Skip to main content
sharethis

ดิอีโคโนมิสต์เผยบทวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของรัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่มุ่ง ‘โควิดเป็นศูนย์’ จนทำให้เศรษฐกิจจีนถดถอย ด้านบลูมเบิร์ก คาดเศรษฐกิจจีนในปีนี้โตน้อยกว่าสหรัฐฯ เพราะแผนการจัดการโควิดที่ไม่สมดุล

1 มิ.ย. 2565 ดิอีโคโนมิสต์เผยแพร่บทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมาเกี่ยวกับนโยบายบริหารเศรษฐกิจที่ผิดพลาดของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้แก่ การควบคุมโควิดเป็นศูนย์ และการสร้างป้อมปราการป้องกันตัวเองจากชาติตะวันตก ซึ่งนำไปสู่ความถดถอยทางเศรษฐกิจของจีน โดยระบุว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่การเติบโตของเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่และน่าเชื่อถือมากที่สุดในโลก ทั้งยังเป็นประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงติดอันดับโลก ซึ่ง คิดเป็น 1 ใน 4 ของ GDP จากทุกประเทศทั่วโลก หลังจากเหมาเจ๋อตง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีนถึงแก่กรรม พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ปรับแผนบริหารประเทศโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เปิดตลาดการค้าเสรีจนทำให้ประเทศร่ำรวยขึ้น

 

โควิดเป็นศูนย์ ทำเศรษฐกิจสูญ

แม้ตัวเลขชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนพุ่งสูงขึ้นนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา แต่เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันกำลังตกอยู่ในอันตรายและประเด็นด่วนที่ทำให้เป็นเช่นนั้น คือ ‘นโยบายโควิดเป็นศูนย์’ (Zero Covid Campaign) ของรัฐบาลจีนนั่นเอง นโยบายนี้ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนอยู่ในสภาวะตกต่ำเพราะต้องวนเวียนอยู่กับการเปิดปิดประเทศ และตามมาด้วยปัญหาที่หนักยิ่งกว่า นั่นคือ ความพยายามในอุดมคติของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่ต้องการฟื้นฟูทุนนิยมโดยรัฐ (state capitalism) ให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม หากรัฐบาลจีนยังฝืนดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์เช่นนี้ต่อไป อาจส่งผลให้เศรษฐกิจจีนโตช้าลง คาดการณ์ได้ยากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน

มาตรการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ครั้งล่าสุดที่ยาวนานเกือบ 2 เดือนได้ถูกผ่อนคลายลงแล้ว แต่จีนก็ยังห่างไกลจากคำว่า ‘ไร้โควิด’ เพราะหลังจากนั้นก็มีการแพร่ระบาดครั้งใหม่ในกรุงปักกิ่งและเมืองเทียนจิน ประชาชนกว่า 200 ล้านคนต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ควบคุมโรคที่เข้มงวด ขณะที่เศรษฐกิจก็สั่นคลอน การซื้ออาหารฟาสต์ฟู้ด รถยนต์ หรือเครื่องประดับอัญมณีก็มียอดลดลง ยอดขายในเดือน เม.ย. ปีนี้ของห้างค้าปลีกต่ำกว่าปีที่แล้วถึง 11% และแม้ว่าคนงานจะต้องทำงานหนักถึงขั้นนอนบนพื้นโรงงาน แต่ผลผลิตด้านอุตสาหกรรมและยอดการส่งออกของจีนกลับลดฮวบ สำหรับช่วงเวลาทั้งปีนี้ จีนอาจพยายามอย่างมากเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตแซงหน้าสหรัฐอเมริกาให้ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 หลังเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน แต่สำหรับประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกลับเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างเลวร้าย เพราะหลังจากการประชุมสภาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 20 ในช่วงปลายปีนี้ ดูเหมือนว่าเขาจะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำคนก่อนๆ ที่ดำรงตำแหน่งเพียง 2 วาระเท่านั้น

สีจิ้นผิงคือบุคคลที่ต้องพยุงความรับผิดชอบมรสุมเศรษฐกิจถึง 2 ลูกใหญ่ๆ ลูกแรกคือนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่ถูกบังคับใช้มาแล้วร่วม 2 ปี 4 เดือน พรรคคอมมิวนิสต์จีนกลัวว่าการเปิดประเทศให้กลับสู่สภาวะปกติจะนำไปสู่ประตูทางออกที่ฆ่าคนตายหลักล้าน ความคิดเช่นนั้นอาจเป็นจริง แต่จีนเองก็กำลังเสียเวลาอันมีค่า เพราะประชากร 100 ล้านคนที่อายุมากกว่า 60 ปีนั้นยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังปฏิเสธการนำเข้าวัคซีน mRNA ที่พัฒนาโดยชาติตะวันตกซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโรค แต่กลับวางแผนดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ต่อไปในปีหน้า ทั้งยังประกาศถอนตัวจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลเอเชียนคัพส์ 2023 ที่จะจัดขึ้นช่วงกลางปีหน้า ซึ่งเคยมีการวางแผนไว้ว่าจะจัดแบบรักษาระยะห่างทางกายภาพและมีการตรวจคัดครองก่อนเข้าสู่สนาม แต่เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่อัตราการแพร่เชื้อสูงขึ้น ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อและการล็อกดาวน์ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายโควิดเป็นศูนย์ถูกประทับตราว่าเป็นของสีจิ้นผิง อีกหนึ่งสิ่งที่ตามมาคือคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มองว่านโยบายนี้คือการบ่อนทำลายประเทศ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำธุรกิจในประเทศล้ม

ความกระตือรือร้นในอุดมคติแบบเดิมๆ อยู่ด้านหลังมรสุมลูกที่สอง นั่นคือ ความคิดริเริ่มด้านเศรษฐกิจมากมายที่สีจิ้นผิงเรียกว่า “แนวคิดการพัฒนารูปแบบใหม่” ซึ่งหมายถึง “การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบศตวรรษ” เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ของสีจิ้นผิงนั้นฟังดูสมเหตุสมผล กล่าวคือเพื่อจัดการปัญหาความเหลื่อมล้ำ การกินรวบของทุนใหญ่ ปัญหาหนี้สิน และเพื่อทำให้มั่นใจว่าจีนจะเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ และสร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่งเพื่อให้รอดจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกได้ อย่างไรก็ตาม สีจิ้นยังยังคงเชื่อว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะต้องเป็นผู้นำในเรื่องนี้แต่การลงมือปฏิบัติจริงนั้นกลายเป็นบทลงโทษและข้อผิดพลาด เพราะเต็มไปด้วยการตั้งค่าปรับ การออกกฎควบคุมใหม่ๆ และการกวาดล้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีของจีนที่มีส่วนแบ่ง 8% ใน GDP ต้องซบเซาลง ตามมาด้วยวิกฤตการเงินของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เจอพายุรุนแรงแต่ยังไม่ถึงขั้นถูกทำลายลงอย่างราบคาบ เป็นสาเหตุให้ยอดขายบ้านในจีนตกลงมาถึง 47% ในเดือน เม.ย. 2565 เทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งภาคอสังหาริมทรัพย์จีนมีส่วนแบ่งใน GDP ของประเทศสูงเกิน 5%

รัฐบาลจีนหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่กำลังทำอยู่จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศในปี 2565 เติบโตตามเป้าหมายที่ 5.5% และช่วยคลายความกังวลของสภาประชาชน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวในการประชุมสภาเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกคน “ดำเนินอย่างอย่างเด็ดขาด” เพื่อฟื้นฟูการเติบโต ขณะที่ธนาคารกลางของจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ นอกจากนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนยังพยายามเรียกความเชื่อมั่นของเจ้าสัวในวงการเทคโนโลยีให้กลับคืนมา และขั้นตอนต่อไปที่รัฐบาลจีนน่าจะทำคือการออกพันธบัตรรัฐบาล

กองหนี้และพื้นที่ป่าคอนกรีตไม่อาจขจัดความต้องการที่จะล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดหรือลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโมเดลเศรษฐกิจของสีจิ้นผิงที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของภาครัฐซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดประสิทธิผลน้อยที่สุด นโยบายด้านอุตสาหกรรมของจีน นั้นประสบผลสำเร็จอย่างถล่มทลาย เช่น การผลิตแบตเตอรีที่ทันสมัย ซึ่งสีจิ้นผิงเชื่อว่าเทคโนโลยีและผู้ร่วมลงทุนในโครงการของรัฐจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจคล่องตัวขึ้น แต่ต้องอย่าลืมความล้มเหลวที่พังไม่เป็นท่า ตั้งแต่เขตอุตสาหกรรมที่รุ่งเรืองและถดถอยจนมาสู่ยุคไมโครชิป

ขณะเดียวกัน สิ่งดลใจในเศรษฐกิจที่สร้างประสิทธิผลมากที่สุดคือการลงทุนของภาคเอกชน แต่สิ่งเหล่านี้กลับถูกทำลายจนย่อยยับ ดังจะเห็นได้จากภาคการเงินของจีนที่มีการไหลออกของเงินทุนจำนวนมหาศาล ต้นทุนของเงินลงทุนก็เพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือ หุ้นจีนซื้อขายถูกกว่าหุ้นอเมริกันถึง 45% นักลงทุนและนักธุรกิจต้องคิดคำนวณความคุ้มค่าใหม่ บางคนกลัวว่าการที่ภาคการเงินของธุรกิจประเภทใดประเภทหนึ่งถีบตัวสูงขึ้นอาจเป็นการกำหนดมาแล้วจากพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีข้อกังขาในเรื่องอำนาจและความมั่งคั่ง ด้านนักลงทุนเองก็บอกว่าวพวกเขาเปลี่ยนไปเดิมพันในเงินอุดหนุนก้อนใหญ่ที่สุดซึ่งนั่นไม่ใช่ความคิดที่ดีที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น นี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีส่วนแบ่งในระบบเศรษฐกิจไม่มีการปฏิรูปไปสู่ความเป็นเสรีนิยม หากไม่มีการปฏิรูป การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอาจจะลำบากยิ่งขึ้น

เศรษฐกิจในอุดมคติของสีจิ้นผิงมีความหมายโดยนัยต่อเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยเพิ่มปริมาณอุปสงค์ แต่การล็อกดาวน์ที่เพิ่มขึ้นก็ดูเหมือนจะทำให้เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญอันตรายจากสภาวะถดถอย และเป็นไปไม่ได้เลยที่ทั่วโลกจะเมินเฉยเพราะขนาดและความซับซ้อนของภาคธุรกิจจีนมีผลอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจโลก แต่ถึงกระนั้น ภาคธุรกิจจำนวนไม่น้อยก็เริ่มสร้างสมดุลห่วงโซ่อุปทานขึ้นมาใหม่ โดยดึงตัวออกห่างจากจีนมากขึ้นแบบที่บริษัทเทคโนโยลีรายใหญ่ของโลกอย่าง Apple กำลังทำ จีนอาจครองแชมป์หลายอุตสาหกรรมในทศวรรษที่ 2030 แต่ชาติจะวันตกจะระมัดระวังมากขึ้นเมื่อต้องนำเข้าสินค้าจากจีน ขณะที่ในด้านการทูต การที่ภาคธุรกิจของจีนกระตือรือร้นและมีความเป็นอิสระน้อยลงหมายความว่าการปรากฏตัวของจีนบนเวทีนานาชาติจะถูกนำโดยรัฐและมีความเป็นการเมืองสูงขึ้น นอกจากจะทำให้เป็นเรื่องที่ดูไม่ดีมากขึ้นยังทำให้ประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจลดลง เหมือนสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างจีนและหลายประเทศในทวีปแอฟริกา

ความอันตรายเมื่อชายคนเดียวครองอำนาจ

แม้ผู้คนจะพูดคุยกันผ่านช่องทางออนไลน์เรื่องการล็อกดาวน์และการตกงานในประเทศจีน แต่สิ่งเหล่านี้ไม่น่าจะนำไปสู่การลุกฮือทางการเมืองเพราะการสอดส่องเฝ้าระวัง การโฆษณาชวนเชื่อ และแรงสนับสนุนในวงการเพื่อเป้าหมายของพรรคคอมมิวนิสต์ แม้ว่าจะมีเทคโนแครตบางคนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ฝั่งซ้ายจัดแต่พวกเขาไม่มีอำนาจและไม่กล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาต่อกรกับพรรคคอมมิวนิสต์ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณากล่องดำของชนชั้นนำการเมืองจีนแล้วพบว่าไม่มีใครเป็นคู่แข่งของสีจิ้นผิงเลย และการประชุมสภาพรรคคอมมิวนิสต์จะกลายเป็นการรับประกันอำนาจให้สีจิ้นผิง อย่างน้อยๆ ก็จนถึงปี 2570 และจะทำให้ข้อบกพร่องของการปกครองแบบคนเดียวครองอำนาจในประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกเริ่มปรากฏชัดขึ้น

คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ โตแซงจีนในปีนี้

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานผลการคาดการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 2565 ว่าจะเติบโตขึ้นถึง 2.8% และจะแซงหน้า GDP จีนที่อาจเติบโตเพียง 2% เท่านั้นในปีนี้

บลูมเบิร์กระบุว่านโยบายโควิดเป็นศูนย์และมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอาจพ่ายแพ้ให้กับสหรัฐฯ ในปีนี้ หลังจากที่เศรษฐกิจจีนโตแซงหน้าสหรัฐฯ มานานร่วมหลายสิบปี ซึ่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนนั้น ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยคาดการณ์ว่าในทศวรรษที่ 2030 เศรษฐกิจจีนจะเติบโตแซงหน้าสหรัฐฯ และกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก

แปล/เรียบเรียงจาก :

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net