ความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญากับสิทธิมนุษยชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“สวัสดีคะ คุณมีพัสดุตกค้างรอการส่ง กรุณากดศูนย์ เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่...”

“สวัสดีครับ คุณมียอดค้างชำระค่าบัตรเครดิต...”

เชื่อว่าผู้อ่านคงเคยได้พบประสบการณ์ถูกมิจฉาชีพแอบอ้างเช่นนี้หลายต่อหลายครั้ง การฉ้อโกงในรูปแบบนี้ หากต้นเสียงเกิดขึ้นในประเทศไทย กรณีก็คงไม่เป็นการยากที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายจะสืบทราบให้ได้ว่าใครกันแน่คือเจ้าของเสียงดังกล่าว และใครกันที่อยู่เบื้องหลังเครือข่ายซึ่งหลอกลวงผู้คนไม่เว้นในแต่ละวัน ในกรณีดังกล่าว พนักงานสอบสวนเพียงแต่ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรียก/ขอศาลออกหมายเรียกพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อสืบทราบตัวผู้กระทำความผิด รวมทั้งมีอำนาจตรวจค้นสถานที่ซึ่งเชื่อว่ามีการกระทำความผิด อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง การเข้าถึง/ได้รับพยานหลักฐานต่างๆ ไม่เรียบง่ายเพียงแค่นี้ เนื่องจากเครือข่ายผู้กระทำความผิด อีกทั้งผู้ให้บริการระบบที่ใช้เป็นช่องทางในการกระทำความผิดส่วนมากอยู่ในต่างประเทศ ในกรณีเช่นนี้ หากพนักงานสอบสวนต้องการพยานหลักฐานที่อยู่ต่างประเทศ พนักงานสอบสวนจำเป็นต้องร้องขอมายัง “อัยการสูงสุด” ในฐานะผู้ประสานงานกลางตาม พ.ร.บ. ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 เพื่อให้อัยการสูงสุด จัดทำคำร้องขอความช่วยเหลือในเรื่องเกี่ยวกับการสืบสวน สอบสวน คดีอาญาและส่งไปยังประเทศผู้รับคำร้องขอ ขอให้ช่วยดำเนินการเสาะหาพยานหลักฐานต่างๆ ที่จำเป็น แล้วจึงส่งมาเพื่อใช้ประกอบการดำเนินคดีในประเทศไทย...ครั้นเมื่อ พนักงานสอบสวนรู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่ไม่สามารถนำตัวกลับมาดำเนินคดีได้ในประเทศไทย พนักงานสอบสวนก็ต้องร้องขอให้ “อัยการสูงสุด” ในฐานะผู้ประสานงานกลางตาม พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 จัดทำคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ส่งไปยังประเทศซึ่งผู้ต้องหามีถิ่นที่อยู่ ขอให้ประเทศผู้รับคำร้อง ส่งตัวบุคคลดังกล่าวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย หลักการดังกล่าวมานี้ ใช้ได้กับกรณีความผิดประเภทอื่นภายใต้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่อาจแตกต่างกันไปแล้วแต่กรณี

“ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา” (mutual legal assistance) และ “การส่งผู้ร้ายข้ามแดน” (extradition) เป็นกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศแขนงหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลของประเทศต่างๆ ใช้เป็นเครื่องมือแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน โดยมีจุดมุ่งหมายในการร่วมกันป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม ความร่วมมือดังกล่าวทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในยุคสมัยที่เทคโนโลยีพาเราเข้าสู่โลกไร้พรมแดน ความสำคัญของความร่วมมือดังกล่าว เห็นได้จากการที่อนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นอนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (UNTOC) หรือ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNCAC) ล้วนแล้วแต่ให้ความสำคัญกับการประสานความร่วมมือผ่านกลไกการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางอาญาระหว่างประเทศสมาชิก

ยิ่งไปกว่านั้น เนื่องด้วยคงไม่มีใครหรือประเทศใดประสงค์อยากเห็นอาชญากรลอยนวลพ้นผิด และไม่อยากถูกขนานนามว่าประเทศของตนเป็นสวรรค์ของอาชญากร ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้บุคลากรซึ่งทำงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญาส่วนใหญ่ ถูกปลูกฝังให้มีทัศนคติในการพยายามแสวงหาความเป็นไปได้ในการทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกัน มากกว่าการมีทัศนคติในทางปิดกั้นไม่ให้เกิดความร่วมมือ ดังนั้น การพยายามทำความเข้าใจข้อจำกัดและกฎหมายภายในของประเทศอื่นๆ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติที่ดี รวมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพ (capacity building) ร่วมกันระหว่างผู้ปฏิบัติงานของประเทศต่างๆ จึงเป็นคุณลักษณะสำคัญในการปฏิบัติงานด้านความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญาซึ่งเห็นได้โดยทั่วไปในระดับสากล

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วถึงความจำเป็นในการทำความเข้าใจข้อจำกัดและกฎหมายภายในของประเทศผู้รับคำร้องขอความช่วยเหลือ ทั้งนี้เพราะแต่ละประเทศต่างมีระบบกฎหมายและกฎหมายภายในที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญามีลักษณะเฉพาะตัว กล่าวคือ เป็นการประสานความร่วมมือที่ผสมผสานกันระหว่างอำนาจของฝ่ายตุลาการและฝ่ายบริหารบนหลักการเคารพซึ่งอำนาจอธิปไตยและกฎหมายภายในของประเทศผู้รับคำร้องขอ นอกจากนี้ เนื่องจากการร่วมมือกันจับและส่งผู้ร้ายข้ามแดนเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศที่กระทบต่อสิทธิของบุคคลที่ถูกต้องการตัวโดยตรง จึงมีข้อพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ค่อนข้างเข้มงวด ทั้งนี้ หลักการสากลอันเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ต้องคำนึงถึงในการพิจารณาเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีตัวอย่างดังต่อไปนี้

การไม่ส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนเพราะเหตุ เสี่ยงต่อการถูกทรมาน

หลักการนี้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรอยู่ในมาตรา 3 ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ซึ่งห้ามมิให้รัฐภาคีส่งบุคคลใดเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังรัฐอื่นซึ่งมีมูลเหตุให้เชื่อได้ว่าบุคคลผู้นั้นอาจอยู่ในอันตรายจากการถูกทรมาน

การดำเนินคดีและการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม

ประเทศผู้รับคำร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมีความชอบธรรมที่จะปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดน หากมีเหตุให้เชื่อได้ว่า การร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการดำเนินคดีที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมเพราะเหตุ เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือ การส่งผู้ร้ายข้ามแดนอาจนำไปสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น มาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศผู้ร้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมภายใต้กฎหมาย สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยและเป็นธรรม สิทธิในการมีที่ปรึกษา สิทธิในการได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศผู้รับคำร้องอาจใช้เป็นเงื่อนไขในการประเมินว่าจะพิจารณาอนุมัติ/ปฏิเสธการส่งตัวบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดน

ความร้ายแรงของบทลงโทษ

ในบางกรณี ความร้ายแรงของบทลงโทษก็มีผลต่อการพิจารณาอนุมัติ/ปฏิเสธการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ความผิดที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น มีอัตราโทษถึงประหารชีวิตตามกฎหมายของประเทศที่ร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในกรณีเช่นนี้ หากประเทศผู้รับคำร้องขอมีกฎหมายภายใน หรืออยู่ภายใต้บังคับพันธกรณีระหว่างประเทศซึ่งห้ามมิให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศที่บุคคลนั้นอาจต้องรับโทษประหารชีวิต หรือประเทศนั้นได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ประเทศผู้รับคำร้องขอก็อาจกำหนดเงื่อนไขให้ประเทศผู้ร้องให้คำรับรองว่าหากมีการส่งตัวบุคคลให้เป็นผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว กรณีจะไม่มีการบังคับโทษประหารชีวิตต่อบุคคลนั้น ในส่วนของประเทศไทยนั้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่ในกรณีที่ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน หรือขอความร่วมมือในทางอาญาจากประเทศซึ่งปฏิเสธโทษประหารชีวิตนั้น พ.ร.บ. ส่งผู้ร้ายข้ามแดนฯ มาตรา 29 และ พ.ร.บ. ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญาฯ มาตรา 36/1 ได้กำหนดให้อำนาจรัฐบาลในการให้คำรับรองแก่ประเทศผู้รับคำร้องขอว่า กรณีจะไม่มีการประหารชีวิตบุคคลที่ร้องขอเป็นผู้ร้ายข้ามแดน หรือบุคคลในคดีที่ขอความช่วยเหลือทางอาญานั้น การให้คำรับรองดังกล่าว นัยหนึ่งก็คือการที่ประเทศผู้ร้องขอความช่วยเหลือ แสดงออกซึ่งการเคารพต่ออำนาจอธิปไตยและกฎหมายภายในของประเทศผู้รับคำร้องขอ โดยยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยประเทศผู้รับคำร้องขอนั้นเอง  

แนวทางปฏิบัติในการให้คำรับรองดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติกันในระดับสากล โดยไม่จำกัดเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาดังเช่นกรณีของประเทศไทย ประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างจีน (ปรากฏข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการจาก Amnesty International เชื่อว่าประเทศจีนมีการประหารชีวิตมากกว่าหนึ่งพันคนต่อปี) ก็มีกฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำคำรับรองในลักษณะดังกล่าวไว้เช่นเดียวกัน

แนวโน้มสถานการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศ

ที่น่าสนใจยิ่งขึ้นก็คือ การกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา และการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดยประเทศผู้รับคำร้อง ไม่จำกัดหรือหยุดนิ่งเพียงแง่มุมดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นเท่านั้น หากแต่ปรับเปลี่ยนไปตามพัฒนาการด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่า ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเริ่มขยายขอบเขตข้อเรียกร้องในการให้คำรับรองเกี่ยวกับการลงโทษ ซึ่งไม่จำกัดเพียงแค่โทษประหารชีวิตเพียงเท่านั้น หากแต่ยังมีแนวโน้มเรียกร้องให้ประเทศผู้ร้องขอผู้ร้ายข้ามแดน ต้องให้คำรับรองเกี่ยวกับการบังคับโทษจำคุก โดยเฉพาะโทษจำคุกตลอดชีวิตด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) ซึ่งได้เคยวางหลักการไว้ในคดี Vinter and Others v. United Kingdom ว่า ตามหลักการของมาตรา 3 แห่งอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (European Convention on Human Rights) การกำหนดบทลงโทษต้องคำนึงถึง “ความเป็นไปได้ในการลดโทษ” ทั้งนี้ หมายความว่า รัฐต้องจัดให้มีกลไกการทบทวนโทษจำคุก (review mechanism) โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐประเมินว่า บุคคลผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้นได้มีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ตามแนวทางในการฟื้นฟูผู้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของการลงโทษ อันอาจส่งผลต่อความชอบธรรมในการคงไว้ซึ่งโทษจำคุกหรือไม่ นอกจากนี้ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปยังได้วางหลักว่า กลไกการทบทวนดังกล่าวควรจัดให้มีขึ้นในเวลาไม่ช้ากว่า 25 ปี หลังจากมีการบังคับโทษจำคุกตลอดชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น บุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิตนั้น พึงมีสิทธิที่จะได้รู้ (นับตั้งแต่เวลาที่ตนต้องคำพิพากษา) ว่าตนต้องกระทำการใด และภายใต้เงื่อนไขใดเพื่อที่จะได้รับการปล่อยตัว และพึงได้รู้ว่ากลไกในการทบทวนดังกล่าวจะเกิดขึ้นเมื่อใด ดังนั้น หากการกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตในกรณีใดปราศจากกลไกดังกล่าวแล้ว ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป เห็นว่า การกำหนดโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้นไม่สอดคล้องกับมาตรฐานตามหลักการของมาตรา 3 แห่งอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน จากแนวคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปดังกล่าว ประกอบกับแนวทางปฏิบัติของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป กรณีจึงคาดการณ์ได้ว่า ประเทศที่ประสงค์จะขอความช่วยเหลือทางอาญาหรือขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปนั้น นอกจากต้องให้คำรับรองเกี่ยวกับการไม่บังคับโทษประหารชีวิตแล้ว กรณียังอาจจำเป็นต้องให้คำรับรองที่ชัดเจนว่า ประเทศของตนมีกลไกการทบทวนโทษจำคุกที่ได้มาตรฐานสอดคล้องกับอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชนดังที่กล่าวมาแล้ว มิเช่นนั้นอาจเป็นเหตุให้ประเทศผู้รับคำร้องขอมีความชอบธรรมในการปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือหรือส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่ประเทศผู้ร้องขอนั้นๆ

โดยที่พัฒนาการด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่เจริญแล้วยังคงไม่หยุดนิ่ง ดังนั้น เราจึงอาจได้เห็นการตั้งเงื่อนไขเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเด็นอื่นมากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากเงื่อนไขเกี่ยวกับโทษประหารชีวิตและโทษจำคุกตลอดชีวิตดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เงื่อนไขดังกล่าวอาจรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง เงื่อนไขเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และการปฏิบัติต่อนักโทษในเรือนจำ เป็นต้น

การตั้งเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติตามดังที่กล่าวมาแล้วนั้น หากพิจารณาโดยผิวเผินแล้ว อาจมองได้ว่าเป็นการสร้างเงื่อนไขอันเป็นอุปสรรคต่อการปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศ และเป็นการสร้างภาระงานเพิ่มเติมให้แก่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของประเทศผู้ร้องขอโดยไม่จำเป็น อย่างไรก็ดี หากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว จะเห็นได้ว่า กลไกการตั้งเงื่อนไขในประเด็นสิทธิมนุษยชนดังกล่าว เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในประเทศหนึ่งๆ (รวมทั้งประเทศไทย) และอาจช่วยลดช่องว่างของมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้อีกด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ หากบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมประสงค์ที่จะเห็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพทั้งในด้านการดำเนินคดีและติดตามผู้กระทำความผิดมารับโทษอย่างแท้จริง ต้องไม่ลืมที่จะช่วยกันยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนภายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้วยเช่นกัน

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: รองรัฐ พุ่มคชา ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท