ศูนย์การเรียนในแม่สอด เปิดครั้งแรกหลังหยุดเกือบ 3 ปี คาด นร.เพิ่มขึ้น เหตุจากความไม่สงบฝั่งเมียนมา

ศูนย์การเรียนในแม่สอด จ.ตาก เปิดเรียน หลังหยุดนานเกือบ 3 ปี เพื่อคุมไวรัสโควิด-19 เบื้องต้น พบปัญหา นร.ยังมาไม่ครบ แต่ประเมินมีแนวโน้ม นร.สมัครเรียนเพิ่ม เหตุจากความไม่สงบประเทศต้นทาง  

 

2 มิ.ย. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (1 มิ.ย.) ศูนย์การเรียนรู้ 'สุขขะหรรษา' ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก กำกับดูแลภายใต้มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง หลังถูกปิดมานานเกือบ 3 ปี เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ยังพบปัญหานักเรียนยังมาเรียนไม่ครบ 

นักเรียนศูนย์การเรียนรู้สุขขะหรรษากำลังรออาจารย์สอน

ศิราพร แก้วสมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน (ผอ.มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน) ระบุว่า ครูมีความรู้สึกตื่นเต้นมาก เนื่องจากเป็นการเปิดเรียนครั้งแรกหลังจากหยุดมานาน แต่พบปัญหาว่านักเรียนยังมาเรียนไม่ครบโดยวันนี้ (1 มิ.ย.) มีนักเรียนประมาณ 70 คนจากที่ลงทะเบียนมากกว่า 100 คน สาเหตุคาดว่าผู้ปกครองบางส่วนมีปัญหาเรื่องเงินซื้อชุดนักเรียน เมื่อไม่มีชุดนักเรียนก็ไม่กล้าส่งบุตรหลานมาเรียนหนังสือ

"พ่อ-แม่ส่วนใหญ่คิดว่าไม่พร้อม อาจจะติดเรื่องของชุดนักเรียน… เด็กหลายคนใส่ชุดนักเรียนเก่า ของบริจาคบ้างได้มาจากคนอื่นบ้าง บางคนไม่มีงบประมาณ ไม่มีสตางค์ซื้อชุดใหม่ให้ลูก ก็รอบริจาคก็ยังไม่มี เลยไม่กล้าส่งลูกมาเรียน" ศิราพร ระบุ พร้อมกล่าวว่า เนื่องด้วยศูนย์ฯ ถูกปิดช่วงโควิด-19 ทำให้องค์กรระหว่างประเทศลดการสนับสนุน ทำให้ไม่มีเงินทุนซื้อเครื่องแบบมาบริจาคนักเรียนชาวเมียนมา  

ศิราพร แก้วสมบัติ จากมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน (ภาพโดยนราธิป ทองถนอม)

มิไชคมาชาน ครูจากรัฐมอญ อายุ 41 ปี เผยว่า เธอดีใจที่โรงเรียนกลับมาเปิด และเด็กได้กลับมาเรียนอีกครั้ง เด็กบางคนต้องอยู่บ้านคนเดียวในขณะที่พ่อ-แม่ออกไปทำงานข้างนอก เมื่อศูนย์ฯ เปิดแล้ว ก็ได้มาเรียน และมองว่าศูนย์ฯ ยังเป็นสถานที่ปลอดภัย และช่วยคุ้มครองเด็กได้ 

ศูนย์การเรียนสุขขะหรรษา ก่อตั้งเมื่อปี 2549 จากกลุ่มคนมอญ ขณะที่ผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา สำหรับเด็กที่ลงทะเบียนเรียนภาคการศึกษา 2565-2566 มีจำนวนประมาณร้อยกว่าคนตามรายงานข้างต้น  

ก่อนหน้านี้ช่วงปี 2563-2564 ศูนย์การเรียนรู้ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถูกภาครัฐสั่งปิดทำการชั่วคราวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด 2019 ทำให้ศูนย์การเรียนรู้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนมาเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) การส่งครูเข้าไปที่ชุมชนของนักเรียนเพื่อทำการสอน หรือ Home-based learning 2) การทำใบงาน หรือ worksheet และ 3) การเรียนแบบออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนรูปแบบการสอนส่งผลให้นักเรียนจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศึกษา เนื่องจากขาดแคลนอุปกรณ์เรียนโดยเฉพาะสมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ต ขณะที่ครูต้องใช้งบประมาณมากขึ้นในการจัดเตรียมการสอนรูปแบบออนไลน์ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าไปสอนนักเรียนตามชุมชนต่างๆ ดังนั้น การเปิดศูนย์การเรียนรู้ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ทำให้ลูกหลานชาวเมียนมาใน อ.แม่สอด สามารถเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงอีกครั้ง

สำหรับศูนย์การเรียนรู้ เป็นการจัดการศึกษาในรูปแบบพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มที่อยากจะเรียนภาษาและหลักสูตรพม่า เพื่อกลับไปศึกษาต่อในประเทศพม่า โดยในวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภาครัฐกำหนดให้เป็นวันเปิดเรียนวันแรกสำหรับศูนย์การเรียนใน 5 อำเภอในจังหวัดตาก

ข้อมูลจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 เมื่อ ต.ค. 2564 ระบุว่า ใน 5 อำเภอของจังหวัดตาก มีจำนวนศูนย์การเรียนรู้ทั้งสิ้น 66 ศูนย์ มีนักเรียนข้ามชาติจำนวนทั้งสิ้น 8,899 คน อย่างไรก็ตาม ผอ.มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน ประเมินว่า ในปีการศึกษา 2565-2566 มีแนวโน้มว่าจะมีเด็กเข้ามาเรียนเพิ่มขึ้น เนื่องด้วยสถานการณ์ความไม่สงบภายในเมียนมา และการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา 1 ที่อาจเริ่มขึ้นเร็วๆ นี้  

พงศกรณ์ ทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการศึกษาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จังหวัดตาก เขต 2 ระบุว่า เมื่อวานนี้ (1 มิ.ย.) มีศูนย์การเรียนเปิดได้ทั้งหมด 16 แห่งจากทั้งหมด 66 แห่ง และมีบางแห่งเริ่มเปิดตั้งแต่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา 

หลักเกณฑ์การเปิดศูนย์ฯ ที่รัฐกำหนดมีด้วยกัน 3 ข้อ ประกอบด้วย 1) ต้องประเมินผ่านเกณฑ์มาตรการควบคุมโควิด-19 จำนวน 20 ข้อ 2) ประสานงานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในท้องที่ที่ศูนย์ฯ ตั้งอยู่ เพื่อให้มาประเมิน และให้คำแนะนำ และ 3) ในเวลาเรียนต้องดำเนินการมาตรการด้วย สุดท้ายให้ทางศูนย์การเรียนแจ้งกับศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว เพื่อให้ทราบว่ามีศูนย์ฯ ไหนเปิดบ้าง    

พงศกร ระบุต่อว่า ศูนย์การเรียนที่ไม่สามารถเปิดได้มีหลายปัจจัย อาจเพราะไม่ผ่านประเมินเกณฑ์มาตรการควบคุมโควิด-19 จำนวน 20 ข้อ หรือมีปัญหาด้านการประสานงานหน่วยงานในท้องที่ และชุมชน

อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐพร้อมช่วยเหลือศูนย์การเรียนที่ยังไม่สามารถเปิดได้ว่าติดตรงไหน อย่างไร หรือบางกรณีมีศูนย์การเรียนไม่ได้ประสานกับ รพ.สต. ศูนย์การเรียนแจ้งกับศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าวยินดีช่วยเรื่องการประสาน 

"เราก็ช่วยเขาไปเรื่อยๆ เพราะบทบาทของเราการดูแล เขาจะไม่มีอะไรรองรับ แต่เรามองเรื่องโอกาสทางการศึกษาของเด็ก ดีกว่าเขาไม่ได้เรียน เขาอาจไม่เข้าเรียนก็ได้ ...จริงๆ เขาไม่เรียนเลยก็ได้ แต่เขาเลือกเรียน และศูนย์การเรียนเป็นที่พึ่งของแรงงานในการที่จะฝากเด็กไว้ ที่จะเรียนรู้เรื่องของพม่า ที่อาจจะกลับไปที่พม่าหรือไปสอบเทียบก็ได้ หรือเรียน กศน.ไทยในศูนย์การเรียนบางแห่ง เขาอาจจะเลือกเรียนทั้ง 2 อัน หรือ 3 อัน แต่มันเป็นประโยชน์กับเด็ก และเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกันได้ในสังคม เพราะว่าการเรียนที่ศูนย์การเรียนถือเป็นการขัดเกลาให้เขาเป็นคนดี เราไปดูแล้ว เขาสอนดี มีระเบียบวินัย เราไปดูเขาก็โอเค" พงศกร ระบุ

ภาพบรรยากาศการเปิดเรียนวันแรกของศูนย์การเรียนสุขขะหรรษา เมื่อ 1 มิ.ย. 2565
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท