ตร.เข้มรักษาความปลอดภัยขบวนเสด็จ ยันไม่สลายการชุมนุมขบวนต้าน ‘พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่ม’

  • ความคืบหน้าคดีฟ้องคุ้มครองการชุมนุมชั่วคราวที่ศาลแพ่ง ทนายเผยศาลยกคำฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมแต่เขียนบรรยายในคำสั่ง รับรองเสรีภาพในการชุมนุมว่าเป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถทำได้ตาม รธน.
  • ทนายความย้ำเตือนตร.ห้ามใช้เป็นข้ออ้างสลายชุมนุม ขณะที่ขบวนฯประกาศเคลื่อนต่อ ย้ำต้องได้ตามข้อเรียกร้องเดิม  
  • ขณะที่จนท.ตร.ตรึงกำลังเข้มขบวนต่อต้านร่างกม.ทำลายการรวมกลุ่มปชช. ตลอดทั้งวันเนื่องจากมีขบวนเสด็จก่อนที่จะสลายกำลังไปเมื่อช่วงเย็น

27 พ.ค.2565 องค์กร Protection International หรือ PI รายงานต่อสื่อมวลชน ว่า ที่หน้าองค์การสหประชาติวันนี้ (27 พ.ค.65 ) ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มประชาชนปักหลักชุมนุมเป็นวันที่ 5 เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชนท่ามกลางกระแสข่าวลือการเข้าสลายการชุมนุมตลอดคืนวาน

ตร.เข้มรักษาความปลอดภัยของขบวนเสด็จ ยันไม่มีการสลายการชุมนุม

บรรยากาศตั้งแต่ช่วงเช้าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการจัดขบวนรูปแบบการรักษาความปลอดภัยของขบวนเสด็จโดยนำแผงเหล็กกั้นมาวางซ้อนที่ริมฟุตบาทและให้ตำรวจมายื่นเรียงแถวซ้อนอีกชั้นหนึ่งพร้อมทั้งได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่าจะไม่มีการสลายการชุมนุมแต่จะมาดูแลความสงบเรียบร้อย

ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทยอยกลับแล้วขบวนฯก็จัดแถลงข่าวในกรณีที่นิมิตร์ เทียนอุดม ธนพร วิจันทร์ และ ภรณ์ทิพย์ สยมชัย ตัวแทนของขบวนฯพร้อมด้วยสุรชัย ตรงงาม สัญญา เอียดจงดี และ สุทธิเกียรติ คชโส ทนายความเดินทางเข้ายื่นฟ้อง พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กองบัญชาการกองทัพไทย  กระทรวงการคลัง และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ต่อศาลแพ่งและขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวห้ามเจ้าหน้าที่รัฐกีดขวางปิดกั้นการชุมนุมที่ทางกลุ่มได้ปักหลักชุมนุมอยู่ที่หน้ายูเอ็นและจะเตรียมเคลื่อนขบวนใหญ่อีกครั้งไปทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 30 พ.ค.นี้  

ศาลแพ่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุม 

วันนี้ (27 พ.ค.) ศาลแพ่งนัดอ่านคำสั่งในกรณีที่ตัวแทนขบวนได้ขอคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุม โดยศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว เห็นว่าข้อกำหนดห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บังคับใช้เป็นการทั่วไป หากสั่งระงับข้อกำหนดห้ามชุมนุมให้เฉพาะการชุมนุมของโจทก์ จะเป็นมาตรการที่ไม่ได้สัดส่วน กับทั้งตามประกาศ ผบ.สส. ไม่ได้ห้ามชุมนุมเด็ดขาด แต่ต้องขออนุญาต กรณียังไม่มีเหตุเพียงพอที่ศาลจะสั่งคุ้มครองชั่วคราว

ตัวแทนยันชุมนุมต่อเหตุคำสั่งศาลระบุชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธของเราสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญ

ธรพร วิจันทร์ ตัวแทนขบวนที่เป็นโจทก์ในการยื่นฟ้องครั้งนี กล่าวว่า ถึงแม้ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราวกับพวกเรา แต่ในคำสั่งศาลได้เขียนรายละเอียดบอกว่าการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธของเราสามารถทำได้ตามรัฐธรรมนูญเราก็จะยังคงชุมนุมกันต่อเพราะเป็นเสรีภาพที่พวกเราทำได้อยู่แล้ว นอกจากนี้กระบวนการฟ้องร้องของเราก็จะยังคงดำเนินต่อไป โดยมีเผด็จการจำเลยทั้ง 6 คนเป็นจำเลยในการฟ้องร้องของเรา ไม่ต้องกังวลกฎหมายใดก็ตามที่กระทบเสรีภาพของเรา เราก็มีเสรีภาพในการคัดค้านแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมาย และมันถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่าทำได้

ภรณ์ทิพย์ สยมชัย ตัวแทนขบวนที่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในครั้งนี้กล่าวว่า ตนเป็นจำเลยมาหลายรอบหลายคดี ครั้งนี้ได้เป็นโจทก์ก็รู้สึกดีใจโดยเฉพาะที่ได้ฟ้องนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันนี้ที่ตั้งใจไปฟังคำสั่งศาล เรา(ชาวบ้าน)ก็คุยกันแล้วว่า เขา(ศาล)จะฟังเราไหม และพอเมื่อถึงช่วงการฟังคำสั่ง กระบวนการเสร็จเร็วมาก ทั้งๆที่เราฟ้องไปหลายเรื่อง เช่น รั้ว ตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหน้า การปิดถนน  ซึ่งวันที่เราจะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบเราโดนสกัดหลายชั้น เป็นต้น ซึ่งคำสั่งศาลในวันนี้ คือ “ไม่ได้สัดส่วน” ซึ่งตนงง เพราะไม่เข้าใจว่าไม่ได้สัดส่วนของอะไร  ทั้งที่เป็นเสรีภาพในชุมนุม  และในส่วนของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เข้าใจว่าศาลเข้าใจคำร้องพวกเราหรือไม่ รู้สึกว่าศาลไม่ได้วิเคราะห์ตรงจุดนั้นเลยอย่างไรก็ตามตนอยากจะฝากถึงผู้ที่อยู่ที่นี้ ที่พวกเราออกมาในครั้งนี้เรามาด้วยหัวใจเพราะถ้าเรารวมกลุ่มไม่ได้เราก็อยู่ไม่ได้ ส่วนผู้ที่กำลังเตรียมเสบียงและกำลังเตรียมเดินทางมา เราก็ขอฝากให้เตรียมหัวใจให้เต็มร้อยเพื่อที่จะมาต่อสู้ให้เต็มที่

อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า หลังจากที่เราฟังคำสั่งศาลเสร็จแล้วตนและตัวแทนที่เข้าร่วมฟ้องก็ออกมายืนงงกับคำสั่งของศาลในครั้งนี้ ซึ่งต้องเท้าความว่าในตอนที่ฟ้องเราได้อธิบายเหตุความไม่ชอบด้วยกฎหมายไปเยอะแยะเลยว่าทำไมถึงต้องยกเลิก หรือยกเลิกข้อกำหนดบังคับใช้ในการห้ามชุมนุมที่ออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะจริงๆ แล้ววัตถุประสงค์ที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาเพื่อต้องการควบคุมโรคโควิดและดูแลระบบสาธารณะสุขต่าง ๆ และเราก็ได้บอกศาลไปว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนกิจกรรมอื่น ๆ รัฐก็อนุญาตให้กลับมาชีวิตได้ตามปกติ โรงเรียนก็เปิดแล้ว กิจกรรมรวมกลุ่มและระบบขนส่งที่แออัดกว่าสถานที่ชุมนุมที่ตรงนี้ทำไม่ถึงยังทำได้ และทำไม่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญอย่างหนึ่งที่มันเหมือนกับไปกินข้าวไปเที่ยวทำไมเราถึงทำไม่ได้ ทำไมระดับมันไม่เท่ากัน

ซึ่งศาลไม่ได้พูดถึงประเด็นเหล่านี้เลยในคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะบอกว่าไม่ได้สัดส่วนก็ไม่ได้เขียนว่าไม่ได้สัดส่วนอะไร  ซึ่งปกติถ้าศาลจะบอกว่าไม่ได้สัดส่วนก็ต้องแจ้งว่าไม่ได้สัดส่วนในกรณีไหนและเทียบเคียงระหว่างอะไรกับอะไร ซึ่งตรงนี้ศาลไม่ได้พูดถึงเลย ไม่ได้พูดว่าสัดส่วนของโควิดกับการชุมนุม ถ้าพูดแบบนี้เราก็ยังจะแล้วใจถึงคำสั่งศาลในครั้งนี้ แต่อันนี้พวกเราคาใจมาก

 “อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งนั้นศาลได้พูดถึงและรับรองเสรีภาพในการชุมนุมว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการออกมาแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายก็เป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ ซึ่งเราต้องยึดเป็นหลักการว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้เป็นสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง และกฎหมายระหว่างประเทศรับรองการชุมนุมของเราที่อยู่ในกรอบของความสงบ สันติ และก็ปราศจากอาวุธ ซึ่งการที่ศาลยกคำร้องในครั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมาสลายการชุมนุมหรือมาทำอะไรก็ได้ ซึ่งเราก็ยังยืนยันว่าการชุมนุมของเราได้ชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ” ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าว พร้อมระบุแม้ศาลแพ่งจะมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวการชุมนุม แต่การฟ้องแพ่ง 1.8 ล้านบาทกับนายกรัฐมนตรีและพวกยังคงอยู่โดยศาลจะนัดกำหนดประเด็นเพื่อทำการเริ่มเข้าสู้กระบวนการขั้นตอนการพิจารณาคดีในวันที่ 18 ก.ค.ที่จะถึงนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท