Skip to main content
sharethis
  • ส่องค่านิยมความเชื่อทำให้ผู้ใหญ่มองข้ามสิทธิเด็ก ผ่านมุมมองเลขามูลนิธิเด็กฯ รวมทั้ง ผอ.PrivacyThailand เช็คกฎหมายที่ช่วยคุ้มครองสิทธิเด็กที่มี 
  • ตรวจสอบ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่บังคับใช้ 1 มิ.ย.นี้พูดถึงเรื่องการโพสต์ภาพเด็กไว้ว่าอย่างไร ทีมงานวิจัยโครงการของศูนย์วิจัยกฎหมายฯ จุฬาฯ เตือนต้องระมัดระวัง
  • เพจ ‘ตุ๊ดส์review’ ยก  3 ประเด็นพ่อแม่ในฐานะผู้พิทักษ์ความปลอดภัย และคุ้มครองเด็ก ต้องใส่ใจ 


“เป็นเรื่องที่คิดหนัก และทำการบ้านมากเรื่องนี้ค่ะ ปุ้มให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กจะได้รับจากผู้เลี้ยง 70% คิดว่า จะไม่มีใครได้เห็นค่ะ จนกว่าลูกเริ่มมีพัฒนาการด้านตัวตน สามารถบอกความรู้สึกได้ จำเป็นต้องขออนุญาตจากลูกก่อนค่ะ”

คำตอบจาก ปุ้มปุ้ย พรรณทิพา อรุณวัฒนชัย อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมกว่า 2.4 ล้าน หลังเปิดโอกาสให้ผู้ติดตามในอินสตาแกรมถามเรื่องอะไรก็ได้ จนกระทั่งมีผู้ใช้อินสตาแกรมท่านหนึ่งตั้งคำถามว่า ‘คิดยังไงกับเรื่องความเป็นส่วนตัวของเบบี๋ คนที่ติดตามจะได้เห็นหน้าน้องไหมคะ’ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็มีคนออกมาแสดงความคิดเห็น ทั้งชื่นชมการกระทำของปุ้มปุ้ย และใช้ถ้อยคำรุนแรงคอมเมนต์ต่อว่าที่เธอไม่ยอมโพสต์รูปถ่ายที่เห็นหน้าลูกลงช่องทางโซเซียนมีเดีย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดความเข้าใจเรื่องสิทธิเด็ก ในวันที่เด็กยังเล็ก ก็ต้องเชื่อฟังสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองบอกเท่านั้น
 

ปุ้มปุ้ย พรรณทิพา อรุณวัฒนชัย โพสต์ท่านอินสตาแกรมเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา

ชูวิทย์ จันทรส เลขามูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัวให้สัมภาษณ์กับประชาไทในกรณีนี้ว่าการโพสต์รูปลูกลงสื่อโซเชียลมีเดียเป็นการละเมิดสิทธิเด็กอยู่แล้ว ตั้งแต่เด็กทุกคนเกิดมา ก็จะมีสิทธิเป็นของตัวเองตามอนุสัญญาว่าด้วยเรื่องสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยก็เป็นเป็นหนึ่งใน 196 ประเทศเข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญานี้ ประกอบไปด้วยสาระสำคัญ 4 ด้าน และ 4 ถูกเขียนไว้ว่า เด็กต้องมีสิทธิอยู่รอดปลอดภัย แม้เด็กจะเกิดมาบกพร่องด้านร่างกายหรือจิตใจ เด็กสมควรมีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนาทั้งร่างกาย จิตใจ การศึกษา ความเป็นอยู่ เด็กต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิการถูกทำร้ายร่างกาย การถูกใช้แรงงาน การถูกกดขี่กลั่นแกล้งต่างๆ  และสุดท้ายเด็กต้องมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ แสดงความคิดเห็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเอง

นคร เสรีรักษ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้อำนวยการ PrivacyThailand บอกว่า เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะพฤติกรรมรูปแบบต่าง ๆ ของเด็กถูกพ่อแม่โพสต์ลงสู่สังคมออนไลน์ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก แต่ในอนาคตเมื่อเขาได้เห็นก็อาจจะไม่พอใจก็ได้ เด็กก็ต้องมีสิทธิเหมือนกับผู้ใหญ่ เพราะนี่คือสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด 

ค่านิยมความเชื่ออะไร ทำให้ผู้ใหญ่มองข้ามสิทธิเด็ก 

ชูวิทย์กล่าวว่าพ่อแม่มองลูกเป็นสมบัติ และตัดสินทุกอย่างแทนลูก โดยบอกว่าตัวเอง อาบน้ำร้อนมาก่อน จึงเกิดการตีกรอบเด็กจากประสบการณ์ของตัวเองและไม่รับฟังความคิดเห็นลูก ประกอบกับสำนวน สุภาษิต คำพังเพยของไทยจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าความคิดของคนแข็งตัวอยู่กับที่ ใช้อำนาจปกครองเด็ก ซึ่งไม่ใช่แค่ภายในบ้าน ที่โรงเรียน ครูยังกล้อนผมนักเรียน บังคับให้แต่งตัวตามระเบียบ ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนเป็นการละเมิดสิทธิทั้งสิ้น เด็กไม่มีอำนาจแสดงความคิดเห็นและจัดการร่างกายตัวเองทั้งในครอบครัวและโรงเรียน ดังนั้นชูวิทย์เสนอวิธีการว่า ผู้ใหญ่ต้องค่อยๆ คุย เรียนรู้ และอธิบายเหตุผลให้เด็กเข้าใจและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ไม่ใช่ชี้ผิดถูก ตีกรอบ และดุว่าเด็กอย่างเดียว 

ชูวิทย์ จันทรส เลขามูลนิธิเด็กฯ (แฟ้มภาพ)

ทางด้านนครพูดถึงประเด็นนี้ว่า ในปัจจุบันวิธีการเลี้ยงลูกระบบอำนาจนิยมแบบเผด็จการที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีอำนาจเด็ดขาดปกครองลูกให้เชื่อฟังโดยไม่มีสิทธิโต้แย้ง วิธีการเลี้ยงลูกแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิเด็ก เด็กสามารถคิดและตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ด้วยตัวเองเยอะแยะ เด็กบางคนก็มีความคิดดีกว่าผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องไปคิดหรือตัดสินใจแทน เพราะลูกควรมีสิทธิกำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเอง 

กรณีปุ้มปุ้ยจะช่วยให้พ่อแม่ยุคใหม่ตระหนักถึงสิทธิเด็กมากขึ้น

พลังของเด็กจะส่งผลทำให้ผู้ใหญ่ตื่นตัวเรื่องสิทธิเด็กมากกว่า เพราะทุกวันนี้เด็กกล้าที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผม การแต่งกาย ซึ่งสื่อว่าเด็กมีพัฒนาการไวกว่าผู้ใหญ่ เพราะทุกวันนี้ยังเห็นข่าวเรื่องครูตัดผมนักเรียนออกมาเป็นจำนวนมาก แทนที่จะเอาเวลาตัดผมมาเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้ดีกว่าไหม  

“ในอนาคตผู้ใหญ่อาจจะตระหนักมากขึ้น ไม่ใช่ว่าผู้ใหญ่อยากเปลี่ยนแปลง แต่เด็กนั้นรู้จักที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง” ชูวิทย์กล่าว

นคร เสรีรักษ์ ผู้อำนวยการ PrivacyThailand

ทางด้านนครได้แสดงความคิดเห็นกับเรื่องนี้ว่า วิธีคิดแบบที่ผู้ใหญ่มีอำนาจเหนือเด็กเป็นปัญหาตลอด วิธีคิดนี้จะทำให้ผู้ใหญ่ละเมิดสิทธิของเด็ก อย่างเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดทรงผมและแต่งตัวของเด็กนักเรียน หรือการนับถือศาสนา ทุกอย่างที่กล่าวไปข้างต้นล้วนเป็นเสรีภาพของมนุษย์ที่สามารถเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้ แต่เราอยู่ในสังคมที่เชื่อแบบนี้มาโดยตลอด พ่อแม่มักจะสอนลูกในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูก มองด้านหนึ่งก็โอเคที่จะสอนลูกแบบนี้ แต่ก็ต้องมองอีกด้านด้วยว่าสิ่งที่พ่อแม่คิดว่าถูกต้องเป็นการละเมิดสิทธิลูกหรือเปล่า  

ต้องรอให้เด็กอายุเท่าไหร่ถึงโพสต์ภาพเด็กได้

ชูวิทย์แสดงความเห็นกับประเด็นนี้ไว้ว่า ไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็โพสต์ได้ แต่ต้องไม่ทำให้เด็กรู้สึกอับอายในอนาคต สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ อย่าลืมที่ถามเขาว่าโพสต์ภาพนี้ได้หรือไม่ หากไม่บอกหรือขอความยินยอม นั่นถือว่าพ่อแม่ล้ำเส้นลูก ดังนั้นพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ต้องฝึกเคารพสิทธิผู้อื่นด้วย ถึงแม้จะเป็นเด็กก็ตาม ด้านคำถามเรื่องพ่อแม่ผู้ปกครองจะโพสต์ภาพลูกได้ตอนอายุเท่าไหร่นั้น นครบอกว่า ในอนุสัญญาไม่ได้เขียนบอกไว้ชัดว่าจะต้องอายุเท่าไร แต่ภาพที่โพสต์แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่เด็ก ก็คงต้องเอาผิดคนที่นำภาพหรือข้อมูลคนอื่นไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต

กฎหมายที่ช่วยคุ้มครองสิทธิเด็กในวันที่ยังไม่สามารถยอมรับหรือปฏิเสธการโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียได้

ชูวิทย์กล่าวว่า หากอนาคตมีข้อพิพาทเรื่องการโพสต์รูปภาพระหว่างเด็กและพ่อแม่  ก็จะมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกี่ยวข้องกับะการนำาข้อมูลหรือภาพเด็กไปลงในสื่อจนเกิดความเสียหายโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีพ.ร.บ.ว่าด้วยเรื่องของศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับนี้ ห้ามเอาเสียงหรือภาพเด็กไปเผยแพร่โดยไม่ยินยอม มีบทลงโทษทั้งจำทั้งปรับ  อย่างข่าวคดีน้องชมพู่ เด็กหญิงวัย 3 ขวบเสียชีวิตอย่างปริศนาที่อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ถูกทำข่าวเรียกเรตติ้ง ทั้งการนำเสนอภาพ พิกัดบ้านของผู้ตายชัดเจน รวมถึงการบุกไปสัมภาษณ์น้องสะดิ้งแหล่งข่าวเยาวชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครอง ก็ได้เข้าร้องเรียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในนามมูลนิธิฯ เรื่องการนำเสนอข่าวละเมิดสิทธิเด็ก ซึ่งมีสองช่อง ช่องถูกกสทช. ลงโทษจากการที่นำเสนอข่าวเช่นนั้น ซึ่งถูกปรับ 250,000 บาทต่อช่อง แม้กระทั่งนักข่างก็ยังไม่รู้เกี่ยวกับบกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ และสื่อ คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ สื่อยอมหลายสำนักยอมทิ้งจรรยาบรรณเพื่อแลกกับเรตติ้ง ดังนั้นสิควรตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น แลเช่วยกันทำข่าวที่ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก

แต่นครมองว่าเรื่องนี้เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เรื่องการนำภาพหรือข้อมูลคนอื่นไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับยินยอม แต่พ.ร.บ.นี้ถูกเลื่อนบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี พอไม่มีกฎหมายฉบับนี้ เราต้องหาทางเอาผิดด้วยกฎหมายอื่น นครแนะนำว่าควรฟ้องละเมิดหรือหมิ่นประมาท และฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเพื่อเอาเรื่องการโพสต์ภาพลงโซเซียลมีเดียจนกิดความเสียหาย

พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่บังคับใช้ 1 มิ.ย.นี้พูดถึงเรื่องการโพสต์ภาพเด็กไว้ว่าอย่างไร 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 65  The Momentum ได้เขียนรายงานเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฉบับประชาชน: บันทึกภาพ/แชร์ภาพคนอื่น ผิดกฎหมาย? ว่า หากไม่มีอะไรผิดพลาด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกบังคับใช้วันที่ 1 มิ.ย.65 หลักถูกเลื่อนการบังคับใช้มาแล้ว 3 ปี  โดยพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลหรือชื่อย่อว่า PDPA (Personal Data Protection Act) ออกมาเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงการโพสต์ภาพลูกบนสื่อโซเชียลมีเดียด้วย 

ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล หนึ่งในทีมงานวิจัยโครงการของศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้ตอบคำถามเรื่องการอัพรูปเด็กน่ารักๆ ละเมิดสิทธิใครไหมว่า “ภาพถ่ายเด็กมีความอ่อนไหวแน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้ส่วนบุคคล ก็ถือว่าไม่เป็นปัญหา แต่จะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อมีการนำภาพเด็กไปโปรโมท เพราะตัวเด็กไม่ได้มีความสามารถในการปฏิเสธด้วยตัวเอง ต้องระมัดระวังในเรื่องนี้” 

ในรายงานข่าวยกตัวอย่างกรณีเด็กสาวชาวออสเตรียวัย 18 ปียื่นฟ้องพ่อแม่ที่อัพรูปภาพวัยเด็กของเธอมากกว่า 500 ภาพลงในโซเชียลมีเดีย ศาลตัดสินให้พ่อแม่จ่ายค่าปรับจำนวน 1.7 ล้านบาท 

“เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แม้ว่าเด็กจะเป็นลูกเรา แต่ภาพถ่ายเด็กมีเรื่องความปลอดภัยด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องเจตจำนง เพราะภาพที่ลงไปอาจทำให้เด็กไม่ปลอดภัย คนอื่นสามารถรู้ว่าเด็กคนนี้ไปโรงเรียนนี้ เวลานี้ ซึ่งคนจะลักพาตัวก็ตามโพสต์ไปเลย ไม่ได้ยากอะไร เด็กๆ ดูแลตัวเองไม่ได้เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องเจตจำนงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการคุ้มครองเด็กด้วย” ฐิติรัตน์กล่าวไว้ 

และช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘ตุ๊ดส์review’ ได้ออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็นเรื่องปุ้มปุ้ยไม่เปิดหน้าลูกจนกว่าลูกจะโต แอดมินเสนอ 3 ประเด็นพ่อแม่ในฐานะผู้พิทักษ์ความปลอดภัย และคุ้มครองเด็ก ต้องใส่ใจ 

1. ในวัยที่เด็กยังขาดความสามารถในการสื่อสารความต้องการหรือไม่ต้องการได้ พ่อแม่ต้องเป็นผู้ตัดสินใจและคุ้มครองสิทธิให้นลูก

2. อย่าโพสต์ภาพเด็กจนเขารู้สึกว่าถูกขโมยความเป็นส่วนตัว  ไม่สามารถนำเสนอความเป็นตัวเองในแบบที่อยากจะนำเสนอเมื่อโตขึ้นแล้ว

3. พ่อแม่ควรคำนึงเรื่องความอันตรายและความปลอดภัยของลูก การโพสต์ภาพถ่าย คลิปวิดีโอ เช็คอิน จะทำให้เด็กกลายเป็นเป้านิ่งทางอาชญากรรมได้ ไม่ว่าจะเป็นการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การถูกลักพาตัว ไปจนถึ งCyber Bullying ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควบคุมไม่ได้

แอดมินทิ้งท้ายคำถามให้ชวนคิดไว้ว่า“อย่าลืมว่าคนอื่นเขาพิมพ์ไม่แคร์ความรู้สึกของลูกเราหรอก ถ้าพวกเขาโตขึ้นมารับรู้เรื่องแย่ๆ จากผลลัพธ์ที่มาจากโพสต์ของพ่อแม่ มันโอเคจริงๆแล้วเหรอ” 

สำหรับ ศิริลักษณ์ คำทา ผู้เขียนรายงานนี้ เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันร่วมฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

หมายเหตุ : ประชาไทมีการปรับแก้คำบางส่วนเมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 18 มิ.ย.2565 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net