Skip to main content
sharethis

ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ร่อนจม.ถึง ผบ.ตร. สำเนาถึงปธ.กสม. และ OHCHR เรียกร้อง ผบ.ตร.ให้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดพฤติกรรมคุกคามผู้ชุมนุม หลังวานนี้ (28 พ.ค.) พบ ตร.ติดกล้อง Gopro พร้อมกล้องแอบถ่ายขนาดเล็ก รวมถึงกล้องติดเลนส์ซูมเจาะถ่ายรูปผู้ชุมนุม พร้อมยืนยันสิทธิในการชุมนุมอย่างสงบปราศจากอาวุธ ตาม รธน. ด้าน ผกก.สน.นางเลิ้งระบุจะปรับปรุงแก้ไข แต่ไม่รับปากว่าจะหยุดถ่ายรูปผู้ชุมนุม

29 พ.ค. 2565 องค์กร Protection International (PI) แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่าที่หน้าองค์การสหประชาชาติวันนี้  (29 พ.ค.) ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนได้ปักหลักชุมนุมเป็นวันที่ 7 โดยวันนี้ขบวนได้ยื่นจดหมายผ่าน พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์  ผู้กำกับ สน.นางเลิ้ง เพื่อนำไปให้ พ.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผ.บ.ตร. พร้อมทั้งได้ทำเสาเนาหนังสือถึง พรประไพ  กาญจนรินท์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ชินเทียร์  เวรีโอ  ตัวแทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ  เรียกร้องให้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และอำนวยความสะดวกให้มีการใช้พื้นที่ได้อย่างปลอดภัย ปราศจากการคุกคามใดๆ เพื่อให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและชุมนุมโดยสันติและปราศอาวุธตามรัฐธรรมนูญได้อย่างปลอดภัยตลอดการชุมนุม

ชูศรี โอฬาร์กิจ ตัวแทนขบวนฯ ได้อ่านจดหมายที่จะยื่นให้กับ ผ.บ.ตร. โดยมีใจความตอนหนึ่งระบุว่าจากการเจรจาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ข้อตกลงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้การรับรองว่าจะไม่มีการสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบไม่สามารถเข้ามาในบริเวณพื้นที่การชุมนุม และทางขบวนฯ ขอให้เจ้าหน้าที่ห้ามถ่ายรูปจากด้านนอกโดยการถ่ายมาทางพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมอยู่และ/หรือถ่ายภาพเจาะจงบุคคลที่มาร่วมชุมนุม รวมทั้งในช่วงที่ขบวนเสด็จผ่านไปเสร็จสิ้นแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาอำนวยความสะดวกโดยการยืนหันหน้ามาที่ผู้ชุมนุมให้ย้ายออกไปก่อน หากใกล้เวลาที่มีขบวนเสด็จกลับมาอีก ค่อยกลับมายืนอำนวยความสะดวกอีกครั้ง  

แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ หรือบุคคลที่นักปกป้องสิทธิฯ อาจจะเข้าใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ เพราะอยู่ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ ได้มีการถ่ายรูปจากด้านนอกโดยการหันกล้องเข้ามาในพื้นที่การชุมนุม รวมถึงการเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตั้งกล้องขนาดเล็กไว้ที่บริเวณหน้าอกจำนวนมาก ซึ่งเราไม่สามารถทราบได้เลยว่ามีการถ่ายรูปผู้ชุมนุมใครบ้าง หรือมีการบันทึกวิดีโอหรือไม่ หรือการที่เจ้าหน้าที่ใช้กล้องถ่ายรูปเลนส์ซูมขนาดใหญ่ อยู่ในป้อมจราจรใกล้กับบริเวณที่มีการชุมนุม แล้วถ่ายออกมา หรือการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแฝงตัวเข้ามาในพื้นที่ชุมนุมเพื่อสอบถามหาคนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการจะพบหรือติดตามตัว

โดยเฉพาะเมื่อวานนี้  (28 พ.ค. 2565) พบว่าเจ้าหน้าที่มีการถ่ายรูปประชาชนที่มาชุมนุมโดยตลอด และมีการติดตั้งกล้องโกโปร (Go Pro) หลายตัวในบริเวณที่มีการชุมนุม ซึ่งทำให้นักปกป้องสิทธิฯ และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมรู้สึกไม่ปลอดภัยและถูกเจ้าหน้าที่ละเมิดสวัสดิภาพ ความเป็นส่วนตัวและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถูกคุกคามและเป็นการถูกเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะประชาชนไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเจ้าหน้าที่ถ่ายรูปไปทำไมและจะใช้ในการฟ้องร้องคดีเพื่อกลั่นแกล้งคุกคามประชาชนหรือไม่ ตัวแทนขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนจึงมีข้อเรียกร้องให้ท่านในฐานะผู้บังคับบัญชาดำเนินการดังต่อไปนี้

1.  เราขอยืนยันว่าการชุมนุมคือสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ  การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องอำนวยความสะดวกให้มีการใช้พื้นที่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและปราศจากการคุกคามใดๆ ตำรวจที่ทำหน้าที่โดยงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนต้องปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนผู้ชุมนุมเป็นสำคัญ  และป้องกันมิให้ประชาชนตกเป็นเป้าหมายการถูกคุกคาม การใช้ความรุนแรง ถูกจับกุมคุมขัง หรือถูกตั้งข้อหาต่อการที่ประชาชนใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมและแสดงออกโดยสันติ

ขอให้ท่านสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนายทั้งในและนอกเครื่องแบบ รวมถึงสายที่ทำงานให้ตำรวจยุติการถ่ายรูปเจาะผู้ชุมนุม ยุติการติดตั้งกล้องโกโปร ยุติการติดกล้องที่บริเวณหน้าอกและหันหน้ามาทางผู้ชุมนุม ถอนกำลังไม่ประชิดพื้นที่ชุมนุมในช่วงเวลาที่ไม่มีขบวนเสด็จ รวมถึงพฤติการณ์อื่นๆ ที่ทำให้ผู้ชุมนุมไม่ปลอดภัยและถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กรณีที่เจ้าหน้าที่จะการถ่ายภาพรวมๆ ของการชุมนุม เพื่อให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น ให้เห็นบรรยากาศการชุมนุม เจ้าหน้าที่ควรถ่ายภาพมุมกว้างๆ ซึ่งอาจเห็นหน้าคนบ้าง เป็นภาพบุคคลตัวเล็กๆ ภาพจากไกลๆ เป็นมุมจากด้านหลังของผู้ชุมนุม
 
2. วันนี้เป็นวันที่ 7 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถหาคำตอบมาให้ได้ตามข้อตกลง  จึงขอให้ท่านเร่งประสานงานและดำเนินการติดตามว่าในการประชุมของคณะรัฐมนตรีได้มีวาระเรื่องเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. .... เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565  หรือไม่ ที่สำคัญคือขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตาม"หลักสากล" และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ต่อการชุมนุมของประชาชน ขอให้ท่านมีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในลักษณะกีดขวางคุกคามการชุมนุมของประชาชนทุกรูปแบบ และให้ปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและเสรีภาพของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องอำนวยความสะดวกให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาชนในขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มให้สามารถใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมได้อย่างปลอดภัย และต้องไม่มีการปิดกั้นหรือขัดขวางเสรีภาพในการเคลื่อนไหวของขบวนฯ ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 นี้  
 
โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในการชุมนุมเพื่อยืนยันสิทธิเรียกร้องในครั้งนี้ จะไม่มีการดำเนินคดีๆใดกับนักปกป้องสิทธิฯและประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มและสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติวิธีและปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

นายสมบูรณ์ คำแหง  ตัวแทนขบวนฯกล่าวว่า เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้กำกับสน.นางเลิ้งจะเป็นสื่อกลางยื่นหนังสือให้กับเรา ตนคิดว่าวันนี้การอยู่ร่วมกันในพื้นที่จะเป็นไปตามข้อตกลง และเรื่องของข้อเรียกร้องเรื่องการเคลื่อนขบวนของพวกเรา เราก็คิดว่าเราจะได้รับสิทธินั้นโดยชอบและคงไม่มีสิ่งกีดขวางระหว่างทางที่เราเดินไป รวมถึงเรื่องของตำรวจที่จะเป็นสื่อกลางที่จะติดตามกับทางฝ่ายการเมืองให้กับเราในการบรรจุเป็นวาระครม.หรือไม่ในวันพรุ่งนี้

ขณะที่ พ.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวภายหลังจากรับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ในส่วนของการชุมนุมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 กำหนดเอาไว้ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ บุคคลจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมไม่ได้เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างอื่นโดยเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ และเกี่ยวข้องกับความคุ้มครองของประชาชนสาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยดังนั้นการชุมนุมโดยสงบของประชาชนในขณะนี้จึงสามารถทำได้ แต่ตอนนี้มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ดังนั้นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค และการรวมตัวกันในลักษณะแออัดและจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคจึงจะทำไม่ได้ การเคลื่อนขบวนเราก็จะมีชุดเจรจามาประสาน มาหารือกับทางแกนนำเพื่อกำหนดแนวทางในการเคลื่อนขบวนเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยสร้างความกระทบให้กับประชาชนน้อยที่สุด แสดงออกได้แต่ต้องไม่กระทบกับประชาชนทั่วไป  ในส่วนของทางแกนนำที่ต้องการให้เราประสานกับทางการเมืองเสนอข้อเรียกร้องของทางกลุ่มให้เข้าสู่วาระการประชุมตำรวจก็นำเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

ส่วนเรื่องการถ่ายรูปที่กลุ่มผู้ชุมนุมกังวลเราก็จะนำเรื่องไปปรับปรุงแก้ไข เราติดกล้องและถ่ายภาพตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ไม่ได้ต้องการที่จะทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือรู้สึกอึดอัด ซึ่งในการชุมนุมก็จะมีกลุ่มบุคคลที่จะแฝงตัวเข้ามาเพื่อทำให้เกิดความไม่สงบ หรือก่อเหตุให้เกิดสถานการณ์บานปลาย ซึ่งสิ่งไหนที่ทำให้พี่น้องไม่รู้สึกไม่สบายใจตนก็นำเรียนผู้บังคับบัญชาเพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ประชาชนสบายใจ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยอยู่ร่วมกันได้และไม่ให้เกิดความวุ่นวาย

ครป. ออกแถลงการณ์ สามัคคีประชาชน หยุดกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน

29 พ.ค. 2565 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์สามัคคีประชาชน หยุดกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ขอรัฐบาลยุติและยกเลิกร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. โดยระบุว่าสืบเนื่องจากการที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผลักดันร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน เพื่อรอนสิทธิ์ของประชาชนในการชุมนุม รวมกลุ่ม สมาคม ชมรม มูลนิธิ หรือองค์การต่างๆ เพื่อเข้าควบคุม จำกัด แบ่งแยกและปกครอง เพื่อยึดอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ตามแนวทางอำนาจนิยม โดยไม่ฟังเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง และต้องการทำลายสิทธิเสรีภาพของพลเมือง โดยไม่สนใจว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแทบทุกฉบับ และขัดกับกติการะหว่างประเทศด้านต่างๆ ที่ไทยมีพันธกรณีอยู่แต่อย่างใด แม้จะมีเสียงคัดค้านจากประชาชนไทยและประชาคมโลกอย่างกว้างขวาง

ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนในนาม “ขบวนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน” จัดการชุมนุมทางการมืองหน้าสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมของเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (Un-ESCAP) ประเทศไทย โดยมีข้อเรียกร้องรัฐบาลยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบในหลักการต่อร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. ที่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และยุติการเสนอกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จึงขอแถลงการณ์เรียกร้องมายังรัฐบาล ดังต่อไปนี้

1.ขอเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี ยุติและยกเลิกร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. และกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับในทันที โดยทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับประชาชน

2.ขอเรียกร้องให้รัฐบาล ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548  ยุติการใช้กฎหมายพิเศษดังกล่าวควบคุมและตั้งข้อหาทางการเมืองแก่ประชาชน เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวไม่ได้แก้ไขปัญหาโควิดระบาด และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่กำลังดำเนินการให้โรคโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นในเดือนมิถุนายน 2565 นี้

3.ขอสนับสนุนการชุมนุมของประชาชนเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ขอให้ทุกเครือข่ายภาคประชาชนและพี่น้องทุกสาขาอาชีพ ร่วมกันสามัคคีประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการผลักดันกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับโดยทันที และร่วมกันต่อต้านรัฐบาลอำนาจนิยมที่ต้องการผูกขาดอำนาจ รอนสิทธิ์ประชาชน เพื่อต้องการรวบอำนาจไว้ที่รัฐบาลแต่เพียงผู้เดียว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net