Skip to main content
sharethis

ตัวแทนแรงงานข้ามชาติในฐานะผู้ประกันตนตาม ม.33 ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนข้อกำหนดให้ผู้รับเงินเยียวยาต้องมีสัญชาติไทยในโครงการ “ม.33 เรารักกัน” แม้ว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติจะจ่ายเงินสบทบเหมือนคนไทยแต่ไม่ได้รับการเยียวยา

27 พ.ค.2565 ที่ศาลปกครอง ตัวแทนแรงงานข้ามชาติและผู้ไร้สัญชาติพร้อมทนายความเข้ายื่นฟ้องต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนเงื่อนไข “ม.33 เรารักกัน” ที่ให้จ่ายเยียวยาเฉพาะแรงงานสัญชาติไทย โดยฟ้องทั้งหมด 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ และคณะรัฐมนตรี

การยื่นฟ้องครั้งนี้เนื่องจากหน่วยงานทั้ง 5 ข้างต้นมีคำสั่งทางปกครองให้มีโครงการดังกล่าวมาชดเชยเยียวยาแบ่งเบาภาระค่าครองชีพและลดผลกระทบให้แก่ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดยเป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีการอนุมัติงบประมาณถึง 37,100 ล้านบาท และ 48,841 ล้านบาท แต่กลับกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยาไว้แค่ผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น

จากคำสั่งของทั้ง 5 หน่วยงานดังกล่าวทำให้แรงงานที่ไม่มีสัญชาติไทยอย่างน้อย 1 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 33 ไม่ได้รับเงินเยียวยาอย่างเท่าเทียมแม้ว่าพวกเขาจะส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเท่ากับคนที่มีสัญชาติไทยรวมแล้วกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

ปสุตา ชื้นขจร ภาพจาก มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

ปสุตา ชื้นขจร ทนายความจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่าก่อนหน้านี้ที่เคยไปยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแต่ศาลมีคำวินิฉัยว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลเนื่องจากโครงการดังกล่าวออกมาตามคำสั่งของหน่วยงานทางปกครองเป็นการยืนยันว่าคดีนี้อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลปกครอง ก็เลยมายื่นฟ้องทั้ง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้

“เป้าหมายสูงสุดคืออยากเห็นผู้ประกันตนทั้ง 1 ล้านคน(แรงงานข้ามชาติและไร้สัญชาติ) ได้รับการเยียวยา แต่เราก็ไม่สามารถไปกำหนดศาลได้ว่าจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร อย่างน้อยที่สุดก็อยากให้สังคมไทยรู้ด้วยว่าโควิดไม่ได้เกิดผลกระทบแต่เฉพาะคนไทย” ทนายความกล่าว

ปสุตากล่าวอีกว่าแรงงานข้ามชาติก็ไม่ได้เข้ามาอยู่กันฟรีๆ แต่ยังมีการจับจ่ายใช้สอยมีการซื้อประกันสุขภาพจ่ายค่าธรรมเนียมๆ เพื่ออยู่ในประเทศนี้และยังร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วย

ทนายความแสดงความเห็นต่อการตีความของผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีคำวินิจฉัยต่อข้อร้องเรียนนี้ว่าคำสั่งของทั้ง 5 หน่วยงานไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าการกำหนดเงื่อนไขของโครงการนี้ไม่ได้เป็นการเลือกปฏิบัติเพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไม่เลือกปฏิบัติต่อบุคคลเพราะเชื้อชาติเท่านั้นไม่ได้รวมถึงสัญชาติ

ปสุตามองการตีความดังกล่าวของผู้ตรวจการแผ่นดินมีปัญหาและขาดความเชื่อมโยงกับกฎหมายสากล เพราะในขณะที่รัฐไทยเองเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (CERD) ในปีที่แล้วคณะกรรมการตามอนุสัญญาดังกล่าวยังให้ข้อแนะนำกับรัฐไทยต้องคุ้มครองคนทุกคนไม่ใช่พลเมืองสัญาชาติใดสัญชาติหนึ่งหรือเฉพาะแต่กับสัญชาติไทยเท่านั้น

เตอร์ ตัวแทนแรงงานไร้สัญชาติ(ขวา) จายกอง ตัวแทนแรงงานข้ามชาติ (ซ้าย) ภาพจาก มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

“คนน่าจะเท่าเทียมกันจะสัญชาติใดถ้าต้องจ่ายตังค์ก็น่าจะได้รับการเยียวยาเหมือนกัน ผมเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งผมก็จ่ายสมทบทุนทุกเดือนอยู่แล้ว พอมีโครงการเรารักกันขึ้นมาทำไมถึงให้แค่คนไทย ผมเองก็จ่ายทุกเดือนแล้วทำไมผมถึงไม่ได้ เราไปซื้อกับข้าวเราจ่ายตังค์ไปเราก็ต้องได้กินเหมือนคนทั่วไปใช่ไหม” เตอร์ แรงงานไร้สัญชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุที่มายื่นฟ้องคดีในวันนี้จากความรู้สึกที่ไม่ได้รับการเยียวยาย่างเท่าเทียมทั้งที่ก็ได้รับความเดือดร้อนทั้งที่ก็ต้องจ่ายเงินสมทบเท่าในจำนวนที่เท่ากับคนไทย

เตอร์ยังบอกอีกว่าพวกเขาก็อยู่ในระบบและทำงานให้เกิดประโยชน์ ต้องจ่ายภาษี และยังทำให้เศรษฐกิจมันเดินไปได้เหมือนกัน อยากให้ยกเรื่องสัญชาติออกไปแล้วมองว่าพวกเขาก็เป็นคนเหมือนกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net