Skip to main content
sharethis

รองเลขาธิการของนาโตถือว่ารัสเซียได้ละเมิดข้อตกลงที่นาโตกับรัสเซียทำร่วมกันไว้เมื่อ 25 ปีที่แล้วจากการเข้ารุกรานยูเครน ทำให้นาโตเองก็ไม่ต้องอยู่ภายใต้ข้อผูกมัดของข้อตกลงนี้อีกต่อไป และประกาศว่าจะช่วยเสริมกำลังให้กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออกมากขึ้น

การซ้อมรบร่วมระหว่าง NATO และประเทศพันธมิตร "Cold Response 2022" ระหว่างวันที่ 18 มี.ค.-2 เม.ย.2565 ที่ประเทศนอร์เวย์ ภาพจากวิดีโอของ Puolustusvoimat - Försvarsmakten - The Finnish Defence Forces

เมีร์ยช่า จีออนน่า รองเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือ นาโต เปิดเผยต่อสื่อว่าข้อตกลงนาโต-รัสเซียที่ทำไว้เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ไม่มีผลผูกมัดต่อนาโตอีกต่อไปแล้ว เพราะรัสเซียได้ละเมิดข้อตกลงโดยการรุกรานยูเครน เรื่องนี้จะเปิดทางอนุญาตให้นาโตสามารถวางกองกำลังเพื่อช่วยคุ้มกันประเทศยุโรปตะวันออกจากการรุกรานของรัสเซียได้

ข้อตกลงที่นาโตทำกับรัสเซียไว้เมื่อปี 2540 ระบุว่า นาโตจะต้องไม่ทำการวางกำลังแบบถาวรในภูมิภาคยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง รวมถึงในกลุ่มรัฐคาบสมุทรบอลติกซึ่งประกอบด้วย เอสโตเนีย, ลัตเวีย และลิทัวเนีย

อย่างไรก็ตามข้อตกลงดังกล่าวยังมีเงื่อนไขที่รัสเซียต้องทำตามคือละเว้นการกระทำเชิงรุกรานทางการทหารต่อประเทศใกล้เคียง ซึ่งจีออนน่าบอกว่ารัสเซียไม่ยอมทำตามข้อตกลงนี้ ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเองไม่ต้องถูกผูกมัดให้ต้องทำตามสัญญาเรื่องข้อห้ามการขยายกองกำลังในยุโรปตะวันออกอีกต่อไป

จีออนน่ากล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2565 ในขณะที่เขาไปเยือนกรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย บอกว่ารัสเซียเป็นฝ่ายที่ทำให้เนื้อหาของข้อตกลงที่เรียกว่า Founding Act หมดความหมายเอง "พวกเขาได้ตัดสินใจแล้ว พวกเขาเคยผูกพันธกรณีที่จะไม่ก่อเหตุรุกรานต่อประเทศใกล้เคียงของตัวเอง แต่พวกเขาก็ทำ แล้วก็มีข้อผูกมัดที่พวกเขาจะต้องทำการปรึกษาหารือร่วมกับนาโตอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งพวกเขาไม่ทำ" จีออนน่ากล่าว

จีออนน่าบอกว่าในเมื่อรัสเซียเป็นผู้ถอนตัวออกจากพันธกรณีของสัญญาปี 2540 เองแล้ว ทำให้นาโต "ไม่ต้องมีข้อจำกัดอีกต่อไปในการที่จะวางกำลังในยุโรปตะวันออก เพื่อให้แน่ใจว่าทุกตารางนิ้วของเขตแดนของกลุ่มประเทศสมาชิกนาโตได้รับการคุ้มครองโดยมาตราที่ 5 ของสนธิสัญญานาโต และโดยพันธมิตรของพวกเรา"

มาตราที่ 5 ของนาโตระบุว่าถ้าหากมีสมาชิกรายใดรายหนึ่งของนาโตถูกโจมตี นั่นนับเป็นการโจมตีต่อกลุ่มประเทศนาโตทั้งหมดและสมาชิกรายอื่นๆ ต้องเข้าแทรกแซงทางทหารในเรื่องนี้

จีออนน่ายังได้ให้สัมภาษณ์ในช่วงที่เกิดทางไปเยือนลิทัวเนียเพื่อประชุมสมัชชารัฐสภานาโต ในสมัยประชุมฤดูใบไม้ผลิว่า นับตั้งแต่ที่รัสเซียรุกรานยูเครน นาโตก็เริ่มพิจารณาว่าจะเสริมกำลังทางทหารให้กับประเทศสมาชิกของตัวเองที่อยู่ใกล้กับรัสเซียได้อย่างไร นอกจากนี้กลุ่มประเทศคาบสมุทรบอลติกก็เรียกร้องให้วางกองกำลังนานาชาติเพิ่มขึ้นให้มีขนาดเท่ากับกองพลน้อย ข้อเรียกร้องนี้จะเป็นการเพิ่มขนาดกองกำลังนานาชาติในระดับที่ใหญ่กว่ากองกำลังที่วางไว้ตั้งแต่สมัยปี 2560 อย่างมาก

จีออนน่าบอกว่าจะมีการเพิ่มกำลังของนาโตในพื้นที่ยุโรปตะวันออกในหลายภาคส่วนแต่ก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะมีขนาดเท่าใด และบอกว่าจะมีการตัดสินใจในเรื่องนี้ในการประชุมซัมมิทของนาโตที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ในเดือน มิ.ย. นี้ นอกจากนี้ในการประชุมดังกล่าวยังอาจจะมีการวางกรอบยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับประเทศพันธมิตรด้วย

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net