อดีตผู้ประท้วงเทียนอันเหมินวิเคราะห์ ปัจจัยใดบ้างที่จะทำให้จีนมีโอกาสเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

จากการที่จีนมีผู้คนประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลในกรณีการล็อกดาวน์ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต เศรษฐกิจ และอนาคตของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ มีบางส่วนที่เรียกร้องในเชิงหลักการอย่าง "หลักนิติธรรม" และ "สิทธิพลเมือง" อดีตแกนนำผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยจัตุรัสเทียนอันเหมินได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องที่ว่าการจะเกิดประชาธิปไตยในจีนได้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยใดบ้าง


นักศึกษาจีนหลายร้อยคนรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยเทียนจิน เพื่อประท้วงมาตรการควบคุมโควิด-19 เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2565 | ที่มาภาพ: RFA

5 มิ.ย. 2565 หวังตัน อดีตแกนนำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในจีนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเรดิโอฟรีเอเชียในช่วงเดียวกับที่มีการครบรอบ 33 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ผู้ประท้วงเทียนอันเหมิน เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าจีนจะเกิดประชาธิปไตยขึ้นได้ต้องอาศัยปัจจัยใดบ้าง ซึ่งหวังตันบอกว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดขึ้นภายใต้การปกครองของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน

หวังตันผู้ที่เป็นทั้งอดีตแกนนำในการเคลื่อนไหวจัตุรัสเทียนอันเหมิน และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มคลังสมองชื่อ "ไดอะล็อก ไชนา" เตือนว่าอย่าได้เชื่อเรื่องที่พรรครัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนอ้างว่าจะมีการปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยภายใต้การปกครองของพวกเขา มีโอกาสเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้นที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเต็มใจปฏิรูปตัวเองให้มีการเปลี่ยนผ่านเป็นประชาธิปไตยแบบเดียวกับที่พรรคก๊กมินตั๋งเคยทำในไต้หวัน

อย่างไรก็ตามหวังตันมองว่ากรณีความแตกแยกกันภายในพรรคเกี่ยวกับเรื่องว่าจะจัดการวิกฤตอย่างไร จะเป็นเรื่องที่ทำให้การยึดกุมอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนลดถอยลงได้ ถ้าไม่มีปัจจัยเหล่านี้ก็อย่าหวังว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง

หวังตันวิเคราะห์ว่า "ถ้าหากมีวิกฤตใหญ่ๆ เกิดขึ้น และจีนต้องเผชิญกับปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่สามารถตกลงกันได้ภายในพรรครัฐบาล และรัฐบาลก็ทำการประเมินพลาดแล้วก็โต้ตอบกับสถานการณ์แบบผิดๆ ก็เป็นไปได้ที่ประวัติศาสตร์จะพลิกโฉมหน้า"

ผู้ต่อต้านรัฐบาลจีนและนักวิจารณ์การเมืองพลัดถิ่นอีกรายหนึ่งคือ หวังจุนเทา บอกว่ากรณีที่ผู้นำสีจิ้นผิงยืนกรานจะใช้นโยบาย COVID เป็นศูนย์เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดทั้งที่ขัดกับความคิดเห็นของคนอื่นๆ นั้น ก็ดูเหมือนจะเข้ากับกรณีในรูปแบบที่หวังตันพูดถึงเช่นกัน แต่ความขัดแย้งภายในรัฐบาลอาจจะไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นได้ง่ายๆ เพราะไม่มีใครกล้าขัดสีจิ้นผิงเพื่อแก้ไขให้เขาทำนโยบายให้ถูกต้อง

"ในตอนนี้วิธีการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรคระบาดที่เรียกว่า COVID เป็นศูนย์นั้นได้สร้างหายนะให้กับประชาชน และมีประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เห็นด้วยว่าสีจิ้นผิงกำลังปฏิบัติไปในทางตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก แต่ก็ไม่มีใครที่จะช่วยแก้ไขให้เขากลับสู่หนทางที่ถูกต้อง" หวังจุนเทากล่าว

หวังจุนเทากล่าวอีกว่าในสมัยที่อดีตผู้นำเหมาเจ๋อตุงเริ่มก่อความวุ่นวายทางการเมืองด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรม (ช่วงปี 2509-2519) ก็ส่งผลทำให้มีการเรียกร้องประชาธิปไตยจากกลุ่มคนในพรรคคอมมิวนิสต์จีนหลังจากที่เหมาเจ๋อตุงเสียชีวิตไปแล้ว กลุ่มคนที่เรียกร้องประชาธิปไตยจากภายในเหล่านี้เข้าใจดีว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องป้องกันไม่ให้มีเผด็จการตัวบุคคลคนเดียวแบบเหมาเจ๋อตุงและพยายามทำให้อำนาจไม่รวมศูนย์อยู่ที่เดียวจนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่พรรคและทั้งประเทศต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของคนๆ เดียวอีก

แต่ลักษณะอำนาจรวมศูนย์ที่ทำให้เกิดเผด็จการแบบตัวบุคคลคนเดียวก็กลับมาเกิดขึ้นอีกครั้งคือกรณีผู้นำปัจจุบันสีจิ้นผิง

คนรุ่นใหม่

หวังจุนเทากล่าวว่าในการปราบปรามผู้ชุมนุมเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 นั้น เป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจสำหรับเขา เพราะว่าพวกเขาในตอนนั้นอยู่ภายใต้ระบอบที่กดทับเสรีภาพ และนับตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมาก็มีการปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐบาลจีนอย่างต่อเนื่อง

แต่หวังจุนเทาก็ไม่ได้มองโลกในแง่ร้ายเสียทีเดียว เขาบอกว่าคนรุ่นใหม่จะตีความประวัติศาสตร์ในแบบที่แตกต่างออกไป

หวังจุนเทาเชื่อว่าคนรุ่นใหม่อยู่ในกระแสที่ต้องการทำให้สิ่งต่างๆ เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น "คุณควรจะเชื่อว่ามนุษย์เรามีธรรมชาติที่ต้องการให้มีสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แล้วคุณก็ควรจะเชื่อว่าการเรียกร้องทางการเมืองในปี 2532 นั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดขึ้นในฐานะที่พวกเราเป็นมนุษย์และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดกับประเทศจีน" หวังตันกล่าว

"คนในรุ่นนี้อาจจะไม่ได้ผ่านเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินมาก่อน แต่พวกเขาก็ได้เผชิญกับเหตุการณ์ในแบบของตัวเอง แล้วอีกไม่นานพวกเขาก็จะเริ่มเชื่อมโยงชะตากรรมของตัวเองกับเหตุการณ์ในอดีต" หวังจุนเทากล่าว

อดีตผู้เผชิญเหตุการณ์เทียนอันเหมินอย่างหวังจุนเทากล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการประท้วงที่เทียนอันเหมินและการสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมินจะกลับมามีความหมายใหม่เหมือนอนุสรณ์รูปสลักแบบแผ่นหิน

"ตราบใดที่จีนยังคงไม่เป็นประชาธิปไตย มันจะมีช่วงเวลาที่คนรุ่นต่อไปต้องเผชิญกับชาตะกรรมเดียวกับพวกเรา เว้นแต่ว่าผู้ที่อยู่ในอำนาจจะเลิกปิดกั้นปราบปรามการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย" หวังจุนเทากล่าว

หวังตัน กล่าวว่าคนรุ่นใหม่ในจีนเคยได้ยินเรื่องของการสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมินแต่คงจะไม่ค่อยรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างอย่างละเอียด พวกเขาไม่รู้ว่าอะไรที่เป็นสาเหตุ เป็นผลที่ตามมา และเรื่องตึ้นลึกหนาบางเกี่ยวกับกรณีการสังหารหมู่ที่เทียนอันเหมิน แต่พวกเขารู้ดีว่าตัวเลขที่สื่อถึงวันเวลาของเหตุการณ์เทียนอันเหมินคือ 4 มิ.ย. ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) เป็นตัวเลขที่มีความอ่อนไหว

หวังตันบอกอีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในจีนช่วงไม่นานนี้อาจจะยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ในจีนอยากรู้มากขึ้นว่ามีอะไรเกิดขึ้นในเหตุการณ์นี้ เขาบอกว่าชาวจีนที่เดินทางไปเรียนในต่างประเทศมักจะทำการศึกษาด้วยตัวเองในเรื่องเหล่านี้เพราะพวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปราศจากการเซนเซอร์หรือการสอดแนมจับตามองจากรัฐบาล

"ตราบใดที่กงล้อแห่งประชาธิปไตยยังคงหมุนไปข้างหน้า ผมจะไม่เป็นห่วงเลย" หวังตันกล่าว

"ถ้ามองจากมุมแบบประวัติศาสตร์แล้ว มันไม่ค่อยจะเกี่ยวเท่าไหร่ว่าคนรุ่นใหม่จะรู้เกี่ยวกับเรื่องวันที่ 4 มิ.ย. 2532 หรือไม่" หวังตันกล่าว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานนี้ในจีนเป็นเรื่องความไม่พอใจของประชาชนรวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ประท้วงต่อต้านมาตรการล็อกดาวน์อย่างหนักของรัฐบาลจนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่รวมถึงเรื่องปากท้องและโอกาสในการสร้างอนาคตของพวกเขา

มีกรณีที่นักศึกษาหลายร้อยคนจากมหาวิทยาลัยในกรุงปักกิ่งและในเทียนจินพากันประท้วงต่อต้านมาตรการควบคุมโรค COVID-19 ที่เข้มงวดเกินไปในสถานศึกษาอุดมศึกษา

เรดิโอฟรีเอเชียระบุว่ามันชวนให้นึกถึงกรณีการประท้วงที่นำโดยนักศึกษาในยุคจัตุรัสเทียนอันเหมินที่มีข้อเรียกร้องในเรื่องขอให้มีการปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยและเรียกร้องหลักนิติธรรม แต่ในคืนวันที่ 3-4 มิ.ย. กองทัพจีนก็ทำการสังหารหมู่ผู้ประท้วงเหล่านี้จนถึงทุกวันนี้ยังไม่รู้จำนวนผู้เสียชีวิตที่ชัดเจน

เซี่ยงไฮ้เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มีมาตรการจำกัดควบคุม COVID-19 อย่างหนัก ก็มีจดหมายเปิดผนึกจากผู้ประกอบการลงวันที่ 30 พ.ค. เรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนและเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มต้นปฏิรูปการเมืองในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ที่จะมีขึ้นหลังจากนี้ โดยในจดหมายมีการเตือนว่าถ้ายังคงเป็นแบบนี้ต่อไป แหล่งเงินทุนทั้งหลายจะพากันย้ายหนีออกไปนอกประเทศและมีการสูญเสียความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนต่อการปกครองของสีจิ้นผิง

ในจดหมายจากกลุ่มผู้ประกอบการยังเรียกร้องให้ภาคส่วนอุตสาหกรรมในจีนอย่าทำตัวเป็น "แกะที่ถูกขุนให้โตแล้วรอเชือด" โดยให้มีภาคการผลิตทั้งหมดกลับมาดำเนินการในช่วงที่มีการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้เป็นเวลาหลายสัปดาห์

จดหมายดังกล่าวนี้ยังระบุอีกว่า "หลักนิติธรรม" ถูกลดทอนเหลือเพียงแค่ "การปกครองโดยตัวบุคคล" ในขณะที่เศรษฐกิจถูกปล้นชิงไปโดยการเมือง ทำให้ "กลุ่มคนเรียนจบใหม่" ภายใต้ช่วง COVID-19 หลายล้านคนไม่มีงานทำ นอกจากนี้จดหมายยังเรียกร้องให้ประชาชน "ทวงคืนสิทธิพลเมืองและบูรณะประเทศให้กลับคืนมาอีกครั้ง"

จดหมายยังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกคำตัดสินลงโทษต่อผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เหรินจื้อเฉียง กับผู้ประกอบการภาคการเกษตร ซุนต้าอู๋ และให้มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการ "ละเมิดกฎหมายและเพิกเฉยต่อความคิดเห็นของประชาชน" ในกรณีนโยบาย COVID เป็นศูนย์ อีกทั้งยังเรียกร้องให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนลดอำนาจการควบคุมสื่อของพวกเขาลง

เรียบเรียงจาก
Democracy in China won't come without a 'huge crisis' for ruling party: analysts, Radio Free Asia, 02-06-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท