Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก็เหมือนคนไทยคนอื่นในสถานะและวัยใกล้เคียงกัน เราต่างรู้จักพระปิยมหาราชอย่างดี หรือเราต่างไม่รู้จักพระปิยมหาราชเอาเลย

ไม่มีอะไรลึกซึ้งหรอกครับ พระปิยมหาราชที่เราต่างรู้สึกว่ารู้จักอย่างดีนั้น ล้วนเป็น “เรื่องเล่า” ที่ถูกสร้างขึ้นโดยคนบางกลุ่ม นับตั้งแต่ในรัชสมัยสืบมาจนแม้หลัง 2475 นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการค้นหาและสร้างบทบาทอันเหมาะสมของสถาบันกษัตริย์ไทยในระบอบใหม่ ส่วนพระปิยมหาราชจริงๆ นั้น เราแทบจะไม่รู้จักเลย

ถึงแม้งานศึกษาประวัติศาสตร์รัชสมัยของพระองค์จะมีมาก ทั้งในภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ศึกษาโดยใช้ฐานการวิเคราะห์จาก “เรื่องเล่า” ดังกล่าว ผลที่ออกมาทำให้ “เรื่องเล่า” นั้นมีหลักฐานชั้นต้นรองรับจำนวนมาก “เรื่องเล่า” จึงถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็น “เรื่องจริง”

(หลักฐานไม่เคยพูดเอง ถ้าตั้งคำถามเก่า หลักฐานก็จะให้คำตอบเก่าเสมอ)

แม้กระนั้น “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับพระปิยมหาราช ซึ่งสร้างขึ้นอย่างดีแล้วนี้ ในปัจจุบันก็แทบจะไม่ถูก “เล่า” อีกเลย เพราะมันหมดหน้าที่ทางการเมืองและสังคมไปแล้ว ผมอยากจะชวนคุยการเกิดขึ้นและดับไปของ “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับพระปิยมหาราช ผ่านประสบการณ์ในชีวิตของตนเอง

ผมขอเริ่มด้วยการเตือนไว้ก่อนว่า แม้เรายังมีวัน “ถวายบังคัมพระบรมรูปทรงม้า” แต่นอกจากการแห่พวงมาลาไปวางที่ลานพระบรมรูปของหน่วยราชการ และห้างร้านที่ได้ประโยชน์จากราชการแล้ว ก็ไม่มีอะไรอีกเลยนอกจากเป็นวันหยุดราชการ

เมื่อผมเป็นเด็ก หลังการวางพวงมาลายังมีงานออกร้านในบริเวณนั้น รวมทั้งมีเครื่องเล่นของเด็กๆ หลายอย่าง (เก็บตังค์) “งาน” พระบรมรูปทรงม้า จึงเป็นที่จับจ้องและรอคอยของเด็กกรุงเทพฯ จำนวนมาก วันปิยมหาราชไม่ใช่วันแห่งพิธีกรรมของรัฐ แต่แทรกเข้ามาในชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ด้วย

แม้แต่พวงมาลาที่นำไปวางหน้าพระบรมรูป ก็สนุกสำหรับเด็ก เพราะเขาไม่ได้ทำเป็นพวงหรีดกลมๆ ตามปรกติ แต่ตกแต่งประดับประดากลายเป็นรูปที่ทำให้รำลึกถึงหน่วยงานนั้น เช่น หัวรถจักรแทนกรมรถไฟ, รูปหมอและพยาบาลแทนโรงพยาบาล, รูปคูคลองแทนกรมชลประทาน ฯลฯ ดังนั้น จึงไม่ได้แทนแต่หน่วยงานเท่านั้น หากเป็นสัญลักษณ์แทนพระราชกรณียกิจสำคัญในรัชกาลด้วย

ไม่แต่เพียงที่ลานพระบรมรูปเท่านั้น รายการวิทยุล้วนเต็มไปด้วยการรำลึกถึงรัชสมัยนั้น เช่น ดูเหมือนเรื่องเลิกทาสจะถูกนำเป็นละครวิทยุทุกปี แล้วแต่ผู้แต่งจะสร้างตัวละครขึ้นประกอบกับเหตุการณ์อย่างไร ต่อมาก็มีโทรทัศน์มาร่วมด้วยซึ่งก็จัดรายการไม่ต่างกันนัก ทั้งนี้ ยังไม่นับการปาฐกถาเชิงประณามพจน์ของบุคคลมีชื่อเสียงเสริมเข้ามาด้วย หนังสือพิมพ์และนิตยสารที่ออกในสัปดาห์นั้น ก็มักลงพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ไว้ด้วย และส่วนใหญ่ก็จะเลือกรูปที่สะท้อนประเด็นหลักๆ ใน “เรื่องเล่า” เช่น พระบรมรูปที่ฉายร่วมกับพระเจ้าซาร์นิโคลาส II แห่งรัสเซีย, ทรงเป็นประธานการตอกหมุดรางรถไฟเป็นปฐมฤกษ์ที่อยุธยา, หรือภาพเสด็จประพาสต้น ฯลฯ เป็นต้น

งานวันปิยมหาราชนั้น จัดกันทั่วประเทศ แต่ผมไม่ทราบว่าในหัวเมืองจัดงานกันอย่างไร

อย่างไรก็ตาม งาน “พระบรมรูปทรงม้า” ที่จัดกันในกรุงเทพฯ สมัยนั้น คือการสร้างรูปธรรมให้เห็นชัดเจนว่า บทบาทพระมหากษัตริย์ในอุดมคติไทยสมัยใหม่ควรเป็นอย่างไร โดยมีพระปิยมหาราชเป็นสัญลักษณ์ตัวแทน

สัญลักษณ์ของอะไรหรือครับ? คำตอบก็คือสัญลักษณ์ของกษัตริย์ในฐานะผู้นำความทันสมัยมาสู่บ้านเมือง (modernizer) มหาราชในโลกนี้อีกหลายพระองค์มีบทบาทใน “เรื่องเล่า” อย่างเดียวกัน โดยเฉพาะกษัตริย์ที่แปรเปลี่ยนตนเองจากระบอบศักดินาโบราณมาเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ปีเตอร์มหาราชและคัทรีนมหาราชินีแห่งรัสเซีย, เฟรเดอริกมหาราชแห่งปรัสเซีย, ไฮเลเซลัสซีแห่งเอธิโอเปีย, เรซาปาเลวีที่ 1 แห่งเปอร์เซีย-อิหร่าน, เมจิแห่งญี่ปุ่น ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นตัวเอกของ “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับการสร้างความทันสมัยในรัฐต่างๆ และในขณะเดียวกันก็รวบอำนาจปกครองให้มาอยู่ภายใต้ความควบคุมของราชบัลลังก์อย่างใกล้ชิดขึ้น จึงเป็นฐานของ “รัฐ” แบบใหม่ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในเวลาต่อมา

แต่พระปิยมหาราชใน “เรื่องเล่า” ของเราแตกต่างจากมหาราชผู้นำความทันสมัยพระองค์อื่น ผมขอสรุปความแตกต่างโดดเด่นไว้ในที่นี้ แล้วจะอธิบายทีหลังว่าทำไมถึงต้องแตกต่างโดดเด่นไปคนละทางเช่นนี้

สงครามไม่ใช่เรื่องเด่นในรัชสมัยพระปิยมหาราช แต่เป็นเรื่องเด่นในประวัติของมหาราชนักสร้างความทันสมัยอีกหลายองค์ ไม่ใช่ว่าไม่มีสงครามในรัชสมัยพระปิยมหาราชเสียเลย กองทัพกึ่งใหม่กึ่งเก่าของท่านยกไปปราบการแข็งข้อของเจ้าเมือง, ไพร่พลที่ต่อต้านการเก็บภาษีแบบใหม่ หรือกลุ่มชนชั้นนำตามประเพณีและพรรคพวกในเมืองประเทศราช หรือเร่งสร้างอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนที่เป็นปัญหา ฯลฯ อยู่บ้างเหมือนกัน แต่สงครามไม่ใช่เรื่องหลักใน “เรื่องเล่า” หน่วยงานในกองทัพฉลองวันถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้าเหมือนหน่วยราชการอื่น และรำลึกถึงพระองค์ท่านว่าเป็นผู้ก่อตั้งหน่วยทหารเหล่านั้นมากกว่ายุทธการที่ทำในระหว่างรัชกาล

พระปิยมหาราชเป็นพระราชาผู้นำความทันสมัยที่ไม่ใช่นักรบ

อันที่จริง กระบวนการเหนี่ยวนำอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางของรัฐสมัยใหม่ไม่ว่าที่ไหนในโลก ย่อมสร้างปฏิปักษ์ขึ้นจำนวนมากในหมู่ชนชั้นนำ ซึ่งเคยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อยู่ในระบอบเก่า ทั้งชนชั้นนำในรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น จึงไม่แปลกที่จะเกิดการกบฏ และการกดปราบด้วยกำลังทหารของกองทัพสมัยใหม่ แต่ “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับพระปิยมหาราชจะไม่เน้นเรื่องนี้ กลับไปพูดถึงความอดทนรอคอยจังหวะอันเหมาะสม จนสามารถดึงเอาอำนาจที่กระจัดกระจายในระบอบเก่าเข้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของราชบัลลังก์ได้อย่างเรียบร้อย

พระบรมราโชบายอันสุขุมคัมภีรภาพของพระปิยมหาราชมีความสำคัญกว่ากำลังทางทหาร ใน “เรื่องเล่า” พระราชาผู้นำความทันสมัยของไทยเป็นบิสมาร์กมากกว่าเป็นเฟรเดอริกมหาราช การเลิกทาสโดยไม่เกิดสงครามกลางเมืองถูกย้ำเสมอ

คุณสมบัติสำคัญของพระปิยมหาราชใน “เรื่องเล่า” คือทรงพระเมตตาทยาธิคุณต่อพสกนิกรอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ นอกจากทรงสร้างโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยแล้ว ยังโปรดให้จัดการด้านสุขอนามัยของเมืองเพื่อลดโรคระบาด ทรงสร้างหรืออนุญาตให้สร้างระบบขนส่งสาธารณะในรูปต่างๆ (คลอง, รถราง, รถไฟ) มีเรื่องให้พรรณนาถึงการนำความทันสมัยสู่บ้านเมืองเพื่อความอยู่ดีกินดีของข้าราษฎร ผมคิดว่าบรรลุจุดสุดยอดที่เป็นรูปธรรมน่าประทับใจที่สุดคือ “ประพาสต้น” ตามการตีความของ “เรื่องเล่า”

พระปิยมหาราชใน “เรื่องเล่า” จึงไม่เป็นแต่เพียงเรื่องของมหาราชพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ แต่เป็นการตราหรือบัญญัติถึงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในกระบวนการทำให้ทันสมัยของไทย อันเป็นกระบวนการซึ่งไม่ได้สิ้นสุดลงในรัชสมัย แต่ใครๆ ก็รู้ว่าต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนานข้างหน้า เพราะว่าที่จริงคือกระบวนการความเปลี่ยนแปลง ซึ่งต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ และย่อมมีผลกระทบกว้างไกลไปในทุกทิศทาง เป็นผลดีแก่คนบางกลุ่ม และเป็นผลร้ายแก่คนบางกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ต่างจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในทุกสังคม

บทบาทสถาบันกษัตริย์ใน “เรื่องเล่า” คือบทบาทของ “ผู้นำ” ความเปลี่ยนแปลงที่ชาญฉลาด หยั่งรู้ความตื้นลึกหนาบางของความเปลี่ยนแปลงอย่างที่คนทั่วไปไม่อาจหยั่งได้ อีกทั้งกอปรด้วยพระเมตตาบารมีอันแผ่ไพศาลแก่พสกนิกรทั่วชั้นชนอย่างไม่จำกัด ดังนั้นจึงอาจกำกับให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นมีผลกระทบทางร้ายได้น้อยที่สุดแก่ผู้คนทั่วไปไม่เลือกหน้า ยังไม่พูดถึงบทบาทในฐานะ “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” คือการสมาคมและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติโดยเฉพาะในหมู่มหาอำนาจ

 

บทบาทในอุดมคตินี้ไม่ได้ครอบงำเฉพาะในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เท่านั้น แม้หลังจากนั้นก็ยังมีความสำคัญในเชิงความหมายสืบมา การฟื้นฟูพระราชอำนาจและสถานะของสถาบันหลัง 2500 เป็นต้นมา ก็เดินตามวิถีแห่ง “เรื่องเล่า” ดังกล่าวสืบมา

(ผมค่อนข้างมั่นใจว่าจำไม่ผิด อาจารย์ธงชัย วินิจจะกุล เคยพูดถึง “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับ ร.5 ไว้ในทำนองเดียวกันที่ไหนสักแห่ง แต่ก็พ้นความสามารถของผมที่จะไปค้นในกองหนังสืออันไร้ระเบียบของตัวได้ว่า ท่านพูดไว้ที่ไหนและอย่างไรแน่)

ด้วยเหตุดังนั้น “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับพระปิยมหาราชจึงแตกต่างจาก “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับพระราชาผู้นำความทันสมัยสู่สังคมอื่น เพราะพระปิยมหาราชยังทำหน้าที่ในทางการเมืองอย่างอื่นสืบมา ทั้งในฐานะ “แม่แบบ” ของความเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัย โดยไม่เกิดความปั่นป่วนขาดความมั่นคงทางสังคม (พลิกแผ่นดินโดยแผ่นดินไม่พลิก) และในฐานะ “แม่แบบ” ของสถาบันกษัตริย์ในสังคมที่ไม่หยุดนิ่ง เพราะก้าวหน้าไปอย่างสุขุมรอบคอบ

ในขณะที่ราชาผู้นำความทันสมัยในสังคมอื่น ได้สูญเสียบทบาทด้านนำความเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของความภาคภูมิใจในความเป็น “ประชาชาติ” ของเขาเท่านั้น แต่ความเป็น “ราชาชาติ” ของไทยก็แตกต่างจากความเป็น “ประชาชาติ” ของเยอรมนี, รัสเซีย, ญี่ปุ่น ฯลฯ (และส่วนหนึ่งของความแตกต่างตรงนี้ก็เป็นผลมาจาก “เรื่องเล่า” ดังกล่าวด้วย) ดังนั้น “เรื่องเล่า” ของเขาจึงหมดหน้าที่ทางสังคมและการเมืองไปโดยสิ้นเชิง

อย่างไรก็ตาม สังเกตบ้างไหมครับว่า งาน “ถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า” ในปัจจุบัน ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในงานรัฐพิธีและราชพิธีที่จัดกันขึ้นเพื่อเป็นข่าวทีวีเท่านั้น แทบไม่ได้ยินใครพูดถึงและไม่มีใครคาดหวังความสนุกสนานของงานอย่างเมื่อก่อน แม้แต่คำประพันธ์สดุดีพระเกียรติในวันนั้นก็แทบจะไม่ปรากฏให้เห็นในสื่อ ส่วนละครหรือการแสดงอะไรเพื่อรำลึกถึงพระราชกรณียกิจก็ไม่ค่อยปรากฏทางวิทยุหรือทีวี (หรือการแสดงของนักเรียนในโรงเรียน) อีกแล้ว

ผมไม่ทราบว่าหนังสือหรือภาพถ่ายจากรัชสมัยของพระองค์ยังถูกพิมพ์และจำหน่ายกันได้กว้างขวางแค่ไหนในปัจจุบัน “ตลาด” (ในทุกความหมาย) ของ ร.5 ยังมีอยู่สักเพียงไรในสังคมไทย แต่ถ้าเทียบกับเมื่อสามสิบปีที่แล้ว ผมคิดว่าหดแคบลงอย่างมาก แน่นอนว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ยังเป็นมหาราชองค์หนึ่งของไทย แต่ไม่โดดเด่นเป็นพิเศษเหมือนที่ผมหรือคนรุ่นผมรู้จักอย่างที่เคยเป็นมาตั้งแต่เราเป็นเด็กจนโต

อะไรเกิดขึ้นที่ทำให้พระปิยมหาราชสูญสิ้นสถานะอย่างที่เคยเป็นมาในสังคมไทย?

 ไม่เกี่ยวอะไรทั้งสิ้นกับพระปิยมหาราชหรอกครับ แต่เกี่ยวโดยตรงกับความทันสมัยหรือ modernity-modernism

ความทันสมัยคืออะไร ทั่วทั้งโลกไม่เฉพาะแต่ยุโรปตะวันตกอันเป็นแหล่งกำเนิดของความทันสมัยเท่านั้น ล้วนนิยามความทันสมัยกว้างกว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แม้ว่าในระยะเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลง ความหมายอาจจำกัดอยู่ที่วัตถุธรรมบางอย่างเช่น อาวุธ, การทำสาระบาญชีแบบใหม่เพื่อเก็บส่วยได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย, ถนนหนทางและการคมนาคมแบบใหม่ ฯลฯ แต่ไม่นานภายหลัง เมื่อความเปลี่ยนแปลงซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้นำเข้ามาปรากฏ ความหมายเชิงนามธรรมของความทันสมัยย่อมขยายตัวกว้างขวางขึ้นในสังคมนั้นๆ

เราพบลักษณะเช่นนี้ทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะในเอเชีย นับตั้งแต่จีน, ญี่ปุ่น, หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของฮอลันดา, สิงคโปร์และนิคมช่องแคบ, ลังกา, อินเดีย ไปจนถึงอิรัก, อิหร่านและซีเรีย (รวมทั้งอียิปต์และอีกหลายรัฐในแอฟริกาเหนือ)

ไม่มีความทันสมัยที่ใดจะสามารถยุติลงที่ “เครื่องมือ” (tools) ของความทันสมัยได้เพียงอย่างเดียว ปัญหาของชนชั้นนำไทยโดยเฉพาะเครือข่ายพระราชวงศ์ซึ่งยึดกุมฐานะผู้นำเข้า (และผูกขาด) ซึ่งความทันสมัยสู่สังคมไทย จะดำรงสถานะนำเช่นนี้ตลอดไปได้อย่างไร หากความทันสมัยที่นำเข้าถูกจำกัดอยู่แต่เพียง “เครื่องมือ” เช่น โทรเลข, รถไฟ, ไฟฟ้า, วิทยุ, การถ่ายรูป, ภาพยนตร์, กองทัพแบบใหม่, การค้าข้าวระหว่างประเทศ, การบุกเบิกที่นาใหม่ด้วยเครื่องจักร ฯลฯ

อันที่จริงเรื่องจะนำเข้าส่วนไหนของความทันสมัย และใครจะเป็นผู้นำเข้าเป็นปัญหามาตั้งแต่ ร.5 แล้ว กรณีที่รู้จักกันดีคือคำกราบบังคมทูลฯ เรื่องเปลี่ยนแปลงการปกครองของเจ้านายและขุนนาง แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกหลายเรื่องอยู่ด้วย นับตั้งแต่กรณีเทียนวรรณ, กศร.กุหลาบ, ฯลฯ มาใน ร.6 แม้ว่าความทันสมัยอาจถูกนิยามให้กว้างกว่า “เครื่องมือ” เพื่อรวมถึงสิ่งที่เป็นนามธรรมมากขึ้น แต่ภาคนามธรรมของความทันสมัยที่นำเข้าก็ถูกจำกัดให้เหลือเพียงวรรณศิลป์และศิลปะการแสดงแบบตะวันตกเท่านั้น

 ตรงกันข้ามกับความทันสมัย นับตั้งแต่ปลาย ร.5 เป็นต้นมา บทบาทใหม่ของสถาบันกษัตริย์กลับเน้นไปทางการรักษาและจรรโลง”ความเป็นไทย” (ซึ่งจะถูกตีความให้ไม่ขัดแย้งกับความทันสมัยโดยตรง) และ “ความเป็นไทย” นี่แหละที่เป็นคู่ตรงข้ามของความทันสมัยชนิดที่ชนชั้นนำเดิมพยายามกีดกันมิให้ถูกนำเข้ามาเลย นั่นคือ “เสรีภาพส่วนบุคคล”

ผมคิดว่า “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับพระปิยมหาราชตอบสนอง หรือพูดให้ชัดกว่านี้คือนำเราข้ามความไม่ลงรอยกันของแนวคิดเรื่องความทันสมัยตรงนี้ได้อย่างดี มองจากคณะราษฎร พระปิยมหาราชทรงริเริ่มความทันสมัย อันนำมาสู่ความเจริญก้าวหน้าด้านต่างๆ และสู่จุดสุดยอดของความทันสมัยคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่ว่าจะทรงมีพระราชดำริอย่างนั้นหรือไม่ แต่ปราศจากการริเริ่มของพระองค์ ก็ยากที่ดำเนินมาสู่จุดนี้ได้

มองจากสถาบันพระมหากษัตริย์และเครือข่าย พระปิยมหาราชทรงเป็นกษัตริย์ในอุดมคติของยุคแห่งความทันสมัย ทรงเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่โดยไม่นองเลือด ทรงรักษาอธิปไตยของ “(ราชา) ชาติ” เอาไว้ได้สืบมา และทรงฟื้นฟูปรับเปลี่ยน “ความเป็นไทย” ให้เหมาะแก่กาลสมัย

“เรื่องเล่า” พระปิยมหาราชจึงทำให้พระองค์กลายเป็นแบบอย่างในอุดมคติของกษัตริย์ไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ ทรง “นำ” โดยแทบไม่ต้องใช้พระราชอำนาจในการเผชิญกับความทันสมัยได้อย่างเป็นผลดีแก่พระราชอาณาจักร วัน “ถวายบังคมฯ” จึงเป็นวาระโอกาสอันใหญ่ที่ตอกย้ำและสืบทอดความทรงจำตาม “เรื่องเล่า” ให้ดำรงอยู่สืบไป

แต่แล้ววันหนึ่ง อย่างแทบไม่ทันรู้สึกตัว “เรื่องเล่า” พระปิยมหาราชก็หมดหน้าที่ลงหรือไม่ตอบสนองต่อการเผชิญความทันสมัยภายใต้พระราชบารมีอีกต่อไป ผมคิดว่าทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากความสลับซับซ้อนขึ้นของความทันสมัยที่คนไทยรับรู้และใฝ่หา ซึ่ง “เรื่องเล่า” ไม่อาจกำกับควบคุมได้อีกต่อไปแล้ว

ความทันสมัยมีความหมายแก่คนไทยมากกว่า “เครื่องมือ” มากขึ้นทุกที แต่มีข้อถกเถียงและขัดแย้งกันแรงขึ้นและตรงขึ้นในเรื่องความทันสมัยในสังคมไทย โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างความทันสมัยและความเป็นไทย หากสถาบันกษัตริย์คือผู้รักษาและปกป้องความเป็นไทย “เรื่องเล่า” พระปิยมหาราช (อย่างที่เล่ากันมา) ก็แทบจะใช้การไม่ได้ และนั่นคือเหตุผลที่งานวัน “ถวายบังคมพระบรมรูปทรงม้า” กลายเป็นเพียงวันหนึ่งในบรรดาวันหยุดตามรัฐพิธีและราชพิธี โดยไม่มีการตอกย้ำ “เรื่องเล่า” อย่างกว้างขวางอีกเลย

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_554732

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net