Skip to main content
sharethis

ประธานชมรมผู้ประกอบการนวดไทยล้านนา เผยธุรกิจภาพรวมเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ติดปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ ทั้งระบบหายไปกว่า 60%

นางนันทวัน ชุติพงษ์วิเวท ประธานชมรมผู้ประกอบการนวดไทยล้านนา และผู้บริหารลีลานวดแผนไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ร้านนวดแผนไทยในจังหวัดเชียงใหม่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากแรงงานที่ขึ้นทะเบียนในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีอยู่กว่า 9,000 คน แต่ปัจจุบันคาดว่าจะเหลืออยู่เพียงร้อยละ 40 หรือประมาณ 3,600 คนเท่านั้น เนื่องจากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร้านนวดแผนไทยยังไม่สามารถให้บริการได้ ทำให้แรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือหันไปทำอาชีพอื่นเพื่อเลี้ยงชีพ และการเรียกแรงงานกลับมาทำงานเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

นอกจากนี้ แรงงานส่วนใหญ่ยังไม่มีความมั่นใจในความมั่นคงของงาน เพราะนักท่องเที่ยวยังมีจำนวนไม่มาก และกลัวว่าโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดจนต้องปิดร้านอีกครั้ง และการหาแรงงานใหม่มาทดแทนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากผู้ที่จะมาให้บริการนวดแผนไทยต้องผ่านการเรียน และอบรมมาก่อนจึงจะสามารถให้บริการได้

สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ตอนช่วงที่ผ่านมาได้ทำการเรียกพนักงานที่เคยทำงานกับทางร้านกลับมาทำงาน แต่มีเพียงส่วนน้อยที่กลับมาทำงานกับทางร้าน ตอนนี้จึงได้ประกาศรับสมัครพนักงานใหม่ เพื่อมาทดแทนพนักงานเก่าที่หายไป

ปัจจุบันนี้ ร้านนวดแผนไทยในจังหวัดเชียงใหม่กว่า 200 แห่ง จากที่มี 492 แห่ง ได้กลับมาเปิดให้บริการแล้ว และคิดว่าธุรกิจนวดแผนไทยน่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย จากที่ได้เปิดให้บริการมาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน จนถึงปัจจุบัน รายได้จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 จากรายได้ที่เคยได้ในช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และน่าจะกลับมาดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ เนื่องจากลูกค้าหลักของทางร้านจะเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่าร้อยละ 80 แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาใช้บริการยังมีจำนวนน้อย

“การนวดเพื่อสุขภาพจะแยกออกจาก อาบอบนวด อย่างชัดเจน การนวดเพื่อสุขภาพจะเป็นการนวดเพื่อผ่อนคลาย เป็นการนวดแผนไทย เช่น การนวดเท้า การนวดน้ำมัน แต่สำหรับอาบอบนวดจะเป็นอีกส่วนหนึ่ง และตอนนี้เราก็กำลังรณรงค์ให้ร้านที่เป็นร้านนวดเพื่อสุขภาพต้องไม่มีการค้าบริการแอบแฝง ” นางนันทวัน กล่าว

ที่มา: Nation TV, 3/6/2565

กรมราชทัณฑ์ เตรียมประชุม 6 มิ.ย.นี้ คัดตัวนักโทษเด็ดขาด 300 คน ส่งลอกท่อกับ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ แลกลดวันต้องโทษ

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ในวันจันทร์ที่ 6 มิ.ย.นี้ กรมราชทัณฑ์จะประชุมเพื่อคัดตัวนักโทษเด็ดขาดจำนวน 300 คนที่มีความประพฤติดี พร้อมออกไปทำงานสาธารณประโยชน์ของราชการนอกเรือนจำและขุดลอกท่อระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหา การจัดการระบบระบายน้ำในสถานที่ต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร โดยกรมฯได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าฯกทม.แล้ว รวมทั้งเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการลอกท่อไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดพื้นที่ว่าจะทำงานในจุดใดบ้าง ต้องรอการตอบรับจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ก่อน

สำหรับนักโทษเด็ดขาดที่จะออกไปทำงาน ต้องเป็นนักโทษที่มีความประพฤติดี เหลือโทษน้อย ซึ่งหลังจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ในเรือนจำคลี่คลายลง กรมราชทัณฑ์วางแผนจ่ายนักโทษเด็ดขาดออกไปทำงานสาธารณะเหมือนที่เคยทำมา ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ต้องขังได้พัฒนาพฤตินิสัยผ่านการทำงานแล้ว การทำงานย่อมได้รับการตอบแทนเหมือนกับประชาชนทั่วไป ในมิติด้านเงินรางวัลตอบแทน คำนวณรายได้เป็นราคาเงินและการจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ต้องขังตามระเบียบ ระบุให้จ่ายเงินรางวัลในสัดส่วนร้อยละ 7 ของกำไรทั้งหมดแก่นักโทษเด็ดขาดสำหรับส่วนที่เหลือกำหนดให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวอีกว่า การบริหารโทษ นักโทษเด็ดขาดที่ได้ออกทำงานสาธารณะหรืองานอื่นใดนอกเรือนจำ ผู้ต้องขังจะได้รับวันลดวันต้องโทษจำคุกจากการทำงาน เช่น นักโทษเด็ดขาดออกทำงาน 5 วัน จะได้รับวันลดวันต้องโทษจำคุกลดลงจากกำหนดโทษ 5 วัน ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินรางวัลตอบแทน ได้รับวันลดวันต้องโทษจำคุกทำให้พ้นโทษเร็วขึ้น และหากเจ็บป่วยหรือประสบเหตุจากการทำงานจะได้รับเงินค่าทำขวัญตั้งแต่ 10,000-20,000 บาท

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 2/6/2565

ทำงานที่อิสราเอล ได้เงินเดือน 5 หมื่นบาท สมัครผ่านกระทรวงแรงงาน

กระทรวงแรงงานมีการจัดส่งแรงงานไทยจำนวน 213 คน ไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers: TIC) เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565

โดยอิสราเอลถือเป็นอีกประเทศที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้การสนับสนุนแรงงานไทยไปทำงาน เพราะเป็นที่ต้องการของนายจ้าง และมีความต้องจ้างงานเพิ่มขึ้นแม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ในปี 2565 กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน มีการจัดส่งแรงานไทยไปทำงานรัฐอิสราเอล ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค.-28 พ.ค. 2565 จำนวน 2,562 คน รวมกับที่เดินทางล่าสุดครั้งนี้อีก 213 คน เป็น 2,775 คน

และในเดือนมิถุนายนนี้กรมการจัดหางานมีแผนการจัดส่งสัปดาห์ละ 1 ครั้ง รวมตลอดเดือนประมาณ 800 คน โดยแรงงานไทยจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 5,300 เชคเกล หรือประมาณ 53,981 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น)

นายบุญชอบ เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นฮีโร่ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่นำรายได้จากต่างประเทศ เข้ามาในระบบเศรษฐกิจประเทศไทย ภาพรวมการจัดส่งแรงงาน ในปี 2565 สามารถส่งรายได้กลับประเทศมากถึง 82,506 ล้านบาท

“ขอให้พี่น้องแรงงานมีความขยัน ทำงานด้วยความตั้งใจ อย่ายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และการพนัน ให้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างและกฎหมายของอิสราเอลอย่างเคร่งครัด ประหยัดเก็บออม คิดถึงอนาคตของตนเองและครอบครัว รวมทั้งคำนึงถึงชื่อเสียงของประเทศชาติ เมื่อเดินทางกลับมาจะสามารถนำรายได้ ความรู้และประสบการณ์กลับมาเป็นทุนให้ตนเอง

หากโดนนายจ้างเอาเปรียบ หรือต้องการรับความช่วยเหลือ มีฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ ในวันพรุ่งนี้ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ”

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ผู้สนใจสมัครไปทำงานรัฐอิสราเอลสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ https://toea.doe.go.th เพื่อลงทะเบียนระบบอิเล็กทรอนิกส์ การบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรอกข้อมูลเพื่อลงทะเบียนคนหางาน และผู้สมัครงานสามารถตรวจสอบสถานะการสมัครได้ที่อีเมลของตนเอง หรือที่เว็บไซต์ https://toea.doe.go.th ในหัวข้อดูรายการสมัครไปทำงานโดยรัฐจัดส่ง

หรือติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เพื่อดำเนินการสมัครให้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

ทั้งนี้ หากมีผู้แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือให้ได้รับการคัดเลือกเพื่อไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอลได้ โปรดอย่าหลงเชื่อ แต่ขอให้แจ้งและตรวจสอบข้อมูลกับกรมการจัดหางานก่อน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 2/6/2565

เผยนายจ้างซาอุดีอาระเบียแจ้งความต้องการแรงงานไทยมาแล้วกว่า 300 อัตรา รายได้สูง 27,500 – 37,000 บาท สวัสดิการดี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนนโยบายการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบีย ว่า จากรายงานของสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย กรุงริยาด พบว่า ล่าสุดนายจ้างในประเทศซาอุดีอาระเบียได้แจ้งความต้องการแรงงานไทยมาแล้วเบื้องต้น รวมทั้งสิ้น 309 อัตรา ส่วนใหญ่เป็นสาขาพยาบาลวิชาชีพ พี่เลี้ยงพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล สาขาละ 100 อัตรา รวม 300 อัตรา นอกจากนี้ ยังมีสาขาช่างอีก 9 อัตรา ได้แก่ ช่างเชื่อม 3 อัตรา ช่างควบคุม เครื่องกลึง 3 อัตรา ช่างไฟฟ้าอุตสาหกรรม 3 อัตรา

โดยตำแหน่งดังกล่าว มีอัตราค่าจ้างสุทธิอยู่ที่ประมาณ 27,500 – 37,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ โดยเมื่อไปทำงานในซาอุดีอาระเบียแล้ว นายจ้างจะจัดสวัสดิการอื่น ๆ ให้กับแรงงานไทย เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก รถรับ – ส่งจากที่พักไปที่ทำงาน ค่าตั๋วการเดินทางไปกลับรายปีฟรี ประกันสุขภาพ ประกันการบาดเจ็บจากการทำงาน วันลาหยุด พักผ่อนประจำปี และสวัสดิการอื่น ๆ อีกมากมาย

สำหรับผู้ที่สนใจไปทำงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ขอให้ติดตามข่าวสารหรือประกาศรับสมัครตำแหน่งงานจากกรมการจัดหางานเป็นระยะ โดยในเบื้องต้นสามารถลงทะเบียนผ่านระบบ E-Service กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ได้ที่เว็บไซต์ http://toea.doe.go.th เลือก “ลงทะเบียน” เลือก “คนหางาน” และสามารถศึกษาคู่มือวิธีการลงทะเบียนคนหางานได้ที่หน้าเว็บไซต์ และสามารถคิดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas. หรือติดต่อสำนักงานจัดหางานได้ทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 ในวันเวลาราชการ หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

นายสุชาติ กล่าวอีกกว่า นายกรัฐมนตรีมีนโยบายสำคัญในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในซาอุดีอาระเบียจึงกำชับให้กระบวนการจัดส่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ที่มา: สำนักข่าว INN, 1/6/2565

ชาวบ้านรวมตัวช่วยทหารล้อมจับเมียนมาขับรถกระบะติดตราสำนักงานศาลยุติธรรม ลักลอบขนแรงงานเถื่อนชาวเมียนมา 70 คน

1 มิ.ย. 2565 ชาวบ้านหมู่บ้านโป่งเกตุ จำนวนกว่า 10 คน รวมตัวช่วยเหลือทหารหน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กองกำลังสุรสีห์ ปิดล้อมสกัดจับรถกระบะลักลอบขนแรงงานเถื่อนหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ได้รถจำนวน 5 คัน พร้อมแรงงานข้ามชาติชาย-หญิง รวมจำนวน 70 คน จากนั้นจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง รวมทั้งตำรวจ สภ.คลองวาฬ ตชด.146 และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองประจวบคีรีขันธ์ ร่วมจับกุม และตรวจสอบทำประวัติเส้นทางการหลบหนี ก่อนส่งตัวดำเนินคดีตามกฎหมาย

ที่เกิดเหตุได้ตรวจยึดรถกระบะ สีขาว ลักษณะตู้ทึบ 1 คัน รถกระบะ 4 ประตู สีขาว 1 คัน รถกระบะ สีบรอนซ์-เทา 1 คัน และรถกระบะ สีดำ 2 คัน พร้อมคนขับรถนำพาเป็นคนไทย 1 คน และคนขับรถชาวเมียนมา 4 คน โดยมีแรงงานเถื่อนชาวเมียนมาชาย-หญิง จำนวน 70 คน แบ่งเป็นชาย 52 คน หญิง 15 คน ผู้ติดตามเป็นเด็กชาย 2 คน และเด็กหญิง 1 คน ซึ่งมากับมารดา สามารถสกัดจับได้ที่บริเวณทางสามแยก ใกล้กับโรงเรียนเศรษฐพานิชวิทยา หมู่ 7 บ้านโป่งเกตุ ต.ห้วยทราย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์

จากการสอบสวนกลุ่มแรงงานเบื้องต้น ให้การรับสารภาพว่า ได้เดินทางมาจาก จ.ทวาย จ.มะริด จ.พะโค ฯลฯ จากนั้นมาพักคอยคนนำทาง เดินเท้าข้ามแดนที่บริเวณบ้านมูด่อง ฝั่งประเทศเมียนมา ต่อมาได้เดินเท้าข้ามแดนมาตามช่องทางธรรมชาติมารอนายหน้าฝั่งไทยมารับ โดยจะเสียค่านำพาคนละ 20,000-25,000 บาท ซึ่งจุดหมายปลายทางอยู่ที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร และประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้ ตรวจสอบรถกระบะ สีดำ 2 คัน พร้อมคนขับชาวเมียนมาจำนวน 2 คน พบบริเวณกันชนหน้ารถมีการติดตราสัญลักษณ์สำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งได้ให้การยอมรับสารภาพว่า กำลังเข้ามารับแรงงานเถื่อน แต่ถูกจับเสียก่อน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองวาฬ จึงได้ควบคุมตัวคนขับพร้อมอายัดรถไปตรวจสอบรายละเอียดที่โรงพัก จากนั้นนำตัวผู้ต้องหาชาวเมียนมาทั้งหมดไปพักไว้ที่ศูนย์พักคอยเพื่อกักกันโรค ที่บริเวณหมู่ 5 บ้านห้วยใหญ่ ต.คลองวาฬ ในระหว่างรอดำเนินคดีตามกฎหมาย

ด้านแหล่งข่าวในพื้นที่ ระบุว่า ทุกๆคืนจะมีรถป้ายทะเบียนต่างจังหวัดเข้ามารับแรงงานเถื่อนชาวเมียนมาที่หลบหนีเข้าเมือง คืนละไม่ต่ำกว่า 10 - 20 คัน ตั้งแต่ประมาณหลัง 4 ทุ่มถึงตี 5 บางวันรถขนแรงงานชาวเมียนมาก็เข้ามารับในพื้นที่ช่วงเวลากลางวัน เหมือนไม่เกรงกลัวกฎหมาย แต่เจ้าหน้าที่มีการจับกุมได้น้อยครั้ง อาจเป็นเพราะกำลังพลมีน้อย และที่ผ่านมาขบวนการขนแรงงานเถื่อนมีการใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่เพื่อเปิดทาง จึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่บางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับขบวนการลักลอบคนแรงงานเถื่อนทนไม่ไหว จึงได้รวมตัวออกมาช่วยเจ้าหน้าที่ทำการจับกุม เนื่องจากรักและหวงแหนในประเทศบ้านเกิดของตนเอง

ที่มา: news.ch7.com, 1/6/2565

“กรมการจัดหางาน” สร้างการรับรู้การปฏิบัติตาม กม.ใช้แรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมทั้งตระหนักถึงการใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่มีผลต่อความมั่นคงและความเชื่อมั่นของประเทศไทย ซึ่งส่งผลไปถึงภาคเศรษฐกิจ จึงมอบหมายกรมการจัดหางานในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทุกมิติ ทั้งการตรวจสอบ ดำเนินคดี ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเข้มงวด การรับฟังปัญหาจากนายจ้าง สถานประกอบการที่ใช้แรงงานข้ามชาติ ตลอดจนการปรับกฎ ระเบียบ ข้อบังคับให้มียืดหยุ่นสอดคล้องตามสถานการณ์จริง โดยมุ่งหวังให้นายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานข้ามชาติ ปฏิบัติตามมติครม.ในคราวต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การจ้างแรงงานต่างด้าวโดยถูกต้องตามกฎหมาย

โดยกรมการจัดหางานได้จัดอบรม “โครงการเสริมสร้างการรับรู้ให้นายจ้าง สถานประกอบการ แรงงานต่างด้าว และองค์กรภาคีเครือข่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565” ขึ้นทั่วประเทศ เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่นโยบาย กฎระเบียบ ประกาศ ข้อมูลข่าวสารภาครัฐ และสร้างความเข้าใจในการดำเนินการตามมติครม. คราวต่างๆภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการปฏิบัติตามแนวทางการปรับลดมาตรการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MOU)

ทั้งนี้ผู้ร่วมโครงการจะได้ความรู้ที่เป็นปัจจุบัน และเกิดประโยชน์ จากผู้มีความเชี่ยวชาญ ทั้งวิทยากรจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน และวิทยากรจากสำนักงานประกันสังคม อาทิ แนวทางการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU และแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 สิทธิประโยชน์ของคนต่างด้าว จากการเข้าระบบประกันสังคม บทกำหนดโทษที่นายจ้าง/สถานประกอบการควรรู้ และการเตรียมความพร้อมต่อแนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคตที่การจ้างแรงงานข้ามชาติ จะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่มีต้นทุนถูกลง โดยจะมีการจัดอบรมขึ้นทั่วประเทศ ณ จังหวัดที่มีนายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับนายจ้าง สถานประกอบการ และแรงงานข้ามชาติที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพื่อร่วมการอบรมฯ ได้ที่ สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ที่มา: สยามรัฐ, 1/6/2565

'ก.แรงงาน- ศธ.' MOU พัฒนาทักษะผู้เรียน ส่งเสริมการศึกษาและการมีงาน หวังแรงงานทุกระดับ มีงานทำ มีรายได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน MOU ด้านส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงแรงงาน และคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง (workshop) โดยมี นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมผู้แทนกรมการจัดหางานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

นายสุเทพ กล่าวว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และท่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพและส่งเสริมการมีงานทำ และให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยโดยเฉพาะใน วัยแรงงาน ที่จะต้องได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือให้สูงขึ้นสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ กระทรวงแรงงาน โดยท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงได้ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของการประชุมในวันนี้ที่ประชุมได้รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานการส่งเสริมการศึกษากับการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ครั้งที่ 1/2565 และได้รับทราบ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาและการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงแรงงาน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

โดยมีคณะทำงาน 4 ด้าน ดังนี้ คณะทำงานด้านระบบฐานข้อมูล Big Data และด้านการส่งเสริมการมีงานทำ มีผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน คณะทำงานด้านการพัฒนาหลักสูตรและด้านการพัฒนาบุคลากรและครูผู้สอน มีที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาธุรกิจและบริการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธาน คณะทำงานด้านการทดสอบและการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และด้านการประเมินและการจัดตั้งศูนย์ประเมินความรู้ความสามารถ มีรองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน และคณะทำงานด้านส่งเสริมและพัฒนางานในการจัดการอาชีวศึกษาด้านทวิภาคีและด้านการแข่งขันฝีมือแรงงาน มีรองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน

การประชุมติดตามความคืบหน้าความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานความร่วมมือดังกล่าวให้บรรลุวัตถุประสงค์และสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการศึกษากับการมีงานทำให้แก่นักเรียน นักศึกษา และแรงงานทุกระดับ หรือ เรียนจบมีงานทำ อันจะสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพได้อย่างแท้จริงต่อไป

ที่มา: คมชัดลึก, 31/5/2565

ปลัดแรงงานเผยแรงงานไทยเป็นที่ต้องการของนายจ้างอิสราเอล

30 พ.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมาย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้กำลังใจแรงงานไทย จำนวน 213 คน ก่อนเดินทางไปทำงานภาคเกษตรในรัฐอิสราเอล ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย – อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers: TIC) โดยมี นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) น.ส.บุณยวีร์ ไขว้พันธุ์ นายสันติ นันตสุวรรณ รองอธิบดี กกจ. และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วม ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 3

นายบุญชอบ เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างยิ่ง เพราะถือเป็นฮีโร่ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่นำรายได้จากต่างประเทศ เข้ามาในระบบเศรษฐกิจประเทศไทย ภาพรวมการจัดส่งแรงงาน ในปี 2565 สามารถ ส่งรายได้กลับประเทศมากถึง 82,506 ล้านบาท ซึ่งการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานในรัฐอิสราเอล ถือเป็นอีกประเทศที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ไม่มีความกังวล และรู้สึกยินดีที่แรงงานไทยทำงานได้ดี มีทักษะ และความรับผิดชอบ เป็นที่ต้องการของนายจ้างในรัฐอิสราเอลจนมีความต้องจ้างงานเพิ่มขึ้นแม้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ขอให้พี่น้องแรงงานมีความขยัน ทำงานด้วยความตั้งใจ อย่ายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และการพนัน ให้ปฏิบัติตามสัญญาจ้างและกฎหมายของอิสราเอลอย่างเคร่งครัด ประหยัดเก็บออม คิดถึงอนาคตของตนเองและครอบครัว รวมทั้งคำนึงถึงชื่อเสียงของประเทศชาติ เมื่อเดินทางกลับมาจะสามารถนำรายได้ ความรู้และประสบการณ์กลับมาเป็นทุนให้ตนเอง หากโดนนายจ้างเอาเปรียบ หรือต้องการรับความช่วยเหลือ มีฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ ในวันพรุ่งนี้ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ” นายสุชาติ กล่าว

ที่มา: มติชนออนไลน์, 30/5/2565

รมว.ยุติธรรม ตรวจงานนักโทษลอกท่อ ย้ำราชทัณฑ์พร้อมนำแรงงานช่วยบริการสังคม

30 พ.ค. 2565 ที่ตลาดโต้รุ่ง อ.เมือง จ.สุโขทัย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ นายชูศักดิ์ คีรีมาศทอง ส.ส.สุโขทัย พรรคพลังประชารัฐ นายเขตพงศ์ กุลนาถศิริ รองนายก อบจ.สุโขทัย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการลอกท่อของผู้ต้องขังจากเรือนจำจังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นความร่วมมือกับเทศบาลเมืองสุโขทัย

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ตนลงมาดูในวันนี้ อยากส่งสัญญาณไปทั่วประเทศว่า กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษ สามารถเป็นแรงงานช่วยบริการสังคมในส่วนนี้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ต้องขังมีเงินทองต้องใช้จ่าย ยิ่งในช่วงโควิด-19 ญาติไม่มีโอกาสเยี่ยมก็ขาดเงินใช้ ซึ่งการนำแรงงานออกมาใช้ลอกท่อก็ทำให้พวกเรามีรายได้อีกด้วย รวมทั้งยังเป็นการให้โอกาสพวกเขาในการปรับตัว ดังนั้นตนจึงอยากส่งสัญญาณให้เทศบาล อำเภอและจังหวัดทั่วประเทศ หากยังขาดแรงงาน สามารถเรียกใช้ผู้ต้องขังเหล่านี้ได้เลย กรมราชทัณฑ์ยินดีที่จะให้บริหาร

ที่มา: สยามรัฐ, 30/5/2565

วิคตอเรีย ซีเคร็ท ควักจ่ายกว่า 280 ล้าน ชดเชยแรงงานไทยถูกเลิกจ้าง

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างการเปิดเผยจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า วิคตอเรีย ซีเคร็ท แบรนด์ชุดชั้นในสตรีแบรนด์ดังของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าหลักของบริษัท Brilliant Alliance Thai ผู้ผลิตชุดชั้นในสัญชาติไทยตั้งอยู่ใน จ.สมุทรปราการ ได้บรรลุข้อตกลงจ่ายเงินจำนวน 8.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 283 ล้านบาท เพื่อจ่ายชดเชยให้กับแรงงานไทยในบริษัทดังกล่าวจำนวน 1,250 คน ที่ไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายจากการถูกลอยแพ ซึ่งมีขึ้นหลังจากบริษัท Brilliant Alliance Thai ได้ประกาศล้มละลายและยุติกิจการไปเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2564 หลังจากที่คดีนี้ยืดเยื้อมาเป็นปี

ทั้งนี้ โรงงานของ Brilliant Alliance Thai ยังทำการผลิตชุดชั้นในพลัสไซส์ ภายใต้แบรนด์ Lane Bryant และ Torrid ด้วย แต่มีเพียง วิคตอเรีย ซีเคร็ท เท่านั้น ที่มีส่วนร่วมในข้อตกลงนี้กับบริษัทที่เป็นเจ้าของโรงงาน

ด้านวิคตอเรียส์ ซีเคร็ท ยืนยันในแถลงการณ์ว่า ได้บรรลุข้อตกลงดังกล่าวแล้ว แต่ไม่มีการเอ่ยถึงจำนวนเงิน เพียงแต่ระบุว่า ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เราได้ติดต่อกับเจ้าของโรงงานอย่างแข็งขันเพื่ออำนวยความสะดวกในการแก้ปัญหา เราเสียใจที่เจ้าของโรงงานไม่สามารถสรุปเรื่องนี้ได้ด้วยตนเองเพื่อทำให้แน่ใจว่าคนงานจะได้รับการจ่ายเงินชดเชยที่้ค้างชำระไว้เต็มจำนวน ดังนั้นทางวิคตอเรีย ซีเคร็ท จะออกเงินใช้เป็นทุนในการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้กับเจ้าของโรงงานล่วงหน้าไปก่อน

ด้านโซลิดาริตี เซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อสิทธิแรงงานระหว่างประเทศชี้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นการยุติปัญหาการโกงค่าจ้างครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมากับโรงงานผลิตเสื้อผ้า ซึ่งนายเดวิด เวลช์ ผู้อำนวยการของกลุ่มโซลิดาริตี เซ็นเตอร์ ประเทศไทย กล่าวกับเอเอฟพีว่า ตนคิดว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นโมเดลใหม่ของอัตราเงินชดเชยและดอกเบี้ยที่จ่าย ตลอดจนการมีส่วนร่วมโดยตรงของแบรนด์สินค้า

ด้านนายประสิทธิ์ ประสพสุข ประธานสมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คดีนี้ถือเป็นบทเรียนในอนาคตสำหรับรัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทต่างชาติที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในไทยจะจัดสรรกำไรรายเดือนบางส่วนเพื่อการจ่ายชดเชยอย่างเป็นธรรมเมื่อบริษัทเหล่านี้ยุติการดำเนินงานในประเทศไทย

ขณะที่สกอตต์ โนวา ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมสิทธิแรงงาน กล่าวว่า กรณีเหล่านี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งและปัญหาการโกงค่าจ้างในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเกิดเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ ที่ทำให้คำสั่งซื้อลดลง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 29/5/2565

รมว.แรงงาน ลงพื้นที่เยี่ยมกลุ่มอาชีพแรงงานนอกระบบ-ผู้ประกอบการ SMEs

28 พ.ค. 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน พร้อมด้วย พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพบปะให้กำลังใจผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ประกันตนและแกนนำอาสาสมัครแรงงานระดับตำบลจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายไตรรัตน์ ไชยรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับ ณ หอประชุมโรงเรียนขนอมพิทยา อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยนายสุชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการประกอบอาชีพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้เกิดการจ้างงานในระดับพื้นที่และพัฒนาต่อยอดเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับแรงงานนอกระบบ เนื่องจากเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้

ซึ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือ อาทิ การเยียวยาผู้ประกันตน ม.33, ม.39 และ ม.40 และกิจการสถานบันเทิง ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ประกันตนรวม 3 มาตรา จำนวน 16,079 คน รวมเป็นเงิน 11,756,428 ล้านบาท รวมเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจจังหวัดนครศรีธรรมราช 78,118,000 บาท โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชมีนายจ้างลงทะเบียน 2,559 ราย ลูกจ้างสัญชาติไทยลงทะเบียน 27,469 ราย โครงการเสริมสมรรถนะแรงงานด้านเทคโนโลยีรองรับการทำงานในศตวรรษที่ 21 โดยจัดฝึกอบรมให้แก่ผู้ถูกเลิกจ้าง ว่างงาน แรงงานในสถานประกอบกิจการ ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 2 รุ่น จำนวน 48 คน โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ โดยได้จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือ จำนวน 6 กิจกรรม จำนวน 96 คน เช่น หลักสูตรการตรวจเช็คและบำรุงรักษาเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร การทำรังผึ้งโพรงและการเลี้ยงผึ้ง การทำขนมกะละแมพื้นบ้าน การทำเบเกอรี่ และการทำพริกแกง เป็นต้น

โอกาสนี้ รมว.แรงงาน และคณะ ยังได้เยี่ยมชมบูธกิจกรรมของกระทรวงแรงงาน ที่ได้นำผลิตภัณฑ์จากกลุ่มที่ประสบความสำเร็จจากการส่งเสริมการฝึกอาชีพจากหน่วยงานของกระทรวงแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราชมาจัดแสดง ได้แก่ การนำเสนอผลิตภัณฑ์จากกิจกรรมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ตามโครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพของกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรง กลุ่มอาชีพทำขนมกาละแม การแสดงสินค้าของกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านที่ประสบความสำเร็จและได้กู้เงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน กลุ่มเมืองนครปัน ปัก เย็บ ถัก ย้อม กลุ่มธนัชพร กลุ่มสมศิริ

การแสดงสินค้าและสาธิตการทำผลิตภัณฑ์จากกลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมการประกอบอาชีพตามโครงการเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ กลุ่มทำขนมลาบ้านขอนหาด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านท่าขาม การบริการตัดผม เสริมสวยฟรีจากโรงเรียนเสริมสวยสมพร สาธิตการทำเปลญวน บริการรับสมัครงานของบริษัทในเครือเซ็นทรัล การนำเสนอกระบวนการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าขนอมโดยใช้พนักงานที่ผ่านการฝึกอบรม ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติและได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ การนำเสนอการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปปลากระบอกร้าปากพนัง ตลอดทั้งเยี่ยมชมบูธโครงการแรงงานพันธุ์ดีตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมประชาสัมพันธ์งานประกันสังคมอีกด้วย

ที่มา: เดลินิวส์, 28/5/2565

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net