Skip to main content
sharethis

สภาองค์กรของผู้บริโภคเผยสับปะรด GMO สีชมพู ลักลอบเข้ามาไทย ร้องเรียนกว่า 9 เดือน ผลไม้เถื่อนยังทะลัก - 'มนัญญา' ย้ำไทยปลอดพืช GMO เตือนประชาชนไม่ซื้อ-ไม่ขาย หากพบใครครอบครองเอาผิดตามกฎหมายทันที


ที่มาภาพ: สภาองค์กรของผู้บริโภค

เว็บไซต์สภาองค์กรของผู้บริโภค รายงานเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ว่าปรกชล อู๋ทรัพย์ อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาฯ ได้รับแจ้งเบาะแสจากผู้บริโภคว่าพบการเผยแพร่โฆษณาจำหน่ายสับปะรดที่มีเนื้อสีชมพูบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยผลไม้ดังกล่าวเป็นผลไม้ที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม หรือที่เรียกว่าผลไม้จีเอ็มโอ (Genetically Modified Organisms : GMOs) ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศไทย สภาองค์กรของผู้บริโภค จึงเร่งรัดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสับปะรดจีเอ็มโอในประเทศไทย เร่งออกประกาศเรื่องผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอรวมถึงฉลากจีเอ็มโอ และร่วมกันเฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอบนสื่อสังคมออนไลน์ ก่อนที่พืชผักผลไม้จีเอ็นโอจะปนเปื้อนพืชท้องถิ่นสร้างปัญหาการปนเปื้อน การส่งออก และผลกระทบต่อผู้บริโภค

ด้าน มลฤดี โพธิ์อินทร์ ผู้ช่วยเลขานุการอนุกรรมการฯ ระบุว่า ได้มีการร้องเรียนหน่วยงานภาครัฐจากการพบการนำเข้าสับปะรดสีชมพูกว่า 9 เดือนที่แล้ว แต่ยังมีการทะลักเข้ามาของผลไม้ชนิดนี้อย่างไม่ขาดสาย สับปะรดดังกล่าวใช้ชื่อการค้าว่า Pinkglow® pineapple ซึ่งเป็นของบริษัท DEL MONTE ประเทศคอสตาริกา โดยพัฒนาพันธุ์สับปะรดให้มีเนื้อสีชมพูด้วยกระบวนการดัดแปรพันธุกรรม (Genetically Modified Pineapple) ที่มีการประกาศขายออนไลน์ในประเทศไทย สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้ทำหนังสือสอบถามเกี่ยวกับประเด็นการควบคุมและกำกับดูแลไปยัง 2 หน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2564 โดยได้รับหนังสือตอบจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เมื่อวันที 4 พฤศจิกายน 2564 ว่า การนำเข้าสับปะรดสีชมพูที่มีการดัดแปรพันธุกรรมเพื่อจำหน่ายในประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งกำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในขณะที่ อย. ตอบกลับเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 ว่า การกำกับดูแลการนำเข้าสับปะรดที่มีการดัดแปรพันธุกรรม อยู่ภายใต้ประกาศตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2553 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

มลฤดี ระบุอีกว่า เมื่อได้รับคำตอบที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และไม่สามารถสรุปได้ว่าหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงได้ทำหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงสาธารณสุขอีก 2 ครั้ง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีก 3 จึงได้รับคำตอบว่า กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการออกประกาศว่าด้วยอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และประกาศฉลากจีเอ็มโอ ในขณะที่คำตอบจาก มกอช. กลับระบุว่า สับปะรดจีเอ็มสีชมพูเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการตรวจค้นได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงจำเป็นต้องมีหมายค้น สิ่งที่ทำได้ คือ การประสานด่านศุลกากร ด่านตรวจพืช ด่านอาหารและยา เข้มงวดการตรวจสอบ ประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมให้นำโฆษณาออกจากสื่อ และทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลการนำเข้าสับปะรดกับกฎหมายกักพืช

“ระยะเวลาล่วงเลยมา 9 เดือนแล้ว นับตั้งแต่ครั้งแรกที่สภาองค์กรของผู้บริโภคทำหนังสือไปถึงทั้งสองหน่วยงาน แต่ปัจจุบันก็ยังพบว่ามีการขายและรีวิวขายในไทย สะท้อนให้เห็นถึงความล่าช้าในจัดการปัญหาของหน่วยงานรัฐ ซึ่งส่งผลต่อระบบการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้อาจเกิดความเสี่ยงจากการบริโภคผลิตภัณฑ์” มลฤดี กล่าว

ขณะที่ รศ.สุรวิช วรรณไกรโรจน์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า การหลุดรอดของสับปะรดจีเอ็มจากการลักลอบส่งออกจากประเทศคอสตาริก้าแล้วลักลอบนำเข้าประเทศไทยนำเข้ามาในรูปหน่อพันธุ์ หลังจากการประชาสัมพันธ์คุณสมบัติของสับปะรดพันธุ์ดังกล่าวว่ามีกลิ่นและรสดีกว่าสับปะรดแบบดั้งเดิม โดยองค์กรที่สนับสนุนการใช้จีเอ็มโอ แม้มีเกษตรกรบางส่วนที่ซื้อหน่อพันธุ์ไปทดลองปลูกแล้วต่อมาทราบว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงได้ทำลายทิ้งไป แต่เชื่อได้ว่ามีเกษตรกรบางส่วนที่ซื้อหน่อพันธุ์ไปปลูกในพื้นที่เกษตรกรรม และมีข่าวว่านักผสมพันธุ์ต้นไม้ระดับอาจารย์ได้นำไปผสมพันธุ์กับสับปะรดปกติจนได้ลูกผสมก่อนทำลายสับปะรดจีเอ็มโอทิ้ง

รศ.สุรวิช กล่าวอีกว่า หากมีสับปะรดจีเอ็มโอปรากฏขึ้นในแปลงผลิตภายในประเทศ น่าจะกระทบกับเกษตรกรชาวสวนสับปะรดส่งโรงงานสับปะรดกระป๋องทันที เพราะโรงงานผู้รับซื้อจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการตรวจรับรองว่าผลิตภัณฑ์ของตนปราศจากสับปะรดจีเอ็มโอ ในทำนองเดียวกับที่เกิดขึ้นกับโรงงานผลิตผลไม้รวมซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการตรวจรับรองว่าผลิตภัณฑ์ของตนปราศจากมะละกอจีเอ็มโอ ซึ่งภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวย่อมถูกส่งต่อมายังเกษตรกร ด้วยการลดราคารับซื้อลง ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกษตรกรผู้บริสุทธิ์ไม่ต้องเดือดร้อนทางเศรษฐกิจจากสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่อขึ้น จึงขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการจัดการปัญหา

ส่วน วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า หากปล่อยให้มีการลักลอบนำเข้าและปลูกในวงกว้าง ในระยะยาวอาจส่งผลกระทบกับการส่งออกของอุตสาหกรรมผลไม้ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศ และเพิ่มภาระต้นทุนการตรวจสอบของภาคเอกชน จากบทเรียนปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของมะละกอจีเอ็มโอเมื่อปี 2556 ที่ทำให้การส่งออกลดลง 4 – 5 เท่า เนื่องจากประเทศคู่ค้า เช่น สหภาพยุโรปไม่ยอมรับ

“อยากสื่อสารถึง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่าท่านได้ตระหนักถึงเรื่องการนำเข้าสับปะรดจีเอ็มโอนี้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากท่านมาจากพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ปลูกสับปะรดมากที่สุดถึง 148,198 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 34.95 และยังเป็นพื้นที่ที่มีการแปรรูปสับปะรดกระป๋องอีกด้วย จึงอยากให้รีบดำเนินการและจัดการกับการนำเข้าสับปะรดจีเอ็มโอ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรที่ปลูกสับปะรดกว่า 5 หมื่นครอบครัว รวมถึงอุตสาหกรรมสับปะรดทั้งระบบ” เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี กล่าว

สำหรับข้อเสนอที่สภาองค์กรของผู้บริโภค มีต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

1) ขอให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของสับปะรดดัดแปรพันธุกรรมในประเทศ เนื่องจากการควบคุมการปลูกและจำหน่ายสับปะรดจีเอ็มโอสีชมพูในไทย เป็นสิ่งต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 โดยกรมวิชาการเกษตรมีอำนาจในการตรวจค้น ยึด อายัด ทำลาย และสั่งไม่ให้นำเข้า ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย หากจำเป็นต้องมีหมายค้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ ก็ควรเร่งดำเนินการเพื่อออกหมายค้น 

2) ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งออกประกาศว่าด้วยอาหารจากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม และประกาศฉลากจีเอ็มโอ ตามที่องค์กรของผู้บริโภคเคยทำข้อเสนอ โดยต้องมีสัญลักษณ์ฉลากจีเอ็มโอที่ชัดเจน และครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์             

3) ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร และ อย. สร้างกระบวนการเฝ้าระวังและติดตามการโฆษณาในสื่อสังคมออนไลน์

4) เสนอให้รัฐนำพระราชบัญญัติความปลอดภัยทางชีวภาพ ฉบับประชาชน ที่เคยเข้าสภาผู้แทนราษฎรก่อนรัฐประหาร มาพิจารณาเป็นกฎหมายและบังคับใช้โดยเร็ว เพื่ออุดช่องว่างปัญหาการลักลอบนำเข้าผลไม้จีเอ็มโอ

ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคจะทำหนังสือติดตามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562

'มนัญญา' ย้ำไทยปลอดพืช GMO เตือนประชาชนไม่ซื้อ-ไม่ขาย หากพบใครครอบครองเอาผิดตามกฎหมายทันที

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ว่านางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่มีการระบุว่ามีการพบสับปะรดเนื้อสีชมพูซึ่งเป็นพืชตัดต่อพันธุกรรมหรือจีเอ็มโอ (GMO) ว่าได้ให้กรมวิชาการเกษตรตรวจเข้มทุกพื้นที่เพราะประเทศไทยมีนโยบายปลอดพืชจีเอ็มโอ ไม่มีการอนุญาตนำเข้าแต่อย่างใด ดังนั้นฝากเตือนประชาชนว่าอย่านำเข้าพืชดังกล่าวหรือสนับสนุนในการซื้อขาย เพื่อรักษาชื่อเสียงของประเทศไทย

"กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมวิชาการเกษตรไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ได้มีการติดตามตรวจสอบต่อเนื่อง และจะยิ่งเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพราะลำพังภาครัฐบางครั้งจำกัดด้วยกำลังคน โดยเฉพาะยุคที่การซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ที่มีการส่งสินค้ากันมาก ทำให้สุ่มเสี่ยงกับการส่งของผิดกกฎหมาย ดังนั้นฝากประชาชนถ้าพบเห็นให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ทันที" นางสาวมนัญญากล่าว

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมฯ ยืนยันว่าไทยไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าพืชจีเอ็มโอ ซึ่งกรณีสับปะรดสีชมพู (Pinkglow) ของบริษัท Del Monte ดังกล่าวปลูกในประเทศคอสตาริกา และเป็นพืชจีเอ็มโอ ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าหรือจำหน่ายแต่อย่างใด ซึ่งกรมฯ ยังได้เคยติดต่อไปสื่อออนไลน์ที่โฆษณาจำหน่ายได้รับการแจ้งว่าไม่มีสินค้า และรายที่โฆษณาว่ามีหน่อพันธุ์จำหน่ายนั้นพบว่าเป็นสับปะรดประดับซึ่งไม่ใช่พืชจีเอ็มโอ นอกจากนั้นยังได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังการนำเข้าและกรณีการโฆษณาขายผ่านสื่อโฆษณา หากพบจะเข้าดำเนินการทันที

"ขอฝากเตือนผู้ลักลอบนำเข้าว่าหากพบ ท่านจะมีโทษตามกฎหมายตามพ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากตรวจพบว่ามีการลักลอบซื้อ-ขาย หรือปลูกสามารถยึดอายัดและทำลายได้ทันที ผู้ซื้อ-ผู้ขาย เรียกร้องค่าเสียหายจากใครไม่ได้ ดังนั้นมีแต่เสียด้านเดียว จึงขอวอนพี่น้องประชาชนว่าอย่าสนับสนุนพืชดังกล่าว ซึ่งกรมฯ จะจัดทำโปสเตอร์แสดงชนิดพืชสับปะรดสีชมพูเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยพี่น้องประชาชนช่วยตรวจสอบอีกทางหนึ่ง" นายระพีภัทร์กล่าว

สำหรับพืชสับปะรด หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของสับปะรด Ananas Comosus(L)Merr.  จัดเป็นสิ่งที่ต้องห้ามภายใต้ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สามารถนำเข้าได้เฉพาะจากแหล่งที่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืชเท่านั้น ปัจจุบันอนุญาตให้นำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์แหล่งเดียว หากนำเข้าจากแหล่งที่ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ฯ จะถูกส่งกลับหรือทำลาย และผู้กระทำผิดต้องรับโทษด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net