดมันก็จะนำพาไปสู่การมลายหายสิ้นไปเองของ “วันพ่อ” และ “วันแม่” และนั่นก็จะทำให้การนึกถึงพ่อและแม่เป็นเรื่องส่วนตัวและการนึกถึงการสร้างสรรค์ “สังคม” ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ก็จะกลายมาเป็นเรื่องสาธารณะแทน และเอาเข้าจริง การยกเลิกระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลนี้นี่เองที่จะทำให้เรานึกถึงพ่อและแม่และตอบแทนบุญคุณในฐานะผู้ให้กำเนิดเราได้มากขึ้น เพราะในความเป็นจริงของสังคมที่ยกย่องระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล (สังคมทุนนิยม) มันทำให้เราต้องแยกจากพ่อและแม่ผ่านการที่ต้องไปทำงานในต่างถิ่นต่างแดนหรือทำให้เราได้ใช้ชีวิตร่วมกับพ่อแม่น้อยลง และนั่นก็หมายถึงการที่เราต้องได้เลี้ยงดูหรือมีเวลาในการดูแลพ่อแม่น้อยลง มิพักต้องพูดถึง “สังคม” ที่ไม่มีเวลาให้นึกถึงเลย ด้วยเหตุผลนี้เองที่มีผู้เสนอว่า “ความกตัญญูจำเป็นต้องมีรัฐสวัสดิการ”  

เมื่อกล่าวโดยสรุปในภาพรวมแล้ว การยกเลิกระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ทำให้ “วันพ่อ” และ “วันแม่” หายไป และกลายมาเป็น “วันสังคม” ซึ่งเป็นวันของคนทุกคนอย่าง “ภราดรภาพ” และเมื่อนั้นเราก็จะไม่เห็นภาพเด็กนั่งหน้าเศร้ากราบไหว้เก้าอี้ที่ว่างเปล่า

           

อ้างอิง

[1] Friedrich Engels, The Origin of Family, Private Property, and the State, (London: Penguin, 2010). และในภาคภาษาไทยดู กุหลาบ สายประดิษฐ์, กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ ระเบียบสังคมของมนุษย์, (กรุงเทพฯ: กอไผ่, 2524).

[2] ผมได้คำนี้มาจากงานเขียนของกุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งเขาไม่ได้ใช้คำดังกล่าวในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามอย่างที่เข้าใจกันในความหมายปัจจุบัน ในทางกลับกันเขาใช้คำดังกล่าวในความหมายเชิงบวก เพื่ออธิบายลักษณะของสังคมครอบครัวในสมัยบุพกาล ผู้ที่สนใจโปรดดู กุหลาบ สายประดิษฐ์, กำเนิดครอบครัวของมนุษยชาติ ระเบียบสังคมของมนุษย์, อ้างแล้ว.

[3] ดูการอภิปรายประเด็นดังกล่าวอย่างละเอียดได้ใน Karl Marx, and Friedrich Engels, The Communist Manifesto, (London: Pluto Press, 2008). โดยเฉพาะในส่วนที่สองที่ว่าด้วยเรื่อง “Proletarians and Communists” (ชนชั้นกรรมาชีพกับชาวคอมมิวนิสต์)

หมายเหตุ: ขอขอบคุณ ญาณวดี สาหลง ที่ช่วยอ่านต้นฉบับร่างและให้ข้อเสนอแนะโดยภาพรวมที่ดีต่อการปรับปรุงแก้ไขบทความ หากเกิดข้อผิดผลาดไม่ว่าในทางหนึ่งทางใดผมขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net