Skip to main content
sharethis

เลขาธิการคณะก้าวหน้า ยกปัญหาเสาไฟปฏิมากรรมส่องสว่าง ไร้หน่วยงานรับผิดชอบ ปชช.รวมตัวทวงถาม แก้อย่างยั่งยืนได้ด้วยปลดล็อกท้องถิ่น - เผยทางแก้ 5 ล็อก เชื่อถ้าทำได้ประเทศไทยระเบิดศักยภาพ - พลังทางเศรษฐกิจได้มหาศาล

30 พ.ค.2565 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานต่อสื่อมวลชนว่า ที่ จ.นครศรีธรรมราช ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมเวที "คนคอนจะได้อะไร? ปลดล็อกท้องถิ่น - ยุติรัฐราชการรวมศูนย์"  โดย เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า เดินทางมาเยือนเมืองคอนพร้อมกับได้ทราบข่าวที่เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับเรื่องการกระจายอำนาจ เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการปลดล็อกท้องถิ่น นั่นคือกรณีที่มีนักวิ่งออกมารวมตัวกันวิ่งคบเพลิงที่ถนนเส้นหนึ่งที่จะเข้าสู่สวนสาธารณะ ที่ปรากฏว่ามีปัญหาไฟดับ ถนนมืดนานหลายเดือนแต่ไม่มีหน่วยงานใดมาแก้ไข ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นผู้สร้างถนนก็อ้างว่ามีหน้าที่แค่สร้างและเสร็จไปแล้ว, เทศบาลนครนครศรีธรรมราช บอกว่าไม่ได้อยู่ในขอบเขตอำนาจ ขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บอกว่าอยากจัดการแต่ยังไม่มีการโอนและต้องตั้งงบประมาณมาด้วย เป็นต้น ต่างโยนกันไปมา ขณะที่ประชาชนที่เดือดร้อนไม่รู้หรอกว่าใครรับผิดชอบ พวกเขาเสียภาษี แต่กลับไม่เข้าใจว่าทำไมไม่มีหน่วยงานรัฐมาแก้ไข ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น เชื่อว่ายังมีอีกหลายๆ แห่งในเมืองคอนที่มีปัญหาลักษณะเดียวกัน และเมื่อประชาชนพึ่งหน่วยงานรัฐไหนไม่ได้ก็ต้องไปหา นักการเมือง อย่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งไม่ได้มีงบฯ บริหาร แต่ก็ต้องมาช่วยเพราะไม่อย่างนั้นเลือกตั้งครั้งหน้าก็เกรงจะไม่ได้ จึงเกิดภาพว่าถ้าเป็นพวกเดียวกันกับรัฐบาลก็ไปขอรัฐมนตรี ขอกระทรวงทบวงกรมต่างๆ มาช่วย แต่ถ้าเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ก็ทำได้แค่ปรึกษาหารือ 2 นาที ในสภาผู้แทนราษฎร ถามว่าทำไมปัญหาเส้นผมบังภูเขาแบบนี้แก้ไม่ได้ ติดปัญหาระบบราชการ ติดระเบียบที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเต็มไปหมด ทั้งนี้ ตนเชื่อว่านักการเมือง ข้าราชการก็คงอยากแก้ปัญหาให้ แต่เมื่อระบบเป็นแบบนี้ ก็ทำไม่ได้ จึงเป็นที่มาที่เราเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองท้องถิ่น ภายใต้แคมเปญปลดล็อกท้องถิ่น

ปิยบุตร กล่าวด้วยว่า การกระจายอำนาจมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง กระทั่งได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ 2540 และต่อมาก็มี พ.ร.บ. แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ 2542 ที่กำหนดเรื่องการโอนภารกิจต่างๆ ให้ท้องถิ่น กำหนดเรื่องการแบ่งรายได้ให้มากขึ้น แต่สุดท้ายเมื่อเจอรัฐประหาร 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 ปรากฏว่าทุกอย่างสะดุดหมด อำนาจถูกดึงกลับสู่ส่วนกลางเข้มข้นขึ้น ทำให้ตลอด 30 ปี การกระจายอำนาจที่เราอยากเห็นไม่ไปถึงไหน นี่จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ขอคนละชื่อจากพี่น้องบุคคลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50,000 รายชื่อขึ้นไป เพื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะไปปลด 5 ล็อกสำคัญ คือ ล็อกที่ 1.อำนาจหน้าที่ ซึ่งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แม้มาจากการเลือกตั้งแต่ไม่มีอำนาจหน้าที่ จะทำอะไรต้องไปเปิดกฎหมาย ถ้าไม่ได้ระบุไว้ก็ไม่สามารถทำได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องเปลี่ยน โดยเขียนใหม่ให้ อปท.มีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะระดับพื้นที่ทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องที่ยกเว้นไว้เช่น ความมั่นคง ระบบเงินตรา การต่างประเทศ, 2.อำนาจส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นซ้ำซ้อนกัน และบางครั้งก็เกี่ยงกัน เกิดการโยนกันไปกันมา ทั้งนี้ ต้องแก้ให้ท้องถิ่นมีอำนาจก่อน เว้นแต่ถ้าท้องถิ่นไม่มีศักยภาพก็สามารถร้องขอให้ส่วนกลางมาช่วยได้

"3.งบประมาณ สัดส่วนรายได้ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่นต้องเปลี่ยนเป็นร้อยละ 50 ต่อ 50 เพื่อทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีความอิสระเป็นของตัวเอง รวมถึงเปิดช่องให้ท้องถิ่นสามารถหารายได้ตัวใหม่ๆ ได้ เช่น ออกพันธบัตร กู้เงิน ตกลงความร่วมมือกับเอกชน เป็นต้น, 4.รัฐส่วนกลางทำหน้าที่เพียงกำกับดูแล ไม่ใช่บังคับบัญชา เพราะที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นจะสั่งการผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งข้อเสนอของเราคือ การกำกับดูแลจริงๆ นั้นต้องมีเงื่อนไขชัดเจน และให้การกำกับดูแลเกิดขึ้นได้หลังจากที่ท้องถิ่นตัดสินใจแล้ว เป็นการตรวจสอบทีหลัง ไม่มีสิทธิ์สั่งระงับ ถ้าผู้ว่าฯ เห็นว่าท้องถิ่นทำไม่ถูกต้องให้ไปฟ้องศาลปกครองเอาเอง และ 5.ทำอย่างไรไม่ให้การกระจายอำนาจเป็นการกระจายระบบราชการ แต่ต้องสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการจัดการบ้านของตัวเอง ดังนั้น ข้อเสนอคือการสร้างการมีส่วนร่วมพลเมืองมากยิ่งขึ้น เช่น งบฯ ที่ท้องถิ่นได้รับ ส่วนหนึ่งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เพื่อเกิดโครงการที่ตอบโจทย์ชีวิตประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากจากนี้ บรรดาสัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ต้องเปิดเผย ทำให้ประชาชนเข้าถึงด้วย การประชุมสภาท้องถิ่นต้องมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนได้รับรู้ด้วย" ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าสามารถปลดล็อกเหล่านี้ได้ ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง ใน 4 เรื่องต่อไปนี้ คือ 1. เปลี่ยนให้รัฐบาล กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ไปจัดทำเรื่องใหญ่ๆ เช่น แผนการลงทุนระดับประเทศ แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ โครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมทั้งประเทศ ฯลฯ ไม่ต้องเสียเวลาทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในแต่ละพื้นที่่, 2.เปลี่ยนเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น เพราะเมื่อเอางบฯ มาไว้ท้องถิ่นมากขึ้น ซึ่งมีพื้นที่เล็กลงแล้ว ประชาชนจะเข้าถึงง่าย รู้สึกมีความเป็นเจ้าของ การตรวจสอบคอรัปชั่นจะง่ายขึ้น ดังเช่นที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในประเทศอินโดนีเซีย, 3.เปลี่ยนเศรษฐกิจขนานใหญ่ พลังทางเศรษฐกิจที่อยู่ทุกท้องถิ่นซึ่งถูกโครงสร้างรัฐรวมศูนย์กดทับอยู่จะเปิดออก ระเบิดศักยภาพทางเศรษฐกิจทุกที่ทั่วประเทศ ยกระดับประเทศไทยได้ และ 4.การเมืองเครือข่ายอุปถัมภ์จะหมดไป เพราะที่ผ่านมาประชาชนจะไปขอความช่วยเหลือ ส.ส.ที่ไม่มีงบฯ บริหาร ทำให้ ส.ส.ต้องไปวิ่งหาเครือข่ายให้ช่วยเหลือ แต่ถ้ากระจายอำนาจเต็มรูปแบบแล้ว ใครอยากช่วยเหลือประชาชนก็ไปลงสมัครนายกฯ ท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งงบฯ มีทั้งความเป็นอิสระ มีทั้งอำนาจที่กฎหมายมอบให้เต็มที่ สามารถช่วยประชาชนได้เต็มที่ และในแง่นี้ก็ไม่เป็นบุญคุณต่อกันด้วย พราะเป็นเรื่องสิทธิและหน้าที่ และนอกจากนี้เงินที่ใช้ก็มาจากภาษีของประชาชน ขณะที่ ส.ส.ไปทำงานการเมืองระดับชาติ ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเต็มที่ อย่างนี้ก็จะทำให้การเมืองเชิงเครือข่ายระบบอุปถัมภ์หมดไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net