Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข่าวคราวเกี่ยวกับวงการพระสงฆ์ ทำให้สังคมหันมาใส่ใจกับปัญหาและทางออกของพุทธศาสนาไทยกันอีกครั้งหนึ่ง แต่ความสนใจก็หดแคบเหลือแต่เพียงความเคร่งครัดในการควบคุม “อากัปกิริยา” ของภิกษุให้ต้องตรงตามพระวินัย

อันที่จริงพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของจิตใจ สำรวมกายก็เพื่อก่อให้เกิดใจที่สำรวม บังคับมื้ออาหารไว้ก็เพื่อให้ใจยอมรับในที่สุดว่า เรากินเพื่ออยู่เท่านั้น ไม่ใช่เพื่อความเอร็ดอร่อย

ยิ่งเรื่องทางออก ก็แทบไม่มองไปทางอื่นเลย นอกจากเรียกร้องให้รัฐใช้อำนาจกำกับควบคุมพระสงฆ์โดยตรง ถึงกับเสนอให้บัญญัติว่าการละเมิดพระวินัยบางเรื่อง เป็นการละเมิดกฎหมายอาญาไปเลย มีทั้งโทษปรับและจำ

คำถามก็คือ รัฐเป็นเครื่องมือควบคุมคณะสงฆ์ที่ดีหรือ?

แม้ว่าก่อนออก พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ขึ้นใน พ.ศ.2445 กษัตริย์ก็มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว แต่ พ.ร.บ.ที่ออกใหม่นี้เป็นผลให้เกิดองค์กรปกครองคณะสงฆ์แบบรวมศูนย์ ภายใต้การกำกับของรัฐบาลกษัตริย์อีกทีหนึ่ง ผลก็คือพระวินัยถูกตีความโดยส่วนกลางให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วพระราชอาณาจักร มีตำแหน่งบังคับบัญชาควบคุมพระภิกษุทุกรูปไปตามลำดับชั้น เหมือนกระทรวงหนึ่งในราชการแบบใหม่ คณะสงฆ์ไทยจึงหลุดจากการกำกับควบคุมของสังคมหรือประชาชนไปโดยปริยาย

กระทรวงในระบบบริหารแบบใหม่ของไทยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพละหรือ?

การปกครองคณะสงฆ์ก่อนหน้านี้ พระภิกษุต่างอยู่ในความควบคุมดูแลของ “สำนักอาจารย์” หรือที่ทางเหนือเรียกว่า “หัวหมวดวัด” ซึ่งทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระภิกษุเกือบทั้งหมดในวัดที่ขึ้นต่อหัวหมวดนั้น พระอาจารย์เหล่านี้ได้รับการยกย่องจากประชาชนในชุมชนแถบนั้น จนฝ่ายบ้านเมืองต้องยกย่องตามไปด้วย จึงนิยมส่งบุตรหลานไปบวชกับพระอาจารย์รูปนั้น ดังนั้น หากภิกษุรูปใดหรือคณะใดที่ปฏิบัติตนไม่เป็นไปตามความคาดหวังของชาวบ้าน ก็อาจถูกร้องเรียนโดยตรงหรือโดยอ้อมไปถึงพระอาจารย์

เพื่อรักษาความเคารพนับถือของชาวบ้านไว้ พระอาจารย์ย่อมจะนิ่งเฉยไม่ได้อยู่เอง

ในแง่นี้ พระวินัยก็อาจถูกตีความไม่ตรงกันไปหมดทุกข้อ จะย่อหย่อนหรือเบี่ยงเบนในข้อใดไปบ้าง ก็ด้วยความยินยอมพร้อมใจของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์พระภิกษุในอารามนั้นๆ โดยตรง

อดีตพระผู้ใหญ่ฝ่ายธรรมยุตท่านหนึ่ง (เพราะท่านลาสิกขาในภายหลัง) เคยเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อท่านแรกบวชที่วัดบ้านท่านในอีสาน เป็นธรรมดาที่พระต้องช่วยชาวบ้านเกี่ยวข้าวด้วย เพราะแรงงานขาดแคลน ตรงกับประวัติของพระอาจารย์มั่นที่เล่ากันในภายหลังว่า ท่านเลือกจะบวชในธรรมยุติกนิกาย เพื่อหลีกเลี่ยงภารกิจทางโลกย์ ซึ่งพระอีสานสมัยนั้นต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน (และบางกรณีก็อาจขัดกับพระวินัย เช่น เกี่ยวข้าว เป็นต้น)

ประเด็นด้านการบริหารอยู่ที่ว่า ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์และใช้บริการของพระภิกษุโดยตรง คือผู้มีอำนาจกำกับควบคุมพระสงฆ์โดยตรง ตราบเท่าที่วัดยังเป็นสมบัติของชุมชนในความหมายนี้ วัดย่อมดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงตลอดไป ประเด็นทางศาสนธรรมก็คือ เมื่อเกี่ยวข้าวอยู่นั้น ใจของพระภิกษุยังตั้งมั่นอยู่ในหลักธรรมของสันโดษอยู่หรือไม่

“อากัปกิริยา” อย่างเดียว อาจไม่มีความหมายใดๆ เลยก็ได้ การแตะเนื้อต้องตัวสตรีเป็นไปเพื่อบำเรอกาม หรือเพื่อช่วยเหลือสตรีผู้นั้น เช่น การพยาบาลมารดาผู้เจ็บป่วย (ดังที่ปรากฏใน “กถามุข” ของพระวินัย)

และถ้าใจเป็นประธานของการกระทำ รัฐจะควบคุมพระภิกษุเกิน “อากัปกิริยา” ได้อย่างไร ชาวบ้านและพระอาจารย์ต่างหากที่อาจควบคุมได้ (ผมขอย้ำอีกทีว่า พระอาจารย์ที่ไม่มีชาวบ้านคอยสอดส่องกำกับถ่วงดุล ก็ไม่อาจตรวจสอบไปถึงใจของภิกษุได้เหมือนกัน)

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตที่เคลื่อนย้ายได้สะดวก ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถกำกับควบคุมพระภิกษุได้ดีเหมือนเก่าเสียแล้ว โยมอุปัฏฐากของวัดจำนวนมากไม่ใช่ชาวบ้านในละแวกที่วัดตั้งอยู่อีกต่อไป โดยเฉพาะวัด “ดังๆ” ทั้งหลาย ซึ่งได้รับการอุปถัมภ์จากผู้ศรัทธาทั่วประเทศ การไปวัดเหลือแต่เพียงการได้ทำบุญกับพระ “ดังๆ” และถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกสักครั้ง จะเป็นภิกษุหรือพระพุทธเจดีย์ก็ตาม ขอให้ “ดัง” ไว้ก่อนเป็นสำคัญ

ในขณะที่รัฐล้มเหลวในการกำกับควบคุม ชาวบ้านก็หมดสมรรถนะจะควบคุมได้อีกแล้ว ปัญหาของพระพุทธศาสนาไทยจึงมีมากกว่าภิกษุบางรูปล่วงละเมิดพระวินัยอย่างร้ายแรง ยิ่งเอาความผิดทางอาญาเข้ามาเสริมพระวินัย ก็ยิ่งทำให้พระวินัยเหลืออยู่เพียง “อากัปกิริยา” มากขึ้น

อันที่จริงปัญหาเรื่องวัดไทยได้หมดบทบาทหน้าที่ซึ่งเคยมีไปเสียแล้ว เป็นที่รู้กันกว้างขวางพอสมควร รวมทั้งมีพระภิกษุบางรูปพยายามค้นหาบทบาทใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับสังคมปัจจุบันให้แก่วัดด้วย เช่น วัดสวนแก้ว ที่ขยายบทบาทด้านสังคมสงเคราะห์อันเป็นบทบาทสำคัญของวัดไทยโบราณ ให้ครอบคลุมกว้างขวางขึ้นแก่สังคมเมือง สันติอโศกเสนอทางเลือกใหม่ในการโน้มนำพุทธธรรมมาสู่การแก้ปัญหาของสังคมปัจจุบัน ซ้ำยังสร้างเครือข่ายกับวัดที่เป็นสาขาทั่วประเทศ และกับองค์กรเอกชนที่สมาทานแนวทางเดียวกัน ในการทำให้ชีวิตแบบอยู่ง่ายกินง่ายเป็นจริงในทางปฏิบัติแก่คนทั่วไปได้ด้วย วัดธรรมกายใช้วิธีคล้ายๆ กันในการเผยแผ่คำสอน โดยสร้าง “บุคลากร” หลายประเภทเป็นกำลังในการเผยแผ่คำสอน

เราจะเห็นด้วยกับหลักคำสอนของ “สำนัก” เหล่านี้หรือไม่เป็นคนละเรื่อง แต่นวัตกรรมใหม่ๆ เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า หนทางที่วัดและพระภิกษุจะปรับบทบาทของตนให้เหมาะกับโลกยุคใหม่เป็นเรื่องจำเป็น และเป็นไปได้ในหลายหนทางด้วยกัน

แม้แต่พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ซึ่งไม่เคยแสดงความเห็นขัดแย้งกับองค์กรรัฐซึ่งมีหน้าที่กำกับควบคุมคณะสงฆ์เลย ก็เคยเสนอให้คิดถึงการสร้างบุคลากรทางศาสนาหลายระดับ ซึ่งมี “วินัย” ต่างกัน นับตั้งแต่พระภิกษุลงมาถึงผู้ครองเรือนซึ่งก็อาจช่วยกิจการของวัดหรือพระศาสนาได้อีกหลายทาง (พุทธศาสนาไทยในอนาคต)

เราอาจยังไม่พบทางออกสำเร็จรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราควรตระหนักว่าปัญหาของพุทธศาสนาไทยเวลานี้มีมากกว่าความเคร่งครัดหรือไม่เคร่งครัดของพระภิกษุ การไปฝากความหวังไว้กับมหาเถรสมาคมหรือสำนักพุทธฯ ก็คือการฝากความอยู่รอดปลอดภัยของศาสนาไว้กับรัฐ ทั้งๆ ที่การณ์ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นมานานแล้วว่า รัฐไม่มีสมรรถนะจะทำภารกิจนี้ได้ เพราะรัฐต้องการแต่อำนาจในการควบคุมองค์กรสงฆ์เท่านั้น เนื่องจากพระสงฆ์มีศักยภาพที่จะมีอำนาจทางการเมืองได้มาก จึงอาจเป็นอันตรายต่อรัฐได้

อีกด้านหนึ่งคือหลักธรรมคำสอน ทุกศาสนาย่อมอ้างเหมือนกันว่าหลักธรรมคำสอนของตนเป็นอกาลิโก คือไม่ประกอบด้วยกาลเวลา จริงเมื่อหลายพันปีมาแล้วอย่างไร ก็จริงสืบไปอีกหลายพันปีข้างหน้า

หลักธรรมคำสอนจะเป็นอกาลิโกจริงหรือไม่ยกไว้ก่อน แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือ กาลเวลาหรือความเปลี่ยนแปลงของโลกไม่กระทบต่อคำสอนของศาสนาก็เพราะทุกศาสนาต่างขยับปรับเปลี่ยนจุดเน้นในคำสอนให้สอดคล้อง หรืออย่างน้อยก็ไม่ขัดแย้งกับค่านิยมในแต่ละยุคสมัยด้วย

อย่าลืมว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้บูชากราบไหว้รูปเคารพ แต่หากนิยมที่จะทำเช่นนั้นก็ทำได้ด้วยใจที่ไม่ยึดติดกับวัสดุสิ่งของอันประกอบเป็นรูปเคารพนั้น และไม่ถือว่าประพฤติผิดหลักศาสนา

ในโลกปัจจุบัน ผู้รู้ทางพุทธศาสนาทั่วโลกต่างกล่าวว่า พุทธธรรมคำสอนเอื้อต่อศีลธรรมของการรักษาสิ่งแวดล้อม, ต่อศีลธรรมของประชาธิปไตย, ต่อความเท่าเทียมทางเพศ, ต่อสันติภาพ, ต่อความยุติธรรมแบบใหม่ที่ตั้งอยู่บนหลักการความเท่าเทียม, ต่อความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันของปัจเจก, ฯลฯ

แต่เราไม่เคยได้ยินนักปราชญ์พุทธไทย ทั้งภิกษุและฆราวาส ที่ให้ความหมายของพุทธธรรมไปในทางที่เอื้อต่อค่านิยมใหม่ๆ เหล่านี้เลย ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เรากลับได้ยินแต่คำสรรเสริญผู้มีอำนาจในรัฐ ไม่ว่าจะได้หรือใช้อำนาจนั้นอย่างไร เราใช้หลักการ “เผด็จการโดยธรรม” เพื่อทำลายหลักเสรีภาพ, เสมอภาพ และภราดรภาพอยู่บ่อยครั้ง เราไม่อนุญาตให้สตรีได้บวชเป็นภิกษุณีด้วยเหตุผลทางเทคนิค (ยังไม่พูดถึงบทบาทและสถานะของ “แม่ชี” ตามความเป็นจริงในวัดต่างๆ) เราเคยเห็นพระภิกษุประพรมน้ำมนตร์อวยพรให้แก่ทหารที่กำลังจะออกรบ, เราได้ยินพระธรรมเทศนาที่ระแวงสงสัย “เสรีภาพ” อยู่เสมอ, … ฯลฯ

พุทธศาสนาไทยยังสอดรับ (relevant) กับคนไทยปัจจุบันอยู่อีกหรือ?

ยังควรจะประหลาดใจอยู่อีกหรือว่า เหตุใดพุทธศาสนาที่สัมพันธ์กับชีวิตของผู้คนจึงเหลือแต่ “พิธีกรรม” ไม่ใช่พิธีกรรมไม่สำคัญนะครับ พิธีกรรมช่วยตอกย้ำเครือข่ายความสัมพันธ์ทางสังคม, ช่วยผนึกพลังให้แก่อัตลักษณ์ของผู้คนในสังคม, ช่วยยืนยันคุณค่าบางอย่างที่อยู่เบื้องหลัง (เช่น กตัญญูกตเวทิตาในเทศนางานศพ) แม้ว่าคุณค่าเหล่านี้ยังมีประโยชน์ในสังคมปัจจุบันอยู่อย่างแน่นอน แต่มันถูกตอกย้ำผ่านหนทางอื่นเกือบตลอดเวลาในชีวิตของคนทั่วไปอยู่แล้ว (พ่อแม่, ตำราเรียน, การปฏิบัติและปฏิกิริยาของคนอื่น, ฯลฯ)

จำนวนไม่น้อยของพิธีกรรมทางศาสนา ยังโยงไปกับความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต ซึ่งก็มีความสำคัญเหมือนกัน แต่โลกปัจจุบันสอนเราด้วยว่า ส่วนสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตนอกจากต้องสร้างขึ้นเองแล้ว ยังขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐด้วย (ซึ่งรวบทรัพยากรของสังคมไว้ในมือสูงมาก) การเน้นพิธีกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเฉยชาทางการเมือง (political apathy) ของพลเมืองด้วยหรือไม่?

จะเห็นได้ว่า ศาสนาที่จะมีพลังในการปรับตัวเพื่อเป็นฐานของชีวิตผู้คนได้ตลอดนั้น จะเป็นศาสนาภายใต้องค์กรรวมศูนย์ไม่ได้ ยิ่งเป็นองค์กรรวมศูนย์ภายใต้รัฐ ศาสนาก็ยิ่งสูญเสียสมรรถภาพในการปรับตัว

การที่แต่ละ “สำนัก” จะมีจุดเน้นและแนวทางปฏิบัติที่ต่างกันบ้าง ไม่ใช่ “สังฆเภท” ตราบเท่าที่ยังให้ความเคารพคณะสงฆ์อื่นเสมอกับตน แต่เมื่อไรก็ตามที่ถือว่าตนสูงกว่าคณะสงฆ์อื่น ขนาดไม่ยอมทำศาสนพิธีร่วมกัน นั่นแหละคือหนทางสู่ “สังฆเภท” แน่นอน

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_557274

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net