อุปทูตสหรัฐฯ แถลงผลประชุมสุดยอดสหรัฐฯ - อาเซียน หวังไทยยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ไมเคิล ฮีธ อุปทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยแถลงผลประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ชี้ มีวิสัยทัศน์ร่วมเรื่องการสร้างภูมิภาคที่เสรีและมั่งคั่ง ให้คำมั่น จะร่วมงานกันพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำโขง เปิดตัวกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจใหม่ หวังไทยยึดหลักการสิทธิมนุษยชนสากลอย่างที่สหรัฐฯ ทำ

ไมเคิล ฮีธ

27 พ.ค. 2565 ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย แถลงข่าวที่สำนักงานอเมริกัน ฮับ ตึก GPF กรุงเทพฯ สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ - อาเซียน และเนื้อหาเกี่ยวกับกรอบความร่วมมือยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิก 

ฮีธเล่าถึงการหารือยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศระหว่างสหรัฐฯ กับไทย เมื่อวันที่ 9-10 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่มีผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แดเนียล คริเทนบริงค์ และผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ฝ่ายความมั่นคงอินโด-แปซิฟิก อีไล แรตเนอร์ กับธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศไทย และ พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ โดยการหารือครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่รวมการหารือยุทธศาสตร์และการหารือด้านการป้องกันประเทศไว้ด้วยกัน โดยสหรัฐฯ และไทย ยืนยันเรื่องการทำงานร่วมกันเพื่อธำรงไว้ซึ่งหลักการที่มีร่วมกัน รวมทั้งการต่อสู้ในประเด็นการค้ามนุษย์และยาเสพติด รวมถึงการปกป้องสิทธิมนุษยชนและการแก้ปัญหาสถานการณ์วิกฤตมนุษยธรรมที่รุนแรงขึ้นในพม่า

ในประเด็นการจัดประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐฯ - อาเซียน สมัยพิเศษเมื่อ 12-13 พ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม มีแถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ - อาเซียน  ซึ่งมีวิสัยทัศน์สำหรับภูมิภาคอาเซียนที่เสรียิ่งขึ้น มั่งคั่งยิ่งขึ้น เชื่อมโยงกันมากขึ้น และพร้อมรับมือมากขึ้น (resilient) โดยสหรัฐฯ และอาเซียนให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกันในการพัฒนาอนุภูมิภาคในลุ่มน้ำโขง ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน สร้างความมั่นคงทางสุขภาพและทำงานร่วมกันในประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังยืนยันความเคาระที่สหรัฐฯ และอาเซียนมีเหมือนกันต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และเอกราชทางการเมืองของยูเครน ตลอดจนความกังวลในเรื่องวิกฤตการณ์ในพม่า 

นอกจากนั้น ฮีธยังได้กล่าวถึงการเปิดตัวกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ในโตเกียว พร้อมกับภาคีแรกเริ่ม ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย โดยกรอบความร่วมมือ IPEF เป็นการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจที่ออกแบบมาเพื่อรับมือความท้าทายด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่การกำหนดกฎข้อบังคับสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ไปจนถึงการดำเนินการเพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานมีความปลอดภัยและยืดหยุ่น กรอบความร่วมมือนี้จะสร้างเศรษฐกิจที่เท่าเทียมมากขึ้นสำหรับครอบครัว ลูกจ้าง และธุรกิจทั้งในสหรัฐฯ และภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

อุปทูตสหรัฐฯ เน้นย้ำว่า การลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ  (FDI) ในภูมิภาคนี้คิดเป็นมูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (969,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในปี 2563 และเติบโตขึ้นเกือบสองเท่าในทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงเป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของไทย

ต่อคำถามของผู้สื่อข่าวในประเด็นข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ร่าง พ.ร.บ. การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร และการกลับมาดำเนินคดีประชาชนด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 ฮีธกล่าวว่า สหรัฐฯ ได้มีการพูดคุยกับทางไทยมาแล้วหลายครั้งในอดีตเกี่ยวกับความเคารพของสหรัฐฯ ต่อหลักการสิทธิมนุษยชน และความสำคัญของทั้งสองประเทศในการยึดหลักการตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ทั้งสองประเทศได้เป็นภาคี และก็หวังว่าประเทศไทยจะร่วมยึดถือในหลักการแบบที่สหรัฐฯ เป็น ในส่วนของร่าง พ.ร.บ. นั้นยังไม่มีการบังคับใช้ จึงไม่ได้เป็นประเด็นที่นำมาพูดคุยในเวทีสุดยอดผู้นำ เพื่อไม่เป็นการก้าวล่วงกระบวนการนิติบัญญัติซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนไทยเป็นผู้ตัดสินใจ

ในประเด็นกรอบความร่วมมือในแม่น้ำโขงที่สหรัฐฯ มี (US - Mekong Partnership) และแนวทางการดำเนินนโยบายกับจีน ที่มีกรอบความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง บนพื้นที่เดียวกัน ฮีธตอบว่า หุ้นส่วนสหรัฐฯ-แม่โขง มุ่งให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยและรัฐบาลอื่นๆ เพื่อปกป้องแม่น้ำโขงจากความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยส่วนมากเป็นการให้การสนับสนุนด้านข้อมูลทางวิทยศาสตร์ที่ไม่มีอคติและเป็นกลางเพื่อให้ภาครัฐวิเคราะห์ทั้งระดับน้ำและมลพิษในพื้นที่ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะข้อมูลที่ได้จากดาวเทียม ทำให้รัฐบาลรู้ว่าระดับน้ำที่ลดลงเกิดจากอะไร สภาพของแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไปมากๆ เมื่อเทียบกับ 20 ปีก่อนนั้น เหตุผลหลักๆ ก็มาจากการสร้างเขื่อนบนพื้นที่ตอนบนของแม่น้ำ มีสถาบันหนึ่งที่บอกว่าเหตุผลเรื่องการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แต่ข้อเท็จจริงก็เห็นอยู่ว่ามีน้ำจำนวนมากที่ถูกกักเอาไว้ที่ตอนบนของแม่น้ำอย่างไม่ปกติ นอกจากนั้นสหรัฐฯ ยังได้ให้ทุนในด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงด้วย ซึ่งก็มีความสำคัญและจะทำต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท