Skip to main content
sharethis

เมื่อ 31 พ.ค.-1 มิ.ย. ชาวแม่สอดได้ยินเสียงยิงปืนใหญ่ดังจากฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ด้านฝ่ายความมั่นคงคาดสถานการณ์รบยังไม่รุนแรง ศูนย์สั่งการชายแดนฯ เผยมีผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเข้ามาที่ อ.อุ้มผาง จำนวน 183 คน 

 

3 มิ.ย. 2565 สืบเนื่องจากเมื่อ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ประกาศข่าว สำนักข่าว Voice TV โพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊กว่า เมื่อเวลา 18.40 น. ทหารพม่าระดมยิงอาวุธหนักใกล้ชายแดนไทย ระเบิดดังสนั่นหลายลูก เสียงกึกก้องจากฝั่งตรงข้ามชายแดนแม่สอด

ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์ ผู้ประกาศข่าว สำนักข่าว Voice TV โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อ 31 พ.ค.ที่ผ่านมา

เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ผู้สื่อข่าวสอบถาม ว่าที่ร้อยตรี ธวัชชัย แสงแปลง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่โกนเกน วัย 41 ปี ต่อกรณีดังกล่าว โดย ว่าที่ ร.ต. ธวัชชัย ให้ข้อมูลกับผู้สื่อข่าวเมื่อ 1 มิ.ย.ว่าได้ยินเสียงคาดว่าน่าจะเป็นการยิงกระสุนปืนใหญ่เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น.ของวันที่ 31 พ.ค. และอีกครั้งเมื่อเช้าของวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา 

“เสียงไม่ได้แรงตลอด ให้เดาว่าเป็นเสียงปืนใหญ่ พอมันเสียงเกิดขึ้น ผมไม่ได้พักที่โรงเรียน พักที่ตัวอำเภอ ผมก็จะสอบถามมาที่โรงเรียนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงให้ช่วยประเมินสถานการณ์ให้ เนื่องจากมีครูพักอยู่ใน (ผู้สื่อข่าว -โรงเรียน) นี้ ก็จะได้ให้ครูอพยพไปอยู่ข้างนอก และก็จะได้วางแผนในการปิดเรียนถ้าสมมติว่ามันจำเป็น แต่ก็ประเมินดูแล้ว เสียงไม่ได้ดังถี่ นานๆ ก็จะลง แต่ลงเรื่อยๆ มันใช้เวลานานก็จริง แต่มันลงทุกๆ 5 นาทีไม่ใช่ มันลงห่างกัน 10 นาที 20 นาที” 

“ตอนเช้าได้ยินไม่กี่ครั้ง นี่ห่างเลย ครั้ง 2 ครั้ง ประมาณ 6 โมง 7 โมงได้ เท่าที่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่น่าจะลึกเข้าไปพอสมควร น่าจะเป็นกระสุนปืนใหญ่มันเลยได้ยิน” ผอ.โรงเรียนบ้านแม่โกนเกน ระบุ

ว่าที่ร้อยตรี ธวัชชัย แสงแปลง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่โกนเกน

ผอ.โรงเรียนบ้านแม่โกนเกน ระบุต่อว่า จากการประสานงานกับฝ่ายความมั่นคง ประเมินว่าไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะเกิดความรุนแรง

สำหรับที่ตั้งของโรงเรียนบ้านแม่โกนเกน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมย ห่างจากแม่น้ำราว 500 เมตร (ม.) ขณะที่ฝั่งตรงข้ามฝั่งรัฐกะเหรี่ยงเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านผาลู หรือ ‘ผลู’ ซึ่งทั้ง 2 หมู่บ้านมักมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารร่วมกันโดยตลอด เมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงขึ้น ชาวบ้านจะได้ข่าวจากหมู่บ้านผาลูอีกทาง

“ชาวบ้านที่อยู่ฝั่งรัฐกะเหรี่ยง พอเหตุการณ์จะเกิดขึ้นรุนแรง เขาก็จะมารอฝั่งแม่น้ำ ก็ประเมินได้แล้วว่าเหตุการณ์ช่วงนี้น่าจะรุนแรง มันมีหลายอย่างที่เราจะเอามาประเมินร่วมกัน ทั้งข่าวลือ เจ้าหน้าที่ทหาร สภาพแวดล้อม มีการอพยพมาที่ริมน้ำมากเป็นพิเศษไหม ซึ่งเมื่อวานไม่ได้แนวโน้มว่าจะเกิดเหตุการณ์ที่มันรุนแรง” ธวัชชัย กล่าวย้ำ

ขณะที่เฟซบุ๊กกลุ่มสาธารณะ ‘ศูนย์ประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก’ โพสต์ข้อความเมื่อ 0.03 ของวันนี้ (3 มิ.ย.) ชี้แจงสถานการณ์ชายแดนพื้นที่ จ.ตาก ฉบับที่ 108 ประจําวันที่ 2 มิ.ย. 65 เวลา 6.00-18.00 น. ไม่มีการปะทะบริเวณฝั่งเมียนมา ด้านตรงข้าม จ.ตาก ปัจจุบัน มีผู้หนีภัยความไม่สงบ เข้ามายังฝั่งไทย 183 คน ในพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว อ.อุ้มผาง จ.ตาก จำนวน 2 แห่ง คือ 1) บ้านเซอทะ ต.หนองหลวง ยอดเดิม 93 คน ยอดคงเหลือ 93 คน 2) บ้านหนองหลวง ต.หนองหลวง ยอดเดิม 89 คน เดินทางเข้ามายังฝั่งไทย 1 คน ยอดคงเหลือ 90 คน
 
คณะทำงานศูนย์สั่งการชายแดนฯ ได้ให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม และสนับสนุนยานพาหนะ ขณะที่กองอำนวยการร่วมฯ ยังคงดูแลพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้ ศูนย์สั่งการชายแดนฯ ขอความร่วมมือประชาชน งดเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าว เพื่อปฏิบัติตามมาตราการควบคุมโรคโควิด-19 รวมทั้งขอความร่วมมือสื่อมวลชน และทุกภาคส่วน ตรวจสอบข่าวสารข้อเท็จจริง ก่อนนำไปเผยแพร่ โดยประชาชนสามารถรับฟังข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริง ได้จากการแถลงข่าวประจำวันของศูนย์สั่งการชายแดนจังหวัดตาก

สำหรับการปะทะกันที่บริเวณเขตรัฐกะเหรี่ยง เมียนมา ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก จากปากคำของคนในท้องที่ระบุว่า เริ่มได้ยินเสียงการปะทะครั้งแรกราว มิ.ย. 2564 และการปะทะยังคงมีเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งคือเมื่อ ธ.ค.-ม.ค.ที่ผ่านมา ในสงครามกองทัพพม่าบุกเข้าไปจับฝ่ายต่อต้านในหมู่บ้าน 'เลเกก่อ' ในรัฐกะเหรี่ยง จนเป็นชนวนเหตุให้เกิดการปะทะกับทางกองกำลังชาติพันธุ์ติดอาวุธติดตามมา   

ที่มา เฟซบุ๊ก 'สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก'
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net