นัดฟังคำพิพากษาคดี ม.112 'พอร์ท ไฟเย็น' 15 ส.ค. 2565

iLaw เผยคดี ม.112 ของ 'พอร์ท ไฟเย็น' สืบพยานจบแล้ว ศาลอนุญาตและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ส.8. 2565 ด้านเจ้าตัวเชื่อว่า สิ่งที่โพสต์ไม่น่าเข้าข่ายผิดกฎหมายแต่ทั้งหมดก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาล


'ปริญญา ชีวินปฐมกุล' หรือ 'พอร์ท' อดีตมือกีตาร์วงไฟเย็น | แฟ้มภาพประชาไท

3 มิ.ย. 2565 เพจ iLaw รายงานว่าเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. ที่ผ่านมาศาลอาญานัดสืบพยานคดีของปริญญา ชีวินปฐมกุล หรือ พอร์ท อดีตมือกีตาร์วงไฟเย็น พยานปากสุดท้ายเบิกความเสร็จสิ้นแล้ว โดยหลังอัยการนำพยานโจทก์รวมสี่ปากที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม ชุดสืบสวน และพนักงานสอบสวนสองปากเข้าสืบแล้วเสร็จ ทนายจำเลยแถลงต่อศาลว่าไม่ประสงค์นำพยานเข้าสืบ แต่จะขอส่งคำแถลงปิดคดีภายในหนึ่งเดือนนับจากวันนี้ ศาลอนุญาตและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ส.ค. 2565 ด้านเจ้าตัวเชื่อว่า สิ่งที่โพสต์ไม่น่าเข้าข่ายผิดกฎหมายแต่ทั้งหมดก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาล 

ศาลอาญานัดสืบพยานโจทก์ คดีของปริญญาในเวลา 9.00 น. แต่ในช่วงเช้าสามารถสืบพยานปากเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้เพียงปากเดียวเนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนยังเดินทางมาไม่ถึง ในเวลาประมาณ 11.10. น. ศาลจึงสั่งพักการพิจารณาคดีและนัดหมายสืบพยานในช่วงบ่ายเวลา 12.30 น.

พ.ต.ท.แท่น ไชยแสง จากกองบัญชาการตำรวจสันติบาลเบิกความ พอสรุปว่า ผู้บังคับบัญชาให้เขาสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดที่มีหมายจับค้างอยู่ ซึ่งเขากับพวกได้ทำการสืบสวนหาข่าวเกี่ยวกับปริญญาซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับในความผิดตามมาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) และ (5) จนกระทั่งในวันที่ 5 มีนาคม 2564 ทราบว่า ปริญญาหลบซ่อนตัวอยู่ที่บ้านของแม่ ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ที่ชั้นล่างเปิดเป็นร้านขายรองเท้า จึงได้ขออนุมัติหมายค้นจากศาลอาญาพระโขนงเพื่อเข้าทำการตรวจค้นหาตัวจำเลย และพบว่าปริญญากำลังรับประทานอาหารอยู่ จึงแสดงหมายค้นและหมายจับให้ดู พร้อมทั้งยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ของปริญญาไปอย่างละเครื่อง โดยปริญญารับว่าตัเองเป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหาทั้งสามข้อความจริง 

ทนายจำเลยถามค้านพยานปากนี้ พอสรุปได้ว่า ในวันที่เข้าทำการจับกุมตัว ปริญญาและแม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี หลังสืบพยานปากนี้เสร็จในเวลาประมาณ 10.10 น. พยานปากต่อไปซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนผู้ตรวจพบข้อความของปริญญายังเดินทางมาไม่ถึงศาลเนื่องจากมาจากต่างจังหวัด เบื้องต้นศาลจึงสั่งให้พักการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 30 นาที แต่พยานก็ยังมาไม่ถึง ในเวลาประมาณ 11.10 น. ศาลจึงสั่งพักการพิจารณาคดี ให้คู่ความและพยานที่มาศาลแล้วไปรับประทานอาหารเที่ยงก่อน แล้วให้เริ่มการสืบพยานในช่วงบ่ายเร็วขึ้นเป็นเวลา 12.30 น.

ศาลเริ่มพิจารณาคดีช่วงบ่ายในเวลา 12.38 น. พ.ต.ท.สุรชัจ สีมุเทศ ซึ่งขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือ ปอท.  เบิกความโดยสรุปได้ว่า เขาได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของปริญญาซึ่งมีการโพสต์ข้อความที่น่าจะเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (ขณะเบิกความพยานใช้คำว่า 'หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ') จากการตรวจสอบพบว่า ปริญญาเป็นนักดนตรีวงไฟเย็นและเป็นคนมีชื่อเสียง เฟซบุ๊กของปริญญามีการโพสต์ภาพของตัวเอง ส่วนข้อความตามฟ้องทั้งสามข้อความก็โพสต์โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะ

ข้อความแรกปริญญาโพสต์ในวันที่ 27 เม.ย. 2559 ทำนองว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีกฎหมายอัตราโทษสูงอย่างมาตรา 112 คุ้มครองถือเป็นเรื่องงมงาย การที่คนที่อ้างตัวว่าเป็นพวกต่อต้านเรื่องงมงายไปแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 ถือเป็นคนขี้โกหกและจิตใจโหดเหี้ยม ข้อความที่สองปริญญาโพสต์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 เป็นเนื้อเพลงที่มีคำว่าสถาบันกากสัส ปรากฎซ้ำๆ กันหลายครั้ง ส่วนข้อความที่สามโพสต์วันที่ 16 กรกฎาคม 2559 เกี่ยวกับการรัฐประหารในประเทศตุรกีว่า ไม่มีกษัตริย์เซ็นรับรองการรัฐประหารก็เป็นแบบนี้แหละพร้อมติด #รัฐประหารตุรกี  

พ.ต.ท.สุรชัจ เบิกความว่า ข้อความทั้งสามเป็นข้อความเท็จ เป็นการใส่ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงอยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนานและประชาชนให้ความเคารพเทิดทูน ทั้งสถาบันก็คอยให้ความช่วยเหลือประชาชนและไม่เคยใช้กฎหมายทำร้ายประชาชน นอกจากนั้นพระมหากษัตริย์ก็ทรงใช้อำนาจผ่านสถาบันนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ ไม่ได้ทรงใช้พระราชอำนาจเอง ในส่วนข้อความที่เป็นเนื้อเพลงก็เขียนในลักษณะที่ทำให้เข้าใจได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสิ่งไม่ดี สำหรับข้อความที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารในตุรกี พ.ต.ท.สุรชัจเบิกความว่า ปริญญาโพสต์ข้อความเชื่อมโยงสถานการณ์ในตุรกีว่าทำไม่สำเร็จเพราะไม่มีพระมหากษัตริย์รับรองอย่างกรณีของไทย ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงใช้พระราชอำนาจด้วยพระองค์เอง

พ.ต.ท.สุรชัจตอบคำถามค้านทนายจำเลย พอสรุปได้ว่า การเปิดบัญชีเฟซบุ๊กและการนำภาพถ่ายมาลงเฟซบุ๊กบุคคลใดก็สามารถทำได้ แต่ในส่วนของคดีนี้ทางเจ้าหน้าที่มีการสืบสวนเชื่อมโยงตัวตนว่า เฟซบุ๊กที่ใช้โพสต์ข้อความเป็นของปริญญาจริง แต่ไม่สามารถเปิดเผยวิธีการทำงานได้เพราะอาจเป็นช่องว่างให้ผู้กระทำความผิดรายใหม่ในอนาคต ข้อความแรกแม้ไม่ปรากฎพระนามของพระมหากษัตริย์หรือบุคคลใดแต่เชื่อว่าปริญญาสื่อถึงพระมหากษัตริย์รัชกาลที่สิบ โดยดูจากบริบทแวดล้อมที่มีการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงที่มีการประท้วงรัฐบาลและมีการพาดพิงไปถึงสถาบันฯ แม้จะไม่ปรากฎคำหยาบคายแต่เมื่ออ่านดูก็จะทราบว่าผู้โพสต์ตั้งใจจะสื่ออะไร 

ตอนหนึ่งของการเบิกความตอบคำถามค้านพยานยังถามทนายความกลับ ทำนองว่าทราบหรือไม่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจใดบ้าง บรรยากาศระหว่างการถามค้านค่อนข้างตึงเครียดและบางช่วงเวลาคล้ายเป็นการโต้เถียงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทนายความถามทำนองว่า การตีความว่าข้อความใดหมายความถึงอะไร ก็เป็นความเห็นของตัวพยานใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สุรชัจจะตอบคัดค้านทันทีว่า ไม่ใช่ความเห็นแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ก่อนจะเบิกความว่าเป็นความเห็นของคณะที่ทำการสืบสวน แต่ไม่ใช่ความเห็นส่วนตัว

พ.ต.ท.สุรชัจเบิกความรับกับทนายด้วยว่า เหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้า คำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์หมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย แต่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามตัวบทจะคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เท่านั้น จากนั้นพ.ต.ท.สุรชัจ ตอบคำถามติงของอัยการว่า แม้ข้อความทั้งหมดที่ปริญญาโพสต์จะไม่ระบุชื่อว่าหมายถึงบุคคลใด แต่เมื่ออ่านโดยรวมจะเข้าใจได้ว่า หมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร หนูทอง พนักงานสอบสวนผู้รับเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษคดีนี้ที่ ปอท. เบิกความพอสรุปได้ว่า ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2559 มีพ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม กับพวกมาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับปริญญาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (3) และ (5) หลังการสอบสวนพ.ต.อ.สัณห์เพ็ชรได้ขออนุมัติหมายจับจากศาลทหารกรุงเทพเพื่อทำการจับกุมปริญญาเพราะขณะนั้นมีประกาศคสช.ให้คดีมาตรา 112 อยู่ในอำนาจของศาลทหาร นอกจากนั้นพ.ต.อ.สัณห์เพ็ชรยังได้สอบปากคำเจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีทีในขณะนั้น และสอบปากคำพยานเพิ่มเติม ก่อนสรุปสำนวนเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชรขยายความว่า ขณะที่ทำสำนวนคดีนี้ การกลั่นกรองคดีมาตรา 112 จะมีอยู่สามชั้น ชั้นแรกจะเป็นคณะกรรมการของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เมื่อมีความเห็นจะส่งสำนวนไปให้กองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอให้คระกรรมการกลั่นกรองคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งคดีนี้เมื่อคณะกรรมการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเห็นให้ทำการสอบพยานเพิ่มเติม ตัวเขาได้รับคำสั่งย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ที่อื่นจึงไม่ได้ทำคดีต่อ 

พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชรเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยโดยสรุปได้ว่า ตัวเขาเคยเป็นพนักงานสอบสวนคดีมาตรา 112 หลายสำนวน โดยตามตัวบทกฎหมายมาตรา 112 จะคุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยที่ไม่มีคำว่าสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ในตัวบท สำหรับข้อความในโพสต์แรกที่เป็นปัญหา พ.ต.อ.สัณห์เพ็ชรเบิกความว่าไม่มีคำหยาบคาย ไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงหรือกล่าวถึงบุคคลใดเป็นการเฉพาะ และข้อความที่ว่าคนที่ไปแจ้งความมาตรา 112เป็นคนตอแหลและโหดเหี้ยมก็หมายถึงคนที่ไปร้องทุกข์กล่าวโทษให้มีการดำเนินคดีมาตรา 112 ข้อความที่สองที่เป็นเนื้อเพลงก็ไม่ได้มีการระบุว่า กล่าวถึงบุคคลใด มีเพียงคำว่า "กากสัส" ปรากฎหลายครั้ง และมีข้อความตอนท้ายที่ปริญญาระบุว่าสถาบันมีหลายสถาบันให้ตีความอย่างกว้างๆ ส่วนข้อความที่สามไม่มีคำหยาบคายหรือด่าทอและเป็นการเขียนถึงการรัฐประหารในประเทศตุรกี และเป็นข้อความประโยคบอกเล่า 

ร.ต.อ. ฐานันดร สาสูงเนิน สังกัด ปอท. เบิกความโดยสรุปได้ว่า เข้ามารับหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ต่อจากพ.ต.อ.สัณห์เพ็ชร ในวันที่ 5 มีนาคม 2564 ซึ่งเขาปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวร พ.ต.ท.แท่น ไชยแสง กับพวกนำตัวปริญญามาส่งพร้อมทั้งได้มอบบันทึกการจับกุม คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ของกลางไว้ เขาจึงได้ลงบันทึกประจำวัน แจ้งสิทธิและแจ้งข้อกล่าวหากับปริญญา โดยปริญญาไม่ประสงค์ให้การกับพนักงานสอบสวน และไม่ประสงค์จะมอบรหัสเข้าโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ให้กับตำรวจ หลังดำเนินการสอบสวน ร.ต.อ.ฐานันดรมีความเห็นตามคณะกรรมการกลั่นกรองคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สั่งไม่ฟ้องปริญญาในความผิดตามมาตรา 112 แต่สั่งฟ้องในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยที่เขาสอบปากคำพยานเพิ่มเติมหนึ่งคน คือ พ.ต.ท.แท่นซึ่งเป็นผู้จับกุมและนำตัวปริญญามาส่งมอบ ในส่วนของคำพิพากษาศาลจังหวัดนครพนมที่พิพากษามาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ทนายจำเลยนำมาให้ดู เขาไม่เคยเห็น

หลังการสืบพยานปากร.ต.อ. ฐานันดร อัยการแถลงหมดพยาน ส่วนทนายจำเลยแถลงว่าฝ่ายจำเลยไม่ประสงค์นำพยานเข้าสืบ คดีจึงเป็นอันสิ้นสุด แต่ระหว่างที่ศาลกำลังทำบันทึกคำเบิกความและรายงานกระบวนพิจารณาคดี ทนายจำเลยแถลงว่าประสงค์จะทำคำแถลงปิดคดีส่งศาล ศาลอนุญาตให้ทำส่งภายใน 30 วันนับจากวันนี้ หากไม่ทำส่งจะถือว่าจำเลยไม่ติดใจและนัดปริญญาฟังคำพิพากษาวันที่ 15 ส.ค. 2565

ทั้งนี้ปริญญาให้สัมภาษณ์กับ iLaw ไว้สั้นๆ หลังจบการพิจารณาคดีว่า ขณะนี้เขามีปัญหาสุขภาพ คือ โรคเบาหวานและปลายประสาทบริเวณเท้าอักเสบซึ่งทำให้มีอาการชา ต้องไปพบแพทย์สามเดือนครั้งเพื่อรับยาและตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยอาการ โดยแพทย์ระบุว่าอาการป่วยทั้งหมดน่าจะเป็นไปตลอดชีวิต ส่วนอาการป่วยที่ตับอ่อนแพทย์นัดตรวจปีละครั้ง เมื่อสอบถามถึงอาการป่วยและความกังวลต่อคำพิพากษาที่อาจถูกตัดสินจำคุก ปริญญาระบุว่าไม่กังวลมากนักเพราะแพทย์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์พอจะให้การดูแลได้ และอาหารที่จะไปกระตุ้นโรคเกี่ยวกับตับอ่อนก็ไม่ได้มีในเรือนจำอยู่แล้ว ส่วนเรื่องเบาหวานก็เพียงแต่ควบคุมน้ำตาลโดยก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับการรักษาระหว่างอยู่ในเรือนจำมาบ้างแล้ว 

ในส่วนของชีวิตโดยทั่วไป ช่วงนี้เขาไม่ได้ประกอบอาชีพ เคยคิดว่าจะเป็นนักดนตรีฟรีแลนซ์แต่ก็ยังไม่ได้ทำ เขามีวงดนตรีที่เล่นกับเพื่อนแต่ยังไม่ได้ทำเป็นอาชีพ  ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่เมื่อไม่ได้ทำงานนี้สักช่วงเวลาหนึ่งก็ยากที่จะกลับมาทำอีกครั้ง เขายังพอมีงานดนตรีไปแสดงที่ร้าน The Ordinary Bar ซึ่งเขาได้คัดเพลงของวงไฟเย็นที่ตัวเองแต่งไปเล่นกับเพลงอื่นๆ ที่แต่งในฐานะศิลปินเดี่ยว เขารู้สึกดีที่ได้กลับไปเล่นดนตรีอีกครั้งหนึ่งโดยทุกเพลงที่เขานำไปเล่นเขาได้คัดไว้เป็นอย่างดีและทุกเพลงก็มีความหมาย 

ในส่วนของคดี ปริญญาคิดว่าเป็นเรื่องของผู้พิพากษาว่า จะตัดสินอย่างไร ตัวเขาเองเชื่อว่าสิ่งที่โพสต์ไม่ได้ผิดกฎหมายโดยเฉพาะโพสต์แรกเรื่องการแจ้งความคดี 112 ซึ่งเขาโพสต์เพื่อตอบโต้กรณีที่แอดมินเพจ FuckGhost ฟักโกสต์ : สมาคมต่อต้านสิ่งงมงาย ไปร้องทุกข์กล่าวโทษคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองด้วยมาตรา 112 ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็มีการเผยแพร่โดยสื่อในวันที่ 27 เม.ย. 2559 วันเดียวกับที่เขาโพสต์ข้อความตามฟ้องข้อความแรกในคดีนี้ แต่สุดท้ายคดีจะเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ดุลพินิจของศาล ถ้าสถานการณ์จะเลวร้ายที่สุดคือถูกคุมขังอีกครั้งเขาก็เตรียมใจไว้แล้ว 

ทั้งนี้ ปริญญาหรือ 'พอร์ท' เป็นอดีตมือกีตาร์วงไฟเย็น ช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 เขาเคยลี้ภัยไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้านระยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับมาประเทศไทยเพราะต้องรักษาอาการป่วย 

สำหรับคดีนี้การกระทำตามข้อกล่าวหาคือข้อความที่เขาโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวในปี 2559 รวมสามข้อความ ทว่าเขาเพิ่งมาถูกจับกุมตัวในวันที่ 5 มี.ค. 2564 หลังถูกจับเขาถูกฝากขังในเรือนจำเป็นเวลา 68 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 มี.ค. 2564 จนถึงวันที่ 12 พ.ค. 2564 ซึ่งศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้ผู้ต้องหาทำกิจกรรมหรือใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในทางที่จะเกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมใดที่อาจก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัด 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท