'มรดกของเผด็จการ' ทำไม 'บองบอง' ลูกชายอดีตเผด็จการมาร์กอสถึงชนะเลือกตั้งฟิลิปปินส์

เจมส์ ล็อกซ์ตัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเมืองเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ วิเคราะห์การเมืองฟิลิปปินส์ว่าทำไม "ราชวงศ์มาร์กอส" ถึงกลับมาอีกครั้งในฟิลิปปินส์หลังจากที่ เฟอร์ดินานด์ "บองบอง" มาร์กอส จูเนียร์ ลูกชายของอดีตเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ซีเนียร์ เอาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ครั้งล่าสุดได้

 

27 พ.ค. 2565 ในการเลือกตั้งฟิลิปปินส์เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เฟอร์ดินานด์ "บองบอง" มาร์กอส จูเนียร์ ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 59 เทียบกับผู้สมัครที่ได้อันดับสองอย่าง เลนี โรเบรโด ที่ไม่สังกัดพรรคใดได้รับคะแนนเสียงเพียงร้อยละ 28 ทำให้บองบองได้เป้นประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์ เรื่องนี้ทำให้มีข้อสงสัยว่าเหตุใดบองบองซึ่งเป็นลูกชายของอดีตเผด็จการมาร์กอสคนพ่อถึงชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ได้

เจมส์ ล็อกซ์ตัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการเมืองเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ระบุว่าเรื่องนี้ทำให้คนทำจำนวนมากสงสัยเช่นกัน ว่าทำไมบองบองถึงชนะการเลือกตั้งในขณะเดียวกับที่ชื่นชม "อัจฉริยภาพ" ของพ่อตัวเองได้ ทั้งๆ ที่ในยุคสมัยมาร์กอสรุ่นพ่อ เคยมีเหตุการณ์ที่รัฐบาลสังหารคนไปหลายพันคนและตลอดช่วงที่มาร์กอสผู้พ่อปกครองประเทศยาวนาน 21 ปีก็เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน

ล็อกซ์ตันอธิบายว่าเหตุการณ์ในฟิลิปปินส์เป็นสิ่งที่สะท้อนปรากฏการณ์สองลักษณะ หนึ่ง คือปรากฏการณ์ที่ตัวแทนในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นผู้มีอดีตเกี่ยวข้องกับเผด็จการอำนาจนิยม และ สอง คือปรากฏการณ์ที่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยยังคงมีเรื่องของการสืบเชื้อสายหรือความสัมพันธ์เชิงเครือญาติวงศ์ตระกูลเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งล็อกซ์ตันระบุว่าปรากฏการณ์สองอย่างนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมากในประเทศประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นใหม่

งานวิจัยของล็อกซ์ตันมีส่วนในการอธิบายพลวัตเช่นนี้ โดยระบุว่า ในช่วงประมาณกลางคริสต์ทศวรรษที่ 1970 (ราวๆ ระหว่างปี 2513-2523) มาจนถึงช่วงยุคสมัยต้นคริสต์ทศวรรษแรกของยุค 2000s (ราวปี 2543-2553) มีมากกว่า 60 ประเทศที่มีการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการชำระล้างสิ่งตกค้างเก่าๆ ทิ้งไปทั้งหมด กลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นใหม่ในช่วงยุคสมัยนี้ก็ยังเต็มไปด้วยร่องรอยของระบอบเก่าแฝงอยู่ในการเมืองไม่ว่าจะมาในรูปแบบของรัฐธรรมนูญ หรือการปกครองในแบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในระดับย่อยลงไปกว่าระดับชาติ ซึ่งรวมไปถึงในระดับพรรคการเมืองด้วย

ภาพจากเฟซบุ๊ก Bongbong Marcos

ในงานวิจัยของล็อกซ์ตันระบุว่าในประเทศที่กำลังมีกระบวนการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยมักจะมี "พรรคการเมืองที่เป็นผู้สืบทอดเผด็จการ" อยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลเผด็จการที่เคยมีอยู่แต่เดิมและยังคงอยู่หลังการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตย หรือเป็นพรรคการเมืองใหม่ที่ตั้งขึ้นโดยอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเผด็จการ ในกลุ่มประเทศที่เปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยในช่วงระหว่างปี 2517-2553 มี 3 ใน 4 ของทั้งหมดที่มีพรรคสืบทอดเผด็จการที่มีชื่อเสียงอยู่ และมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศเหล่านี้กลุ่มพรรคการเมืองที่สืบทอดเผด็จการสามารถกลับสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก, มองโกเลีย, โปแลนด์, ปารากวัย, ไต้หวัน หรือตูนีเซีย

นอกจากเรื่องพรรคการเมืองที่สืบทอดเผด็จการแล้ว ในประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศก็มีผู้นำทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรีที่สืบทอดผ่านทางครอบครัวหรือวงศ์ตระกูล ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา, เอสโตเนีย, กานา, ฮอนดูรัส, มอริเซียส และอุรุกวัย

แม้กระทั่งประเทศประชาธิปไตยใหญ่ๆ อย่าง อินเดีย และ สหรัฐอเมริกา เองก็มีประวัติแบบผู้นำที่มีคนจากวงศ์ตระกูลเดียวกัน เช่น จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ผู้พ่อ กับ จอร์จ ดับเบิลยู บุช คนลูก, จอห์น อดัม ผู้พ่อ กับจอห์น ควินซี อดัม คนลูก และตระกูลเคนเนดี กับตระกูล คลินตัน ก็เป็นตระกูลที่เป็นผู้เล่นใหญ่ๆ ทางการเมืองเช่นกัน หลังจากที่ช่วงวาระของประธานาธิบดีโอบามาและทรัมป์สิ้นสุดลงก็เคยมีคนทำนายไว้ว่าเป็นไปได้ที่ อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง มิเชลล์ โอบามา หรือลูกๆ ของโดนัลด์ ทรัมป์ จะมาลงเล่นการเมืองต่อ ในอินเดียคนที่นักการเมืองที่สิบทอดต่อจากคนในตระกูลเดียวกันได้แก่ ตระกูลเนห์รู และตระกูลคานธี

คำถามต่อมาคือทำไมผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงบางคนถึงใช้สิทธิเลือกตั้งตามหลักประชาธิปไตยที่เพิ่งได้รับมาไปกับการโหวตให้กับพรรคการเมืองที่มีรากฐานทางการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมักจะเป็นรัฐบาลที่โหดเหี้ยมมาก่อน อีกคำถามหนึ่งคือทำไมในบริบทของประชาธิปไตยแล้วผู้ลงคะแนนเสียงบางคนถึงเลือกผู้นำตามการสืบทอดเครือญาติวงศ์ตระกูลซึ่งฟังดูเป็นหลักการแบบราชาธิปไตยมากกว่า

จากการศึกษาวิจัยของล็อกซ์ตันทำให้เขาตอบคำถามแรกได้ว่า พรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบอบอำนาจเก่านั้นมักจะได้รับอานิสงส์จาก "มรดกของเผด็จการ" ไม่ว่าจะเป็นการมีเส้นสายทางธุรกิจ, การมีอำนาจในเชิงระบบองค์กร และการถูกโยงเข้ากับนโยบายที่ประสบความสำเร็จอย่างด้านเศรษฐกิจหรือด้านความสงบเรียบร้อยในสังคม การมีเส้นสายกับอดีตเผด็จการยังเป็นประโยชน์กับคนกลุ่มที่สืบทอดเผด็จการเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้อานิสงส์ที่พวกเขาได้รับยังจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ไปตามกาลเวลา ถ้าหากว่าพรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยใหม่ทำผลงานได้น่าผิดหวังก็มักจะทำให้คนบางกลุ่มเกิด "ความโหยหาเผด็จการในอดีต" ได้

งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการสืบทอดทางการเมืองผ่านวงศ์ตระกูลยังชี้ให้เห็นว่าผู้คนที่สืบทอดทางการเมืองเหล่านี้มีข้อได้เปรียบจากการรับมรดกที่เป็นทุนทางการเมืองจากคนก่อนหน้านี้ แต่มรดกที่ว่านี้ก็ต่างออกไปจากการกรณีการรับมรดกจากเผด็จการ เช่นกรณีที่นักการเมืองที่ลงชิงตำแหน่งในครั้งที่สองหลังจากที่เคยเป็นรัฐบาลแล้วจะมีแต้มต่อเมื่อเทียบกับคู่แข่งเพราะปัจจัยต่างๆ อย่างการมีสื่อทำข่าวเพิ่มขึ้นและเป็นผู้ที่ควบคุมงบประมาณของรัฐบาล นักวิชาการ แดเนียล เอ็ม สมิทธ์ เคยชี้ให้เห็นว่าแต้มต่อแบบนี้เกิดขึ้นได้กับคนที่สืบทอดทางการเมืองจากเครือญาติวงศ์ตระกูลด้วย ไม่ว่าจะเป็นความได้เปรียบจากการเป็นที่รับรู้จดจำ การมีเครือข่ายเส้นสาย หรือการมีทักษะทางการเมืองที่ได้มาจากการสังเกตสมาชิกครอบครัว ซึ่งข้อได้เปรียบเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมผู้สมัครลงเลือกตั้งได้อย่างมาก

สำหรับกรณีที่บองบองชนะการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์นั้น ล็อกซ์ตันมองว่ามาจาก 2 ปัจจัยที่กล่าวมารวมกัน คือทั้งเรื่องมรดกจากสมัยเผด็จการที่สร้างข้อได้เปรียบให้กับเขา และมรดกในเชิงการสืบทอดการเมืองของเครือญาติวงศ์ตระกูลซึ่งสร้างความได้เปรียบให้บองบองได้ในอีกแบบหนึ่ง จากการที่เขาอาศัยสินทรัพย์ที่ได้ตกทอดมาจากสมัยเผด็จการ และการที่เขาสร้างภาพยุคสมัยเผด็จการมาร์กอสให้ดูเหมือนเป็น "ยุคทอง" ของฟิลิปปินส์ ทำให้ผู้คนมองลูกชายของอดีตเผด็จการมาร์กอสอย่างบองบองในแง่บวกตามไปด้วย ซึ่งเรื่องที่ลูกหลานเผด็จการกลับเข้ามามีอำนาจได้คล้ายๆ กันแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วใน ปานามา, เกาหลีใต้, บังกลาเทศ และเคนยา

แล้วการกลับเข้ามามีอำนาจของบองบองเช่นนี้ จะส่งผลกระทบเลวร้ายต่อประชาธิปไตยฟิลิปปินส์ที่มีปัญหาอยู่ก่อนแล้วมากน้อยแค่ไหน ในแง่หนึ่งงานวิจัยของล็อกซ์ตันก็ระบุว่า มันเป็นเรื่องเกิดขึ้นน้อยมากที่พรรคการเมืองที่สืบทอดเผด็จการจะถึงขั้นทำให้ประชาธิปไตยล่มสลายได้ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่พรรคการเมืองเช่นนี้กลับมามีอำนาจจนทำให้ประชาธิปไตยล่มสลายมาแล้ว คือในกรณีของ สาธารณรัฐโดมินิกัน, มาดากัสการ์, นิคารากัว ซึ่งมีกรณีที่ตัวอดีตผู้นำเผด็จการกลับเข้าไปมีอำนาจได้อีกครั้งจากการเป็นผู้นำพรรคการเมือง

ในกรณีของบองบองนั้นจะเป็นไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับว่าบองบองพึ่งพิงใบบุญของอดีตเผด็จการที่เป็นพ่อของเขามากแค่ไหน ล็อกซ์ตันระบุว่ามันมีเหตุผลที่ดีพอที่จะกังวลว่าอาจจะเกิดกรณีลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ยิ่งรันนิงเมทหรือคู่หูที่ร่วมลงชิงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีคือ ซารา ดูเตอร์เต ลูกสาวของอดีตผู้นำอำนาจนิยมตัวบุคคลอย่าง รอดริโก ดูเตอร์เต ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีโอกาสทำให้ประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์ที่พอจะมีเหลืออยู่เสื่อมถอยลงไปยิ่งกว่าเดิม

 

 

เรียบเรียงจาก

 

The Philippines elected a dictator’s son. Why are dynasties popular?, Washington Post, 26-05-2022
https://www.washingtonpost.com/politics/2022/05/26/bongbong-marcos-sara-duterte-philippines/

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/2022_Philippine_presidential_election
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท