Skip to main content
sharethis
  • มติที่ประชุมสภา กทม. ให้ 'วิรัตน์ ส.ก.เพื่อไทย' นั่งประธาน
  • 'ชัชชาติ' ประชุมผู้บริหารนัดแรก ย้ำต่อต้านการทุจริตในหน่วยงาน หารือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เริ่มต้นกระดุมเม็ดแรกด้านความโปร่งใส
  • ‘วิโรจน์’ นำทีม ส.ก.กทม. ก้าวไกล เข้าร่วมประชุมสภากทม.นัดเเรก ย้ำ พร้อมยกระดับสภา กทม. ให้เหมือนที่ ส.ส.ก้าวไกลเปลี่ยนภาพลักษณ์สภาผู้แทนฯ

 

มติที่ประชุมสภา กทม. ให้ 'วิรัตน์ ส.ก.เพื่อไทย' นั่งประธาน

6 มิ.ย.2565 สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร รายงานว่า วันนี้ (6 มิ.ย. 65) เปิดการประชุมสภากรุงเทพมหานครครั้งแรก โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

ในที่ประชุมมีมติ ดังนี้ วิรัตน์ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี เป็นประธานสภากรุงเทพมหานคร ชญาดา วิภัติภูมิประเทศ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตคันนายาว เป็นรองประธานสภากรุงเทพมหานครคนที่หนึ่ง และอำนาจ ปานเผือก สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางแค เป็นรองประธานสภากรุงเทพมหานครคนที่สอง

โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดการประชุม

ชัชชาติ ประชุมผู้บริหารนัดแรก ย้ำต่อต้านการทุจริตในหน่วยงาน

วันเดียวกัน เวลา 09.00 น. ชัชชาติ เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2565 โดยมีคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมและวางแผน (War Room) ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง

โดยในวันนี้ มีระเบียบวาระการประชุม 4 เรื่อง ได้แก่ 1. ความคืบหน้าการบริหารจัดการสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 2. สถานะการเงินการคลัง และการงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 3. การเชื่อมโยงนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร และ 4. ความก้าวหน้าการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทางในคลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร และคลองลาดพร้าว

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวภายหลังจากการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครนัดแรก ประกอบด้วยวาระการประชุม 4 เรื่อง ในเรื่องแรกเป็นสถานการณ์โควิด-19 ปัจจุบันสถานการณ์ได้คลี่คลายลง มีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น อัตราการฉีดวัคซีน อัตราการเสี่ยงก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง อีกไม่นานก็กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่วนการถอดหน้ากากจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม ศบค.กทม. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก็ใกล้แล้วที่จะถอดหน้ากากในที่สาธารณะ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มข้นต่อไป รวมถึงการพูดคุยเรื่องฝีดาษลิง ดูจากตัวเลขแล้วยังไม่พบการติดต่อของโรค ซึ่งการติดต่อจะเป็นคนละลักษณะกับโควิด-19 เรื่องที่ 2 คือ งบประมาณปี 66 ก็ต้องรีบทำให้เสร็จภายในอาทิตย์หน้า แล้วส่งให้สภากทม.พิจารณา ซึ่งบางส่วนได้ดำเนินการแล้ว เราก็มาดูว่าเข้ากับยุทธศาสตร์ของเราอย่างไร

“ในส่วนงบประมาณเราไม่ได้กังวล ไม่ได้ใช้เงินในช่วงนี้ เราไม่ได้ตั้งใจเข้ามาใช้เงินเป็นจำนวนมาก” ผชัชชาติ กล่าวย้ำ

เรื่องที่ 3 คือเรื่องยุทธศาสตร์ แผน 214 ข้อ ที่เราได้ทำไปบ้างแล้ว ซึ่งสำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล วิเคราะห์แล้ว แผนเราค่อนข้างสอดคล้องกับนโยบายที่เดินอยู่ของ กทม. ดำเนินการอยู่ เราก็มาดึงให้มีความชัดเจนขึ้น ซึ่งไม่ได้มีความกังวลใด ๆ ส่วนใหญ่สามารถทำได้เลย หน่วยงานใดที่มีงบประมาณส่วนนี้อยู่แล้ว ก็สามารถเอามาใช้ได้เลย มีหลายโครงการที่สอดคล้องกันอยู่ ส่วนโครงการที่ไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ อาจจะต้องบรรจุไว้ในปี 66 แต่ว่าบางอย่างก็สามารถเริ่มได้เลย วันนี้เรามีนโยบายเรื่องทำ Zero-Based Budgeting คือ การทำงบประมาณจากฐานศูนย์ พยายามดูประสิทธิภาพในการทำงบประมาณ วันนี้ได้เชิญ ผศ. ดร.วิลาสินี วงศ์แก้ว คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาอธิบายเพื่อให้ผู้บริหารมีความเข้าใจตรงกัน ถือว่าเป็นการเริ่มหนึ่งในนโยบายที่เราเสนอแล้ว ช่วงอาทิตย์นี้ก็เป็นเรื่องความเข้มข้นและการเตรียมงบประมาณปี 66

เรื่องที่ 4 เป็นเรื่องการเตรียมเรื่องการบำบัดน้ำเสียที่จะลงคลองว่าปัจจุบันมีชุมชนที่อยู่ริมคลองจำนวนมาก แล้วก็หลายชุมชนก็ปล่อยน้ำเสียหรือว่าไขมันลงที่คลองเลย ซึ่งเป็นต้นเหตุอย่างหนึ่งของการเกิดน้ำเสีย ก็มีแนวคิดว่าเราจะเริ่มจะทำตัวการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนให้มากขึ้น ทางสำนักงบประมาณก็เสนอโครงการมาเริ่มทำโครงการนำร่องบางจุดแล้วให้เห็นในภาพรวม เพราะว่าคงไปรอบำบัดน้ำเสียรวมให้เสร็จภายใน 11 ปียาก ต้องทำ on-site เพิ่มเพื่อเพิ่มคุณภาพน้ำทั้งในคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว และคลองแสนแสบก่อน

ส่วนเรื่องอื่น ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาคือ เรื่องเกี่ยวกับเรื่องต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน บ่ายนี้หลังจากประชุมสภากทม. เสร็จ ผู้บริหารจะไปเยี่ยมองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มีข้อสั่งการให้ผู้บริหารสำนักทุกสำนัก สำนักงานเขตทุกเขต ไปสำรวจจุดอ่อนช่องโหว่ภายในหน่วยงาน เสนอวิธีแก้ไขการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมา ว่ามีแนวคิดอย่างไร ที่ผ่านมามีช่องโหว่ตรงไหน การจัดซื้อจัดจ้าง นำมารวมกันกับเราทำเป็นแผนรวมดำเนินการแก้ไข เพื่อทำให้หน่วยงานมีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนอะไร

“หน่วยงานต้องยอมรับในตัวเองก่อน จะได้รู้ว่ามีปัญหาตรงไหน แล้วเรามาช่วยกันแก้ไข ฝากไว้เป็นการบ้านให้ทุกคนได้ช่วยกัน ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญให้เวลาอาทิตย์หนึ่ง” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในตอนท้าย

หารือองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เริ่มต้นกระดุมเม็ดแรกด้านความโปร่งใส

อีกทั้ง ชัชชาติ เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT (Anti-Corruption Organization of Thailand) โดยมี วิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานมูลนิธิองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร ACT และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ณ ชั้น 16 อาคารศรีจุลทรัพย์ เขตปทุมวัน ว่า การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นหนึ่งในนโยบายซึ่งประชาชนต่างก็ให้ความสำคัญ ในช่วงก่อนที่จะได้รับการเลือกตั้งจะเห็นได้ว่าประชาชนตั้งแต่รากหญ้าจนถึงนักธุรกิจและผู้ประกอบการทุกระดับมีความหมดหวัง ไม่ไว้ใจ และรู้สึกไม่ดีนักต่อกทม. ในเรื่องที่เกี่ยวกับการทุจริต ความไม่โปร่งใส สิ่งที่ต้องทำจากนี้ไปคือการสร้างความเชื่อมั่น ความไว้ใจให้กลับคืนมา รวมถึงการร่วมมือกับหน่วยงานที่มีประสบการณ์อย่างเช่นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ซึ่งจะให้การทำงานเป็นไปด้วยความมั่นใจและถูกทางมากยิ่งขึ้น สำหรับในวันนี้ได้มีการหารือกันหลายเรื่อง ได้แก่ ข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะมีการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ กทม. ผู้ที่ทำสัญญา (เอกชน) และผู้สังเกตการณ์จาก ACT เพื่อให้กระบวนการเป็นไปด้วยความโปร่งใส นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องกระบวนการเปิดเผยข้อมูล แนวคิดเรื่องการขอใบอนุญาต การคำนวณภาษีต่าง ๆ ซึ่งเราสามารถปรับปรุงเพื่อให้มีความโปร่งใสมากขึ้นได้ รวมถึงการกำหนดให้มีหน่วยงานภายนอกที่มีความรู้ความเข้าใจมาร่วมกันทำการวิจัยก่อนเดินหน้างาน เพื่อให้งานที่เกิดขึ้นมีหลักอ้างอิงทางวิชาการด้วย

“วันนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดี และจากนี้ไปจะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อหารืออย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อให้เห็นความก้าวหน้า และจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ด้วย เพราะจะเห็นได้ว่าประชาชนมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของเมือง ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่สละเวลามาช่วยให้เกิดความโปร่งใสขึ้นในกรุงเทพมหานคร โดยส่วนตัวเชื่อว่าหากเราเริ่มต้นด้วยกระดุมเม็ดแรกที่ถูกต้อง จะเป็นผลดีในระยะยาว” ชัชชาติ กล่าว

วิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดตั้งขึ้นเพื่อเสาะแสวงหาความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริต และมีพันธกิจมายาวนาน รวมถึงถือเป็นหน้าที่ที่จะสนับสนุนการทำงานของกรุงเทพมหานคร โดยใช้เครื่องมือที่อยู่มาประยุกต์ใช้และต่อยอดในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งท่านได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าว จากนี้ไปจะทำให้การทำงานเกิดความโปร่งใส มีการเชื่อมโยงทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ และประชาชน ซึ่งประชาชนไม่ได้มีฐานะเป็นผู้รับบริการเพียงอย่างเดียว ประชาชนยังต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาด้วย

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดตามโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งยังมีกระบวนการขอใบอนุญาต กระบวนการอื่น ๆ ที่ยังต้องติดตามใกล้ชิด เนื่องจากกรุงเทพมหานครต้องดูแลชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในหลายมิติ และกทม.เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาหลากหลาย ประชาชนแต่ละคนก็มีปัญหาต่างกันไป โดยจะต้องดูให้ครบถ้วน

“สำหรับในเรื่องของสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามก่อนหน้านี้แล้ว และจากนี้ไปคณะทำงานซึ่งมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครดูแลจะมีการประชุมร่วมกันทุกเดือน และมีหน่วยงานอื่นมาร่วมทำวิจัยและให้ข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงการดูในรายละเอียดของโครงการอื่น ๆ ด้วย อาทิ โรงกำจัดขยะ การอำนวยความสะดวกการขอใบอนุญาต กระบวนการคิดคำนวณภาษี ซึ่งเชื่อว่าการทำงานของกทม. จะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการรวบรวมข้อมูลตามหลักการซึ่งมีความซับซ้อน แต่คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะเสร็จเรียบร้อย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวในตอนท้าย

‘วิโรจน์’ นำทีม ส.ก.กทม. ก้าวไกล เข้าร่วมประชุมสภากทม.นัดเเรก ย้ำพร้อมยกระดับสภา กทม. ให้เหมือนที่ ส.ส.ก้าวไกลเปลี่ยนภาพลักษณ์สภาผู้แทนฯ

ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานต่อสื่อมวลชนด้วยว่า วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล นำทีม สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ( ส.ก. ) พรรคก้าวไกล ทั้งหมด 14 คน เดินทางมายังอาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินเเดง เพื่อเข้าร่วมประชุมสภากรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 

วิโรจน์ กล่าวว่า จากที่ประชุมในทีม ส.ก.ของพรรคก้าวไกล เราพร้อมที่จะขับเคลื่อนในเรื่องของการแก้ไขข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร เเละการตรวจสอบงบประมาณของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นประโยชน์ในการบริหารราชการของกรุงเทพมหานคร รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และในเรื่องของสัญญาเกี่ยวกับโรงกำจัดขยะที่เขตอ่อนนุช ซึ่งทั้งหมดเป็น 12 นโยบายที่พรรคก้าวไกลมุ่งผลักดันในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมา 

“ภาพที่เราจะได้เห็นหลังจากนี้ ผมคิดว่าคือภาพการทำงานร่วมกันของ ส.ก.ทุกคน กับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการขับเคลื่อนกรุงเทพมหานคร ขณะเดียวกัน ส.ก.ของพรรคก้าวไกล พร้อมทำงานในการตรวจสอบงบประมาณกรุงเทพมหานครอย่างจริงจัง เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของคนกรุงเทพมหานคร และเราจะยกระดับสภากรุงเทพมหานคร ให้เหมือนกับสภาผู้แทนราษฎร เราจะทำงานโดยยึดโยงกับประชาชน และอะไรที่ไม่เป็นธรรมเราพร้อมที่จะรับฟังปัญหา เเละเดินหน้าตรวจสอบปกป้องผลประโยชน์พี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่” วิโรจน์ กล่าว 

วิโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส.ก.ทุกพรรคการเมือง เห็นตรงกันว่าการกระจายงบประมาณต้องดีขึ้น ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีปัญหาการจัดสรรงบประมาณอย่างไม่เป็นธรรม เอื้อประโยชน์ให้นายทุน บางครั้งตอบไม่ได้เลยว่าประชาชนได้ประโยชน์จำนวนเท่าไร นอกจากนี้ ทางพรรคก้าวไกล มีแผนที่จะเปิด Hackathon ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ทั้งในประเด็นการกระจายงบที่เป็นธรรมใน 50 เขต , งบสำนักระบายน้ำ , งบสำนักโยธา เเละงบต่างๆที่คนกรุงเทพมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด 

ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางซื่อ ในฐานะโฆษกคณะทำงานระบุว่า คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล จะเสนอแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร 9 ข้อ อาทิ การตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต , การถ่ายทอดสดในการประชุมของสภากรุงเทพมหานคร เพื่อความโปร่งใสเเละการมีส่วนร่วมของประชาชน ,การแก้ไขข้อบัญญัติเกี่ยวกับที่ดินที่รกร้าง , การจัดเก็บภาษีป้ายอิเลกทรอนิกส์ โดยเน้นที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีการหลีกเลี่ยงการเก็บภาษี เพื่อให้มีความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการรายย่อยและเพื่อให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้ในส่วนนี้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย , การจัดสรรงบประมาณใหม่ การจัดการขยะ การระบายน้ำ , การกระจายงบประมาณให้ประชาชนมีส่วนร่วม , การพิจารณางบผูกพันที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า , การพิจารณาบรรจุครูพี่เลี้ยงพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ,การเปิดเผยร่างสัญญาเเละบันทึกการประชุมที่เกี่ยวข้องกับการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว และการแก้ไขการบำบัดกลิ่นของโรงกำจัดขยะอ่อนนุช เพื่อที่จะผลักดันแก้ไขข้อบัญญัติเสนอต่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขับเคลื่อนเเละยกระดับสภากรุงเทพมหานครอย่างมีประสิทธิภาพ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net