สุรพศ ทวีศักดิ์: คำถามต่อผู้ทรงคุณวุฒิประเมินงานวิจัย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ประเพณีหรือระเบียบข้อบังคับของโลกทางวิชาการกำหนดว่า ต้องมีการประเมิน “คุณภาพ” ของงานวิชาการ งานวิจัย โดย “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในสาขาวิชานั้นๆ เพื่อเป็นหลักประกันให้ได้ผลงานออกมาถูกต้องทางวิชาการ มีคุณภาพ หรือมี “ความใหม่” หรือมีความก้าวหน้า มีคุณค่าแก่วงวิชาการและสังคม ซึ่งโดยหลักการแล้วเราต่างเห็นด้วยกับระบบประเมินเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม หลายคนที่ผ่านประสบการณ์การถูกประเมิน ก็ย่อมจะมีอย่างแน่นอนอนที่พบว่าการประเมินนั้นๆ “สมเหตุสมผล” ข้อวิจารณ์และข้อเสนอแนะต่างๆ ของผู้ทรงฯ มีประโยชน์ต่อการแก้ไขปรับปรุงงานให้ดีขึ้น และ “ใบประเมิน” นั้น ก็นำไปใช้ประโยชน์ได้ในการขอ “ตำแหน่งทางวิชาการ” เป็นต้น 

แต่ความจริงคือ การประเมินไม่จำเป็นต้องตรงกับความคิด หรือความรู้สึกของผู้ถูกประเมินเสมอไป เพราะผู้ทรงฯ แต่ละคนต่างมีมาตรฐานของตนเอง และ “มาตรฐาน” นั้นสมเหตุผลหรือไม่เพียงใด ย่อมอยู่ที่ข้อวิจารณ์และข้อเสนอแนะประกอบการประเมินของเขา

จากประสบการณ์ของผมที่ถูกประเมิน งานวิจัยชิ้นแรกที่ทำ ผู้ประเมินเป็น ศ. ทั้งสองคนประเมินให้ระดับ “ดีมาก” แต่ผมรู้สึกว่างานตัวเองไม่ได้ดีมากขนาดนั้นเลย เพราะเป็นงานชิ้นแรกที่ทำหลังจากเรียนจบมานานมาก งานชิ้นที่สองที่คิดว่าตนเองทำได้ดีขึ้น แต่ผลประเมินได้ระดับ “ดี” ซึ่งผมยอมรับข้อวิจารณ์และเหตุผลของผู้ประเมินว่าสมเหตุสมผลและมีประโยชน์กับการทำงานให้ดีขึ้น อีกชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์เป็นเล่มหนังสือที่มีผู้วิจารณ์และพูดถึงมากกว่าเล่มก่อนๆ ทั้งในด้านที่ติและชม แต่ผู้ทรงฯ เขียนคำวิจารณ์ตอนประเมินงานมาหลายหน้ากระดาษด้วยลายมือที่ผมต้อง “แกะ” อ่าน ซึ่งทำให้เกิดคำถามในใจว่าผู้ทรงฯ กำลังประเมิน “ความถูกต้องทางวิชาการ” หรือประเมิน “จุดยืน” ของผู้วิจัยที่วิพากษ์ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาแบบไทย แต่ก็โล่งใจว่างานวิจัย “ผ่าน” ได้โดยแก้ไขบางส่วน 

งานวิจัยล่าสุด ผู้ทรงฯ คนแรกประเมิน “การมีคุณค่าทางวิชาการ” ว่า “มีคุณค่าทางวิชาการมาก” และไม่ต้องแก้ไข สมควรเผยแพร่งานในวงกว้าง คนที่สองประเมินว่า “มีคุณค่าทางวิชาการมาก” และให้แก้ไขบางส่วน โดยให้ข้อสังเกต, คำถามที่มีเหตุผล และมีประโยชน์แก่การทำให้งานดีขึ้น และคนที่สามประเมินว่า “ไม่มีคุณภาพทางวิชาการ” และต้องแก้ไข ซึ่งข้อวิจารณ์ส่วนหนึ่งของผู้ทรงฯ คนนี้มีเหตุผลและมีประโยชน์ในการปรับปรุงงานให้ดีขึ้น

แต่ผมมีคำถามบางอย่างต่อ “ท่าที” ของผู้ทรงฯ จากที่เขา “โควท” ข้อความในงานผมมาวิจารณ์ เช่นที่เขาโควทมาว่า 

"สังคมไทยกำลังเผชิญความท้าทายมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมกระแสหลัก หรือวัฒนธรรม ‘ความเป็นไทย’ ที่เน้นมิติของความเป็นอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมครอบทุกวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ ที่เหลือให้อยู่ภายใต้อุดมการณ์จิตสำนึกจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ระแวงการเปลี่ยนแปลง กับวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ดีกว่าบนการเน้นเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตย และความก้าวหน้า ข้อเสนอของงานวิจัยนี้คือ เราควรจัดการเรียนรู้ ผ่านการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เพื่อสร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ร่วมกันว่า สังคมพหุวัฒนธรรมต้องมีเสรีภาพเป็นคุณค่าแกนกลางที่คนทุกศาสนาและวัฒนธรรมยึดถือร่วมกัน..."

จากนั้นผู้ทรงฯ ก็วิจารณ์ว่า

“ข้อความนี้สะท้อนจุดยืนแบบ illiberal ของนักวิจัย การเห็นว่าสามารถนำเสรีนิยม ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งวัฒนธรรม ไปกำหนดวัฒนธรรมอื่นๆ ในโลกได้ เป็นท่าทีอำนาจนิยม มุ่งครอบงำและจำกัดเสรีภาพของวัฒนธรรมอื่น อันนี้คือโจทย์สำคัญประการหนึ่งที่พหุวัฒนธรรมนิยมเชิงเสรีนิยมต้องตอบ จากมุมมองนี้การกล่าวว่าเสรีนิยมเป็นสากล เป็น ‘วัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่’ ถือเป็น ความหลอกลวงที่ปัญญาชนต้องเปิดโปง ถ้าผู้วิจัยไม่เห็นด้วยกับ ‘อำนาจนิยมครอบทุกวัฒนธรรม’ อย่างจริงใจ ก็มี ข้อเสนอแนะให้ทบทวนท่าทีเช่นนี้ด้วย”

จะเห็นว่า ข้อวิจารณ์ของผู้ทรงฯ ไม่เกี่ยวกับ “เนื้องาน” ของผู้วิจัยโดยตรง แต่โฟกัสที่ “จุดยืนแบบ illiberal ของผู้วิจัย” และ “ท่าที” ของผู้วิจัย โดยผู้ทรงฯ ใช้คำตัดสินคำใหญ่ๆ เช่น ผู้วิจัยใช้ “ท่าทีอำนาจนิยม” ที่มุ่งครอบงำและจำกัดเสรีภาพของวัฒนธรรมอื่น ตัดสินกว่าผู้วิจัยกล่าวว่าเสรีนิยมเป็นสากล เป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ และผู้ทรงฯ ยังยืนยันว่า “ถือเป็นความหลอกลวงที่ปัญญาชนต้องเปิดโปง” เลยทีเดียว

อันที่จริงผมไม่มีปัญหากับคำตัดสินใหญ่ๆ เช่น ใช้ “ท่าทีอำนาจนิยม” หรือ “ถือเป็นความหลอกหลวงที่ปัญญาชนต้องเปิดโปง” และ “มีข้อเสนอแนะให้ทบทวนท่าทีเช่นนี้ด้วย” ซึ่งดูออกจะเป็น “โทนเสียง” หมิ่นแคลน หรือออกแนว “สั่งสอน” ก็ตาม จริงๆ แล้วคำพวกนี้เป็น “คำทางวิชาการ” ได้อยู่แล้ว (ไม่ใช่แค่คำโจมตี/ย้อมสีจากอคติบางอย่าง) แม้แต่คำว่า “งานเหี้ยๆ/ข้อเสนอเหี้ยๆ” ก็เป็นคำทางวิชาการได้ หากคนที่ใช้คำเหล่านี้แสดงเหตุผลประกอบอย่างสมเหตุสมผลจากการอ่านงานของคนอื่นแบบ “จับความหมาย/สาระสำคัญที่เขาเสนอ” อย่างตรงไปตรงมา เช่น ถ้าอ่านตรงๆ ตามข้อความที่ผู้ทรงฯ โควทมา จะพบว่ามี 2 ตอน คือ 

1. ข้อความที่ผู้วิจัยสรุปภาพรวมของปรากฏการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทย ว่า "สังคมไทยกำลังเผชิญความท้าทายมากขึ้นในปัจจุบันและอนาคต นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างวัฒนธรรมกระแสหลัก หรือวัฒนธรรม ‘ความเป็นไทย’ ที่เน้นมิติของความเป็นอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมครอบทุกวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ ที่เหลือให้อยู่ภายใต้อุดมการณ์จิตสำนึกจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ระแวงการเปลี่ยนแปลง กับวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ที่เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ดีกว่าบนการเน้นเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตย และความก้าวหน้า” 

ข้อความนี้ สะท้อน “ข้อเท็จจริง” ที่เห็นได้ชัดเจนมากในปัจจุบัน วัฒนธรรมกระแสหลักของไทยคืออะไรที่ถูกใช้อ้างปฏิเสธข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ที่มีจุดยืนบนการเน้นเสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ ประชาธิปไตย และความก้าวหน้า ข้อมูลเหล่านี้เตะตาและสัมผัสความรู้สึกของเราอยู่ทุกวี่ทุกวัน 

ง่ายๆ เลยลองอ่านคำให้สัมภาษณ์ “กลุ่มทะลุวัง” ดูก็ได้ว่าจุดยืนในการต่อสู้ของพวกเขาคืออะไร และพวกเขาสู้กับอะไร หรือมองภาพใหญ่ขึ้น มวลชนที่เสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จุดยืนของพวกเขาคืออะไร พวกเขากำลังสู้กับอะไร หรือมองปรากฏการณ์สังคมวงกว้าง นักเรียน นักศึกษากำลังสู้กับวัฒนธรรมอะไรที่บังคับยัดเยียดผ่านหลักสูตรการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม กฎระเบียบของสถาบันการศึกษา วิธีการลงโทษแบบอำนาจนิยมของครูอาจารย์ บรรดานักเรียนนักศึกษาเหล่านั้นสู้เพื่อ “เสรีภาพ” ในเซ็นส์ของเสรีนิยมหรือไม่ การเรียกร้องสมรสเท่าเทียมมีการพูดถึงเสรีภาพของปัจเจกบุคคลในเซ็นส์เสรีนิยมหรือไม่ (เป็นต้น) ซึ่งเถียงกันได้ 

2. ข้อความส่วนที่สองคือข้อเสนอของผู้วิจัย ว่า “ข้อเสนอของงานวิจัยนี้คือ เราควรจัดการเรียนรู้ ผ่านการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เพื่อสร้างความเข้าใจและการตระหนักรู้ร่วมกันว่า สังคมพหุวัฒนธรรมต้องมีเสรีภาพเป็นคุณค่าแกนกลางที่คนทุกศาสนาและวัฒนธรรมยึดถือร่วมกัน..."

คำถามคือ ข้อเสนอว่า “ต้องมีเสรีภาพเป็นคุณค่าแกนกลางที่คนทุกศาสนาและวัฒนธรรมยึดถือร่วมกัน” ซึ่งเป็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาการครอบงำของวัฒนธรรมเผด็จการอำนาจนิยมความเป็นไทย เป็นข้อเสนอบน “ท่าทีแบบอำนาจนิยม” อย่างไร ผู้ทรงฯ คงติดใจกับคำว่า “วัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่” แต่ที่จริงผู้ทรงฯ ก็อ่านบทความมาตลอดจนถึงบทสรุปนี้แล้ว เคยพบบ้างไหมว่าผู้วิจัยเสนอว่า “เสรีนิยมเป็นสากล” หรือเป็นวัฒนธรรมของโลกสมัยใหม่ที่มีความชอบธรรมในการครอบงำและจำกัดเสรีภาพของวัฒนธรรมอื่นทุกที่ในโลก จริงที่ว่ามันมีข้อถกเถียงในประเด็นปัญหานี้ (และผู้วิจัยได้เสนอให้เห็นประเด็นถกเถียงหลักๆ ในเรื่องนี้ไว้แล้วแต่แรก) แต่ข้อเสนอของผู้วิจัย (ตามที่ผู้ทรงโควทมาวิจารณ์) ไม่ใช่ข้อเสนอให้เอาเสรีนิยมไปใช้อย่างสากลกับทุกสังคมในโลกเลย แต่เสนอแก้ปัญหาของสังคมไทยว่า ถ้าบรรดาคนที่คิดต่างทางการเมือง ศาสนา วัฒนธรรมยึดถือเสรีภาพเป็นคุณค่าแกนกลางมันน่าจะเป็นทางออกให้เราอยู่ร่วมกันได้ดีกว่าไหม 

ข้อเสนอเช่นนี้มัน “ละเมิดเสรีภาพของวัฒนธรรมความเป็นไทย” อย่างไรหรือ ผู้ทรงมองว่า “เสรีภาพ” ของวัฒนธรรมความเป็นไทย ที่เน้นมิติของความเป็นอนุรักษ์นิยมและอำนาจนิยมครอบทุกวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ ที่เหลือให้อยู่ภายใต้อุดมการณ์จิตสำนึกจงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ระแวงการเปลี่ยนแปลงคืออะไร? คือ “เสรีภาพที่ไม่เท่าเทียม” ใช่หรือไม่? เพราะชนชั้นสูงและกลุ่มชนชั้นผู้ถือครองอำนาจรัฐและอำนาจทุนเครือข่ายเดียวกันมี “เสรีภาพล้นเกิน” ขณะที่คนในกลุ่มวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ และคนที่เรียกร้องเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองแบบเสรีนิยมถูกกดทับ ลดทอน และถูกละเมิด ต้องติดคุก ติดกำไลอีเอ็ม หนีไปลี้ภัยในต่างประเทศ ฯลฯ การยึดถือเสรีภาพแบบเสรีนิยมจะช่วยให้ทุกฝ่ายมี “เสรีภาพที่เท่าเทียม” มากขึ้นไม่ใช่หรือ 

ถ้าผู้ทรงฯ เห็นว่า “ไม่ใช่” ก็เถียงกันได้ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ไปพิพากษา “ท่าที” ของผู้วิจัยในงานวิจัยที่ “มุ่งเสนอเสรีภาพแบบเสรีนิยม” มาแก้ปัญหา ซึ่งก็ต้องยืนยันจุดยืนเสรีนิยมตามที่ “เลือกมา” จากการอภิปรายก่อนหน้ายู่แล้วจริงไหม แน่นอนว่าจุดยืนของผู้วิจัยไม่ใช่ยืนยันหรือมี “ท่าทีอำนาจนิยม” หรือ “หลอกหลวง” แบบที่ผู้ทรงฯ ตัดสิน ซึ่งจะอธิบาข้างหน้า

คำพิพากษาของผู้ทรง เช่น “ถือเป็นความหลอกลวงที่ปัญญาชนต้องเปิดโปง” และ “ถ้าผู้วิจัยไม่เห็นด้วยกับ ‘อำนาจนิยมครอบทุกวัฒนธรรม’ อย่างจริงใจ ก็มี ข้อเสนอแนะให้ทบทวนท่าทีเช่นนี้ด้วย” ยิ่งทำให้ผมงงว่า ข้อความที่ผู้ทรงฯ โควทมา คือข้อความเสนอให้ใช้แนวคิดเสรีภาพแบบเสรีนิยมแก้ปัญหาของสังคมไทย มันกลายเป็นเรื่อง “ความหลอกลวงที่ปัญญาชนต้องเปิดโปง” ไปได้อย่างไร ผมถามคุณหน่อยว่า ถ้าไม่ยืนยันเสรีภาพเป็น “คุณค่าแกนกลาง/กติกากลาง” รองรับให้ความแตกต่างและหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นไปได้จริง และอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม เคารพและอดกลั้นระหว่างกัน ข้อเสนอที่ดีกว่าของคุณคืออะไร (ซึ่งในทางวิชาการก็เป็นไปได้ที่จะมีข้อเสนอที่ดีกว่าอยู่แล้ว แต่มันจำเป็นหรือครับที่จะตัดสินข้อเสนอที่คุณไม่เห็นด้วยว่าเป็น “การหลอกลวง” ที่ปัญญาชนต้องเปิดโปง!) 

ตลกร้ายตรงที่ผู้ทรงฯ พิพากษาราวกับอ่านแค่ข้อความที่ตนโควทมา แต่ที่จริงคือเขาอ่านมาหมด และรู้มาตลอดว่า ผู้วิจัยเสนอเสรีภาพเป็นคุณค่าแกนกลางรองรับความแตกต่างและหลากหลายทางวัฒนธรรมใน “สังคมเสรีประชาธิปไตย” ไม่ใช่เสนอใช้อย่างสากลกับ “ทุกสังคมในโลก” ทีนี้สังคมไทยกำลังมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย ผู้วิจัยยอมรับว่าตนเอง “เลือกข้าง” ฝ่ายต้องการประชาธิปไตย และตั้งคำถามกับวัฒนธรรมความเป็นไทยที่เป็นวัฒนธรรมอำนาจนิยมครอบวัฒนธรรมย่อยอื่นๆ จึงไม่ทราบว่าข้อเสนอของผู้วิจัยเป็น “ท่าทีอำนาจนิยม” ไปได้อย่างไร เพราะผู้วิจัยเสนอแนวคิดเสรีภาพต่อต้านวัฒนธรรมอำนาจนิยมความเป็นไทย ทำไมจึงเป็นท่าทีอำนาจนิยมที่ต้องทบทวน? 

หากผู้ทรงไม่ยอมรับ “ท่าทีอำนาจนิยม” อย่างจริงใจ ผู้ทรงคิดอย่างไรกับอำนาจนิยมของวัฒนธรรมความเป็นไทยอันเป็นข้ออ้างหลักในการต่อต้านเสรีนิยม สังคมนิยม และประชาธิปไตยตลอดมา อะไรคือ “เสรีภาพ” ของวัฒนธรรมความเป็นไทยที่อิงอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ที่จะถูกละเมิดจากการเสนอให้ประเทศนี้ยึดหลัก “เสรีภาพที่เท่าเทียม (equal liberty) เป็นคุณค่าแกนกลางทางการเมือง ซึ่งผู้ทรงฯ ต้องอ่านมาแล้วแน่ๆ ว่างานวิจัยอภิปรายและเสนอหลักการนี้มาก่อนจะถึงข้อความที่ผู้ทรงฯ โควทมา 

ข้อเสนอในงานวิจัยสำคัญๆ ที่ผู้ทรงคง “อ่าน” มาแล้ว คือ ข้อเสนอหลักการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรมในสังคมเสรีประชาธิปไตย (ย้ำอีกครั้ง “ไม่ใช่ทุกสังคมในโลก” หรือถึงจะเสนอใช้กับ “สังคมไทย” ซึ่งยังไม่ใช่สังคมเสรีประชาธิปไตย ก็ไม่มีเหตุผลว่าทำไมสังคมไทยจึงไม่ควรมีเสรีภาพที่เท่าเทียมตามที่งานวิจัยเสนอ) ซึ่งประกอบด้วย

1. หลักการที่รัฐต้องเป็นกลางทางคุณค่า (value neutral) ซึ่งอ้างแนวคิดคานท์, รอลส์ และเทย์เลอร์ ในเนื้องานอธิบายไว้แล้วว่า นักปรัชญาที่ยืนยันหลักการนี้ยอมรับอยู่แล้วว่าเสรีนิยมเป็นคุณค่าแบบหนึ่งที่ต่างจากคุณค่าอื่นๆ บรรดามี มันจึงไม่ใช่ “เป็นกลางอย่างสัมบูรณ์” เพราะต้องเลือกคุณค่าแบบเสรีนิยมเป็น “คุณค่าแกนกลาง” (core value) ที่ต้องบัญญัติในรัฐธรรมนูญของระบอบการปกครองประชาธิปไตย และเป็นคุณค่าที่สถาบันต่างๆ ทางสังคมต้องยึดถือ 

คุณค่าแกนกลางเหล่านี้เทย์เลอร์หมายถึง หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หลักอำนาจอธิปไตยของประชาชน หรือหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ขณะที่รอลส์เรียกคุณค่าแกนกลางนี้ว่า “หลักความยุติธรรมสาธารณะ” (public principles of justice) คือ หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม ถือว่าพลเมืองเสรีและเสมอภาคทุกคนต้องมี “เสรีภาพของปัจเจกบุคคล” (individual liberty) และ “เสรีภาพทางการเมือง” (political liberty) เท่าเทียมกัน และหลักความแตกต่าง อันเป็นหลักประกันการกระจายโอกาสที่เท่าเทียมและเป็นธรรมแก่พลเมืองทุกคน และประกันสิทธิในสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ แก่คนที่เสียเปรียบมากที่สุดในสังคม

ทำไมต้องถือว่าคุณค่าแหล่านี้เป็น “คุณค่าแกนกลาง” ของรัฐ และพลเมืองทุกคนที่ต่างศาสนาและวัฒนธรรมต้องยึดถือร่วมกัน ก็เพราะมันเป็นหลักประกันเสรีภาพ และอิสรภาพทางศีลธรรม (moral autonomy) ของปัจเจกบุคคลทั้งหลาย ให้เราแต่ละคนสามารถเลือกการมีชีวิตที่ดีตามความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม หรือคุณค่าทางศีลธรรม และความหมายของชีวิตตามโลกทัศน์แบบอื่นๆ บรรดามีได้อย่างเท่าเทียมกัน ตราบที่ไม่ทำอันตรายต่อคนอื่น และทำให้ทุกคนมีเสรีภาพทางการเมืองเท่าเทียมกัน และได้รับความเป็นธรรมด้านอื่นๆ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางศาสนา, วัฒนธรรม และการไม่มีศาสนา

2. เสรีภาพที่เป็นแกนกลาง มีทั้งเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เช่น เสรีภาพแห่งมโนธรรมหรือความคิดเห็น (freedom of conscience), อิสรภาพในการกำหนดตนเองทางศีลธรรม (moral autonomy), เสรีภาพในการแสดงอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมของชุมชนศาสนา/วัฒนธรรมต่างๆ ที่เป็นไปตามความสมัครใจ ไม่บังคับขืนใจคนอื่น เช่น ถ้าปัจเจกบุคคลในชุมชนทางศาสนาและวัฒนธรรมนั้นๆ ต้องการเปลี่ยนศาสนา หรือต้องการเลือกคุณค่าความหมายชีวิตแบบอื่นที่เขาเห็นว่าดีกว่าสำหรับตน เขาย่อมมีเสรีภาพจะเลือกได้ และเสรีภาพทางการเมือง ซึ่งประเด็นเหล่านี้อภิปรายโดยละเอียดในงานวิจัย

3. แนวทางสนับสนุนภราดรภาพ หรือ solidarity งานวิจัยอ้างแนวคิดเทย์เลอร์ ที่เสนอให้นำแนวคิดทางศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ คุณค่าทางวัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลายบรรดามี กระทั่งคุณค่าในวัฒนธรรมชนเผ่ามาสนทนาแลกเปลี่ยนผ่านการจัดการศึกษาที่เปิดกว้างให้ความแตกต่างและหลากหลายเหล่านั้นมีเสรีภาพที่เท่าเทียมในการสนทนาแลกเปลี่ยน เพื่อแสวงหาจุดร่วมที่รอลส์เรียกว่า “ฉันทามติเหลื่อมซ้อน” (overlapping consensus) ระหว่างความคิดความเชื่อที่แตกต่างกัน ซึ่งเทย์เลอร์สนับสนุนรอลส์ในประเด็นนี้ และเห็นว่าวิธีการเช่นนี้จะสนับสนุนการเคารพ, ความอดกลั้น และภราดรภาพในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมเสรีประชาธิปไตย

สรุปคือ งานวิจัยไม่ได้เสนอว่า “เสรีนิยมเป็นสากลที่ควรใช้กับทุกสังคมในโลก” แต่งานวิจัยนำเอาแนวคิดเสรีนิยมที่เขาเสนอใช้กับพหุวัฒนธรรมในสังคมเสรีประชาธิปไตยมานำเสนอปรับใช้แก้ปัญหาเผด็จการอำนาจนิยมของวัฒนธรรมความเป็นไทย แค่ข้อเสนอในบทความวิจัยเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง นึกไม่ออกว่าจะเป็น “ท่าทีอำนาจนิยม” ถึงขนาดผู้ทรงฯ ต้องตัดสินใหญ่โตว่า “ถือเป็นความหลอกลวงที่ปัญญาชนต้องเปิดโปง” ขนาดนั้นไปได้อย่างไร

แน่นอน ข้อวิจารณ์ ท้วงติงในประเด็นปัญหาทางวิชาการของผู้ทรงฯ ที่สมเหตุสมผล ผมย่อมรับฟัง เคารพ และรับไปปรับปรุงงานให้ดีขึ้นด้วยความรู้สึกขอบคุณ 

แต่ประเด็นหลักและโครงเรื่องของงานวิจัยย่อมเป็นของผู้วิจัย ซึ่งผู้วิจัยไม่ใช่นักเรียนหรือนักศึกษาของผู้ทรงฯ ที่ผู้ทรงฯ จะ “คิดให้” ผู้วิจัยปรับไปตามความเห็นของตนที่อาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญความคิดฝ่ายวิพากษ์หรือต่อต้านเสรีนิยม (?) ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องของการอ่าน จุดยืน และรสนิยมของผู้ทรงฯ เอง ที่อาจแตกต่างจากการอ่าน จุดยืน และรสนิยมของผู้วิจัย ซึ่งคำวิจารณ์ตัดสิน “ข้อความที่ผู้ทรงฯ โควทมา” ก็เป็นคำวิจารณ์ตัดสินจากการ “อ่าน” และการตีความ สรุปความของผู้ทรงฯ เองด้วยเช่นกัน ซึ่งก็อาจไม่ใช่วิจารณ์ความหมาย ท่าที หรือสาระสำคัญของข้อเสนอในงานวิจัยนั้นเลย

อย่างไรก็ตาม หากผู้ทรงฯ ซีเรียสกับ “ท่าทีอำนาจนิยม” และ “ความหลอกลวง” อย่างจริงใจ ไหนๆ ก็ตัดสินว่า ข้อเสนอบนจุดยืนเสรีนิยมของผู้วิจัย ที่ตั้งคำถามต่อวัฒนธรรมเผด็จการอำนาจนิยมความเป็นไทย และต้องการให้สังคมไทยมี “เสรีภาพที่เท่าเทียม” เป็นข้อเสนอบน “ท่าทีอำนาจนิยม” และถือเป็น “ความหลอกลวงที่ปัญญาชนต้องเปิดโปง” แล้ว ผมก็อยากจะฝากให้ผู้ทรงฯ พิจารณาด้วยปัญญาอันแจ่มกระจ่างด้วยนะครับว่า วัฒนธรรมความเป็นไทยที่ยึดอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์เป็นความจริงและความดีสัมบูรณ์นั้น มีมิติของ “ท่าทีอำนาจนิยม” และมี “ความหลอกหลวงที่ปัญญาชน (อย่างผู้ทรงฯ) ต้องเปิดโปง” บ้างหรือไม่

 

ปล. ผมทราบดีว่า การนำเรื่องเช่นนี้มาเขียนอาจเป็นการเสียมารยาท หรือผิดประเพณีของวงวิชาการ แต่ผมไม่คิดว่าเราควรจะ “เงียบ” ราวกับคำตัดสินทุกอย่างของผู้ทรงฯ ถูกต้องและศักดิ์สิทธิ์แตะไม่ได้ขนาดนั้น ไม่ใช่ผมไม่รับฟังคำวิจารณ์ของผู้ทรงฯ แต่รับฟังแล้ว มี “ประเด็นสำคัญ” ที่ไม่เห็นด้วยจึงโต้แย้ง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท