WHO ห่วงฝีดาษลิงจะระบาดมากขึ้น

องค์การอนามัยโลก (WHO) ห่วงฝีดาษลิงจะระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปที่จะมีงานเทศกาลและกิจกรรมขนาดใหญ่ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น - กรมควบคุมโรคสั่งเฝ้าระวัง 5 ประเทศบินเข้าไทย ยืนยันไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำยุโรปเปิดเผยข้อมูลว่าจำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่ไม่ใช่ประเทศที่ฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่นขณะนี้เพิ่มเป็นกว่า 550 คนแล้ว ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป 321 คน พบอยู่ใน 12 ประเทศ นอกจากนี้ยังพบการระบาดในอังกฤษ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย และอีกหลายประเทศ

องค์การอนามัยโลก ระบุว่าโรคฝีดาษลิงน่าจะเริ่มระบาดในยุโรปมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย. โดยโรคนี้สามารถติดต่อกันได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยจากการเข้าร่วมกิจกรรมขนาดใหญ่หรือในงานเลี้ยง ดังนั้นจึงต้องเร่งหามาตรการควบคุมโรคไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง โดยขอให้รัฐบาลและหน่วยงานด้านการแพทย์ของประเทศต่างๆ เร่งดำเนินการแยกตัวผู้ป่วยและสืบหาผู้สัมผัสใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขให้เร็วที่สุด เพราะในช่วงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะมีงานเทศกาลและกิจกรรมขนาดใหญ่หลายงานในยุโรปซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น พร้อมกันนี้ก็ขอให้ผู้จัดงานแจ้งเตือนให้ผู้มาร่วมงานระมัดระวังความเสี่ยงจากการติดเชื้อด้วย

'อังกฤษ' ยืนยันพบฝีดาษลิงระบาดในชุมชน ติดจากคนสู่คน

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ว่าสำนักงานความมั่นคงด้านสาธารณสุขสหราชอาณาจักร ระบุถึงสถานการณ์การระบาดของโรค "ฝีดาษลิง" ในปัจจุบันว่า เป็นครั้งแรกที่ไวรัสติดต่อจากคนสู่คนในอังกฤษ ซึ่งผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ได้เดินทางไปประเทศที่เป็นถิ่นระบาดของโรคนี้ในแอฟริกา

อังกฤษมีผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงรวม 190 คน นับตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้ติดเชื้อ 34 คนมีประวัติเคยเดินทางไปประเทศที่เป็นถิ่นระบาดของฝีดาษลิง หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด

ขณะที่ผู้ติดเชื้ออยู่ในกรุงลอนดอนมากที่สุด 132 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ทั้ง 111 คน และมีผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้หญิงอีก 2 คน นอกจากนี้ยังพบว่าการระบาดเชื่อมโยงกับบาร์เกย์ ซาวน่า และการใช้แอปพลิเคชันหาคู่ ทั้งในอังกฤษและในต่างประเทศ

ส่วนสถานการณ์การระบาดในระดับโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าขณะนี้พบผู้ติดเชื้อไปแล้วมากกว่า 550 คน ใน 30 ประเทศที่อยู่นอกทวีปแอฟริกา

กรมควบคุมโรคสั่งเฝ้าระวัง 5 ประเทศบินเข้าไทยเสี่ยงพบ "ฝีดาษลิง" ห่วงผู้เข้าร่วมงาน "ไพรด์พาเหรด" อาจส่งผลพบผู้ป่วยคนแรกในไทยได้ 

2 มิ.ย. 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงความคืบหน้าโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่าขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยสงสัย และผู้ป่วยเข้าข่ายเพิ่มเติม ส่วนชาวต่างชาติ 3 คนที่ผลการตรวจพบว่าเป็นโรคเริมรักษาตัวหายกลับบ้านตั้งแต่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา

ส่วนการประเมินสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในไทย นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า มีการพบผู้ป่วยเริ่มต้นในเดือน พ.ค.จากเทศกาลไพรด์ ประเทศสเปน ซึ่งสัปดาห์นี้ประเทศไทย ก็จะมีงานไพรด์พาเหรด pride festival ขึ้น จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังเที่ยวบินตรงจากประเทศที่พบการติดเชื้อในประเทศ 5 ประเทศจากเดิมที่มี 3 ประเทศคือ แอฟริกา อังกฤษ โปรตุเกส สเปน และแคนาดา และจับตาเยอรมนีเพิ่มเติม โดยมี ผู้เดินทางเข้าไทยเฉลี่ยวันละประมาณ 10,000 คน

“คาดว่าสัปดาห์หน้าอาจจะพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในไทย เนื่องจากมีการจัดขบวนพาเหรดงานไพรด์ กทม. เพราะมีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าร่วมงาน จึงอาจจะพบผู้ป่วยเข้ามา”

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้ สธ.วาางแผนระบบเฝ้าระวังสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร พร้อมประสานเครือข่ายผู้ดูแลงานโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วยที่เข้าไปรักษาในคลินิกเฉพาะทางด้วย พร้อมทั้งยืนยันว่า โรคฝีดาษลิงไม่ได้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่เป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรง

สำหรับข้อมูลโรคฝีดาษลิง ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานข้อมูลโดยอ้างอิงจาก Global.health Monkeypox (ข้อมูล 1 มิ.ย.เวลา 17.00 น.) พบว่าตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.-1 มิ.ย.นี้ มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 736 คน (เพิ่มขึ้น 40 คน) เป็นผู้ป่วยยืนยัน 606 คน(เพิ่มขึ้น 49 คน) ผู้ป่วยสงสัย 130 คน (ลดลง 9 คน) ใน 35 ประเทศทั่วโลก (เพิ่มขึ้น 2 ประเทศ)

โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ชาติแรกได้แก่ สเปน 202คน (ร้อยละ 27) อังกฤษ 183 คน (ร้อยละ 25) โปรตุเกส 100 คน (ร้อยละ 14) แคนาดา 63 คน (ร้อยละ 9) และเยอรมนี 45 คน (ร้อยละ 6) ประเทศใหม่ที่พบผู้ป่วย ได้แก่ นอร์เวย์ และฮังการี พบผู้ป่วยยืนยันประเทศละ 1 คน

จากข้อมูลยังพบว่า จากข้อมูลที่มีการรายงาน 245 คนที่มีการรายงานข้อมูลปัจจัยเพศ พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 98) และเพศหญิง (ร้อยละ 2) สำหรับอายุจากรายงาน 145 คนที่มีข้อมูลทั้งหมดส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 20-59 ปี (ร้อยละ 99)

ทั้งนี้กรมควบคุมโรค มีข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์โรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ได้แก่ 1.สร้างการประชาสัมพันธ์ในเทศกาล “บางกอกไพรด์” เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงการป้องกันตนเองจากโรคฝีดาษวานร 2. เพิ่มการประชาสัมพันธ์ถึงวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้องเมื่อสงสัยว่าตนเองติดเชื้อโรคฝีดาษวานร เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการป้องกันการแพร่กระจายของโรค โดยเฉพาะในคนกลุ่มเสี่ยง และ 3.กลุ่มเด็ก สตรีมีครรภ์ และผู้ที่มีปัญหาทางภูมิคุ้มกันบกพร่องควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด สวมหน้ากากอนามัย และหมั่นล้างมือด้วยสบู่และแอลกอฮอล์

ที่มา: สำนักข่าวไทย | Thai PBS [1] [2]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท