สุรพศ ทวีศักดิ์: เสรีนิยมกับ ‘ความเป็นกลางทางคุณค่า’ กรณีสมรสเท่าเทียม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

มีคำถามมาตลอดว่า การที่เสรีนิยม (liberalism) อ้าง “ความเป็นกลางทางคุณค่า” (value neutral) ท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลายทางความคิด ความเชื่อแบบศาสนา แบบไม่มีศาสนา และวัฒนธรรมต่างๆ ในสังคมประชาธิปไตยนั้น เป็นข้ออ้างที่มีเหตุผลสนับสนุน (justification) หรือไม่ บทความนี้จะลองยกเคส “สมรสเท่าทียม” มาเป็นตัวอย่างของการถกเถียง

1. ทำไมรัฐจึงต้องออกกฎหมายรับรองสมรสเท่าเทียม? 

คำตอบหนึ่งของเสรีนิยมคือ ในสังคมเสรีประชาธิปไตยที่พลเมืองมีความแตกต่างและหลากหลายทางความคิด ความเชื่อเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีบนโลกทัศน์ทางศาสนาต่างๆ วัฒนธรรมต่างๆ หรือบนความเชื่อแบบไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญาต่างๆ รัฐต้อง “เป็นกลางทางคุณค่า” หรือเป็นกลางต่อความคิด ความเชื่อที่แตกต่าง และหลากหลายเหล่านั้น

การสมรสเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อเกี่ยวกับการมี “ชีวิตที่ดี” (good life) ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมักสัมพันธ์กับวัฒนธรรมศาสนา เพราะศาสนาใหญ่ๆ ไม่เพียงแต่กำหนดอุดมการณ์ และระเบียบทางการเมืองใช้ปกครองประชาชนเท่านั้น ยังกำกับควบคุมชีวิตส่วนตัวของประชาชน ตั้งแต่การกิน การแต่งกาย การแต่งงาน การตาย ลึกลงไปถึงจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี อันเป็น “พื้นที่มโนธรรมสำนึก” (conscience) ของบุคคล หรือโดยทั่วไปแล้วชีวิตที่ดีในรูปแบบการแต่งงานสัมพันธ์กับ “วัฒนธรรมปิตาธิปไตย” หรือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ที่มีพัฒนาการมายาวนาน ทั้งในโลกตะวันออกและตะวันตก 

แต่ในรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ หรือเสรีประชาธิปไตย คุณค่าการมีชีวิตที่ดีในรูปแบบชีวิตสมรสไม่ได้ถูกกำหนดโดยความเชื่อทางศาสนา หรือกรอบคุณค่าของวัฒนธรรมหนึ่งใดโดยเฉพาะเท่านั้น เพราะการสมรสถูกทำให้สัมพันธ์กับ “ความดีสาธารณะ” (public good) อื่นๆ เช่น การมีสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกันระหว่างเพศหญิง ชาย และคนหลากหลายทางเพศ และการมี “ความยุติธรรม” ต่อคนทุกเพศ เพราะคนหลากหลายทางเพศก็ทำงานและจ่ายภาษีเท่ากับเพศหญิง ชาย เหตุใดพวกเขาจึงถูกปฏิเสธสิทธิและผลประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้จากกฎหมายรับรองการสมรสที่เพศหญิงและชายได้รับ

การอ้างความเชื่อทางศาสนา หรือการใช้ตรรกะเหตุผลที่อิงวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่มาคัดค้านการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม จึงขัดแย้งกับหลักความดีสาธารณะ และหลักความยุติธรรมดังกล่าวอย่างชัดแจ้ง 

ดังนั้น เพื่อปกป้องความดีสาธารณะและความยุติธรรมต่อพลเมืองทุกคน รัฐจึงต้องออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม

2. ถ้ารัฐออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม จะถือว่ารัฐ “เป็นกลางทางคุณค่า” ได้จริงหรือ? 

เราต้องนิยาม “ความเป็นกลาง” ก่อนว่าเป็นกลางในที่นี้ หมายถึง รัฐรับรอง “สิทธิเท่าเทียมในการเลือก” ของพลเมืองทุกคน ไม่ว่าเขาจะเป็นเพศอะไร อยู่ในกลุ่มศาสนาอะไร วัฒนธรรมอะไร หรือไม่มีศาสนา กฎหมายสมรสเท่าเทียมก็คือกฎหมาย “รับรองสิทธิให้ทุกคนเลือกได้เท่าเทียมกัน” ว่า คุณจะสมรสเพศเดียวกันหรือไม่ก็ได้ ถ้าคุณเห็นว่าการแต่งงานเพศเดียวกันขัดกับความเชื่อทางศาสนา หรือวัฒนธรรมที่คุณยึดถือ หรือขัดกับค่านิยม อุดมคติใดๆ ของตน คุณก็ไม่แต่งงานเพศเดียวกันแค่นั้นเอง ส่วนคนอื่นที่เขาโอเคเขาก็มีสิทธิ์เลือกจะสมรสเพศเดียวกัน และได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามมาจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมกับเพศหญิง ชาย แค่นั้นเอง 

ข้อโต้แย้ง 1 : บางคนแย้งว่าการที่รัฐรับรองสิทธิสมรสเท่าเทียมไม่ใช่การ “เป็นกลางทางคุณคุณค่า” จริง

เพราะรัฐได้เลือก “คุณค่าแบบเสรีนิยม” (liberal values) แล้ว นั่นคือ เลือกคุณค่าสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมทางเพศในเซ็นส์ของเสรีนิยมมาบัญญัติเป็นกฎหมาย ซึ่งคุณค่าแบบเสรีนิยมก็ขัดแย้งกับคุณค่าอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น คุณค่าตามความเชื่อทางศาสนาที่ปฏิเสธการคุมกำเนิด การทำแท้ง รักร่วมเพศ เป็นต้น 

แต่คำถามต่อข้อโต้แย้งแบบนี้คือ ในรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยพลเมืองที่มีความคิด ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรมที่แตกต่างและหลากหลาย รวมทั้งมีความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนาอีกมาก การปฏิเสธกฎหมายสมรสเท่าเทียมด้วยเหตุผลของความเชื่อศาสนาใดศาสนาหนึ่ง วัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง มันจะ “ยุติธรรม” ต่อคนในศาสนาอื่น วัฒนธรรมอื่นๆ หรือคนไม่มีศาสนาอย่างไรหรือ พูดอีกอย่างคือ ทำไมคนที่ไม่ได้เชื่อว่าสมรสเพศเดียวกันผิดศีลธรรม จึงสมควรถูกตัดสิทธิที่พึงมีพึงได้อย่างเท่าเทียมกับเพศหญิง ชายจากกฎหมายสมรส ซึ่งคนที่โต้แย้งไม่มีคำตอบชัดเจน

ข้อโต้แย้ง 2: บางคนแย้งว่าความเป็นกลางแบบเสรีนิยมเป็นความหลอกลวง และเป็นท่าทีอำนาจนิยม

เพราะแม้เสรีนิยมจะยืนยันว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมให้ “สิทธิเลือกได้อย่างเท่าเทียม” แก่ “ทุกคน” ว่าจะสมรสเพศเดียวกันหรือไม่ ซึ่งดูเหมือนว่า “เป็นกลางทางคุณค่า” แต่นอกจากจะไม่เป็นกลางทางคุณค่าจริง เพราะรัฐได้เลือกคุณค่าแบบเสรีนิยมมาบัญญัติเป็นกฎหมายไปแล้ว และยังมี “นัยแฝง” ด้วยว่ารัฐได้เลือกเป็นปฏิปักษ์ต่อศาสนาที่ถือว่ารักร่วมเพศผิดศีลธรรม เพราะการออกกฎหมายรับรองสมรสเท่าเทียมเท่ากับบอกโดยปริยายว่า “รักร่วมเพศไม่ผิดศีลธรรม” เป็นสิ่งที่ทำได้หรือควรทำ ซึ่งเท่ากับรัฐได้ชี้นำและเปิดทางให้มีการทำผิดศีลธรรมของบางศาสนา บางวัฒนธรรมได้โดยชอบธรรมตามกฎหมาย นี่คือ “จุดยืน” หรือ “ท่าทีอำนาจนิยมแบบเสรีนิยม” ที่จำกัด ครอบงำ และละเมิดเสรีภาพของวัฒนธรรมอื่นๆ ที่ขัดกับวัฒนธรรมเสรีนิยม

เสรีนิยมจะเถียงข้อโต้แย้งนี้ว่า รัฐเสรีประชาธิปไตยไม่ใช่รัฐใน “ระบอบคุณพ่อรู้ดี” (paternalism) เกี่ยวกับศีลธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคล เช่น ชีวิตสมรสเป็นชีวิตส่วนตัวที่อาจสัมพันธ์กับความเชื่อส่วนตัวทางศาสนา วัฒนธรรม และอื่นๆ ที่มีอยู่จริงอย่างหลากหลาย รัฐไม่มีหน้าที่ตัดสินว่าความเชื่อส่วนตัวแบบไหนถูกหรือผิด เป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคลแต่ละคนที่เชื่อและไม่เชื่อต้องตัดสินด้วยตัวเขาเอง รัฐเพียงแต่ทำหน้าที่รักษา “กติกากลาง” หรือ “คุณค่าแกนกลาง” (core values) อันเป็นกติกาหรือคุณค่าที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ของระบอบประชาธิปไตยเพื่อรองรับให้ความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อแบบไม่ใช่ศาสนา หรือปรัชญาต่างๆ ที่มีอยู่อย่างหลากหลายดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม เคารพ และอดกลั้นต่อกันและกัน 

ดังนั้น การรับรองสมรสเท่าเทียมคือการที่รัฐรักษากติกากลาง/คุณค่าแกนกลางของระบอบประชาธิปไตย อันได้แก่ การรักษาสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลเมืองทุกคน รวมทั้ง “ความยุติธรรม” และผลประโยชน์อื่นๆ ที่พลเมืองทุกคนไม่ว่าเพศ ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม เชื้อชาติ สีผิวอะไรต้องได้รับเฉกเช่นกัน เพราะถ้ารัฐไม่รักษาคุณค่าแกนกลางดังกล่าว ก็ย่อมเกิด “การเลือกปฏิบัติ” บนอคติทางเพศ ศาสนา วัฒนธรรมและอื่นๆ แล้วฝ่ายที่โต้แย้งเสรีนิยมจะมีข้อเสนอที่ดีกว่าในการแก้ปัญหาดังกล่างอย่างไรหรือ

ผมมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เวลานักวิชาการ “บางคน” วิจารณ์เสรีนิยมเรื่องอ้างคุณค่า/ความจริงสากล ที่จริงแล้วเขาก็วิจารณ์บนจุดยืนสัมพัทธนิยมทางวัฒนธรรม (cultural relativism) และหลังสมัยใหม่นิยม (postmodernism) เป็นต้น ซึ่งบางทีเขาได้ทำให้มุมมองแบบสัมพันธนิยมและหลังสมัยใหม่นิยมกลายเป็น “ความจริงแบบภาววิสัย” และเป็น “สากล” แทนเสรีนิยม (ตามความหมายที่เขาวิจารณ์) ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว เพราะการอ้างข้อเท็จจริงทางวัฒนธรรมของสังคมต่างๆ ในโลกว่ามีความแตกต่างและหลากหลายเป็น “ความจริงทั่วไป” เพื่อหักล้างว่าความจริงและคุณค่าแบบเสรีนิยมไม่สากล อีกอย่างเขายืนยันว่าความจริงและคุณค่าต่างๆ ในทุกวัฒนธรรมมี “สถานะเท่าเทียมกัน” ซึ่งนี่ก็คือการยืนยันในเชิง “เป็นหลักการการทั่วไป” หรือเป็นสากลในความหมายหนึ่งอีกเช่นกัน

พูดอีกอย่างคือ เมื่อคุณยืนยันว่าไม่มีทัศนะไหนจริงกว่าและมีคุณค่ามากกว่าทัศนะอื่นๆ ที่เหลือ มันเท่ากับคุณกำลังยืนยันอยู่หรือไม่ว่า “ทัศนะนี้” ของคุณจริงกว่าและมีคุณค่ามากกว่า หรือ “ควรยอมรับ” มากกว่าทัศนะอื่นๆ ที่เหลือ หรือเมื่อคุณบอกว่าไม่มีทัศนะแบบเสรีนิยมหรือทัศนะใดๆ เป็นสากล คุณกำลังยืนยันอยู่หรือไม่ว่าทัศนะของคุณที่ใช้ตัดสินทั่วไปเช่นนั้นเป็นทัศนะที่เป็นสากล หรือเป็นความจริงทั่วไปมากกว่า

อันที่จริงปัญหาของเสรีนิยมมีมาก ถ้าดูจากคำวิจารณ์ โจมตีเสรีนิยมก็มีมากกว่ากว่าไตรปิฎก 45 เล่มเกวียน และเสรีนิยมเองก็มีหลายเฉด อีกอย่างพวกเสรีนิยมก็เถียงกันเองในประเด็นพื้นฐานต่างๆ บางครั้งก็เถียงกันว่าใครคือ “เสรีนิยมแท้” หรือ “เสรีนิยมเทียม” ไม่ต่างจากพวกมาร์กซิสต์เองที่ทั้งเถียงกันเองและถูกวิจารณ์โจมตีจากทัศนะอื่นๆ เช่นเดียวกับพวกฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลาม ที่ไม่เพียงแต่เถียงกันเอง แตกนิกายต่างๆ จำนวนมากเท่านั้น หากยังทำสงครามฆ่ากันเองระหว่างนิกาย และทำสงครามระหว่างศาสนา ฆ่ากันตายเป็นเบืออย่างที่เราทราบกัน

บางคนที่ปกป้อง “อัตลักษณ์ทางศาสนา” แบบฮินดู พุทธ คริสต์ อิสลามในปัจจุบันอย่างโรแมนติก ก็เสแสร้งมองไม่เห็นว่า ศาสนาใหญ่ๆ พวกนี้เคยสร้าง “วีรกรรม” ในการทำลายความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางศาสนา “พหุเทวนิยม” (polytheism) ในสังคมโบราณและยุคกลาง ยุคสังคมจารีตไว้อย่างไรบ้าง เพียงแค่ศาสนาใหญ่ๆ พวกนี้เชิดชูอำนาจสูงสุดของพระเจ้าองค์เดียวในฐานะผู้สร้างมนุษย์ โลก จักรวาล สร้างกฎธรรมชาติควบคุมสรรพสิ่ง สร้างกฎศีลธรรมกำกับชีวิตบุคคลตั้งแต่เกิดไปจนตาย และกำหนดระเบียบทางการเมืองปกครองรัฐต่างๆ ศาสนาพวกนี้ก็มองการบูชาเทพอื่นๆ เป็นความงมงาย นอกรีต และเป็นความชั่วร้ายที่ต้องขจัดทิ้งไป หรือไม่ก็กลืนความหลากหลายทางความเชื่อแบบศาสนาพหุนิยมมาอยู่ใต้ตีนของตนเอง 

แล้วอะไรล่ะคืออัตลักษณ์ทางศาสนาที่จริงแท้ เป็นเนื้อเดียว ไม่เปลี่ยนแปลง อัตลักษณ์ทางศาสนาแบบฮินดูโบราณ แบบสมัยพุทธะ เยซู มูฮัมหมัดกับปัจจุบันมีอะไรเหมือนกันแท้ๆ เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ไม่มีหรอกครับ ไม่มีอัตลักษณ์ทางศาสนา/วัฒนธรรมอะไรที่เป็นแก่นแท้ เป็นเนื้อเดียว และไม่เปลี่ยนแปลง ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคมและโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความคิดอุดมการณ์แบบเสรีนิยม มาร์กซิสต์เป็นต้นก็ถูกตีความปรับเปลี่ยนตามบริบทสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ผ่าน “การต่อสู้-ต่อรอง” ในยุคสมัยหรือในบริบทประวัติศาสตร์ของสังคมหนึ่งๆ

ถ้าพูดตามประวัติศาสตร์ การเกิดขึ้นของเสรีนิยมในแง่สำคัญหนึ่ง ก็เพื่อหาทางออกให้กับความขัดแย้งทางศาสนา หรือหาทางให้ความต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมในสังคมประชาธิปไตยอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม มีเสรีภาพ เคารพ และอดกลั้นต่อกันและกัน โดยที่รัฐต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อพลเมืองบนอคติหรือเหตุผลเรื่องความเชื่อ ศาสนา ความเชื่อที่ไม่ใช่ศาสนา และวัฒนธรรมต่างๆ 

แน่นอนว่า ใน “ทางปฏิบัติ” จะเป็นไปตามอุดมคติได้มากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องที่ต้องพิจารณา เช่น ปัญหาการสมรสเท่าเทียมของคนหลากหลายทางเพศ ก็ไม่ใช่ประเด็นที่เสรีนิยมคลาสสิกเคยถกเถียงมาก่อน นักปรัชญาคนแรกที่เสนอว่าผู้หญิงควรมีสิทธิเลือกตั้งคือจอห์น สจ๊วต มิลล์ คนอื่นๆ ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ และความคิดมิลล์เองก็มีหลายประเด็นที่ล้าสมัยไปแล้ว 

การรณรงค์เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมด้านต่างๆ ของคนหลากหลายทางเพศ และสมรสเท่าเทียม ก็คือปรากฏการณ์หนึ่งในปรากฏการณ์จำนวนมากในสายธารประวัติศาสตร์ยาวนานที่สะท้อนการใช้แนวทางประชาธิปไตย “ต่อสู้-ต่อรอง” ในการตีความ/ขยายความแนวคิดสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความดีสาธารณะ ความยุติธรรมสาธารณะ (เป็นต้น) แบบเสรีนิยมมาปรับใช้ใน “โลกของความเป็นจริง” ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

ซึ่งไม่ใช่โลกในฝันที่มีอัตลักษณ์ทางศาสนาและวัฒนธรรมอันดีงามดั้งเดิมสถิตสถาพรอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่โลกที่เอาแต่อ้าง “ศีลธรรม วัฒนธรรม ประเพณีอันดีงาม” โดยที่พวกที่อ้างเช่นนั้นประพฤติตรงข้ามกับความดีงามที่พวกตนกล่าวอ้าง หรือไม่ใช่โลกที่จะมี “แผ่นดินอันงดงามจะหวนคืนกลับมา” ดังที่เผด็จการอำนาจนิยมแต่งเพลงลวงโลกที่ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษิยมไม่เคยคิดจะเปิดโปง แต่จะเปิดโปงเสรีนิยมที่ตั้งคำถามกับเผด็จการอำนาจนิยม!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท