Skip to main content
sharethis

ประชาชนและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการรวมตัวหน้ารัฐสภา ร่วมรับฟังการเสนอ"รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ" ของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร หวังสภาจะสนับสนุนข้อเสนอในรายงานนี้ เพื่อผลักดันให้เกิดบำนาญแห่งชาติ

27 พ.ค. 2565 บริเวณหน้ารัฐสภา แยกเกียกกาย ประชาชนจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค, ผู้สูงอายุ, ผู้มีความหลากหลายทางเพศ, ผู้ป่วยเรื้อรัง, แรงงาน, คนพิการ และเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ รวมตัวกันจัดกิจกรรม ‘หิ้วปิ่นโตนั่งเฝ้ากฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภา’ ที่กำลังจะมีการลงมติรับหรือไม่รับ รายงานศึกษาเบี้ยบำนาญผู้สูงอายุ ที่คณะอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ทำการศึกษา โดยมีข้อเสนอสำคัญคือ การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุจากร่างเดิมที่ให้เบี้ย  600 - 1,000 บาท เป็นขั้นบันได เป็นให้รัฐดูแลเพิ่มเบี้ยให้เพียงพอที่จะหลุดพ้นความยากจนตามเส้นแบ่งที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจเเละสังคมกำหนดไว้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในอัตรา 3,000 บาท

ระหว่างทำกิจกรรมมีนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาพูดคุยให้ข้อมูลเรื่อง “มายาคติเรื่องการออมเพื่อบำนาญ” ประเมินความเป็นไปได้และเสนอหน้าที่ของภาครัฐเพื่อช่วยให้คนสามารถออมได้จริง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้นำ ส.ส. ของพรรคที่มีบทบาทผลักดันสวัสดิการถ้วนหน้ามาพบปะประชาชนที่มาเฝ้ารอผลการลงมติ พิธากล่าวขอโทษประชาชนในฐานะผู้แทนราษฎรที่สภาปล่อยให้ต้องนั่งรอกลางแดด เหตุใดสภาไม่สามารถจัดการต้อนรับประชาชนให้ดีกว่านี้ได้

 “หากเปรียบเทียบเงินเบี้ยหวัดบำนาญสำหรับข้าราชการกับเบี้ยผู้สูงอายุให้ประชาชน 12 ล้านคน จะพบว่าห่างกันถึง 51 เท่า มันอยู่ในสันดานของผู้บริหารประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นการต้อนรับประชาชนหรือวิธีคิดงบประมาณ  นี่เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลจะต้องผลักดัน เราไม่ได้ต้องการยกเลิกบำนาญราชการอย่างที่ไอโอพยายามบอก แต่สิ่งที่เราพยายามทำคือการทำให้ประชาชนเท่ากัน ประเทศจึงจะเท่าเทียมกันได้” พิธา กล่าว

 

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส. พรรคก้าวไกล กล่าวว่า บางคนอาจบอกว่า การพิจารณาของสภาในวันนี้เป็นแค่รายงานของ กมธ. เพื่อส่งต่อคณะรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ข้อเสนอในนั้นคือการแก้กฎหมายเพื่อให้บำนาญพื้นฐานประชาชนต้องไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน

“งบประมาณ ปี 66 ไม่ได้ตั้งให้ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 600 บาทเลย เป็นเรื่องที่น่าผิดหวังในโค้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์ที่ยังคงไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคร่วมด้วยที่เคยบอกว่าจะให้ผู้สูงอายุ 1,000 บาทถ้วนหน้า ก็ต้องทวงถามกันต่อ แม้คนในพรรครัฐบาลเขาจะบอกว่าเป็นแค่การโฆษณาและลบโพสต์ไปแล้วก็ตาม ก็เพิ่งรู้ว่าการหาเสียงสามารถโฆษณาชวนเชื่อได้ ถ้าอย่างนั้นจากนี้หาเสียงลมๆแล้งๆไปก็ได้ใช่หรือไม่” วรรณวิภา กล่าว

ในที่ประชุมสภาเวลาประมาณ 10.57 น. รังสิมา รอดรัศมี ประธานคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร เกริ่นนำถึงที่มาของการจัดทำรายงานผลการพิจารณาศึกษาแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสวัสดิการสังคม ตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญแห่งชาติ เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำกฎหมายบำนาญแห่งชาติ ต่อมาสมศักดิ์ คุณเงิน พรรคเศรษฐกิจไทย เล่าถึงเหตุผลและความจำเป็นตามสภาพสังคมไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัยแต่เบี้ยยังชีพที่ได้ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการยังชีพในสภาวะปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายมาสร้างหลักประกันด้านรายได้แบบรายเดือนที่ต่อเนื่องและมั่นคงให้กับผู้สูงอายุ 

จากการนำเสนอ "รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ" ของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร นิมิตร์ เทียนอุดม จากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้ย้ำหลักการ 3 ข้อเรื่องบำนาญแห่งชาติประกอบด้วย

1) เป็นเรื่องสิทธิพื้นฐานถ้วนหน้าที่คนทุกคนต้อ ใช้เพียงเกณฑ์อายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับบำนาญ

2) เพียงพอต่อการยังชีพโดยอ้างอิงตามเส้นความยากจน

3) การเป็นหลักประกันด้านรายได้ที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง ทำให้คนสามารถวางแผนชีวิตได้

 

สุนทรี เหล่าพัดจัน นำเสนอข้อมูลเชิงวิชาการในแง่รูปแบบ เงื่อนไข และแหล่งที่มาจากประสบการณ์ในการจัดระบบบำนาญของต่างประเทศ

หลังจากนั้นที่ประชุมสภาเปิดโอกาสให้ทั้ง ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านร่วมอภิปรายให้ความเห็นซึ่งมีทั้งหมด 24 คน ประกอบด้วย ส.ส. พรรคเพื่อไทย 7 คน ส.ส. พรรคก้าวไกล 6 คน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ 4 คน ส.ส. พรรคพลังท้องถิ่นไท และพรรคภูมิใจไทยอย่างละ 2 คน และ ส.ส. พรรคประชาชาติ พลังปวงชนไท และประชาธิปัตย์ พรรคละ 1 คน ซึ่งทั้งหมดเห็นด้วยกับการสนับสนุนรายงานฉบับดังกล่าว เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในเชิงที่มาของแหล่งเงินสนับสนุนเพื่อใช้ในการทำบำนาญฯ และแนวทางการบริหารจัดการเพื่อให้การบริหารคล่องตัวและทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น หลังจากนั้นนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ พรรคก้าวไกล นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค พรรคไทรักธรรม และรังสิมา กล่าวปิดการรับฟังผลการอภิปรายที่มีต่อรายงาน

เวลาประมาณ 15.26 น. สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่งกล่าวสรุปในที่ประชุมว่า สมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยไม่มีการคัดค้าน จึงขออาศัยข้อบังคับที่ 88 โดยถามที่ประชุมว่ามีสมาชิกท่านใดคัดค้าน ไม่เห็นด้วย หรือเห็นความเป็นอย่างอื่น ถ้าไม่มีแสดงว่าทุกคนเห็นพ้องต้องกันถึงข้อสังเกตและรายงานของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมเสนอ ทางสภาจึงอาศัยตามข้อบังคับที่ 105 เพื่อส่งข้อสังเกตจากที่ประชุมและรายงานในครั้งนี้ให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

 

โดยเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการหวังว่า สภาจะให้การสนับสนุนรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องแนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติเข้าไปสู่การพิจารณาของรัฐบาลต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net