Skip to main content
sharethis

สื่อในหมู่เกาะโซโลมอนไม่พอใจที่รัฐบาลปิดกั้นการทำข่าวกรณีทูตจีนเยือนประเทศของพวกเขา หลังเคยมีร่างข้อตกลงที่รั่วไหลออกมาระบุถึงความร่วมมือด้านความมั่นคงซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทั้งต่อคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในประเทศเอง และต่อการเมืองระหว่างประเทศอย่าประเด็นไต้หวันและออสเตรเลียได้


ที่มาภาพ: Solomon Islands Government Portal

2 มิ.ย. 2565 นักข่าวในประเทศหมู่เกาะโซโลมอนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของพวกเขาที่ทำการจำกัดเสรีภาพสื่อและวิจารณ์ความไม่โปร่งใสในช่วงที่ หวังอี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีน เดินทางเยือนหมู่เกาะโซโลมอนเพื่อพบปะกับนายกรัฐมนตรี มานัสเซห์ ดามูคานา ที่กรุงโฮนิอารา เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยที่มีการจำกัดการทำข่าวของสื่อและไม่มีการให้ข้อมูลที่เพียงพอเกี่ยวกับการพบปะหารือและวาระทางการเมืองของบุคคลเหล่านี้

หวังอี้ ได้เดินทางไปเยือนหมู่เกาะโซโลมอนเป็นแห่งแรกในการเดินทางเยือน 8 ประเทศในภูมิภาคแปซิฟิก เรื่องนี่สร้างความสนใจให้กับกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้อย่างมาก

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว หมู่เกาะโซโลมอน เพิ่งจะตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับทางการไต้หวันแล้วหันไประบุว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเข้าทางจีนแผ่นดินใหญ่ที่ต้องการให้ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตน สำหรับไต้หวันเองแล้ว ก่อนหน้าที่จะสูญเสียสัมพันธ์ทางการทูตกับหมู่เกาะโซโลมอนพวกเขาก็สูญเสียความสัมพันธ์กับหลายประเทศมาก่อน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีประเทศลาตินอเมริกา 5 ประเทศที่หันไปสนับสนุนจีน ทำให้ตอนนี้ไต้หวันมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเต็มรูปแบบกับ 14 ประเทศเท่านั้น

นับตั้งแต่ที่จีนก่อตั้งสถานเอกอัครราชทูตในหมู่เกาะโซโลมอน จีนก็กลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของประเทศนี้ และรัฐบาลของหมู่เกาะโซโลมอนก็เรียกจีนว่าเป็นคู่ค้าและหุ้นส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่

ก่อนหน้าที่หวังอี้จะเดินทางเยือนหมู่เกาะโซโลมอนในวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมา เขาก็ได้ลงนามในข้อตกลงขยายความร่วมมือระหว่างสองประเทศในหลายด้านมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในด้านการค้า, สิ่งแวดล้อม, การกีฬา และความมั่นคง อย่างไรก็ตามก่อนหน้าการเดินทางเยือนของหวังอี้ ยังเคยมีรายงานที่รั่วไหลออกมาระบุถึงเรื่องข้อตกลงระหว่างสองประเทศที่จะอนุญาตให้จีนตั้งฐานทัพบนหมู่เกาะโซโลมอนได้ เรื่องนี้ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ ถึงแม้ว่าจะเคยมีรายงานข่าวที่ระบุถึงการที่จีนสนใจที่จะสร้างสถานฝึกอบรมตำรวจในหมู่เกาะโซโลมอนก็ตาม

กรณีเรื่องความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะมาสร้างฐานทัพในหมู่เกาะโซโลมอนทำให้เกิดข้อถกเถียงตามมา จากการที่หมู่เกาะโซโลมอนมีข้อตกลงด้านความมั่นคงกับประเทศออสเตรเลียอยู่แล้ว และเป็นที่รู้กันว่าจีนกับออสเตรเลียหมางเมินกันทางการทูตมานานแล้ว และทั้งคู่ต่างก็กำลังพยายามแข่งขันกันเพื่อแผ่อิทธิพลของตัวเองในภูมิภาคแปซิฟิกและแอนตาร์กติกา

ทั้งนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์ชี้ว่าการที่หมู่เกาะโซโลมอนพยายามคานอำนาจทางการเมืองเช่นนี้อาจจะเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลอื่นๆ พยายามใช้จีนเป็นเครื่องมือต่อต้านสหรัฐฯ ในภูมิภาคที่สหรัฐฯ มองว่าเป็นกุญแจสำคัญต่อความมั่นคงของตัวเองด้วย ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลสะเทือนในระดับโลกได้

เนื่องจากการเยือนประเทศของหวังอี้ส่งผลในหลายๆ ด้าน ทำให้นักข่าวในหมู่เกาะโซโลมอนมีคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องข้อตกลงด้านความมั่นคงที่ลือกันไว้ และเรื่องขอบเขตของข้อตกลงอื่นๆ ที่ทั้งสองประเทศนี้จะลงนามร่วมกัน แต่นักข่าวเหล่านี้ก็วิจารณ์รัฐบาลว่าไม่มีความโปร่งใสในเรื่องเหล่านี้ในช่วงที่มีการเดินทางเยือนของหวังอี้ และมีการจำกัดการทำงานของสื่อในช่วงที่มีการจัดประชุมแถลงข่าวโดยกระทรวงการต่างประเทศ มีนักข่าวบางคนที่วิจารณ์ว่าพวกเขาไม่สามารถทำข่าวการมาเยือนของหวังอี้ได้อย่างเต็มที่เพราะข้อจำกัดของรัฐบาล

นอกจากนี้สมาคมสื่อแห่งหมู่เกาะโซโลมอน (MASI) ได้ตั้งคำถามว่าทำไมนักข่าวในประเทศบางส่วนถึงถูกห้ามไม่ให้ซักถามในช่วงที่มีการประชุมแถลงข่าวที่มีการพบปะระหว่างหวังอี้กับเจเรมีอาห์ มาเนเล รัฐมนตรีต่างประเทศของหมู่เกาะโซโลมอน การสร้างข้อจำกัดต่อสื่อบางแห่งอย่างเลือกปฏิบัติเช่นนี้เองทำให้ MASI ขู่ว่าจะบอยคอตต์การจัดประชุมของรัฐบาลในครั้งนี้

MASI แถลงว่า "สมาคมสื่อแห่งหมู่เกาะโซโลมอนเติบโตได้ด้วยการทำข่าวแบบมืออาชีพและมองไม่เห็นเหตุผลใดๆ ที่จะปล่อยให้นักข่าวถูกกีดกันเลือกปฏิบัติบนฐานที่ว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของใคร การรับรองนักข่าวที่ได้รับคัดเลือกแค่เพียงบางคนถือเป็นสัญญาณของการเล่นพรรคเล่นพวก นักข่าวทุกคนควรจะได้รับอนุญาตให้ทำงานของตัวเองได้โดยปราศจากความกลัวหรือการปฏิบัติอย่างลำเอียง"

"MASI เรียกร้องให้สมาชิกบอยคอตต์งานประชุมแถลงข่าวของ จีน กับ หมู่เกาะโซโลมอน เพราะพวกเรามองไม่เห็นเหตุผลที่จะเข้าร่วม MASI ขอแสดงจุดยืนต่อต้านการกีดกันเลือกปฏิบัติ"

ผู้แทนฝ่ายรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอน คอลลิน เบก โต้ตอบในเรื่องนี้ว่า ถึงแม้ MASI จะประกาศบอยคอตต์การประชุมแถลงข่าวของจีนและโซโลมอนแต่ก็มีการทำข่าวจาก "นักข่าวประจำชาติ" ของพวกเขา และกล่าวหาว่าคนบางกลุ่มพยายามจะ "ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศหมู่เกาะโซโลมอน"

สมาคมสื่อแห่งวานูอาตู ได้ออกแถลงการณ์ในเรื่องนี้แสดงการยืนหยัดเคียงข้างเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อในหมู่เกาะโซโลมอน โดยระบุว่า "การที่(รัฐบาล)ไม่อนุญาตให้สื่อเรียกร้องให้มีการตอบข้อซักถามจากรัฐบาลและจากผู้แทนจีนนั้น ถือเป็นการตบหน้าหลักการเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและหลักการประชาธิปไตย" ซึ่งวานูอาตูเป็นประเทศหมู่เกาะอีกแห่งหนึ่งบนมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ตั้งทางตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่เกาะโซโลมอน

สหพันธ์นักข่าวนานาชาติ (IFJ) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานผู้สื่อข่าวระดับโลกยังได้ออกแถลงการณ์เตือนรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนว่า "การจำกัดนักข่าวและองค์กรสื่อในการทำข่าวเกี่ยวกับผู้แทนจีนเดินทางเยือนหมู่เกาะโซโลมอนนั้น ทำให้เกิดแบบอย่างที่น่าเป็นห่วงสำหรับกรณีเสรีภาพสื่อในภูมิภาคแปซิฟิก"

ข้อตกลงระหว่างจีนกับหมู่เกาะโซโลมอนส่งผลอะไร?

จากเนื้อหาร่างข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างจีนกับหมู่เกาะโซโลมอนที่รั่วไหลออกมาล่าสุดสถาบันบรูกกิงส์ ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองจากสหรัฐฯ ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า ร่างข้อตกลงนี้อาจจะเป็นการเปิดทางให้จีนพยายามแทรกแซงทางการเมืองต่อประเทศหมู่เกาะโซโลมอนประเทศอื่นๆ ในละแวกนั้นเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับรัฐบาลที่สนับสนุนพวกเขา

จากที่ร่างข้อตกลงที่รั่วไหลออกมาระบุว่า ทางการจีนจะส่งกำลังตำรวจติดอาวุธ กำลังทหาร และกำลังหน่วยงานบังคับกฎหมายอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนในการ "รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคม" และนายกรัฐมนตรีของหมู่เกาะโซโลมอนก็เคยกล่าวไว้ว่าการทำข้อตกลงด้านความมั่นคงกับจีนมีความจำเป็นในการต่อต้าน "ภัยคุกคามภายในประเทศ"

สำหรับคำถามที่ว่า ข้อตกลงของกลุ่มประเทศแปซิฟิกเหล่านี้จะส่งผลต่อยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของสหรัฐฯ หรือไม่นั้น บรูกกิงส์วิเคราะห์ว่า ประเทศจีนไม่ใช่ผู้เล่นเดียวในการแทรกแซงเรื่องความมั่นคงของหมู่เกาะโซโลมอน ในอดีต ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ในแถบภาคพื้นแปซิฟิกก็เคยส่งกองกำลังเข้าไปช่วยเหลือรัฐบาลหมู่เกาะโซโลมอนในปฏิบัติการรักษาสันติภาพมาก่อนแล้ว และออสเตรเลียก็เคยถูกวิจารณ์เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมาว่าส่งกองกำลังไปช่วยเหลือฝ่ายปราบปรามผู้ประท้วงในหมู่เกาะโซโลมอนหลังจากที่นายกรัฐมนตรีหมู่เกาะโซโลมอนเรียกร้องให้ส่งกองกำลังไปช่วย "เสริมขวัญกำลังใจ" ให้กับรัฐบาล

อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับหมู่เกาะโซโลมอนล่าสุดก็ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ต่อต้านรัฐบาลในหมู่เกาะโซโลมอนและในกลุ่มประเทศอื่นๆ แถบภูมิภาคนั้นที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานการณ์ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศนี้การขาดความโปร่งใสอย่างสิ้นเชิง รวมถึงมีข้อกล่าวหาการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น และมีความกลัวว่าจีนจะช่วยเหลือในการกดขี่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลโดยอาศัยหน่วยงานความมั่นคงกับเทคโนโลยีของพวกเขาด้วย

บรูกกิงส์ระบุว่าด้วยความที่ร่างข้อตกลงปัจจุบันยังมีการใช้ภาษาคลุมเครือที่เปิดให้มีการตีความได้กว้างขวาง จึงควรต้องจับตาดูต่อไปว่าร่างข้อตกลงสุดท้ายของพวกเขาจะเป็นอย่างไร


เรียบเรียงจาก
The Chinese foreign minister's visit to the Solomon Islands has been shrouded in secrecy and press restrictions, Global Voices, 31-05-2022
Does the China-Solomon Islands security pact portend a more interventionist Beijing?, Brookings, 06-05-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net