Skip to main content
sharethis

ศาลรัฐธรรมนูญตีความพ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายกฯ มีอำนาจออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุม เพื่อรักษาความมั่นคง ปลอดภัยประเทศ ประชาชนได้ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ พร้อมสั่ง 'สำลี รักสุทธี' อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ย้ายค่าย พ้น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 'ภูมิใจไทย'

1 มิ.ย.2565 ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ รายงานว่า วันนี้ (1 มิ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญ กรณีศาลแขวงดุสิตส่งคำโต้แย้งของจำเลย (ปิยรัฐ หรือโตโต้ จงเทพ) ในคดีหมายเลขดำที่ อ 1762/2563 เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2)  และมาตรา 11 (6) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 (2) ที่บัญญัติว่าในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็ว หรือป้องกันเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

ทั้งนี้ มาตรา 11 (6) บัญญัติว่า ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชนนั้น ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26

 

 

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย มีมติเป็นเอกฉันท์ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของสำลี รักสุทธี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(10) จากเหตุเคยต้องคำพิพากษาศาลจังหวัดมหาสารคาม ในคดีหมายเลขดำที่ อ.4064/2561 คดีหมายเลขแดงที่ อ.13 4/2562 กรณีนายสาลีเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา

ศาลให้เหตุผลว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 บัญญัติว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลที่มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. (10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าเคยต้องกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ความผิดฐานเป็นผู้นำเข้า ผู้ผลิต ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนัน ในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่าคดีดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนนายสำลีสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นายสาลีจึงทราบข้อเท็จจริงนี้อยู่ก่อนแล้วว่า ในวันที่ลงสมัครรับเลือกตั้งนั้น ตนเองมีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากเหตุต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อนายสาลีไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและไม่มีสิทธิได้รับเลือกตั้ง อีกทั้งรู้อยู่แล้วว่ามีลักษณะต้องห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายสำลีสิ้นสุดลง ทำให้มีตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่างลง ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องประกาศให้ผู้มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นเป็น ส.ส.แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่งว่างลงคือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง คือ วันที่ 1 มกราคม 2565

อนึ่ง สำลี เป็นอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ที่ย้ายพรรคไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย เมื่อปี 63

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net