Skip to main content
sharethis

เนื่องในเดือนแห่ง 'ไพรด์' ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ชวนอ่านเกร็ดความรู้เชิงประวัติศาสตร์ ทั้งที่มาและความสำคัญในเชิงการต่อสู้ ที่จะทำให้รู้ว่า 'ไพรด์' ไม่ได้เป็นแค่การประดับธงสีรุ้งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการต่อสู้ เรียกร้องเสรีภาพ ปลดปล่อยผู้คนจากขนบทางสังคมที่ล้าหลัง และท้าทายอำนาจที่กดขี่ชาว LGBTQ+ มาเป็นเวลานาน

สำหรับชาว LGBTQ+ แล้วคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเดือนแห่งไพรด์คือเดือน มิ.ย. ของทุกปีเป็นช่วงเวลาที่วิเศษ ในแง่หนึ่ง เดือนแห่งไพรด์นับเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เฉลิมฉลองตัวตนในแบบที่พวกเราเป็น และนับเป็นช่วงเวลาหนึ่งของปีที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศจากทุกภาคส่วนของสังคมจะได้ร่วมมือกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว

แต่เรื่องของไพรด์ที่แปลตรงตัวว่า "ความภาคภูมิใจ" นั้นมันก็ไม่ใช่เรื่องของการเฉลิมฉลองแต่อย่างเดียว มันยังนับเป็นเรื่องของการประท้วงด้วย มันเป็นโอกาสที่ชาว LGBTQ+ จากทุกหนแห่งของโลกจะสามารถทำให้คนหันมาสนใจเรื่องความอยุติธรรมที่พวกเรายังคงต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาชญากรรมจากความเกลียดชัง ไปจนถึงการถูกกดขี่จากรัฐบาล

การที่ขบวนการไพรด์ที่พวกเรารู้จักและชื่นชมกันในทุกวันนี้เกิดขึ้นมาได้เพราะการทำงานอย่างไม่หยุดหย่อนของกลุ่มนักกิจกรรมที่ทำกันอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี พวกเขาทำให้โลกต้องหันมาเปิดหูรับฟังชาว LGBTQ+ บ้าง และนี้ก็คือ 7 เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับเดือนแห่งไพรด์

1.) สาเหตุที่มีการเฉลิมฉลองไพรด์ในเดือน มิ.ย. มาจากกรณีการลุกฮือที่สโตนวอลล์

ต้นกำเนิดของไพรด์มาจากการประท้วงต่อต้านขัดขืนการกระทำของผู้มีอำนาจที่พยายามจะจำกัดสิทธิประชาชน เหตุเกิดในวันที่ 28 มิ.ย. 2512 เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกทลายเกย์บาร์ที่ชื่อสโตนวอลล์อินน์ในนิวยอร์ก จนทำให้เกิดแรงต่อต้านจากกลุ่ม LGBTQ+ ในยุคสมัยนั้น และกลายเป็นแรงขับดันให้เกิดขบวนการ LGBTQ+ ที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและทางกฎหมายในสหรัฐฯ ในเรื่องประเด็นความหลากหลายทางเพศมาจนถึงทุกวันนี้

เดวิด ริชาร์ดส์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวถึงเหตุการณ์จลาจลต่อต้านตำรวจที่สโตนวอลล์ว่าเป็นสิ่งที่ "เปลี่ยนแปลงทั้งวัฒนธรรมของพวกเราและกฎหมายรัฐธรรมนูญของพวกเรา" ริชาร์ดส์บอกว่าเหตุการณ์สโตนวอลล์เกิดขึ้นในช่วงหลังจากที่ขบวนการสิทธิพลเมืองเพื่อคนผิวสีในสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จทางกฎหมาย และการเคลื่อนไหวที่สโตนวอลล์ได้กลายเป็นหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ก็ตรงที่ มันได้ทำให้กลุ่มคนที่เคยถูกทำให้เงียบมาตลอดได้เปล่งเสียงต่อต้านอำนาจดั้งเดิมที่มาจากวัฒนธรรมทางกฎหมายแบบคริสต์เตียนของชาวแองโกล-อเมริกันที่ต่อต้านผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยอ้างความ "ผิดธรรมชาติ"

ในช่วงยุคสมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1950s-1960s (ราวๆ ระหว่างปี 2493-2512) ตำรวจมักจะทำการบุกทลายบาร์เกย์อยู่เป็นประจำ และมีการข่มขู่คุกคามรวมถึงทุบตีทำร้ายทั้งลูกค้าและพนักงานของบาร์เกย์เหล่านี้ ในเหตุการณ์ที่สโตนวอลล์ก็เช่นกัน แต่ต่างกันตรงที่มันกลับกลายมาเป็นจุดที่ผู้คนลุกฮือต่อต้านอย่างจริงจังจนกลายเป็นเรื่องราวระดับประวัติศาสตร์

มารี-อเมลี จอร์จ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ LGBTQ+ และผุ้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยกฎหมายมหาวิทยาลัยเวคฟอร์ดเล่าถึงสโตนวอลล์ว่า ถึงแม้ว่ามันอาจจะเป็นบาร์ที่มีห้องน้ำมืดๆ ทึมๆ แล้วก็ขายเครื่องดื่มกร่อยๆ แบบโก่งราคา แต่มันก็เป็นที่ๆ ต้อนรับชาวเกย์, เลสเบียน, คนข้ามเพศ และผู้แสดงออกทางเพศแบบอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับขนบทางสังคม ในคืนที่เกิดเหตุนั้น มีตำรวจหลายคนบุกเข้ามาตรวจบัตรประชาชนผู้คนในสโตนวอลล์และจับกุมใครก็ตามที่แสดงออกทางเพศไม่ตรงกับที่ระบุในบัตรประชาชน ทำให้ชาวสโตนวอลล์ลุกฮือขึ้นต่อต้านเจ้าหน้าที่

"พวกเขาทนไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว กับการถูกข่มเหงรังแก, การถูกจับกุม และการถูกลงโทษเพียงเพราะพวกเขาเป็นตัวของตัวเอง ประชาคมชาว LGBTQ+ ในนิวยอร์กตอนนั้นได้กรูเข้าไปในบาร์เพื่อช่วยต่อสู้กับตำรวจ มีทั้งการขว้างปาขวด, กระป๋อง และเศษข้าวของอื่นๆ ใส่ตำรวจ" จอร์จกล่าว

จอร์จบอกอีกว่า ถึงแม้การจลาจลที่สโตนวอลล์จะไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ชาว LGBTQ+ ลุกฮือต่อต้านตำรวจ แต่มันได้กลายเป็นเหตุการณ์ที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของ LGBTQ+ หลังจากที่กลุ่มนักกิจกรรมจากนิวยอร์กและลอสแองเจลิสวางหมุดหมายให้มีการเดินขบวนและเฉลิมฉลองประจำปีเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น

2.) "ไพรด์" ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้จะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีหญิงไบที่ชื่อ เบรนดา ฮาวเวิร์ด

เบรนดา ฮาวเวิร์ด เป็นนักกิจกรรมด้านสิทธิไบเซ็กชวลและเป็นนักสตรีนิยมที่มีความสำคัญต่อขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศยุคแรกๆ ในสหรัฐฯ สาเหตุที่เธอได้รับขนานนามว่าเป็น "คุณแม่แห่งไพรด์" ก็เพราะว่า เธอเป็นผู้แผ้วถางหนทางให้กับการจัดกิจกรรมไพรด์ เธอมีส่วนร่วมอย่างมากกับการวางแผนเดินขบวนในนิวยอร์กเพื่อรำลึกถึง 1 ปีให้หลังการลุกฮือที่สโตนวอลล์ ฮาวเวิร์ดและคณะกรรมการได้วางแผนกิจกรรมต่างๆ หลายงาน ที่ดำเนินต่อเนื่องกันในช่วงสัปดาห์ที่มีไพรด์

การจัดกิจกรรมรำลึกถึงสโตนวอลล์ในครั้งแรกนั้นเองได้กลายเป็นช่วงเวลาที่ทรงพลังจนเกิดเป็นประเพณีใหม่ในนิวยอร์กและทำให้ขบวนการไพรด์ในนิวยอร์กยังคงมีอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ถึงแม้ว่าฮาวเวิร์ดจะดูเหมือนเป็นคนรุ่นก่อน แต่เธอก็เป็นคนที่เปิดกว้างมากในเรื่องเพศวิถี และพยายามสร้างความเข้าใจรวมถึงทำให้เกิดการมองเห็นการมีอยู่ของเพศวิถีที่ถูกกีดกันและถูกตีตราจากสังคม

เบรนดายังเคยถูกจับกุมหลายครั้งในช่วงที่เธอทำกิจกรรม เช่นในปี 2534 เธอและเพื่อนของเธอ มาเรีย สตีเวนส์ เคยถูกจับเข้าคุกเพราะร่วมการประท้วงที่จัดโดยองค์กร ACT UP ในแอตแลนตา ซึ่งเป็นการประท้วงการไล่ออกข้าราชการสำนักงานอัยการสูงสุดที่เป็นเลสเบียนโดยอ้างกฎหมายต่อต้านคนรักเพศเดียวกันของรัฐจอร์เจียในสมัยนั้น สตีเวนส์เล่าว่าหลังจากที่พวกเธอโดนจับ พวกเธอก็พากันอ่านนิยายวาบหวิวด้วยเสียงดังที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และก่อปัญหาต่างๆ ให้มากที่สุดจนทำให้พวกที่จับกุมเธอไม่อยากปล่อยพวกเธอไว้ในคุกนานเกินความจำเป็น

3.) ธงไพรด์หรือธงสีรุ้งเริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2521

ธงไพรด์หรือธงสีรุ้งมีการนำมาใช้กันไปทั่วในทุกวันนี้โดยเฉพาะในช่วงเดือนแห่งไพรด์ ไม่ว่าจะเป็นการเอามาประดับตามถนนหนทางหรือตกแต่งผลิตภัณฑ์ในร้านค้าต่างๆ แต่จริงๆ แล้วธงนี้มาจากไหนกันแน่

ผู้ที่ออกแบบธงนี้คือ กิลเบิร์ก เบเกอร์ มีการนำมาแสดงให้เห็นครั้งแรกในการเดินขบวนเสรีภาพคนรักเพศเดียวกันในซานฟรานซิสโกเมื่อปี 2521 จากนั้นธงสีรุ้งก็ได้กลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งในทุกวันนี้ก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำหรับ LGBTQ+ ในทุกแห่งหน

หลายปีหลังจากนั้นมาธงไพรด์ก็พัฒนากลายเป็นแบบอื่นๆ ในปัจจุบันมีชาว LGBTQ+ จำนวนมากที่ชื่นชม "ธงไพรด์แบบก้าวหน้า" ที่มีสีน้ำตาลกับดำที่เป็นสัญลักษณ์ซึ่งสื่อให้เห็นถึงกลุ่มคนชายขอบที่เป็นคนผิวสีรวมถึงรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตจากเอชไอวี และยังมีสีขาว-ชมพู-ฟ้าที่เป็นสีสัญลักษณ์ของคนข้ามเพศด้วย ธงดังกล่าวนี้ออกแบบโดย แดเนียล ควอซาร์ ในปี 2561

นอกจากธงเหล่านี้แล้ว ผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีอัตลักษณ์แบบอื่นๆ เช่น นอนไบนารี, อินเตอร์เซ็กส์, แพนเซ็กชวล ฯลฯ ก็มีธงที่สื่อถึงอัตลักษณ์ของพวกเขาเองด้วย

4.) ไพรด์เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสังคมในยุคสมัยก่อนที่มักจะมองว่าความหลากหลายทางเพศเป็น "การป่วยทางจิต"

ในช่วงยุคสมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1950s-1960s (ราวๆ ระหว่างปี 2493-2512) นั้นยังมีคนมองว่าการรักเพศเดียวกันเป็นการป่วยทางจิตอย่างหนึ่ง และผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งหลายก็ถูกจับไป "บำบัดซ่อมเกย์" ซึ่งเป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์เทียม และปัจจุบันถูกต่อต้านจากนักจิตวิทยาและวงการจิตเวชแล้ว

นอกจากนี้ในยุคสมัยเดียวกันนั้น มีหลายแห่งที่ยังคงทำให้การรักเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม นั่นหมายความว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะถูกผลักไสไล่ส่งให้เป็นชายขอบ ถูกทำให้รู้สึกว่าอัตลักษณ์ความหลากหลายทางเพศของตัวเองเป็นสิ่งที่พวกเขาควรจะอับอาย

ดังนั้นแล้วขบวนการช่วงแรกๆ ของไพรด์จึงต่อต้านแนวคิดที่ว่า ความเป็น LGBTQ+ เป็นเรื่องน่าอับอาย แล้วเน้นทำให้ชาว LGBTQ+ ยืดอก ภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น แบบคำว่า "ไพรด์" ที่แปลว่าความภาคภูมิใจ แนวคิดนี้ได้เสริมสร้างรากฐานขบวนการเคลื่อนไหว LGBTQ+ จนกลายมาเป็นขบวนการไพรด์จนถึงทุกวันนี้

5.) ขบวนการไพรด์แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วหลังจากที่ได้เริ่มต้นขึ้น

หลังจากการเดินขบวนไพรด์ครั้งแรกที่นิวยอร์กซิตีในปี 2513 ขบวนการไพรด์ก็แพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็วในโลกตะวันตก มีชาว LGBTQ+ ทั่วสหรัฐฯ และยุโรป ที่ต่างก็อยากจะลุกขึ้นมายืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง

ในปีถัดมาคือปี 2514 การเดินขบวนไพรด์ก็เกิดขึ้นในหลายที่ ทั้งในบอสตัน, ดัลลาส, มิลวอกี, ลอนดอน, ปารีส, เบอร์ลินตะวันตก และสต็อกโฮล์ม ในปีถัดจากนั้นก็มีการเดินขบวนไพรด์ขยายตัวออกไปอีกมากกว่าเดิม จนกระทั่งทำให้การเดินขบวนเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศเช่นนี้การเป็นพื้นฐานของขบวนการไพรด์ในปัจจุบัน

6.) การเดินขบวนในช่วงแรกๆ เป็นเรื่องของการปลดปล่อยเป็นอิสระ แต่ในยุคต่อๆ มาเรื่องแบบนี้ก็ค่อยๆ เลือนหายไป

มีข้อสังเกตว่าการเดินขบวนของกลุ่ม LGBTQ+ ช่วงแรกๆ มักจะมีคำว่า "การปลดปล่อยเป็นอิสระ" และ "เสรีภาพ" ในชื่อของการประท้วงด้วยเสมอ ซึ่งก็มีเหตุผลที่ดีในเรื่องนี้ เพราะผู้มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากต้องการถูกปลดแอกจากโซ่ตรวนของสังคมแบบที่มองว่ามีแต่ความรักชายหญิงเท่านั้นที่เป็นเรื่องปกติ (heteronormative) ดังนั้นแล้วชาว LGBTQ+ เหล่านี้จึงรู้สึกว่าพวกเขาควรจะต่อสู้ด้วยการเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ต้องสนใจว่าใครจะคิดอย่างไร

ขบวนการปลดปล่อยให้เป็นอิสระสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศยังถูกมองว่าเป็นหนึ่งใน "วัฒนธรรมต่อต้าน" (counterculture) ของยุคสมัยนั้นด้วย โดยมีการเน้นกระทำการแบบปฏิบัติการท้าทายซึ่งหน้า (direct action) การต่อสู้แบบถอนรากถอนโคน (radical) ไปพร้อมๆ กับการสร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมในเรื่องความหลากหลายทางเพศ

พอถึงช่วงยุคราวคริสต์ทศวรรษที่ 1980s (ราวปี 2523-2533) ก็เริ่มมีการใช้คำว่า "การปลดปล่อยเป็นอิสระ" น้อยลงในการเคลื่อนไหวเดินขบวน และมักจะหันมาใช้คำว่า "ไพรด์" มากกว่า ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มที่ออกจะเป็นอนุรักษ์นิยมที่อยู่ในขบวนการ มีการเดินขบวนบางครั้งที่ผู้คนในขบวนไม่ค่อยเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ในซานฟรานซิสโกก็เริ่มมีการเปลี่ยนชื่อการเดินขบวนจาก "พาเหรดวันเสรีภาพชาวเกย์" (Gay Freedom Day Parade) เป็น "พาเหรดวันไพรด์เกย์" (Gay Pride Day Parade) ในปี 2537

7.) ขบวนการ LGBTQ+ ในบางพื้นที่ของโลกยังไม่สามารถเติบโตได้

ขณะที่เมืองอย่างนิวยอร์กและลอนดอน ผู้คนส่วนใหญ่ยอมรับแล้วว่าการเดินขบวนไพรด์เป็นการเฉลิมฉลองรายปีอย่างหนึ่ง ไม่ว่าพวกเขาจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม แต่ในที่อื่นๆ ไม่เป็นเช่นนี้ ในหลายประเทศยังคงมีกฎหมายห้ามการรักเพศเดียวกัน และผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายแห่งก็ไม่ได้รับการยอมรับหรือกระทั่งถูกต่อต้านจากสังคม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ตำรวจทำการสลายการชุมนุมการเดินขบวนไพรด์หลายแห่ง เช่นใน อูกันดา, บราซิล, ตุรกี และที่อื่นๆ มันยิ่งแสดงให้เห็นว่าขบวนการไพรด์ที่จะช่วยปลดปล่อยและต่อสู้กับอำนาจที่กดขี่ผู้มีความหลากหลายทางเพศแบบในสโตนวอลล์นั้น มีความสำคัญมากแค่ไหน


เรียบเรียงจาก
7 mind-blowing facts you probably never knew about the LGBTQ+ Pride movement, 01-06-2022
What Were the Stonewall Riots? How the Events of 1969 Shaped LGBT Movement, Newsweek, 01-06-2022
Meet "The Mother of Pride," The Pioneering Bisexual Activist Brenda Howard, Them., 06-06-2019


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Rainbow_flag_(LGBT)
https://en.wikipedia.org/wiki/Gay_liberation
https://en.wikipedia.org/wiki/Conversion_therapy

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net