Skip to main content
sharethis
  • ‘แพทริค โจรี’ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ให้สัมภาษณ์กับ 112WATCH ชี้ ม.112 คือประตูด่านแรกสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวมถึงแนวคิดสาธารณรัฐที่ได้ยินมากขึ้นในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ พร้อมเปรียบเทียบบริบทการเมืองไทย-ออสเตรเลีย ทั้งด้านการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ รวมถึงการผลักดันการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธี
  • รัฐบาลใหม่ของออสเตรเลียจากพรรคแรงงาน ลั่นเตรียมเดินหน้าทำประชามติ ปลดสถาบันฯ มุ่งสู่สาธารณรัฐ
  • โพลล์ชี้คะแนนนิยมราชวงศ์ลดฮวบในช่วงฉลองครองราชย์ 70 ปี โดยเสียงสนับสนุนของประชาชนชาวอังกฤษต่อราชวงศ์ลดลงถึง 11% เมื่อเทียบกับคะแนนความนิยมเมื่อ 10 ปีก่อน

แพทริค โจรี

เว็บไซต์ 112WATCH เผยแพร่บทสัมภาษณ์ แพทริค โจรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย นักวิชาการต่างประเทศผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ในประเด็นเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของประเทศไทย ทั้งภาพรวมของตัวบทและการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการเปรียบเทียบกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูประบอบกษัตริย์ระหว่างไทยและออสเตรเลียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพอังกฤษที่มีสถาบันกษตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ

โจรีให้สัมภาษณ์กับ 112WATCH ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสร้างแนวร่วมสนับสนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในเชิงบวกเกี่ยวกับกฎหมายอาญามาตรา 112 ในประเทศไทย ก่อตั้งโดยปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ รองศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต และผู้ต้องหาคดี ม.112 โดยเขาระบุว่ารัฐบาลไทยปรับกลยุทธการบังคับใช้ ม.112 กับประชาชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ จากเดิมที่ใช้การตัดสินโทษจำคุกระยะยาวมาเป็นการกักขังในระยะสั้นในเรือนจำและตั้งเงื่อนไขเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงกีดกันไม่ให้บุคคลเหล่านั้นมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง

โจรีกล่าวว่าสังคมไทยในปัจจุบันมีการวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดคุยเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผยมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่กลุ่มนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวในปี 2563 ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้รัฐไทยบังคับใช้ ม.112 แก่บุคคลที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์บ่อยครั้งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังทำให้รัฐไทยตระหนักชัดเจนว่าประชาชนจำนวนไม่น้อยมีข้อคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์อย่างไร และในการพูดคุยเหล่านั้นเริ่มมีการระบุถึงแนวคิดสาธารณรัฐนิยมมากขึ้น ซึ่งโจรีระบุว่ายิ่งเสียงสะท้อนของสาธารณชนที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ดังขึ้นมากเท่าไร ก็จะยิ่งเห็นรัฐไทยใช้ ม.112 เพื่อจัดการเสียงเหล่านั้นมากขึ้นเท่านั้น

“ภารกิจหลักของรัฐบาลชุดปัจจุบัน นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีกองทัพหนุนหลัง และก้าวขึ้นมามีอำนาจหลังการเลือกตั้งปี 2562 คือการปกป้องสถาบันกษัตริย์จากแนวคิดต่อต้านระบอบกษัตริย์ สำหรับกองทัพแล้ว การปกป้องสถาบันกษัตริย์คือสิ่งสำคัญในการป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกดำเนินคดีจากกรณีการสังหารหมู่ประชาชนซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง รวมถึงการทำรัฐประหารตลอดช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา” โจรีระบุ

โจรีกล่าวต่อไปว่าการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในไทยจะเกิดขึ้นได้หากมีการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 เพราะถึงแม้ตัวบทกฎหมายจะคุ้มครองเฉพาะกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ม.112 กลับถูกตีความและบังคับใช้ครอบคลุมถึงสมาชิกราชวงศ์คนอื่นๆ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ซึ่งถือเป็นองค์กรทางการเมืองในภาพรวม นอกจากนี้ โจรียังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าหากการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 เป็นความจริง สิ่งที่จะตามมาคือการสะสางความไม่ชัดเจนของเหตุการณ์สำคัญหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 8 และเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยเขามองว่าหากสิ่งเหล่านี้สามารถพูดถึงได้อย่างเปิดเผยและจริงจังในสังคมไทยอาจทำให้การเคลื่อนไหวก้าวข้ามการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไป และนั่นทำให้รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐรวมถึงผู้สนับสนุนไม่ต้องการให้เกิดการปฏิรูป

กษัตริย์อังกฤษและชีวิตของคนออสเตรเลีย

โจรีให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดสาธารณรัฐในออสเตรเลีย รวมถึงมุมมองของคนออสเตรเลียต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่ยังคงมีฐานะเป็นประมุขแห่งรัฐ เพราะออสเตรเลียในปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในประเทศเครือจักรภพอังกฤษ โจรีบอกว่าใน พ.ศ.2542 ออสเตรเลียเคยทำประชามติว่าจะเป็นประเทศในเครือจักรภพต่อไปหรือจะตั้งตนเป็นสาธารณรัฐ ผลประชามติครั้งนั้นคือเสียงส่วนใหญ่ยังต้องการให้ออสเตรเลียอยู่ในเครือจักรภพและเป็นมีสถาบันกษัตริย์อังกฤษซึ่งมีสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประมุขของประเทศ

โจรีกล่าวว่าสถาบันกษัตริย์อังนั้นค่อนข้างได้รับความนิยมในออสเตรเลีย โดยเฉพาะความนิยมส่วนพระองค์ของสมเด็นพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ความนิยมของราชวงศ์อังกฤษนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และกลุ่มชาติพันธุ์ของประชากรส่วนใหญ่ซึ่งมีที่มาจากเกาะบริเตน นอกจากนี้ ชาวออสเตรเลียบางส่วนยังเชื่อว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญนั้นมีส่วนสำคัญที่ทำใหญ่ระบบการเมืองของออสเตรเลียมีเสถียรภาพมั่นคงมาอย่างยาวนาน โจรีกล่าวเพิ่มเติมว่าสถาบันกษัตริย์อังกฤษไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตสาธารณะของชาวออสเตรเลียที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยการเฉลิมฉลองและเทศกาล อีกทั้งในออสเตรเลียยังไม่มีกฎหมายใดๆ ที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ ชาวออสเตรเลียจึงเหมือนกับคนในพื้นที่อื่นๆ ที่สนุกกับการติดตามข่าวสารราชวงศ์จากสื่อแท็บลอยด์ จึงกล่าวได้ว่าความคิดเรื่องสาธารณรัฐนิยมในออสเตรเลียยังไม่เข้มข้นมากนัก

“ผมว่ามันยุติธรรมนะที่จะพูดว่าในตอนนี้ ยังไม่มีการเคลื่อนไหวเรื่องสาธารณรัฐที่เข้มแข็งในออสเตรเลีย” โจรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม โจรีบอกว่าความนิยมของเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ไม่ได้สูงนัก ทั้งยังมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับคดีล่วงละเมิดทางเพศของเจ้าชายแอนดรูว์ รวมถึงเรื่องราวที่ไม่ลงรอยกันระหว่างราชวงศ์อังกฤษกับเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน มาร์เคิล เรื่องทั้งหมดนี้มีผลต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์และส่งผลต่อความนิยมในออสเตรเลีย นอกจากนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 1980 การอพยพครั้งใหญ่ของคนที่ไม่ได้มาจากประเทศที่พูดภาษาอังกฤษทำให้ “ความอังกฤษ” ของสังคมออสเตรเลียเจือจางลง ซึ่งทำให้ความยึดโยงกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษลดลงตามไปด้วย โจรีกล่าวว่าผลสำรวจล่าสุดบางชิ้นระบุว่าประชาชนส่วนใหญ่ของออสเตรเลียสนับสนุนให้ประเทศเป็นสาธารณรัฐ

“สำหรับชาวออสเตรเลียจำนวนไม่น้อย สาธารณรัฐไม่ได้หมายถึงแค่การเลือกประมุขแห่งรัฐออสเตรเลียใหม่มาแทนที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษ แต่หมายถึงการแยกตัวจากสหราชอาณาจักรอย่างแท้จริง คนน่าจะตั้งคำถามถึงอนาคตของสถาบันกษัตริย์อังกฤษในออสเตรเลียซึ่งเป็นเรื่องเชิงวัฒนธรรมมากกว่าเชิงการเมือง แต่ตอนนี้มันยังไม่ใช่เรื่องด่วน นักการเมืองออสเตรเลียที่สนับสนุนแนวคิดสาธารณรัฐยังพูดเลยว่าการทำประชามติครั้งใหม่ควรทำตอนที่สิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นอกจากนี้ก็ยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะระบอบไหนจะมาแทนที่ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ จะเป็นระบอบประธานาธิบดีที่เลือกตั้งจากเสียงส่วนใหญ่หรือจะเป็น[ประธานาธิบดี]ที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐสภา ประธานาธิบดีควรมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน ประธานาธิบดีควรเป็นแค่ประมุขในรัฐพิธีหรือไม่ คำถามเหล่านี้ยังคงต้องรับการถกเถียงต่อไปในวงกว้างและต้องได้รับการแก้ไขก่อนทำประชามติ สุดท้าย แม้ว่าออสเตรเลียจะกลายเป็นสาธารณรัฐขึ้นมาจริงๆ แต่ก็มีสถานะใกล้เคียงกับการอยู่ในเครือจักรภพแบบเดิม” โจรีกล่าว

ราชวงศ์อังกฤษ (ที่มา : www.royal.uk)

โจรี ให้ความเห็นเพิ่มเติมภายหลังกับประชาไทเพื่อทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนประมุขแห่งรัฐ (head of state) จากกษัตริย์หรือพระราชินีนาถแห่งอังกฤษเป็นประธานาธิบดี และการอยู่ในเครือจักรภพว่า สำหรับออสเตรเลีย การเปลี่ยนเป็นสาธารณัฐไม่ได้หมายความว่าจะต้องออกจากการเป็นประเทศในเครือจักรภพ เพราะมีหลายประเทศสาธารณรัฐที่ยังอยู่ในเครือจักรภพ เช่น อินเดีย ปากีสถาน สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ และอื่นๆ ประเด็นหลักสำหรับออสเตรเลียคือการเปลี่ยน 'ประมุขแห่งรัฐ' จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในปัจจุบัน มาเป็นประธานาธิบดีแห่งออสเตรเลีย แต่ตนคิดว่าชาวออสเตรเลียส่วนใหญ่ไม่ได้มีปัญหากับการเป็นประเทศเครือจักรภพ แม้ว่าการเป็นสมาชิกเครือจักรภพในปัจจุบันนั้นจะเป็นการหวนรำลึกถึงสมัยจักรวรรดิอังกฤษก็ตาม ซึ่งอยู่ในเครือจักรภพไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่านั้น

รัฐบาลใหม่ออสเตรเลียเตรียมผลักดันประชามติสู่สาธารณัฐ

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าว ABC ของออสเตรเลียรายงานว่ารัฐบาลกลางชุดใหญ่ของออสเตรเลียซึ่งนำโดยพรรคแรงงานที่ชนะเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 พ.ค. ที่ผ่านมา เตรียมผลักดันการทำประชามติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญมาเป็นระบอบสาธารณรัฐ โดยมีเงื่อนไขว่าหากพวกเขาชนะเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 ในปี 2568

การถกเถียงเรื่องเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของออสเตรเลียเริ่มกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในช่วงเดียวกับพระราชพิธีเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 70 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 และผ่านมากว่า 2 ทศวรรษแล้วนับตั้งแต่ที่ออสเตรเลียมีการทำประชามติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นครั้งแรก

แมตต์ ทิสเทิลธ์เวต (Matt Thistlethwaite) ส.ส.พรรคแรงงานและรัฐมนตรีช่วยด้านสาธารณรัฐกล่าวว่าแรงสนับสนุนการก่อตั้งสาธารณัฐออสเตรเลียน่าจะเพิ่มมากขึ้นหลังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต พร้อมระบุว่าการไม่จัดทำประชามติเรื่องนี้โดยทันทีเพราะรัฐบาลออสเตรเลียต้องการแสดงความเคารพต่อพระองค์ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมาอย่างยาวนาน

“เราคือประเทศเอกราช เรามีความโดดเด่นทางด้านอัตลักษร์และวัฒนธรรม เราเป็นประเทศที่ทรงอิทธิพลด้านเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะเริ่มพูดคุยเรื่องนี้อย่างจริงจังอีกครั้งว่าออสเตรเลียจะไปต่ออย่างไรหลังสิ้นรัชสมัยของควีน” ทิสเทิลธ์เวตกล่าว

“หน้าที่ของผมคือการให้ความรู้เบื้องต้น อธิบายต่อประชาชนว่าเรามีราชวงศ์ต่างประเทศเป็นประมุขแห่งรัฐ เรามีผู้สำเร็จราชการแทนในระดับรัฐบาลกลาง แต่เราก็สามารถเลือกประมุขแห่งรัฐที่เป็นคนออสเตรเลียจริงๆ ได้” เขากล่าวเสริม

กฎหมายการทำประชามติของออสเตรเลียระบุว่าประชามติจะมีผลก็ต่อเมื่อได้เสียงสนับสนุนเกินครึ่งจากประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่จาก 4 ใน 6 รัฐจะต้องเห็นด้วย แต่ในการทำประชามติเปลี่ยนแปลงการปกครองของออสเตรเลียจากระบอบกษัตริย์เป็นสาธารณัฐใน พ.ศ.2542 ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะคะแนนเสียง ‘เห็นด้วย’ ในระดับรัฐมีเพียง 2 จาก 6 รัฐ คือ เขตปกครองพิเศษออสเตรเลียนแคพิทอลเทร์ริทอรี และรัฐนอร์ทเทิร์นเทอร์ริทอรี แม้ว่าคะแนนเสียงส่วนมากโดยนับรวมทั้งประเทศจะโหวต ‘เห็นด้วย’ กับการยกเลิกระบอบกษัตริย์ก็ตาม

ทิสเทิลธ์เวตยอมรับว่าพรรคแรงงานรู้สึกกังวลกับผลประชามติในอนาคตเพราะบทเรียนที่ได้รับจากการทำประชามติครั้ก่อน ซึ่งในตอนนั้น เงื่อนไขของสาธารณรัฐตามแบบฉบับออสเตรเลียกำหนดให้มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐแทนผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของกษัตริย์อังกฤษ และให้ประธานาธิบดีมาจากการโหวตเลือกโดยรัฐสภา อย่างไรก็ตาม หากมีการทำประชามติในอนาคต เขากล่าวว่าออสเตรเลียจะยังคงเป็นประเทศในเครือจักรภพต่อเหมือนกับบางประเทศในเครือจักรภพ เช่น อินเดีย

“จาก 54 ประเทศในเครือจักรภพ มี 34 ประเทศที่เป็นสาธารณัฐ ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศส่วนน้อย” เขากล่าว พร้อมระบุว่ารัฐบาลพรรคแรงงานออสเตรเลียต้องการคงความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลอังกฤษรวมถึงราชวงศ์

หลังข่าวการทำประชามติเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สาธารณรัฐเป็นที่สนใจของประชาชนอีกครั้ง กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสาธารณรัฐออสเตรเลีย หรือ Australian Republic Movement (ARM) ได้ออกมาส่งเสียงสนับสนุนและกล่าวว่านี่ถือข่าวดีสำหรับการเคลื่อนไหวของทางกลุ่มในรอบ 25 ปี ขณะที่กลุ่มนิยมกษัตริย์ในออสเตรเลียได้ออกมาแสดงความคิดเห็นคัดค้าน และระบุว่าหมุดหมายของทิตเทิลธ์เวตเป็นการ “ขาดความเคารพอย่างชัดเจน” ต่อประชาชนชาวออสเตรเลีย

โพลล์ชี้คะแนนนิยมราชวงศ์ลดฮวบในช่วงฉลองครองราชย์ 70 ปี

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 สำนักข่าว itv ของอังกฤษรายงานผลสำรวจคะแนนนิยมราชวงศ์อังกฤษ ซึ่งจัดทำโดย YouGov สถาบันวิจัยตลาดและวิเคราะห์ข้อมูลระดับนานาชาติ โดยผลสำรวจครั้งล่าสุดในเดือน พ.ค. 2565 ระบุว่าเสียงสนับสนุนของประชาชนชาวอังกฤษที่มีต่อราชวงศ์ลดลงถึง 11% เมื่อเทียบกับคะแนนความนิยมเมื่อ 10 ปีก่อน โดยใน พ.ศ.2555 ซึ่งตรงกับพิธีเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 60 ปีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผลโพลล์กว่า 73% ระบุว่าชาวอังกฤษยังต้องการให้ประเทศมีระบอบกษัตริย์เหมือนเดิม แต่ผลสำรวจล่าสุดในปีนี้ซึ่งตรงกับการเฉลิมฉลองครองราชย์ครบ 70 ปีพบว่ามีประชาชน 62% จากกลุ่มตัวอย่าง 1,600 ที่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์ โดย 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสอบถามนี้ระบุว่าพวกเขาต้องการให้สหราชอาณาจักรปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ และกลุ่มตัวอย่างอายุ 18-24 ปีคือคนส่วนใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเดิมไปสู่การเลือกประมุขแห่งรัฐด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ผลสำรวจคะแนนนิยมของราชวงศ์ในภาพรวมโดย YouGov ยังพบว่าเมื่อปี 2555 ราชวงศ์อังกฤษมีคะแนนนิยมอยู่ที่ 73% ในขณะที่ปี 2565 คะแนนนิยมของราชวงศ์ลดลงมาเหลือ 56%

แปลและเรียบเรียงจาก :

หมายเหตุ : เมื่อเวลา 2.33 น. วันที่ 7 มิ.ย.65 กองบรรณาธิการประชาไทมีการเพิ่มเติมเนื้อหาส่วนที่ โจรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติม 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net