Skip to main content
sharethis

ญาติ ผู้เสียหายและทีมกฎหมาย ขอเข้าพบทูตกัมพูชาในประเทศไทย หวังถามความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถูกลักพาตัว แต่สถานทูตไม่ให้เข้า ตร. ไทยรับประสาน บอกให้ไปยื่นหนังสือที่กระทรวงการต่างประเทศ พี่สาวระบุ อัดอั้นตันใจ ทำทุกอย่าง แต่ 2 ปี กลับไม่มีอะไรคืบหน้า 

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (กลาง) และคณะ ถ่ายภาพหน้าป้ายสถานทูตฯ กัมพูชาประจำประเทศไทย

2 มิ.ย. 2565 สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ทีมนักกฎหมาย ทีมงานจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และคณะ เดินทางไปยังหน้าสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ถ.ประชาอุทิศ เพื่อยื่นหนังสือสอบถามความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนกรณีที่วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ถูกลักพาตัวที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อ 4 มิ.ย. 2563 ว่าทางศาลกัมพูชามีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณหน้าสถานทูตฯ มีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบจำนวนราว 10 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอีกจำนวนหนึ่งมาประจำการรออยู่ และมีการนำรั้วมากั้นพื้นที่หน้าป้ายของสถานทูตฯ 

เมื่อมาถึงสถานทูตฯ ผู้ยื่นหนังสือพยายามจะขอเข้าไปพบและสอบถามความคืบหน้าจากเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสถานทูตฯ ทางเจ้าหน้าที่ของสถานทูตยังได้พยายามห้ามนักข่าวถ่ายภาพในช่วงที่มีการพูดคุยกัน ต่อมา พ.ต.ต. สาโรจ สมหารวงศ์ ได้เข้าไปพูดคุยกับผู้ยื่นหนังสือและระบุว่าทางสถานทูตฯ ได้ฝากมาให้ประสานงานให้ผู้ยื่นหนังสือไปดำเนินการยื่นหนังสือกับกระทรวงการต่างประเทศของไทยแทน

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขณะพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สถานทูตและตำรวจของไทย

สิตานันกล่าวว่า เหตุใดทางการไทยกับกัมพูชาถึงมีลักษณะโยนเรื่องกันไปมา ทั้งสองประเทศปฏิเสธตลอดมาในเรื่องเหตุการณ์การหายตัวไปของวันเฉลิม ขอถามว่าวันเฉลิมเป็นคนไทยหรือไม่ ตลอดเวลาที่ผ่านมา พบว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐมีอยู่สี่มาตรฐาน สองมาตรฐานแรกคือคนรวยและคนมีชื่อเสียง สองมาตรฐานหลังคือเรื่องเกี่ยวกับการเมือง และคดีของคนจน ซึ่งมาตรฐานนี้ก็ทำให้รู้สึกอัดอั้นตันใจ และฝากให้ทุกคนติดตามเรื่องผู้ต้องขังในคดีการเมืองอื่นๆ ที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วย

“สิ่งที่เกิดกับวันเฉลิม ไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้เลยเหรอคะ สองปีแล้วนะคะ เรายื่นหนังสือจนไม่รู้จะไปยื่นที่ไหนอีกแล้วค่ะ ทางการไทยกับกัมพูชาก็ยังนิ่งเฉยอยู่เหมือนเดิม” สิตานันกล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่าจะดำเนินการติดตามความคืบหน้าไปเรื่อยๆ เพื่อไม่ให้มีกรณีการสูญหายอีกต่อไป และเรียกร้องให้วุฒิสภาดำเนินการผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายได้แล้ว

มนทนา ดวงประภา ฝ่ายข้อมูลและนักกฎหมาย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ปัจจุบันคดีการหายตัวไปของวันเฉลิมอยู่ภายใต้การสืบสวนสอบสวนของศาลแขวงกัมพูชา ทางครอบครัวก็คาดหวังว่ากระบวนการจะยังดำเนินไปอยู่ ต้องตั้งคำถามว่า ทางกัมพูชาได้สืบสวนสอบสวนหลักฐานที่ทางสิตานันได้ยื่นให้ศาลกัมพูชาไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 และ ม.ค. 2564 ไปถึงไหนแล้ว และหากสอบสวนเสร็จแล้ว ได้แจ้งให้ครอบครัวทราบหรือไม่

ในส่วนของประเทศไทย มนทนาตั้งคำถามว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รับเรื่องกรณีวันเฉลิมมาสองปีแล้ว ทาง DSI ได้ดำเนินการอะไรต่อหรือไม่ ในส่วนของอัยการสูงสุด (อสส.) องค์กรที่มีอำนาจสืบสวนสอบสวนกรณีนอกราชอาณาจักร ได้มีความคืบหน้าอย่างไรหรือไม่ และสามารถทำงานร่วมกับ DSI ได้หรือไม่

ก่อนเดินทางกลับ สิตานันได้หย่อนจดหมายสอบถามความคืบหน้าที่กล่องไปรษณีย์หน้าสถานทูตฯ

สำหรับความคืบหน้าทางคดีล่าสุด ข้อมูลจากจดหมายของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่ถูกจัดทำมายื่นให้กับสถานทูตฯ ระบุว่า สิตานันได้รับหนังสือตอบกลับจาก อสส. ลงวันที่ 19 พ.ค. 2565 ชี้แจงเพียงว่าได้สอบถามไปยังกรมการกงสุลเพื่อขอทราบความคืบหน้าจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชาและศาลแขวงพนมเปญ โดยได้รับหนังสือตอบกลับในวันที่ 24 ก.พ. 2565 ว่าคดีอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนเพิ่มเติมของศาลชั้นต้น ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นความลับและไม่สามารถให้ข้อมูลกับผู้ใดได้ และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป 

ส่วนทาง DSI มีหนังสือลงวันที่ 1 มี.ค. 2565 แจ้งสิตานันว่ากรมฯ รับเรื่องวันเฉลิมเป็นคดีสืบสวนที่ 13/2564 ซึ่งได้สอบถ้อยคำ รับข้อมูลเอกสาร และประสานขอข้อมูลจากองค์กรอื่นในไทยและกัมพูชา นอกจากความคืบหน้าเหล่านี้ สิตานันไม่ได้รับทราบรายละเอียดอื่นใดเพิ่มเติม

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีข้อเรียกร้องในกรณีวันเฉลิมสามข้อ ดังนี้

  1. รัฐบาลกัมพูชาจะต้องทำการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ชักช้า ตามมาตรการที่จำเป็นในการทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับผิดในทางอาญา
  2. ศาลชั้นต้นกรุงพนมเปญต้องประกันสิทธิของผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยชอบธรรมในการเข้าถึงข้อมูลและความคืบหน้าของการสืบสวนสอบสวนในกรณีวันเฉลิม ป้องกันไม่ให้เกิดความล่าช้าที่ไม่มีเหตุผลอันสมควรในการค้นหาผู้สูญหาย รวมทั้งหลักที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้สูญหายยังมีชีวิตอยู่ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การต้องเริ่มสืบสวนสอบสวนอย่างเร่งด่วนและการใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม
  3. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องเคารพพันธกรณีที่จะต้องค้นหาผู้สูญหายต่อไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าชะตากรรมของผู้สูญหายจะเป็นที่ปรากฏ โดยปราศจากข้อแม้ประการใด

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองหลังการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันเฉลิมหนีออกจากประเทศก่อนที่ทหารจะเข้าถึงตัว หลังจากนั้น คำสั่ง คสช. เมื่อ 1 มิ.ย. เรียกตัววันเฉลิมไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก และหลังจากนั้นราว 1 สัปดาห์ วันเฉลิมถูกออกหมายจับในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) จากการเป็นแอดมินเพจ ‘กูต้องได้ร้อยล้านจากทักษิณแน่ๆ’ เพจล้อเลียนการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร ที่วันเฉลิมเป็นแอดมินเพจ 

1 ปี ‘วันเฉลิม’ หาย: สืบสวนไม่คืบหน้า ไม่รู้ชะตากรรม แต่พบร่องรอยชีวิตในกัมพูชาเพิ่ม 

 

ผู้ลี้ภัยการเมืองไทยทิ้งคำพูดสุดท้าย 'หายใจไม่ออก' ก่อนถูกคนร้ายอุ้มหายในพนมเปญ

หลังจากเดินทางผ่านประเทศอื่นๆ วันเฉลิมได้ใช้ชีวิตอยู่ที่คอนโดมิเนียมแม่โขงการ์เด้นในเขตชรอยชางวารของกรุงพนมเปญ โดยใช้ชื่อ ‘ซก เฮง’ ในรายงานพิเศษวาระครบรอบการหายตัวไป 1 ปี ได้สัมภาษณ์แหล่งข่าวจำนวนหนึ่งซึ่งระบุถึงการใช้ชีวิตของวันเฉลิมในประเทศกัมพูชาและความพยายามของเจ้าหน้าที่รัฐไทยในการติดตามเก็บข้อมูลชีวิตและที่อยู่ของวันเฉลิม

ในวันที่ 4 มิ.ย. 2563 วันเฉลิมถูกกลุ่มคนไม่ทราบฝ่ายล็อกคอแล้วนำตัวขึ้นรถไปจากบริเวณหน้าคอนโดมิเนียมดังกล่าวขณะคุยโทรศัพท์กับสิตานัน พร้อมกับคำพูดว่า “โอ๊ย หายใจไม่ออก” ก่อนที่สายจะตัดไป ภาพกล้องวงจรปิดที่เผยแพร่ในวันถัดมาเผยให้เห็นรถยนต์ SUV สีน้ำเงินเข้มยี่ห้อโตโยต้า ไฮแลนเดอร์ ที่คาดว่ามีวันเฉลิมอยู่ด้านใน ปรี่ออกจากแม่โขงการ์เด้น ในฟุตเทจยังเห็นคนอีกสองคนที่คาดว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่พยายามจะเข้าไปช่วยเหลือแต่ไม่สำเร็จ

ณ วันที่ 2 มิ.ย. 2565 ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการในทางสาธารณะใดๆ เกี่ยวกับชะตากรรมของวันเฉลิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net