Skip to main content
sharethis

มึนอภรรยา บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ได้ยื่นหนังสือติดตามความคืบหน้าต่ออัยการสูงสูด (อสส.) ในคดีบังคับสูญหายและฆาตกรรมบิลลี่สามีเมื่อปี 2557 และคดีชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รื้อถอนเผาทำลายทรัพย์สินของปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอย เมื่อปี 2554 โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงจะดำเนินการโดยเร็ว ไม่ให้คดีขาดอายุความ หลังคดีบิลลี่ล่วงเลยมา 8 ปี และคดีชัยวัฒน์เผาบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยเข้าปีที่ 11

 

27 พ.ค. 2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 เวลา 10.00 น. มึนอ-พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ ได้เข้าติดตามความคืบหน้าใน 2 คดี ต่ออัยการสูงสูด (อสส.) ได้แก่ คดีชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน รื้อถอนเผาทำลายทรัพย์สินของปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอย เมื่อปี 2554 กับคดีการบังคับสูญหายและฆาตกรรมบิลลี่ รักจงเจริญ นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เมื่อปี 2557 โดยประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับหนังสือและแถลงความคืบหน้าคดี

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงว่า ในกรณีที่ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และพวก เข้ารื้อถอนและเผาบ้านเรือนและยุ้งข้าวของปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอย จนปู่คออี้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีและสำนวนถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นั้น ประยุทธได้ตรวจสอบไปที่สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 7 เมื่อเช้านี้ พบว่า พนักงานอัยการได้ส่งสำนวนคืนให้ป.ป.ท. เนื่องจาก ป.ป.ท. สรุปความเห็นมาไม่ครบถ้วน โดยเดิม ป.ป.ท. ส่งฟ้องชัยวัฒน์ใน 3 ข้อหา ได้แก่ เจ้าหน้าที่รัฐปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบมาตรา 157 วางเพลิงเผาทรัพย์มาตรา 218 ซึ่งมีโทษประหารชีวิต และข้อหาทำให้เสียทรัพย์มาตรา 358 แต่กลับสรุปความเห็นสั่งฟ้องมาตรา 157 ข้อหาเดียวเท่านั้น พนักงานอัยการจึงยืนยันว่า ต้องสรุปความเห็นมาให้ถูกต้องครบถ้วน โดยเฉพาะมาตรา 218 ที่มีโทษร้ายแรง เนื่องจากสามารถดำเนินคดีได้ครั้งเดียว ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างรอ ป.ป.ท. แก้ไขสำนวน

“ป.ป.ท. จะต้องดำเนินการโดยเร็ว ไม่ให้คดีขาดอายุความ” โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าว

ส่วนกรณีการกล่าวหาว่าชัยวัฒน์ฆาตกรรมบิลลี่ พอละจี อสส. ได้เคยแถลงแล้วครั้งหนึ่งว่า อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องชัยวัฒน์ไปบางข้อหาในข้อหาฆาตกรรมบิลลี่ และมีสั่งไม่ฟ้อง 3 ข้อหา สำนวนจึงถูกส่งกลับไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยดีเอสไอมีความเห็นแย้ง อัยการจึงสั่งสอบเพิ่ม ขณะนี้ทางอัยการได้รับสำนวนที่ดีเอสไอสอบเพิ่มเติมมาแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของอัยการที่เกี่ยวข้อง โดยจะได้เสนออัยการสูงสุดต่อไป ซึ่งเชื่อว่าจะใช้เวลาอีกไม่นาน

ด้านสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า หลังจากได้รับฟังแถลงความคืบหน้าคดีจาก อสส. ว่า ในคดีชัยวัฒน์เผาบ้านเรือนปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอย ศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยแล้ว และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้จ่ายเงินชดเชยแล้ว ส่วน ป.ป.ท. ใช้เวลาอีกหลายปี จึงได้ชี้มูลว่าการกระทำของชัยวัฒน์เป็นความผิดร้ายแรง โดย ป.ป.ท. ได้ส่งเรื่องให้อัยการฟ้องแล้ว แต่เวลาผ่านมาเกินหนึ่งปีแล้วอัยการก็ยังไม่สั่งฟ้องแต่อย่างใด ตนกังวลว่าเรื่องจะล่าช้าจนคดีขาดอายุความเสียก่อน เนื่องจากเรื่องเกิดขึ้นมานานกว่า 11 ปี และมาตรา 157 ก็มีอายุความเพียง 15 ปีเท่านั้น

“ที่อัยการแถลงว่าต้องส่งสำนวนกลับไปให้ ป.ป.ท. ทำให้สมบูรณ์ ผมมองว่า ป.ป.ท. ก่อตั้งมานานแล้ว และส่งสำนวนในแนวนี้ตลอด ซึ่งอัยการก็สั่งฟ้อง ศาลก็ตัดสิน ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่คดีนี้เป็นคดีแรกที่อัยการส่งเรื่องกลับ ป.ป.ท. โดยไม่มีการสั่งฟ้องใด ๆ ทั้ง ๆ ที่ในคดีอื่นอัยการก็วินิจฉัยและสั่งฟ้องให้มาตลอด” สุรพงษ์ ตั้งข้อสังเกต

นอกจากนี้ สุรพงษ์ ได้กล่าวว่า คดีการหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี ดีเอสไอชี้แล้วว่าเป็นคดีฆาตกรรม ซึ่งในตอนแรกอัยการชั้นต้นเห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอ กระทั่งอัยการสูงสุดได้นำมาพิจารณาใหม่และยืนยันไปที่ดีเอสไออีกครั้ง จึงขอขอบคุณโฆษก อสส. ที่ยืนยันว่าได้สรุปเรื่องเหล่านี้แล้ว เพราะที่ผ่านมา กรณีบอส มีอัยการระดับสูงท่านหนึ่งดึงเรื่องจนล่าช้า ขาดอายุความ และมีคำสั่งไม่ฟ้อง ต้องพิจารณาว่าการดำเนินการถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ จึงขอให้ทุกคนติดตามว่าอัยการจะสั่งอย่างไรต่อไปในคดีดังกล่าว และหวังว่า อสส. จะรื้อฟื้นความเชื่อมั่นที่จะดำเนินเรื่องอย่างรวดเร็วกลับมาได้

สุดท้าย สุรพงษ์ได้ฝากทุกคนติดตามเรื่องการผ่านพรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ซึ่งผ่านการพิจารณาของ ส.ส. แล้ว และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นพิจารณาโดยวุฒิสภา จึงหวังว่าวุฒิสภาจะผ่านร่างกฎหมายนี้โดยเร็ว ไม่ให้เกิดกรณีแบบบิลลี่ขึ้นในสังคมอีก

ด้านมึนอภรรยาของบิลลี่ที่เดินทางมายื่นหนังสือด้วยตนเอง พร้อมสะท้อนปัญหาของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยว่า ตั้งแต่ที่บิลลี่ได้เข้าไปช่วยปู่คออี้ในเรื่องที่ดินจนถูกทำให้หายตัวไป ปัจจุบันพี่น้องก็ยังคงมีปัญหาเรื่องที่ดินอยู่ โดยตอนนี้ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ทำกินก็โดนเก็บภาษีมากขึ้นและคิดภาษีสูงกว่าที่ดินที่ใช้ทำกินเสียอีก ซึ่งตนมองว่าไม่ยุติธรรม

“ยังมีความหวังอยู่ แต่เรารอมานานมาก ตอนนี้บิลลี่หายไป 8 ปีแล้วก็ยังไม่ได้รับความยุติธรรม เราติดตามคดีมาหลายปี รู้สึกเสียเวลาที่ต้องมาติดตาม เพราะต้องมาไกล มาครั้งหนึ่งก็ลำบาก อีกอย่างคือ เราได้ยินว่ามีผู้ใหญ่บางท่านบอกว่าเรื่องบิลลี่จบไปแล้ว เรามองว่า เป็นถึงผู้ใหญ่ทำไมถึงพูดแบบนั้น เวลามีใครถามเราจะบอกว่าเรื่องบิลลี่ยังไม่จบและยังอยู่ในกระบวนการ ต้องขอขอบคุณอัยการที่ช่วยดำเนินเรื่องด้วย” มึนอกล่าว

ทั้งนี้ คดีชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เผาบ้านปู่คออี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 5-9 พ.ค. 2554 ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ณ ขณะนั้น และเจ้าหน้าที่ของอุทยานแห่งชาติหลายคน ได้เข้ารื้อถอนรวมถึงเผาบ้านเรือนและยุ้งข้าวของปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอยเสียหายราว 100 หลัง ปู่คออี้ หรือ คออี้ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน จึงแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีต่อนายชัยวัฒน์และพวกต่อพนักงานสอบสวนสภ.แก่งกระจาน และสำนวนถูกส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)

ต่อมา เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 ป.ป.ท. ชี้มูลความผิดชัยวัฒน์ว่ามีความผิดร้ายแรง ส่งเรื่องให้ต้นสังกัดและอัยการดำเนินการทางวินัยและดำเนินคดี โดยต้นสังกัดคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีคำสั่งให้ชัยวัฒน์ออกจากราชการแล้ว ทว่าจนถึงปัจจุบันกลับยังไม่มีความคืบหน้าจากทางอัยการในการสั่งฟ้องดำเนินคดีแต่อย่างใด แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาแล้วเกิน 10 ปีนับจากวันเกิดเหตุ

นอกจากนี้ การฟ้องคดีเผาทำลายทรัพย์สินดังกล่าวยังเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เจ้าหน้าที่อุทยานไม่พอใจบิลลี่ พอละจี สมาชิก อบต.ห้วยแม่เพรียงและนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินของชาวบ้านบางกลอย ที่ให้ความช่วยเหลือนายคออี้ในการฟ้องคดีดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 17 เม.ย. 2557 บิลลี่ก็ได้หายตัวไปในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หลังจากถูกควบคุมตัวโดยชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

ในการยื่นหนังสือติดตามคดีของมึนอ พิณนภา ต่อ ดีเอสไอ และ อสส. เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 ทราบความคืบหน้าในคดีการหายตัวไปของบิลลี่ว่า หลังจากดีเอสไอกลับมาสืบคดีนี้อีกครั้งในเดือนเมษายน 2563 ดีเอสไอได้สรุปสำนวนเห็นควรสั่งฟ้องชัยวัฒน์และพวกรวม 4 คน ในข้อหาฆาตกรรมบิลลี่และข้อหาอื่น ๆ ส่งพนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาบางคนในบางข้อหา ซึ่งอธิบดีดีเอสไอในขณะนั้นได้มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าวไปยังอัยการสูงสุด ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดจึงสั่งให้ดีเอสไอสอบพยานเพิ่มเติม 7 ปาก และสอบสวนเพิ่มใน 4 ประเด็น ซึ่งดีเอสไอได้แถลงในวันที่ 18 ม.ค. 2565 ว่า ดีเอสไอได้ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมเสร็จสิ้นแล้ว และได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเรียบร้อยแล้วในเช้าวันดังกล่าว ส่วน อสส. แถลงในวันเดียวกันว่า ได้รับสำนวนจากดีเอสไอแล้ว และจะมีการสั่งฟ้องมาตรา 157 (เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ) ในคดีนี้อย่างแน่นอน แต่ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าจะมีการสั่งฟ้องชัยวัฒน์ในข้อหาฆาตกรรมหรือไม่

 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนประชาชนติดตามความคืบหน้ากับอัยการในคดีบังคับสูญหายและฆาตกรรมบิลลี่ต่อไป รวมถึงร่วมกันเร่งรัดให้มีการสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ในคดีเผาบ้านเรือนของชาวบางกลอยไม่ให้ขาดอายุความ เพื่อคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหาย และติดตามให้วุฒิสภาผลักดันให้พรบ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... เป็นกฎหมายโดยเร็ว ไม่ให้มีเจ้าหน้าที่ลอยนวลพ้นผิดจากการกระทำละเมิดประชาชนอีกต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net