Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมได้ฟังการเสวนาวิชาการเมื่อเร็วๆ นี้ (https://www.facebook.com/Polgov.Talk/videos/389240886468523) อาจารร์นิธิ เอียวศรีวงศ์ตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า สังคมอะไร หมายถึงสังคมไทยเป็นสังคมแบบไหนกันถึงอนุญาตให้แก๊งที่ครองอำนาจรัฐอยู่ทุกวันนี้อยู่มาได้ถึง 8 ปี 9 ปี วงเสวนาไม่ได้ตอบประเด็นนี้

ผมอยากจะลองตอบคำถามว่า สังคมแบบไหนกันที่อนุญาตให้แก๊งที่ใช้อำนาจแบบที่ว่าดำรงอยู่ได้ยาวนาน พอดีตอนนี้กำลังเกิดดราม่า “ด้อยค่าการอดอาหารประท้วง” ของ “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ทำนองว่าเป็นแค่ diet หรือควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักมากกว่า ซึ่งเป็นการลวงสังคม เป็นการมุ่งบรรลุเป้าหมายโดยไม่เลือกวิธีการ ทำนองนั้น

ถ้าเป็นการโจมตีของฝ่ายสนับสนุนเผด็จการก็ว่าไปอย่าง แต่คนที่เรียกตนว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” โจมตีกันแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด ทำให้นึกถึงคำถามว่าสังคมแบบไหนกันที่อนุญาตให้แก๊งเผด็จการอยู่ในอำนาจได้ยาวนานขนาดนี้

ผมนึกถึงข้อสังเกตนานมาแล้วของไมเคิล ไรทที่ว่า ถ้าเราจะเข้าใจ “ความคิดพื้นฐาน” ของสังคมยุโรปก็ต้องเข้าใจความคิดพื้นฐานแบบคริสต์ที่ปะทะขัดแย้งและประนีประนอมกับปรัชญา และวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกัน หากจะเข้าใจความคิดพื้นฐานของสังคมไทย ก็ต้องเข้าใจความคิดพื้นฐานแบบพุทธเถรวาทไทยที่ปะทะขัดแย้ง และประนีประนอมกับความรู้ ความคิดแบบตะวันตก เช่น วิทยาศาสตร์ เสรีนิม มาร์กซิสต์ เป็นต้นที่เข้ามาแต่ยุคอาณานิคม และมีพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ความคิดพื้นฐานของชนชั้นนำ พูดรวมๆ ว่าฝ่ายกษัตริย์นิยม หรือฝ่ายขวานั้น ชัดเจนว่าหากไล่มาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และปัญญาชนชั้นนำยุคนั้น พวกเขาคือผู้นำในการปรับประยุกต์ภูมิปัญญาพุทธเถรวาทไทยในสถานการณ์เผชิญหน้ากับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความคิดเรื่องเสรีภาพ และการเมืองการปกปครองแบบตะวันตก

ความต่าง คือ การปะทะระหว่างศาสนาคริสต์กับปรัชญา และวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดการปฏิรูปศาสนา ส่งผลให้เกิดการยืนยันว่าสถานะทางศีลธรรมของ “นักบวช” กับ “ฆราวาส” เท่าเทียมกัน เกิดการแยกระหว่าง “ศรัทธา” (faith) กับ “เหตุผล” (reason) ที่เป็นรากฐานของการแยกระหว่าง “ทางศาสนา” (religious) กับ “ทางโลก” (secular) ทำให้อำนาจของนักบวช ศาสนจักร และอำนาจทางการเมืองในนามศาสนา เช่นอำนาจเทวสิทธิ์ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสื่อมลง แทนที่ด้วยอำนาจอธิปไตยของประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระเบียบการเมืองการปกครองแบบทางโลก (secular democracy) ที่ไม่ได้อิงศรัทธาแบบศาสนา แต่อิงความเป็นเหตุเป็นผล และความเป็นวิทยาศาสตร์ และอิงหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นคุณค่าทางศีลธรรมและการเมืองแบบทางโลก ไม่ใช่คุณค่าทางศีลธรรมและการเมืองแบบศาสนาที่ขัดกับคุณค่าทางโลกดังกล่าว

ในที่สุดคริสต์ศาสนาก็ต้องปฏิรูปตัวเอง ปรับตัวเคารพคุณค่าทางโลก มีการแยกศาสนาจากรัฐ ทำให้ศาสนาอยู่ภายใต้ระเบียบทางสังคมการเมืองแบบทางโลก พูดง่ายๆ คือ “ทางโลก” มีอำนาจเหนือ “ทางศาสนา” ในเชิงอุดมการณ์และโครงสร้างทางการเมือง รวมทั้งระเบียบทางสังคมโดยรวม ศาสนาเป็นความเชื่อส่วนบุคคลหรือชุมชนผู้ศรัทธา มากกว่าที่จะมีอำนาจควบคุมสังคมการเมืองแบบที่เคยมีมาในยุคกลาง

แต่ชนชั้นนำไทยทำให้พุทธเถรวาทปรับตัวในสถานการณ์ท้าทายกับความรู้ และความคิดสมัยใหม่แบบตะวันตกต่างออกไป ด้วยการก่อตั้งศาสนจักรของรัฐ กษัตริย์กระชับอำนาจควบคุมศาสนจักรของรัฐหรือการปกครองคณะสงฆ์มากขึ้น มีการแยก “ทางธรรม” กับ “ทางโลก” และถือว่าทางธรรมสูงส่งเหนือทางโลก ผลที่ตามมาคือ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ศาสตร์สมัยใหม่อื่นๆ และคุณค่าทางโลกแบบตะวันตก เช่น เสรีนิยม มาร์กซิสต์ ระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ฯลฯ ล้วนเป็นเรื่องของ “ทางโลก” ที่ต่ำกว่า “ทางธรรม” หรือทางพุทธศาสนา

แน่นอนว่า “ผู้ทรงธรรม” ก็คือนักบวช คณะสงฆ์ และกษัตริย์ ดังนั้น สถานะทางศีลธรรมของนักบวชจึงสูงส่งเหนือกว่าฆราวาส ส่วนสถานะกษัตริย์นอกจากเป็นผู้ทรงธรรมทางการเมืองการปกครองแล้ว ยังเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภกที่ยังความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองมาสู่พุทธศาสนา และเป็นผู้นำชาติบ้านเมืองสู่ความมั่นคงสถาพร และเมื่อศาสนาถูกทำให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกับสถาบันกษัตริย์และสถาบันชาติภายใต้คำขวัญ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ก็ทำให้พุทธศาสนากลายเป็น “พุทธราชาชาตินิยม” คือ พุทธศาสนาแบบที่สนับสนุนอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีราชาเป็นอำนาจนำทางการเมือง เป็นหลักความมั่นคงของชาติ และศาสนาตามนิยามของชนชั้นนำไทย

แต่ช่วงปลายยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อุดมการณ์พุทธราชาตินิยมไม่น่าจะมีผลต่อความคิด ความเชื่อของสังคมโดยรวมมากนัก จึงทำให้อิทธิพลความคิดสมัยใหม่แบบตะวันตกนำมาสู่การปฏิวัติสยาม 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองถึงยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม อุดมการณ์ดังกล่าวก็ยังไม่มีพลังมาก พลังอุดมการณ์พุทธราชาชาตินิยมเริ่มฟื้นตัวขึ้นในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เริ่มเชิดชูบทบาทของสถาบันกษัตริย์ และนำการปกครองคณะสงฆ์แบบเผด็จการระบบมหาเถรสมาคมกลับมาใช้ ในสมัยรุ่งเรืองของรัชกาลกาลที่ 9 ความคิดพื้นฐานเรื่อง “ทางธรรม” เหนือ “ทางโลก” ค่อยๆ พัฒนาขึ้นผ่านวาทกรรมการเมือง “ธรรมาธิปไตยกำกับประชาธิปไตย” และ “เผด็จการโดยธรรม” หรือ “เผด็จการโดยคนดีมีคุณธรรม” ซึ่งสอดรับกับพระบรมราโชวาทเรื่อง “ควรให้คนดีเป็นผู้ปกครองบ้านเมือง” เกิดกระแสการอ้างปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และการทรงงานหนักเพื่อพสกนิกรมาเปรียบเทียบกับนักการเมืองที่ขาดธรรมะ ศีลธรรม มากด้วยการทุจริตคอร์รัปชันเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง จนนำมาสู่ปรากฏการณ์ พธม.-กปปส. อย่างที่ทราบกันดี

โดยสรุปคือ ความคิดพื้นฐานเรื่องทางธรรมเหนือทางโลก ทำให้สถานะความเป็นศาสนาของสถาบันกษัตริย์ที่ทรงธรรม เป็นสถานะที่สูงส่งและศักดิ์สิทธิ์เหนือกว่า “คุณค่าทางการเมือง” (political values) แบบทางโลก คือคุณค่าของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และระเบียบการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตย และเนื่องจากสถานะของกษัตริย์แยกไม่ออกหรือเป็นเนื้อเดียวกับพุทธศาสนา จึงทำให้ศาสนจักร และนักบวชมีอภิสิทธิ์เหนือลักการประชาธิปไตยแบบโลกวิสัยด้วย

การรัฐประหารที่ผ่านมาโดยภาพรวม มีการเพิ่มพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญ เพิ่มอัตราโทษของ ม. 112 มากขึ้น เพิ่มพระราชอำนาจในกฎหมายปกครองคณะสงฆ์มากขึ้น ขณะที่พุทธศาสนาก็ถูกยกให้มีสถานะพิเศษในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่นๆ มากขึ้นโดยลำดับเช่นกัน ซึ่งล้วนแต่สวนทางกับพัฒนาการประชาธิปไตย และความเป็นสังคมโลกวิสัย

สภาวการณ์โดยรวมดังกล่าว ทำให้เกิดความคิดพื้นฐานทางศีลธรรมของสังคมไทยในแบบที่ “แปลกแยก” จากคุณค่าทางการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่น มีความเชื่ออัตโนมัติในระดับปัจเจกบุคคล เมื่อเผชิญกับความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมของรัฐและอำนาจทุน ก็จะบอกอย่างเป็นอัตโนมัติว่า “กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” เมื่อเผชิญกับความอยุติธรรมในทางการเมืองก็จะบอกว่า “กฎแห่งกรรมยุติธรรมเสมอ” ซึ่งสะท้อนทัศคติแบยอมจำนนต่อปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคล และสิทธิทางการเมือง

ความคิดพื้นฐานทางศีลธรรมที่ชัดเจนอีกอย่างคือ ความคิดที่ว่า การกระทำในนามความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา กษัตริย์ คือ “ความถูกต้องแบบสัมบูรณ์” (absolute) หรือเป็นความถูกต้องที่ไม่อาจโต้แย้งได้ ทำให้เผด็จการทหารอ้างความจงรักภักดีทำรัฐประหารได้โดยชอบธรรม เกิดมวลชนในนามความจงรักภักดีสร้างเงื่อนไขไปสู่รัฐประหารได้เสมอ กระทั่งเกิดกลุ่มล่าแม่มดในนามความจงรักภักดีที่ไล่ล่าแจ้งข้อหา 112 กระทั่งใช้ศาลเตี้ย ใช้วิธีการรุนแรงต่อคนที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีหรือล้มเจ้า

ส่วนประชาชนที่ใช้เสรีภาพตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ ก็จะถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี ซึ่งเป็นทั้งความผิดทางศีลธรรม คือ “ผิดบาป” เป็นตราบาปติดตัวคนคนนั้น ตราบาปของครอบครัว กระทั่งต้นสังกัดหรือที่ทำงานไม่ยอมรับ และมีความผิดทางกฎหมายที่มีอัตราโทษสูงมาก และไม่ได้สิทธิประกันตัวที่ต้องได้ ซึ่งขัดหลักนิติรัฐในระบอบประชาธิปไตย

ความคิดพื้นฐานทางศีลธรรมที่ถือว่าการกระทำในนามความจงรักภักดีเป็นความถูกต้องอย่างสัมบูรณ์ดังกล่าว อาจฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของบรรดานักบวช ประชาชนโดยทั่วไป แม้กระทั่งผู้ที่นิยามตนเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” ดังนั้น ทัศนะที่ด้อยค่าการอดอาหารประท้วงจึงแสดงออกเสมือนดำเนินไป “อย่างอัตโนมัติ” ซึ่งการแสดงออกทำนองนี้ก็มีมานานมากแล้ว เช่น ป.อ. ปยุตฺโต ด้อยค่าการอดอาหารประท้วงเผด็จการในเหตุการณ์พฤษภา 2535 (ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่) ดังที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “มองให้ลึกนึกให้ไกล: ข้อคิดจากเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535 หน้า 16 ตอนหนึ่งว่า

“... การอดอาหารบางทีก็ใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกัน กลายเป็นอุบาย ตลอดจนเป็นวิธีการต่อสู้ คือมันอยู่ที่เจตนาด้วยว่ามุ่งอะไรแน่ หมายความว่า แม้แต่ตัวเจตนาเองก็ต้องมีการวิเคราะห์ว่า เป็นการสละชีวิตเพื่อรักษาธรรมโดยตรง หรือว่าเป็นเครื่องมือต่อรองเท่านั้น... เพราะถ้ากรณีที่ใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกัน ไม่ใช่มีเจตนาที่จะสละชีวิตแท้ๆ เพื่อเห็นแก่ธรรม ก็กลายเป็นอุบายไป...”

ความคิดข้างบนด้อยค่าการอดอาหารประท้วงอย่างยิ่ง เพราะการอดอาหารประท้วงใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองกันทั่วไปอยู่แล้ว มหาตมะ คานธีไม่ได้อดอาหารประท้วงเพื่อให้ตัวเองตายเพื่อธรรมะจริงๆ แต่ใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับอำนาจที่เหนือกว่า ต้องการฟ้องชาวโลก ประชาชนมือเปล่าไม่มีปืน ไม่มีกองกำลังจะต่อกรกับอำนาจเผด็จการ พวกเขาก็ใช้การอดอาหารประท้วงต่อรองกับอำนาจปืน อำนาจเผด็จการ กระบวนการอยุติธรรม ที่สำคัญเป็นการฟ้องเพื่อนร่วมสังคมและชาวโลกให้หันมามอง และตระหนักร่วมกันว่า เผด็จการ ความอยุติธรรม เป็นปัญหาของทุกคน

แต่ในเหตุการณ์เดียวกัน กรณีวาทกรรม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ของพลเอกสุจินดา คราประยูร ป.อ. ปยุตฺโต กลับอธิบายเชิงแก้ต่างว่า หากไม่ได้ตั้งใจโกหกแต่แรก แล้วมาเปลี่ยนใจภายหลังเพื่อเห็นแก่บ้านเมือง ก็ถือว่าผิดศีล แต่ไม่ผิดธรรม หรือผิดน้อยกว่าถูก อาจเรียกได้ว่ายอมเสียสละตนเองเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม

เห็นได้ชัดว่า ทัศนะทางศีลธรรมแบบนี้ คือทัศนะที่เน้นการตรวจสอบจริยธรรมของประชาชนมือเปล่า แต่ละเว้นที่จะตั้งคำถาม วิจารณ์ และตรวจสอบเผด็จการ กระทั่งมีท่าทีแบบสยบยอม และแก้ต่างให้เผด็จการอีกต่างหาก นี่คือความคิดพื้นฐานทางศีลธรรมแบบพุทธเถรวาทไทยที่รองระบประเพณีการอ้างธรรมะ ศีลธรรมอวยชนชั้นปกครอง สถาบันกษัตริย์ และอ้างธรรมะ ศีลธรรมตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบนักการเมือง และประชาชนทั่วไป

ทัศนะทางศีลธรรมแบบอวยอำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ สยบยอม และแก้ต่างให้อำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้ ทุกวันนี้ยังเห็นได้ทั่วไปในโลกเสมือนและโลกจริง มันคือความคิดความเชื่อพื้นฐานทางศีลธรรมของสังคมไทยที่ปลูกฝังผ่านนักบวช สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน ระบบราชการ กองทัพ กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ทัศนะแบบนี้เองที่ทำให้เรา (นักวิชาการ สื่อ นักการเมือง พรรคการเมือง กองเชียร์พรรคการเมือง ฯลฯ) มีแนวโน้มสยบยอม ไม่ตรวจสอบชนชั้นปกครอง สถาบันกษัตริย์ แต่มุ่งตรวจสอบจับผิดคนธรรมดาด้วยกันเอง และทะเลาะขัดแย้งกันเอง จนกลายเป็น “ใบอนุญาต” ให้แก๊งเผด็จการยึดอำนาจรัฐ และครองอำนาจได้ยาวนาน

 


ที่มาภาพ: ศาลให้ประกันตัว 'ตะวัน' 1 เดือน พร้อมเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้ง 'พิธา' เป็นผู้ดูแล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net