[คลิป] 'เบญจา-ก้าวไกล' อภิปรายงบฯ โครงการซ้ำซ้อน - สร้างไม่เสร็จ - ไม่ปรับตามยุคสมัย #งบสถาบันกษัตริย์66

เบญจา ก้าวไกล อภิปรายงบสถาบันกษัตริย์ ชี้ พบปัญหาเดิม ไม่เปิดเผยรายละเอียด ทำโครงการเป็นเบี้ยหัวแตกไม่คุ้มค่าและไม่สมพระเกียรติ เป็นเครื่องมือแอบอ้างทำโครงการของงบซ้ำทุกปี พร้อมขอประธานสภาวินิจฉัย การอภิปรายงบสถาบันกษัตริย์ล้มล้างการปกครองได้อย่างไร หลังอภิปรายปีก่อนถูกร้อง กกต. ยุบพรรคก้าวไกล “เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง”

2 มิ.ย.2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เบญจา แสงจันทร์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างงบประมาณประจำปี 2566 โดยอภิปรายในส่วนของงบประมาณที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า ในปี 2565 อยู่ที่ 33,712 ล้านบาท ส่วนในปี 2566 มีการขอจัดสรรมา 30,542 ล้านบาท ลดลง 9.4% ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมงบประมาณส่วนที่รวมอยู่ในหมวดหมู่โครงการก่อสร้างที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท

โดยมีงบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณต่างๆ ขอจัดสรรแบ่งได้เป็น 5 ประเภท คือ
(1) ส่วนราชการในพระองค์ 8.6 พันล้านบาท (2) โครงการพิทักษ์รักษาเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์และโครงการตามพระราชประสงค์ 660 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5%) (3) โครงการถวายความปลอดภัยฯ 4.9 พันล้านบาท (4) โครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ 1.35 หมื่นล้านบาท และ (5) โครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวงอื่นๆ 2.7 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 28%)

เบญจา อภิปรายต่อ ว่าแม้งบประมาณโครงการในพระราชดำริลดลงก็จริง แต่ยังมีปัญหาเดิมคือการที่หน่วยรับงบประมาณหลายหน่วยทำโครงการชื่อเดียวกันซ้ำซ้อนกัน เช่น โครงการเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่อยู่ใน 8 กระทรวงที่ไม่ได้มีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และยังมีโครงการที่ใช้ชื่อต่อท้ายว่า “อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่กระจายอยู่ในแผนงานพื้นฐาน ยุทธศาสตร์ รวมกันแล้ว 10 แผน ใน 51 หน่วยรับงบประมาณ โดยไม่แน่ชัดว่าหน่วยงานใดเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ และเกี่ยวข้องกับพันธกิจของหน่วยงานอย่างไรบ้าง

“นอกจากนี้ ยังมีโครงการในพระราชดำริที่ทำอย่างไรไม่เสร็จเสียที เช่น โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใน จ.ปราจีนบุรี ที่ผ่านมติ ครม. มาตั้งแต่ปี 2552 กำหนดระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่ปี 2551-2561 โดยใช้งบประมาณหลักหมื่นล้าน แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่แล้วเสร็จเสียที และยังมีการเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จออกไปเรื่อยๆ ทุกปี”

เบญจา ย้ำว่า โครงการในลักษณะนี้ยังมีอีกมาก บางโครงการเป็นโครงการที่รับสนองพระราชดำริมาตั้งแต่เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว สภาพในพื้นที่เปลี่ยนแปลงมากแล้ว ความต้องการของประชาชนก็เปลี่ยนไปแล้ว แต่หน่วยรับงบประมาณที่ทำโครงการเหล่านี้กลับไม่เคยมีการประเมินโครงการ ว่ายังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่แม้แต่ครั้งเดียว

เบญจา ยังได้อภิปรายต่อถึงการจัดงานเฉลิมพระเกียรติต่างๆ ว่าไม่ควรจัดโครงการแบบเหวี่ยงแหในลักษณะทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล ที่ไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจใดๆ แต่ควรจัดให้ใหญ่โตสมพระเกียรติ รวมกันอยู่ที่เดียวในทุกจังหวัดแทน โดยคำนึงถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือการเปิดสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ด้วย

อย่างไรก็ตาม งบประมาณของส่วนราชการในพระองค์ แม้จะลดลงจากปีก่อน 150 ล้านบาท หรือ 1.7% แต่ในเอกสารงบประมาณของสำนักงบประมาณ (ขาวคาดแดง) กลับไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดอะไรเลยเหมือนที่ผ่านมาทุกปี อย่างไรก็ตาม ในปีนี้สำนักงบประมาณได้ส่งคำเชิญไปยังส่วนราชการในพระองค์ให้เข้าชี้แจงงบประมาณ ซึ่งตนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีตัวแทนจากส่วนราชการในพระองค์มาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจการใช้จ่ายเงิน 8 พันกว่าล้านบาทนี้ เหมาะสมกับการปฏิบัติตามพันธกิจหรือไม่ และจะเป็นผลดีในการลดความเข้าใจผิด ไม่เพียงต่อส่วนราชการในพระองค์เท่านั้น แต่ต่อภาพลักษณ์และพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

เบญจา ยังอภิปรายทิ้งท้ายอีกว่า การพิจารณางบที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเปิดเผย โปร่งใส มีวุฒิภาวะ จะทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมั่นคงสถาพร แต่เมื่อปีก่อนที่ตัวเองอภิปรายเรื่องเดียวกัน กลับมีผู้ไปร้องกับ กกต. ว่าการอภิปรายงบประมาณเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของตัวเองและ ส.ส. พรรคก้าวไกลเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง

“จึงขอให้ประธานในฐานะประมุของฝ่ายนิติบัญญัติ ให้ช่วยวินิจฉัยให้ความเห็น ว่าสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุด มีเอกสิทธิ์ในการอภิปรายทุกหน่วยงานที่ทำคำขอจัดสรรงบประมาณเข้ามาหรือไม่ หรือสภานี้จะไม่ให้อภิปรายถึงเอกสารงบประมาณบางหน้า บางหน่วยหรือไม่ และการทำหน้าที่ของผู้แทนราษฎร ในการตรวจสอบงบประมาณทุกบาท เป็นหน้าที่ที่เราทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หรือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองกันแน่ ขอให้ประธานให้ความกระจ่าง ให้ผู้แทนราษฎรได้เข้าใจสถานะและอำนาจของสภาฯ ว่าอยู่ตรงไหนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขกันแน่” เบญจา กล่าว

ในส่วนของสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ ในฐานะประธานการประชุมขณะนั้น ระบุเพียงสั้นๆ ว่า การอภิปรายของ ส.ส. ทุกคน อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท