กลาโหมอังกฤษชวนรู้จัก วิธีสร้างเรื่องเล่า 'จักรวาลคู่ขนาน' แบบรัสเซีย

'Narrative Mirroring' หรือการสร้างเรื่องเล่าสะท้อนกลับ เป็นคำที่รัฐบาลอังกฤษใช้เรียกวิธีการบิดเบือนเรื่องเล่าเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย โดยหมายถึงการกล่าวหาผู้อื่นว่าเป็นคนทำในสิ่งที่ตนเองเป็นคนทำ ขณะที่อีกบทความหนึ่งจากนักวิชาการอเมริกันชี้ว่ารัสเซียโกหกโดยไม่สนว่าจะถูกจับได้หรือไม่ เพื่อเพิ่มอำนาจในการข่มขู่ ต่อรอง และแสดงให้เห็นว่ารัสเซียสามารถทำตามความต้องการของตนเองได้ 

29 พ.ค. 2565 กระทรวงกลาโหมของอังกฤษเผยแพร่ผ่านเฟสบุ๊คเป็นอินโฟกราฟิก เมื่อ 25 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยนำเสนอข้อมูลให้เห็นถึงแบบแผนคำชี้แจงของรัฐบาลรัสเซียในประเด็นต่างๆ เช่น การสังหารพลเรือน การปิดกั้นสื่อ และอาวุธชีวภาพ และเรียกวิธีการบิดเบือนเรื่องเล่าของรัสเซียว่า 'Narrative Mirroring' หรือการสร้างเรื่องเล่าสะท้อนกลับ

"รัฐของรัสเซียพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับสงครามในยูเครนอย่างเป็นระบบผ่านการบิดเบือนเรื่องเล่า ด้วยการกล่าวหาว่าผู้อื่นเป็นคนทำ ทั้งที่สิ่งนั้นพวกเขาเป็นผู้ดำเนินการ" กระทรวงกลาโหมอังกฤษระบุ "การทำความเข้าใจกลยุทธ์นี้สามารถช่วยให้รัสเซียเป็นผู้รับผิดได้ และสามารถป้องกันการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนได้อีกด้วย" 

ในประเด็นเรื่องการสังหารพลเรือน (Civilian Atrocities) รัฐบาลอังกฤษได้ยกตัวอย่าง ดังนี้

คำชี้แจงฝั่งรัสเซีย: 

"เครมลินกล่าวหายูเครนว่าโจมตีและจัดให้มีการโจมตีต่อพลเรือนมาตั้งแต่สงครามเริ่มต้นขึ้น รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ อ้างว่า "ไม่มีการโจมตีใดๆ ที่กระทำต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน (25 กุมภาพันธ์ 2565)" 

ข้อเท็จจริง: 

"ทว่าหน่วยข่าวกรองของอังกฤษเปิดเผยให้เห็นถึงการโจมตีอย่างจงใจต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนที่สำคัญอย่างยิ่งในมารีอูโปล เครื่องบินทิ้งระเบิดของรัสเซียทิ้งระเบิดใส่อาคารที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล โรงเรียน และจุดคมนาคมต่างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนถึงขณะนี้ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ถูกฆ่าหรือถูกทำให้บาดเจ็บโดยกองกำลังรัสเซีย กว่า 8462 คน จากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) โดยตัวเลขที่แท้จริงนั้นเชื่อว่าอาจสูงกว่านี้อย่างมีนัยยะสำคัญ"

ในประเด็นเรื่องการปิดกั้นสื่อ (Media Censorship) รัฐบาลอังกฤษได้ยกตัวอย่างดังนี้

คำชี้แจงฝั่งรัสเซีย:

เคลมลินกล่าวหาว่าประเทศต่างๆ ที่ประณามการทำสงครามปิดปากสื่อที่อยู่ในรัสเซีย โฆษกของกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย มาเรีย ซากาโรวา กล่าวว่า "ทางการออสเตรเลีย แคนาดา และอุรุกวัยหันไปใช้การปิดกั้นอย่างโจ่งแจ้ง" (3 มี.ค. 2565)

ข้อเท็จจริง:

ทว่าเพียงไม่กี่วันการออกคำสั่งรุกราน ปูตินได้บังคับใช้กฎหมายปิดกั้นเสรีภาพสื่อ โดยนี่รวมถึงการกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 15 ปีในข้อหาเผยแพร่ข่าว "ปลอม" เกี่ยวกับกองทัพ การเข้าถึงโซเชียลมีเดียและสำนักข่าวใหญ่ของต่างประเทศถูกปิดกั้น

ในประเด็นเรื่องอาวุธเคมี (Chemical Weapons) รัฐบาลอังกฤษยกตัวอย่างดังนี้

คำชี้แจงฝั่งรัสเซีย: 

เครมลินกล่าวหาว่ายูเครนเตรียมการโจมตีด้วยอาวุธเคมีเพื่อใส่ความรัสเซีย ผู้แทนของรัสเซียในองค์การเพื่อการห้ามอาวุธเคมี (Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons) ที่กรุงเฮก [ประเทศเนเธอร์แลนด์] อ้างว่า  "หน่วยงานความมั่นคงของยูเครนกำลังวางแผนยั่วยุด้วยอาวุธเคมี...เพื่อจะได้ใส่ความกล่าวหาการกระทำดังกล่าวต่อกองกำลังของรัสเซียในภายหลัง" (7 พฤษภาคม 2565)

ข้อเท็จจริง: 

ทว่าไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ายูเครนมีอาวุธเคมีใดๆ เหตุการณ์ในอดีตแสดงให้เห็นถึงประวัติการโกหกเกี่ยวกับอาวุธเคมีของเครมลินมาโดยตลอด โดยพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการปิดบังการใช้อาวุธดังกล่าวโดยอัสซาดในซีเรีย ในการวางยาพิษที่เมืองซาลิสบูรี และการวางพิษนาวาลนี รัสเซียแสดงให้เห็นว่าพวกเขาจะไม่แยแสต่อภาระหน้าที่ของตนเองและจะกล่าวหาผู้อื่น เรื่องนี้อยู่ในแบบแผนเดียวกัน คือการกุข้อกล่าวหาต่อรัฐอื่นขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐาน เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการกระทำของตนเอง

ไม่สนว่าจะถูกจับได้หรือไม่

การที่ผู้นำของรัสเซียหันไปใช้การโกหกอย่างโจ่งแจ้ง หรือที่รู้จักกันในภาษารัสเซียเรียกว่า vranyo หลายครั้งทำไปโดยไม่สนว่าจะถูกจับได้หรือไม่ และถูกใช้โดยไม่มีความจำเป็น ที่ผ่านมา รัสเซียโกหกอย่างโจ่งแจ้งหลายครั้งแล้ว ในกรณีเหล่านี้ หลายต่อหลายครั้งรัสเซียไม่สนใจว่าจะถูกจับได้หรือไม่ ความน่าฉงนนี้เป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์นโยบายพยายามทำความเข้าใจ เพื่อนำไปสู่การเจรจาและการสร้างสันติภาพ

คริสโตเฟอร์ บอร์ต นักวิชาการอาคันตุกะของโครงการ Carnegie's Russia และโครงการ Eurasia Program ได้เขียนบทความลงบนเว็บไซต์ของ Carnegie Endowment for International Peace เมื่อ 6 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา เพื่อชวนทำความเข้าใจ "ความสัมพันธ์กับความจริงที่หละหลวม" ของรัฐบาลรัสเซียระบุว่า แม้ที่ผ่านมาพฤติกรรมการบิดเบือนข้อมูลของรัสเซียจะทำความเข้าใจได้ยากสำหรับโลกตะวันตก แต่วิกฤติการณ์ก่อนการรุกรานยูเครนช่วยให้เห็นแบบแผนได้ง่ายขึ้น

คริสโตเฟอร์ บอร์ต ระบุว่า การโกหกของรัสเซีย หลายต่อหลายครั้งแสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจ เป้าหมาย และข้อเรียกร้องของรัสเซียต่อกลุ่มต่างๆ อย่างชัดเจน นอกจากนี้ การโกหกยังช่วยเสริมอำนาจการข่มขู่​ แสดงอำนาจ​ ขอความเห็นนอกเห็นใจ​ เพื่อต่อรองกับกลุ่มผลประโยชน์​ภายในประเทศและประเทศอื่นๆ ที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลรัสเซียด้วย

ข่มขู่ผู้ที่อาจเป็นปรปักษ์ภายในประเทศ

ตัวอย่างเช่น การโทษเยอรมนีว่าเป็นผู้วางยาพิษ อเล็กซี นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้านของรัสเซีย ทั้งที่การสืบสวนของสื่ออิสระชี้ให้เห็นว่าเป็นผู้กระทำ แสดงให้เห็นว่ารัสเซียต้องสื่อสารความไม่พอใจต่อเยอรมนี (ที่รับนาวาลนีไปรักษาและแทรกแซงการเมืองภายในของรัสเซีย) และสื่อสารไปยังฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับผู้นำรัสเซียในประเทศว่า "รัฐบาลไม่เพียงแต่ฆ่าคุณได้เท่านั้น แต่ยังล้อเลียนคุณเวลาที่พยายามฆ่าคุณอีกด้วย" 

"การโกหกเหล่านี้เพิ่มอำนาจของรัสเซียในการข่มขู่และแสดงให้เห็นว่ามอสโกเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ของตนเอง" คริสโตเฟอร์ บอร์ต ระบุ 

ระดมเสียงสนับสนุนจากผู้เห็นใจ

ขณะเดียวกัน การโกหกของรัฐบาลรัสเซียก็เป็นวิธีการหนึ่งในการสร้างความปั่นป่วนให้กับผู้นำในโลกตะวันตก และชิงความได้เปรียบจากความย้อนแย้ง ความผิดพลาดเชิงนโยบาย และความพยายามของโลกตะวันตกในการบังคับใช้คุณค่าของตนเองกับประเทศอื่นๆ โดยการพูดเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้สนับสนุนภายในรัสเซีย และต่างประเทศหันมาเห็นด้วยกับความย้อนแย้งของประเทศตะวันตก 

ตัวอย่างเช่น ก่อนการรุกรานยูเครน ที่ประเทศเบลารุสเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ การปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลลูคาเชนโกส่งผลให้ชาวเบลารุสต้องลี้ภัยเข้าไปในโปแลนด์จำนวนมาก แทนที่จะโทษเบลารุส เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัสเซีย กลับโทษผู้นำตะวันตกว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา และกล่าวหาว่าประเทศตะวันตกย้อนแย้งที่พูดเรียกร้องเกี่ยวกับคุณค่าของสิทธิมนุษยชน แต่ถึงคราวตนกลับปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่ไม่ใช่ชาวในยุโรปในแบบตรงกันข้าม ต่อมาปูตินก็พูดซ้ำประเด็นนี้เช่นกันเพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ที่ต่อต้านสหภาพยุโรป และกลุ่มที่มีทัศนะต่อต้านคนพลัดถิ่นในโลกตะวันตกหันมาเห็นด้วยกับรัสเซีย 

เมื่อถึงคราวที่รัสเซียรุกรานยูเครน รัสเซียก็อ้างว่าตะวันตกเป็นผู้เริ่มก่อนผ่านการแทรกแซงการเมืองภายในของยูเครน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในดอนบาส และการขยายสมาชิกภาพของนาโต้ ซึ่งถูกนำมาใช้อ้างว่าเป็นภัยคุกคามต่อพลเมืองและผู้ใช้ภาษารัสเซีย เรื่องเล่าเช่นนี้มุ่งชี้ชวนให้ประเทศอื่นๆ ที่ต่อต้านตะวันตกหันมาเห็นด้วยกับรัสเซีย เช่น ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ประเทศต่างๆ ก็แสดงมุมมองวิพากษ์วิจารณ์ความย้อนแย้งและความสองมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาในกรณีการรุกรานอิรักอย่างแพร่หลาย

สื่อสารข้อเรียกร้อง

ขณะที่เรื่องเล่าคู่ขนานเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อข่มขู่ แสดงอำนาจ และระดมเสียงสนับสนุนจากผู้เห็นอกเห็นใจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รัสเซียก็สื่อสารข้อเรียกร้องผ่านการโกหกด้วย เช่น ก่อนการรุกรานยูเครน รัสเซียได้สนับสนุนกลุ่มแยกดินแดนทางด้านตะวันออกของยูเครนอยู่ก่อนแล้ว แต่เมื่อถูกเปิดโปงก็ให้การปฏิเสธ และระบุว่าพลเรือนในยูเครนเป็นผู้ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลในกรุงเคียฟด้วยตนเอง ในการโกหกครั้งนี้ รัสเซียมีข้อเรียกร้องแฝงคือต้องการให้รัฐบาลยูเครนเจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และมอบสถานะพิเศษให้แก่พื้นที่ดังกล่าว เพื่อยกเลิกการรวมศูนย์อำนาจของรัฐบาลยูเครน 

อีกตัวอย่างหนึ่ง เช่น ในกรณีการแทรกแซงการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งปูทางให้กับประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ใน พ.ศ. 2016 และมีการสืบสวนพบว่าเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองทหารรัสเซียเป็นผู้ดำเนินการ รัสเซียกลับปฏิเสธความเกี่ยวข้อง และอ้างว่าแฮกเกอร์รัสเซียเป็นผู้กระทำการโดยปราศจากความเชื่อมโยงกับรัฐบาล จากเหตุการณ์นี้รัสเซียใช้โอกาสจากความกังวลของสหรัฐอเมริกาต่อการแทรกแซงการเลือกตั้ง เป็นข้อต่อรองแลกกับการที่สหรัฐอเมริกาจะไม่แทรกแซงกิจการภายในของตน และบรรลุข้อตกลงเพื่อลดปฏิบัติการไซเบอร์ระหว่างสหรัฐอเมริกา และรัสเซีย จะเห็นได้ว่าการบิดเบือนข้อเท็จจริงลักษณะนี้ ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอำนาจต่อรอง เพื่อสื่อสารข้อเรียกร้องและเพื่อบรรลุผลประโยชน์ที่รัฐบาลรัสเซียต้องการ 

โจทย์สำคัญยังเป็นเรื่องความรู้เท่าทันสื่อ

แม้แหล่งข้อมูลจากรัฐบาลอังกฤษ และนักวิชาการเหล่านี้จะเน้นไปที่การชวนทำความเข้าใจวิธีการบิดเบือนข้อมูลของรัสเซียอย่างเป็นระบบ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือความรู้เท่าทันสื่อในภาพรวม การเข้าใจแบบแผนการบิดเบือนข้อมูลรูปแบบอื่นๆ รวมไปถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเชื่อทุกครั้งจากแหล่งข้อมูลของทุกฝ่าย เพราะแหล่งข้อมูลใดก็อาจผิดพลาดในการนำเสนอข้อเท็จจริงได้ ทั้งโดยตั้งใจ (เรียกว่า Disinformation) และโดยไม่ตั้งใจ (Misinformation)

จากข้อมูลของ Ukraine Facts โครงการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใต้ความร่วมมือของสำนักข่าว 102 แห่งทั่วโลกพบว่าปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดจากข้อเท็จจริงแล้วกว่า 1801 ครั้ง นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนจนถึงปัจจุบัน (29 พ.ค. 65) โดยประเทศที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จเป็นจำนวนมาก เช่น อินเดีย (349) สเปน (330) สหรัฐอเมริกา (232) ยูเครน (222) โปแลนด์ (152) และเยอรมนี (121) ขณะที่สื่อหลายๆ ประเทศไม่ได้เข้าร่วมโครงการด้วยจึงไม่พบข้อมูล เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม 

เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ประชาไทเคยนำเสนอวิธีการรับมือกับการบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับการรุกรานยูเครน โดยสามารถเข้าถึงได้ที่นี่ ในยุคปัจจุบัน การเชื่อข้อมูลจากแหล่งข่าวใดแหล่งข่าวหนึ่ง (รวมถึงแหล่งข้อมูลของทางการด้วย) อาจไม่ใช่ทางออกเสมอไป ไม่ว่าข้อมูลจะมาจากแหล่งใด ผู้อ่านก็ควรตั้งสติและตรวจสอบก่อนทุกครั้ง เช่น ข้อมูลที่ได้รับมาเป็นวิดิโอเก่าที่มีเนื้อหาบิดเบือนหรือไม่ ข้อมูลสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้หรือไม่ แหล่งข้อมูลมีวาระของตนเองอย่างไร และข้อมูลก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางอารมณ์มากเกินไปจนอาจทำให้ลืมตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ เป็นต้น  

ที่มา
เพจ Ministry of Defence (โพสต์เมื่อ 25 May 2022)
Why The Kremlin Lies: Understanding Its Loose Relationship With the Truth (Chritopher Bort, Carnegie Endowment for International Peace, 6 January 2022)
เราควรรับมือกับ 'ข้อมูลที่ผิด' ในกรณีรัสเซียรุกรานยูเครนอย่างไร (ประชาไท, 23 มีนาคม 2565)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท